เจาะเบื้องลึกวิกฤติหมอกควัน

เจาะเบื้องลึกวิกฤติหมอกควัน

สถานการณ์หมอกควัน เป็นวงจรซํ้าซากที่ก่อร่างจากปัญหาระดับท้องถิ่น ก่อนก้าวกระโดดสู่ภัยระดับภาคและระดับชาติอย่างรวดเร็ว (บ้างว่าเป็นระดับนานาชาติไปแล้ว) ขณะที่จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ผนวกกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ยิ่งซํ้าเติมให้วิกฤติการณ์มีทีท่าว่าจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ

ภัยหมอกควันในภาคเหนือของไทย เริ่มตั้งแต่ปลายฤดูหนาวราวปีใหม่ลากยาวไปจนถึงปลายเดือนเมษายนซึ่งเป็นช่วงเตรียมปรับพื้นที่สำหรับทำเกษตรรอบใหม่ กอปรกับเป็นช่วงที่สภาพอากาศแห้งแล้ง ต้นตอของหมอกควันมาจากการเผา ทั้งไฟในพื้นที่เกษตร ผืนป่า และครัวเรือน เป็นที่แน่ชัดว่า สาเหตุเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์มาจากนํ้ามือคน ไฟเปลี่ยนเชื้อเพลิงเป็นเถ้าปลิวละล่องไปตามลมและหอบลอยขึ้นสู่ที่สูง เถ้าละอองแขวนลอยมีขนาดเล็กและใหญ่ต่างกันไป ทว่าส่งผลกระทบเป็นวงกว้างตั้งแต่เรื่องพื้นๆ อย่างบดบังทัศนวิสัย ไปจนถึงอณูเล็กๆ ระดับไมครอนซึ่งอันตรายต่อปอด เป็นบ่อเกิดของโรคทางเดินหายใจและโรคแทรกซ้อนอื่นๆ

กระนั้นคำถามคือ ทั้งๆ ที่ภาคกลางและภาคอีสานก็อยู่ในช่วงเวลาถางไร่ไถนาเพื่อเตรียมพื้นที่ทำเกษตร และมักใช้วิธีการเผาเพื่อกำจัดเศษซากเหมือนกัน แต่ทำไมภาคเหนือจึงได้รับผลกระทบจากหมอกควันมากที่สุด

คำตอบคือสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่แตกต่างกัน “เทศกาลเผา” มักตรงกับช่วงที่ความกดอากาศสูงจากทางตอนเหนือหรือประเทศจีน แผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือของไทย ความกดอากาศสูงส่งผลให้อากาศหนาวเย็นดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมเยือน นี่คือช่วง “ไฮซีซั่น” ของการท่องเที่ยวทางเหนือ ความกดอากาศสูงจะกดทับไม่ให้อากาศจากระดับตํ่ากว่าลอยขึ้นไปได้ หมอกควันจึงถูกกดให้อยู่เหนือเมือง นั่นคือปัจจัยที่หนึ่ง

ปัจจัยต่อมาคือลักษณะภูมิประเทศที่ห้อมล้อมด้วยภูเขา มีร่องนํ้าและเขตเมืองซึ่งมักตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่ม สันเขาสูงชันปิดล้อมไม่ให้อากาศแผ่ขยายออกไปด้านข้าง ขังให้หมอกควันที่ลอยขึ้น (และถูกกดโดยความกดอากาศสูง) อบอวลอยู่ในเมือง ถ้าเปรียบแล้วก็เหมือนนํ้าขังบนถนนที่เป็นหลุมบ่อ ยิ่งไปกว่านั้น ภูเขาสูงที่โอบล้อมยังทำให้เกิด “ชั้นอุณหภูมิผกผัน” (temperature inversion) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติในพื้นที่ที่แวดล้อมด้วยหุบเขา อธิบายง่าย ๆ ว่า แทนที่ยิ่งสูงอุณหภูมิจะยิ่งลดตํ่า (ทำนองยิ่งสูงยิ่งหนาว) แต่เมื่อความสูงถึงระดับหนึ่ง อุณหภูมิกลับอุ่นขึ้นแทน ทำให้เกิด “ฝาครอบล่องหน” ขังให้อากาศจากที่ตํ่าไม่สามารถลอยขึ้นที่สูงได้

หมอกควัน, ไฟป่า, หมอกควันภาคเหนือ, หมอกควันเชียงใหม่, ไฟป่า, ไฟป่าภาคเหนือ
บรรยากาศภายในโรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงวิกฤติหมอกควัน

ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์เช่นนี้ จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะบรรเทาปัญหาหมอกควันในช่วงเทศกาลเผาให้เบาบางลง นอกเสียจากการหยุดเผา เพื่อชะลอไม่ให้คุณภาพอากาศเลวร้ายลงกว่าที่เป็นอยู่ และก็แทบเป็นไปไม่ได้อีกเช่นกัน สำหรับภูมิประเทศที่เกษตรกรต้องกระเสือกกระสนทำไร่ตามสันดอยสูงชัน การเผาจึงเป็นวิธีการที่ประหยัดและง่ายที่สุดในการเตรียมพื้นที่ทำเกษตร ดังนั้นแม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าว ทางการจะประกาศให้การเผาในที่โล่งเป็นความผิดตามกฎหมาย แต่เปลวไฟปริศนายังคงพบเห็นได้ทั่วไปและลุกลามเป็นวงกว้างส่งพวยควันพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าเช่นเดิม

หลายปีก่อนหน้า ทางการพยายามใช้ “ยาแรง” โดยบังคับใช้กฎหมาย จับกุมและดำเนินคดีมือเพลิง โดยเชื่อว่าเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู แต่ภาพของผู้ถูกจับกุมกลับพลิกเป็นว่า ทางการกลั่นแกล้งชาวบ้านผู้ยากไร้ มาตรการตอบโต้ของชาวบ้านจากมุมมืดรุนแรงขึ้น และกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้าน เสนอเล่าว่า “ยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ เผากันเยอะกว่าเดิมอีกครับ”

หมอกควัน, ไฟป่า, หมอกควันภาคเหนือ, หมอกควันเชียงใหม่, ไฟป่า, ไฟป่าภาคเหนือ
ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจและโรคแทรกซ้อน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุหรือผู้มีโรคประจำตัว ขณะที่ค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอนที่เกินมาตรฐาน เป็นภัยเงียบสะสมโดยตรงสำหรับผู้ที่ต้องปฏิบัติงานกลางแจ้งอย่างแรงงานก่อสร้าง

เมื่อทางการเรียนรู้ความล้มเหลวจากการใช้ยาแรง จึงหันมาใช้มาตรการ “นํ้าเย็น” อย่างการรณรงค์และการจัดการ หรือไม่ก็พุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชน อุธร สุทธิมิตร ผู้อำนวยการส่วนควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ เล่าว่า ที่ผ่านมาทางการรณรงค์เปิดโอกาสให้ชาวบ้านชิงเผาเศษซากจากการทำเกษตรตั้งแต่เนิ่นๆ “ถือว่าบรรเทาลงไปได้เยอะเลยครับ” (กระนั้น สภาพอากาศช่วงก่อนหน้ากลับเป็นอุปสรรค ฟ้าฝนเทลงมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย เชื้อเพลิงที่เตรียมเผาเปียกชื้นและทับถมมากกว่าเดิม)

ความพยายามในการบรรเทาปัญหาหมอกควันด้วยวิทยาศาสตร์ดูมีนํ้ามีเนื้อมากกว่าการรณรงค์ อย่างน้อยก็วัดผลสำเร็จได้ กองทัพอากาศพยายามใช้เครื่องบินบรรทุกนํ้าโปรยลงบนพื้นที่ป่าติดไฟ ทว่าผืนป่ากว้างใหญ่เกินไปจนไม่คุ้มค่านํ้ามันเครื่องบินแต่ละเที่ยว เทคนิคการดัดแปลงสภาพอากาศเป็นอีกวิธีที่น่าสนใจ ฝนหลวงเป็นความหวังว่าจะช่วยบรรเทาฝุ่นละอองในอากาศ เครื่องบินจะใช้สารเคมี (โซเดียมคลอไรด์) เลี้ยงเมฆให้อ้วนจนอิ่มนํ้า และโจมตีให้กลายเป็นฝนโปรยลงมาชะล้างหมอกควันได้ในระดับหนึ่ง แต่อุปสรรคใหญ่คือฝนเทียมไม่สามารถทำได้ตลอดเวลา เพราะขึ้นอยู่กับความชื้นในอากาศของแต่ละวัน

หนึ่งหทัย ตันติพลับทอง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ บอกว่า “ความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมในการทำฝนหลวงอยู่ที่ 60 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปค่ะ” นั่นหมายความว่า วันใดที่ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศไม่ถึงเกณฑ์ ก็เท่ากับโปรยสารเคมีในอากาศเสียเปล่า “นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมเราถึงไม่สามารถทำฝนหลวงได้ทุกที่ทุกเวลา”

(อ่านต่อหน้า 3)

Recommend