ชาวบาจาววิวัฒน์ร่างกายให้มีม้ามใหญ่ ช่วยดำน้ำนานขึ้น

ชาวบาจาววิวัฒน์ร่างกายให้มีม้ามใหญ่ ช่วยดำน้ำนานขึ้น

หนุ่มน้อยชาวบาจาวนาม Dido ดำน้ำบริเวณเกาะ Mantabuan
ภาพถ่ายโดย Matthieu Paley

 

ชาวบาจาว วิวัฒน์ร่างกายให้มีม้ามใหญ่ ช่วยดำน้ำนานขึ้น

หากคุณสูดอากาศลึกๆ แล้วดำลงไปใต้น้ำ ร่างกายของคุณจะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการดำน้ำทันที หัวใจจะมีอัตราการเต้นที่ช้าลง หลอดเลือดและม้ามจะหดตัว ทั้งหมดนี้คือปฏิกิริยาที่ร่างกายตอบสนองต่อระดับออกซิเจนที่ต่ำ เพื่อเก็บรักษาพลังงานเอาไว้

คนส่วนใหญ่กลั้นหายใจใต้น้ำได้ไม่กี่วินาที บางคนอาจนานได้นาทีกว่า แต่สำหรับชนกลุ่มน้อยที่เรียกกันว่าชาวบาจาว พวกเขามีความสามารถในการดำน้ำลึกด้วยตัวเปล่าอย่างน่าทึ่ง เพราะชาวบาจาวดำน้ำได้นานถึง 13 นาที และลึกลงไปถึง 60 เมตร พวกเขาอาศัยอยู่ตามชายฝั่งของฟิลิปปินส์, มาเลเซียและอินโดนีเซีย ยังชีพด้วยการดำน้ำจับปลาหรือเปลือกหอยเพื่อไปทำงานฝีมือขาย

และล่าสุดผลการศึกษาที่เผยแพร่ลงในวารสาร Cell พบว่าดีเอ็นเอของชาวบาจาวปรับตัวให้พวกเขามีม้ามขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อการดำน้ำโดยเฉพาะ

ชาวบาจาว
ชาวบาจาวนาม Tarumpit จับหมึกได้ที่บริเวณเกาะ Boheydulang
ภาพถ่ายโดย Matthieu Paley

 

เรียนรู้เกี่ยวกับม้าม

ในจำนวนอวัยวะภายในทั้งหมด ม้ามไม่ใช่อวัยวะต้นๆ ที่จะถูกพูดถึง และในทางเทคนิคแล้วมนุษย์เรายังคงมีชีวิตต่อไปได้ แม้ไม่มีม้าม แต่ในขณะที่ม้ามของคุณยังคงทำงานดีอยู่มันจะช่วยขจัดเชื้อโรคและมีส่วนให้ระบบภูมิคุ้มกันของเราแข็งแรงขึ้น รวมไปถึงรีไซเคิลเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ตายแล้วออกจากกระแสเลือด

การศึกษาวิจัยก่อนหน้านี้ในแมวน้ำ ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ใต้ทะเล นักวิทยาศาสตร์พบว่าม้ามของมันมีขนาดใหญ่ ดังนั้น Melisa Llrdo นักวิจัยจากศูนย์จีโอเจเนติก มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเเกนจึงต้องการศึกษาลักษณะเดียวกันนี้ในมนุษย์ ระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย เธอได้ยินเรื่องราวของชาวเผ่าที่อาศัยอยู่กับทะเลและประทับใจกับเรื่องราวความสามารถในการดำน้ำของพวกเขา

ชาวบาจาว
หนูน้อยชาวบาจาวหลับสนิทอยู่ข้างหม้อบรรจุหอยเป๋าฮื้อ ซึ่งจะเป็นอาหารมื้อเย็นของครอบครัว
ภาพถ่ายโดย Matthieu Paley

“ฉันอยากไปพบกับพวกเขา แต่ไม่ใช่แค่อธิบายผลทางวิทยาศาสตร์แล้วจากมาก” เธอกล่าวระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวในอินโดนีเซีย “ในการเดินทางไปเยี่ยมพวกเขาครั้งที่สอง ฉันจึงเอาเครื่องอัลตร้าซาวน์และเครื่องเก็บตัวอย่างน้ำลายไปด้วย เราต้องการสำรวจขนาดม้ามของชาวบาจาว” ซึ่งในการทำงานของ Llardo เธอเล่าให้ฟังว่าบรรดาชาวบ้านมักมามุงดูอยู่เสมอ และพวกเขาดูตื่นเต้นกับการวิจัยครั้งนี้มาก

นอกจากนั้นเธอยังเก็บข้อมูลของชาวซาลวน ซึ่งเป็นชาวเผ่าที่มีอาชีพเกษตรกรในอินโดนีเซีย เพื่อเปรียบเทียบขนาดของม้ามในห้องปฏิบัติการที่โคเปนเฮเกน ผลการศึกษาพบว่าขนาดเฉลี่ยของม้ามชาวบาจาวมีขนาดใหญ่กว่าม้ามของชาวซาลวนถึง 50%

นอกจากนั้นทีมวิจัยยังสนใจยีนตัวหนึ่งที่มีชื่อเรียกว่า PDE10A ที่ทำหน้าที่ควบคุมฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งส่งผลต่อกระบวนการเผาผลาญพลังงาน ในชาวบาจาวปริมาณฮอร์โมนมีมากเช่นเดียวกับขนาดของม้าม ในขณะที่ชาวซาลวนมีปริมาณฮอร์โมนน้อยกว่า จากม้ามที่มีขนาดเล็กกว่า

Llardo ตั้งทฤษฎีว่า ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาการคัดเลือกทางธรรมชาติช่วยคัดสรรยีนที่เหมาะสมเพื่อให้ชาวบาจาวที่อาศัยอยู่กับทะเลมานานหลายพันปี ได้เปรียบในการดำน้ำมากยิ่งขึ้น

(12 ทฤษฎี เราวิวัฒนาการมาเป็นมนุษย์ได้อย่างไร?)

