เพราะเพศเป็นเรื่องที่ติดตัวมาแต่เกิดและอยู่กับเราไปจนตาย ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะต้องทำความรู้จักและเข้าใจตัวเองให้ดีที่สุด ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ผ่านวิชา เพศวิถี
‘ เพศวิถี ศึกษา’ หรือ Sexuality คือวิชาที่ว่าด้วยเรื่องเพศครอบคลุมในทุกมิติตั้งแต่เรื่องทางสรีรวิทยา ไปจนถึงบริบททางวัฒนธรรม โดยที่สำคัญคือ ต้องให้ข้อมูลการเรียนการสอนอย่างถูกต้องชัดเจนในเชิงวิทยาศาสตร์โดยปราศจากการตัดสินเชิงคุณค่า (UNESCO, 2552)
การศึกษาเรื่องเพศ เพศวิถี กลายมาเป็นคุณค่าสากลร่วมของโลกในเรื่องความเท่าเทียมและหลากหลาย ความตระหนักถึงเรื่องนี้อย่างลึกซึ้งทั้งในบริบททางร่างกายและสังคมเริ่มขยายวงกว้างจากกระแสความเคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตยและความเสมอภาค
“ความเคลื่อนไหวทุกเรื่องในตอนนี้เป็นเรื่องของการใช้อำนาจ แล้วเรื่องเพศก็เป็นอีกเรื่องของการใช้อำนาจ เราเลยเห็นผู้คนจำนวนมากที่ออกมาบอกว่า ‘เราไม่ต้องการเป็นเพศที่ถูกกำหนดแบบที่สังคมบอก’ ” ดาราณี ทองศิริ ผู้ก่อตั้ง Feminista สื่อเฉพาะทางว่าด้วยความเท่าเทียมทางเพศ และศิษย์เก่าสาขาการศึกษาเพศภาวะ วัฒนธรรม และการพัฒนา จากมหาวิทยาลัยปูเน่ ประเทศอินเดีย จะมาเป็นผู้ขยายความเรื่องราวของเพศวิถีในชีวิตของทุกคน
เส้นทางการศึกษาเพศวิถีในไทย และก้าวใหม่ที่ความเข้าใจเป็นตัวตั้ง
เราต่างก็คุ้นเคยกับวิชาสุขศึกษาที่เป็นภาคบังคับในโรงเรียน เนื้อหาที่ว่าด้วยบทบาทเพศที่ถูกต้อง การรักนวลสงวนตัว และอนามัยเจริญพันธุ์ ว่าด้วยการดูแลรักษาและเพศสัมพันธ์ปลอดภัย “ลักษณะการสอนจะตั้งอยู่บนบรรทัดฐานแบบคนตรงเพศ ในระบบแบบสองเพศหรือ Gender Binary คือมีหญิงกับชายเท่านั้น นอกจากนั้นคือผิดปกติ”
บรรยากาศความเปลี่ยนแปลงในทางการศึกษาเรื่องเพศเริ่มเติบโตขึ้นนอกโรงเรียน ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิวัฒน์ของสังคมที่เดินไปข้างหน้า พร้อมกับคำถามในหัวของเด็กที่ไม่ได้รับคำตอบจากการศึกษาในระบบ เริ่มทำให้ผู้คนออกตามหาคำตอบในเรื่องที่อยากรู้ด้วยตัวเอง ทั้งจากผ่านการค้นคว้าทางอินเตอร์เน็ต การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเองในกลุ่มเพื่อน รวมทั้งการให้การศึกษาโดยองค์กรที่ทำงานด้านเด็กและความหลากหลายทางเพศ ด้วยความสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศ
