ศิลปินสร้างสรรค์แฟชั่นจากขยะเพื่อตอกย้ำชะตากรรมของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก นั่นคือชาติอันรุ่มรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติ แต่ถูกรุมเร้าจากความยากจน และเป็นแหล่งรองรับขยะจากทั่วโลก
หลังจากใช้เวลาหลายปีเล่าเรียนที่สถาบันวิจิตรศิลป์ในกรุงกินชาซา และฟังคำแนะนำจากบรรดาอาจารย์ให้สร้างสรรค์ผลงานจากวัสดุที่ “เหมาะสม” เช่น เรซินและปูนปลาสเตอร์ นักศึกษาบางคนตัดสินใจทำในสิ่งที่แตกต่าง พวกเขาสร้างงานศิลปะจากสิ่งที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัว ซึ่งรวมถึงยางรถยนต์ ท่อไอเสีย โฟม ขวดพลาสติก เสาอากาศ กระป๋องนมหรือสี ขนนก แผ่นซีดี รองเท้าแตะ และสิ่งของทิ้งขว้างอื่น ๆ
ศิลปินเหล่านี้เชื่อว่า ผลงานของพวกเขาน่าจะกระทบใจผู้พบเห็น และสะท้อนแง่มุมอันน่าหดหู่ในชีวิตของชาวคองโก นั่นคือขยะ
ขยะซึ่งมีทั้งที่คนในท้องถิ่นสร้างขึ้น และที่ชาติบริโภคนิยมสุดขั้วส่งมาโถมทับ ขยะที่เกิดจากการสูบทรัพยากรจากผืนดินของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกอย่างไม่มีวันสิ้นสุด และฝากรอยแผลไว้บนผืนดิน
ในกรุงกินชาซา ลำรางสาธารณะมีขวดพลาสติกลอยเกลื่อนกลาด ตลาด ร้านค้าท่วมท้นไปด้วยสินค้ามือสองมือสามที่ชาติรํ่ารวยทิ้งขว้าง และที่หลั่งไหลเข้ามาเร็วขึ้นเรื่อยๆ คือจากจีน ในพื้นที่ที่บรรดาบริษัทข้ามชาติทำเหมืองแร่โคบอลต์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบลํ้าค่าในแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ ของเสียที่ถูกปล่อยออกมามักปนเปื้อนระบบแม่นํ้าและสรรพชีวิตที่ต้องพึ่งพา
ด้วยการนำขยะมารังสรรค์ประติมากรรมและศิลปะการแสดง ศิลปินเหล่านี้หวังจะกระตุกให้สาธารณชนมองเห็นปัญหาเร่งด่วนที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ เมื่อปี 2015 เอ็ดดี เอเกเต ศิลปินผู้เกิดในกินชาซาและนักกิจกรรมเพื่อสังคม มีบทบาทสำคัญในการทำให้ศิลปะแนวใหม่นี้กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างผ่านภาพยนตร์ระดับชาติ เอเกเตยังเป็นผู้ก่อตั้งเทศกาล คินแอกต์ (KinAct Festival) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อจัดแสดงผลงานศิลปะที่กระตุกต่อมคิดของผู้คนในสังคม
ประติมากรรมสวมใส่ได้ชื่อ “โรโบอันนองซ์” (Robot Annonce) ผลงานของศิลปิน ฌาแรด กาลองกา ทำจากชิ้นส่วนที่ใช้งานไม่ได้ของวิทยุ และมุ่งสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของข่าวสารบิดเบือน ขณะที่ผลงานชื่อ “ฟามเอเล็กตริก” (Femme Èlectrique) ของศิลปิน ฟาลอน มัมบู สร้างจากสายไฟและมุ่งสื่อความหมายสองนัย ทั้งปัญหาไฟฟ้าดับในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และสิ่งที่ดำเนินอยู่ในมุมมืดอย่าง ปัญหาการคุกคามทางเพศและการลักพาตัว
เหล่าศิลปินเพื่อสังคมผู้เปลี่ยนวัสดุที่ถูกทิ้งขว้างให้กลายเป็นงานศิลป์เชิงต่อต้าน “ออกมายืนแถวหน้า เพื่อทลายข้อจำกัดต่างๆ” อีวอน เอดูมู ผู้ก่อตั้งหอศิลป์มาลาโบในกรุงกินชาซา บอก






ติดตามสารคดี แปลงโฉมขยะเป็นศิลปะแห่งการต่อต้าน ฉบับสมบูรณ์ ได้ที่นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมิถุนายน 2565
สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/547936