ชาวบาจาว
ชายชราชาวบาจาวนาม Sahad พายเรือออกจากฝั่งของเกาะ Bodgaya
ภาพถ่ายโดย Matthieu Paley

 

ใต้แรงดันน้ำ

ม้ามที่มีขนาดใหญ่ช่วยให้เซลล์เม็ดเลือดแดงที่ลำเลียงออกซิเจนจะถูกปั๊มเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิต ทำให้มีออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ แต่นั่นไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ช่วยให้ชาวบาจาวดำน้ำได้เก่ง ยังมีอีกหลายปัจจัยที่มีส่วนช่วย Richard Moon จากมหาวิทยาลัย Duke กล่าว ซึ่งตัวเขาศึกษาเกี่ยวกับปฏิกิริยาของร่างกายที่ตอบสนองต่อแรงดันที่เพิ่มมากขึ้น

เมื่อมนุษย์ดำน้ำลึก ความดันน้ำจะส่งผลให้เส้นเลือดในปอดเต็มไปด้วยเลือดมากขึ้น ในกรณีที่ร้ายแรงที่สุดหลอดเลือดอาจแตกและนำไปสู่ความตายได้ ซึ่งการซ้อมดำน้ำบ่อยๆ สามารถป้องกันกรณีอันตรายจากการดำน้ำนี้ได้

“การฝึกฝนจะช่วยให้ผนังปอดมีความยึดหยุ่น กระบังลมและกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น” Moon กล่าว “แต่เราเองยังไม่แน่ใจว่ามีการเชื่อมโยงระหว่างขนาดของม้ามกับฮอร์โมนไทรอยด์จริงหรือไม่”

ชาวบาจาว
ส่วนใหญ่แล้วอาหารของชาวบาจาวมาจากทะเล เช่นหมึกตัวนี้
ภาพถ่ายโดย Matthieu Paley

Cynthia Beall นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัย Case Western Reserve ผู้ศึกษาเกี่ยวกับมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในสภาพอากาศสุดขั้วเช่น ชาวทิเบตที่อาศัยอยู่บริเวณ “หลังคาโลก” ในความคิดของเธองานวิจัยของ Llardo นั้นเปิดมุมมองใหม่ที่น่าสนใจมาก แต่จำเป็นที่จะต้องหาหลักฐานทางชีววิทยาเพิ่มเติมก่อนที่จะสรุปว่าลักษณะของยีนส่งผลให้ชาวบาจาวดำน้ำดีขึ้นจริง “จำเป็นที่จะต้องวัดค่าอื่นๆ ของม้าม เช่น ความแข็งแรง หรือการหดตัว” เธอกล่าว

 

เราได้อะไรบ้างจากทะเล?

นอกจากการทำความเข้าใจว่าชาวบาจาวดำน้ำเก่งอย่างไร Llardo กล่าว่าการค้นพบครั้งนี้ยังมีส่วนช่วยในการรักษาพยาบาล

ปฏิกิริยาร่างกายที่เกิดขึ้นขณะดำน้ำเป็นปฏิกิริยาเดียวกันกับที่เรียกว่าภาวะขาดออกซิเจน (acute hypoxia) อาการนี้นำไปสู่ความตายบ่อยครั้งในห้องฉุกเฉิน ดังนั้นแล้วการศึกษาชาวบาจาวจะมีส่วนช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้วิถีชีวิตของชาวบาจาวกำลังเผชิญกับการคุกคาม พวกเขามีสถานะเป็นชนกลุ่มน้อยที่ไม่มีสิทธิมีเสียงในประเทศ รวมไปถึงการประมงขนาดใหญ่กำลังส่งผลกระทบต่อการทำมาหากินของชาวบาจาว สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ทำให้หลายคนเลือกที่จะทิ้งทะเลและเข้าไปทำงานในเมืองแทน

หากรัฐบาลไม่มีนโยบายสนับสนุนหรือนุรักษ์วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบาวจาวไว้ Llardo กังวลว่าลักษณะเด่นทางพันธุกรรมที่ตกทอดมานาน อาจสูญหายไปในอนาคต

เรื่อง ซาราห์ กิบเบ็นส์

ชาวบาจาว
ลักษณะของบ้านเรือนชาวบาจาว ที่สร้างขึ้นบนทะเล
ภาพถ่ายโดย Matthieu Paley
ชาวบาจาว
วิถีชีวิตของชาวบาจาวผูกติดอยู่กับทะเล ทั้งการหาอาหารและของทะเลเพื่อขายนำรายได้มาเลี้ยงครอบครัว
ภาพถ่ายโดย Matthieu Paley

 

อ่านเพิ่มเติม

เพราะมี อสรพิษ จึงมีเรา เมื่องูคือตัวขับเคลื่อนวิวัฒนาการ

 

Recommend