“ความพยายามเหล่านี้เกิดจากองค์กรพยายามจะเข้าไปทำงานในโรงเรียน จากหัวเรื่องการยุติการรังแกกลั่นแกล้ง หรือเลือกปฏิบัติเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ ไปถึงเรื่องการสร้างความเข้าใจว่า ความหลากหลายทางเพศเป็นส่วนหนึ่งของเพศวิถีมนุษย์ กับอีกส่วนหนึ่งที่มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศเข้าไปช่วยดูเรื่องตำราเรียนของนักเรียนระดับมัธยม ให้อยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจเรื่องความเท่าเทียม”
กับนักเรียนบางส่วนที่การเรียนรู้เรื่องเพศในโรงเรียนไม่ตอบโจทย์ การหาความรู้จากนอกห้องเรียนจึงเป็นเรื่องที่เขาออกตามหา “ตอนที่เปิดคอร์ส School of Feminists แบบออนไลน์ มีห้องเรียนหนึ่งที่รับเฉพาะรอบเยาวชน อายุต่ำสุดที่มาสมัครคือ 12 ปี ไปจนถึงมัธยมปลาย เพราะเขาบอกว่าเรื่องนี้ไม่มีสอนเลยในโรงเรียน ยังไม่มีการเรียนการสอนเรื่องเพศวิถีแบบรอบด้านในระบบ”
เรื่องราวของเพศวิถีเป็นหัวข้อกว้างขวางรอบด้านตั้งแต่เรื่องทางสรีรวิทยา พฤติกรรม และวัฒนธรรม การจัดการเรียนการสอนเพศวิถีจึงเป็นไปตามกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้เรียน ยกตัวอย่างหัวข้อ อนามัยเจริญพันธุ์ กฎหมายการทำแท้ง การเคารพสิทธิทางเพศ ความหลากหลายทางเพศ ความรุนแรงทางเพศ การเลือกปฏิบัติทางเพศ “ที่สำคัญคือ การเรียนรู้ไม่ได้จบแค่เนื้อหา แต่ต้องมีทางออกให้ด้วย”
อินเดีย ดินแดนเบ่งบานด้านความรู้เรื่องเพศวิถี
“ที่ไหนมีการกดขี่ ที่นั่นมีการต่อต้าน” ดาราณีเริ่มต้นเล่าประสบการณ์การเรียนด้านเพศวิถีและสตรีศึกษาที่ประเทศอินเดีย “อินเดียเป็นประเทศที่มีการกดขี่ทางเพศมายาวนานและสูงมาก เพราะฉะนั้นจึงมีกระบวนการเคลื่อนไหวมาตั้งแต่แรก จนกระทั่งสามารถก่อตั้งศูนย์สตรีศึกษา จนขยายมาเป็นเควียร์ศึกษา และเพศสถานะศึกษา”
“ช่วงแรกมันอาจจะเป็นเฉพาะปัญหาของผู้หญิงอย่างเดียวก่อน เช่น การที่ผู้หญิงถูกข่มขืน อันนี้เป็นปัญหาใหญ่มากในอินเดีย ความรุนแรงในครอบครัว ความสำคัญของผู้หญิง การถูกบังคับแต่งงาน การถูกคลุมถุงชน การขลิบอวัยวะเพศ หรือเรื่องประจำเดือนคือสิ่งสกปรก พอมีการกดขี่มันเลยมีการต่อสู้ มีการตั้งสตรีศึกษาขึ้นมาในโรงเรียน ทุกวันนี้ทุกรัฐที่อินเดียจะมีองค์กรที่ทำประเด็นเรื่องเพศ การที่มีหลักสูตรมันแปลว่าเราต้องการแก้ปัญหา จึงต้องมีการสร้างองค์ความรู้ขึ้นมา”
นอกจากบทเรียนในหลักสูตร สถานการณ์นอกห้องเรียนในบรรยากาศของอินเดียก็รุนแรงไม่แพ้กัน “เราเจอการเลือกปฏิบัติทางเพศที่เกิดขึ้นจริงๆ แล้วเราก็ไปทำงานกับคนที่ถูกเลือกปฏิบัติทางเพศจริงๆ มันยิ่งกว่าตอนเป็นนักเรียนอีก อย่างภาวะความไม่ปลอดภัยที่อยู่รอบตัว เราถูกจ้องมอง ชวนคุย ถามเรื่องส่วนตัว มันเป็นภาวะที่เราเจอกับตัวเอง”
“หรือเราอยากเที่ยวเล่นเตร็ดเตร่ตอนกลางคืนก็ทำไม่ได้ เราเคยเจอตำรวจมาบอกว่า ‘อย่ามายืนแถวนี้ คนเมาเยอะเดี๋ยวโดนข่มขืน’ มันทำให้เราเห็นภาพชัดขึ้นว่า สิ่งนี้คือความไม่เท่าเทียมทางเพศ เพราะวิธีการแก้ไขของคุณไม่ได้คุ้มครองผู้หญิง ไม่ได้ทำให้ผู้หญิงมีสิทธิ์ที่จะไปเตร็ดเตร่ข้างนอกได้อย่างปลอดภัย แต่จะต้องทำอย่างไรก็ได้ให้ผู้หญิงอยู่บ้าน จะได้ปลอดภัย”
“หรือในมหาวิทยาลัยเรา มีคนข้ามเพศเรียนแค่คนเดียว แล้วกว่าเขาจะฝ่าฟันเข้ามาเรียนปริญญาโทได้ ก็คือต้องทำงานเป็นขอทาน ขอเงินตามเทศกาลต่างๆ เพราะคนข้ามเพศจะโดนรังเกียจ ถ้าไม่ทำ Sex Work ก็เป็นขอทาน ซึ่งพอเขาเข้ามาเรียนได้ก็ต้องเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติ ถูกรังแกเยอะ”
ท่ามกลางสภาพแวดล้อมรุนแรงในเรื่องทางเพศ ในช่วงระยะเวลาที่ดาราณีเรียนอยู่ เธอก็ได้อยู่ร่วมในหมุดหมายของประวัติศาสตร์อินเดียเช่นกัน “ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เขากำลังต่อสู้เพื่อที่จะยกเลิกกฎหมายลงโทษคนรักเพศเดียวกัน หรือมาตรา 377 แล้วทำสำเร็จ เขายกเลิกตอนเราเรียนปีสุดท้ายพอดี เราเลยได้อยู่ร่วมในประวัติศาสตร์ที่ทุกคนสามารถเป็นตัวเองได้โดยไม่ถูกกฎหมายเล่นงาน ที่คณะคือจัดงานเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่เลย แล้วเรียกเรากับเพื่อนที่เป็นคนข้ามเพศและเกย์ ซึ่งเปิดตัวว่าเป็นคนมีความหลากหลายทางเพศ ไปตัดเค้กสีรุ้งและกล่าวถ้อยแถลง”
สังคมไทยกับการเติบโตของความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ
“เรื่องเพศต้องบอกว่าเป็นเรื่องการหล่อหลอมทางวัฒนธรรมด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมายเพียงอย่างเดียว ในแง่กฎหมาย ถ้าผ่านสภาก็เปลี่ยนได้ แต่ความคิดคนที่จะเปลี่ยนเรื่องการมอง LGBTQ+ ให้เท่ากัน เผลอๆ มีกฎหมายแล้วก็ยังไม่เปลี่ยน เพราะมันคือการถ่ายทอดทางวัฒนธรรม”
ทั่วไปในสังคม เราต่างก็อยู่กับความหลากหลาย เช่นเดียวกันกับเรื่องเพศที่นิยามในตัวตนของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไปตามปัจเจก “มันเลยต้องตั้งคำถามกลับไปว่า จริงๆ แล้วบรรทัดฐานของคนรักต่างเพศหรือตรงเพศมันฝังมายาวนาน โดยที่คุณไม่รู้เลยว่าจริงๆ แล้ว LGBTQ+ มีอยู่ทั่วไป แค่ไม่เคยปรากฏบนพื้นที่แบบรักต่างเพศ ซึ่งพอมันปรากฏขึ้นมา หลายคนอาจรู้สึกว่าถูกยัดเยียด ทั้งที่จริงๆ แล้วเราอยู่ทุกที่ เราก็ใช้ชีวิตอยู่กับคนรักตรงเพศ กับคนทั่วไปในสังคมนั่นแหละ”
ความเติบโตในความรู้ความเข้าใจในเรื่องความหลากหลาย นำมาสู่การนิยามตนเองในเรื่องเพศ ความสำคัญของเรื่องนี้นอกจากเป็นการสร้างความตระหนักให้กับสังคมแล้ว ยังนำไปสู่การปฏิบัติที่เคารพต่อทุกคนในฐานะเพื่อนมนุษย์ และเคารพปัจเจกของแต่ละคน
“เวลาเรานิยามตัวเอง แปลว่าเรายอมรับว่าเรามีตัวตนบางอย่าง เรามีสำนึกบางอย่าง แล้วเราผูกพันกับคนอื่นในฐานะอะไร คนตรงเพศอาจจะไม่รู้สึกอะไรเท่าไรเพราะอยู่ในกรอบถูกต้องที่สังคมให้การยอมรับ แต่กับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เวลามีคนมาบอกว่าเราเป็นอะไรโดยที่เราไม่ได้เป็นอย่างนั้นมันอึดอัด เพราะฉะนั้นมันก็เลยต้องยืนยันว่า เรานิยามตัวเองว่าอะไร เพื่อให้คนเข้าใจนิยามนั้น และเคารพที่เราเป็นเรา”
“แต่ละคนก็มีปัญหาที่ต่างกันออกไป ขนาดเราเป็นผู้หญิงเหมือนกัน เรายังมีปัญหาไม่เหมือนกันเลย เพราะฉะนั้นมันเลยต้องกำหนดนิยามว่า เพื่อให้การปฏิบัติและการแก้ปัญหาก็ต้องออกมาให้ตรงกับความต้องการ เพราะถ้าไม่นิยามตัวเอง ปัญหาเหล่านั้นจะถูกลบเลือนไป อย่างคู่เลสเบี้ยนที่แต่งงานกันในงานไพรด์ ก็ต้องนิยามตัวเองว่าเป็นคู่ชีวิต เพื่อความต้องการแต่งงานกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย นำมาสู่ความต้องการกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อให้ปัญหาโดนแก้ไข”
“แต่เมื่อไหร่ก็ตามถ้าสมมติว่า สังคมนั้นมีกฎหมายรองรับทุกเพศแล้ว ทุกคนเคารพอัตลักษณ์ที่หลากหลายแล้ว ถึงตอนนั้นก็ไม่ต้องมานั่งต่อสู้เพื่อนิยามเหล่านี้แล้ว”
การเรียนรู้เรื่องเพศแม้จะมีขอบเขตที่กว้างขวางหลากหลาย แต่ก็ไม่สายที่จะเรียนรู้ และยังเป็นวิชาที่เรียนรู้ได้ตลอดชีวิต เพราะนอกจากเป็นเรื่องการสร้างความเข้าใจและตระหนักในความหลากหลายแล้ว ยังใช้รับมือการเปลี่ยนผ่านของวัฒนธรรมไปสู่ค่านิยมแบบใหม่ ให้เดินทางได้ตรงเส้นในวันที่โลกเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว
“ฝั่งยุโรป อย่างเนเธอร์แลนด์หรือสวีเดนมีการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศและความเท่าเทียมทางเพศในโรงเรียนและครอบครัวตั้งแต่ยังเล็ก ยกตัวอย่างครอบครัวที่มีลูกมีความหลากหลายทางเพศ ก็จะมีโปรแกรมให้หมดเลยว่าต้องทำอย่างไรบ้าง มีสวัสดิการข้ามเพศให้กับเด็ก โดยที่รัฐและเอกชนให้ความร่วมมือกันเพื่อผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมในทุกบริบท ทั้งทางสรีระ กฎหมาย และสังคม”
สำหรับเมืองไทยเอง เรายังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การสร้างความเข้าใจใหม่ในเรื่องราวทางเพศ เคล็ดลับไม่ยากสำหรับการเรียนรู้เรื่องนี้คือ ‘เปิดสมอง เปิดใจให้กว้าง และศึกษาในเรื่องที่อยากรู้’
“การเรียนรู้เรื่องเพศจะทำให้คนเข้าใจตัวเองด้วย เข้าใจคนอื่นมากขึ้น และเคารพความหลากหลายของสังคมมากขึ้น” ดาราณีทิ้งท้าย
เรื่อง ณัฐนิช ชัยดี
ภาพ พีรเดช กาญจนรังษี
สถานที่ Art Farmer Cafe