เจาะเบื้องลึกวิกฤติหมอกควัน

เจาะเบื้องลึกวิกฤติหมอกควัน

แม้ทางการจะยับยั้งไฟป่าได้ในระดับหนึ่ง แต่ความจริงที่เลี่ยงไม่ได้ของชาวแม่ฮ่องสอน คือหมอกควันอีกส่วนหนึ่ง (บ้างว่าเป็นส่วนใหญ่) มาจากเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาร์ เช้าฟ้าหลัววันหนึ่ง ผมเปิดดูข้อมูลดาวเทียมพยากรณ์อากาศของสิงคโปร์ เว็บไซต์ชี้ให้เห็นข้อมูลอย่างละเอียดว่า จุดความร้อนในประเทศเมียนมาร์มีมากกว่าในประเทศไทยหลายร้อยเท่า ผมนึกย้อนไปในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่จุดความร้อนในประเทศกัมพูชามีมากเป็นพิเศษ หลักฐานนี้โยงให้เห็นว่า ปัญหาหมอกควันสามารถลุกลามเป็นปัญหาระดับนานาชาติได้อย่างไร

วิกฤติการณ์ข้ามชาติทำนองนี้เกิดขึ้นกับประเทศสิงคโปร์ที่ต้องแบกรับควันไฟจากการเผาป่าเพื่อแปรสภาพพื้นที่เป็นสวนปาล์มนํ้ามันบนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย วิกฤติการณ์ดังกล่าวยังส่งผลกระทบมายังภาคใต้ของไทยด้วย ความพยายามในการแก้ปัญหาหมอกควันไฟระหว่างประเทศเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมเมื่อผู้นำประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย เห็นพ้องต้องกันที่จะจัดการประชุมหารือเพื่อหาทางออกของวิกฤติการณ์ดังกล่าว จนนำไปสู่ความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution) ที่มีการลงนามไปตั้งแต่ปี 2002 และกระทั่งถึงปี 2007 แปดชาติสมาชิกอาเซียน (เว้นอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์) ได้ให้สัตยาบันในความตกลงดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ความตกลงนี้จะมีผลผูกมัดรัฐที่มีพรมแดนติดต่อกันในการจัดการกับปัญหาหมอกควันข้ามแดน ทว่าในความเป็นจริงกลับยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร กระทั่งประเทศอินโดนีเซียซึ่งเป็นชาติต้นตอของปัญหาก็ยังไม่สามารถผลักดันให้รัฐสภาลงมติให้สัตยาบันรับรองความตกลงดังกล่าวได้

หมอกควัน, ไฟป่า, หมอกควันภาคเหนือ, หมอกควันเชียงใหม่, ไฟป่า, ไฟป่าภาคเหนือ
ขณะที่ทางการบังคับใช้กฎหมายและโหมรณรงค์ต่อต้านการเผาป่าในช่วงวิกฤติหมอกควัน องค์กรอนุรักษ์หลายแห่งกลับพุ่งเป้าไปยังเยาวชนโดยจัดกิจกรรมต่างๆ อาทิ “การฟังเสียงต้นไม้” เพื่อสร้างจิตสำนึกในการรักและหวงแหนผืนป่า ตลอดจนเป็นรากฐานของการอนุรักษ์ธรรมชาติในอนาคต

ปัญหาหมอกควันจากประเทศเพื่อนบ้านส่งผลกระทบต่อสถานการณ์หมอกควันในภาคเหนือของไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ผู้ว่าฯ สุรพล พ่อเมืองแม่ฮ่องสอนยอมรับว่า “ปัญหาหมอกควันจากเพื่อนบ้านถือเป็นเรื่องใหญ่มาก” และเสริมว่าที่ผ่านมาแม้จะมีการพูดคุยในหลายระดับ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนบุคลากรและองค์ความรู้ แต่การแก้ไขปัญหาในประเทศเพื่อนบ้านอยู่เหนืออำนาจอธิปไตยของไทย จึงเป็นเรื่องยากเสียยิ่งกว่าการจับมือเผาในท้องที่ของเราเองเสียอีก

หากคุณเดินทางขึ้นภาคเหนือ พื้นที่รกร้างสองข้างทางมักมีป้ายรณรงค์งดเผาป่าด้วยข้อความน่ารักอย่างเช่น “ไม้ขีดหนึ่งก้าน ร้ายกว่าขวานร้อยเล่ม” หรือ “ไม่หยุดเผานํ้าตาจะเช็ดหัวเข่า” แต่เมื่อถึงเทศกาลเผา ป้ายรณรงค์เหล่านี้ไม่น้อยกลับกลายเป็นเชื้อเพลิงเสียเอง มิตรสหายชาวแม่ฮ่องสอนของผมคนหนึ่งเป็นอดีตมือเพลิง (ปัจจุบันย้ายไปทำงานต่างประเทศ) เล่าอย่างยียวนว่า เขาขี่มอเตอร์ไซค์ไปตามทางจนเห็นป้ายเขียนว่า “หยุดเผา!” เขาจึงหยุดรถทันทีและเผาหญ้าตามคำชักชวน

มิตรสหายอีกท่านตั้งข้อสงสัยว่า ในปีที่ธุรกิจท่องเที่ยวแม่ฮ่องสอนเฟื่องฟูสุดขีด หมอกควันอาจเป็นอาวุธต่อกรของรถโดยสารเพื่อแย่งลูกค้ากับเครื่องบินที่บินตรงจากเชียงใหม่ พ่อหลวง (ผู้ใหญ่บ้าน) บ้านใหม่ในอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนเล่าว่าผู้ว่าราชการจังหวัดคนเก่าเคยวางมาตรการ “คาดโทษ” ผู้นำหมู่บ้านที่ปล่อยให้มีการเผาเกิดขึ้น ทว่าแทนที่จะระงับเหตุได้มากขึ้น กลับกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายตรงข้าม ให้ว่าจ้างคนมาเผาเพื่อโจมตีอีกฝ่าย

หมอกควัน, ไฟป่า, หมอกควันภาคเหนือ, หมอกควันเชียงใหม่, ไฟป่า, ไฟป่าภาคเหนือ, ดอยสุเทพ
ภาพจากมุมสูงของพระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ โอบล้อมไปด้วยหมอกควัน ในช่วงฤดูแล้ง หมอกควันจากการเผาประกอบกับความกดอากาศสูงจะอบอวลอยู่ในพื้นที่แอ่งกระทะของหลายจังหวัดในภาคเหนือ

เหตุผลของมือเพลิงอาจมีตั้งแต่ความคึกคะนอง เผาเพื่อยังชีพ ไปจนถึงการเมืองท้องถิ่น แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุใด เมื่อไฟลุกลามบานปลาย ก็ต้องมีคนดับไฟ  ช่วงเดือนมีนาคม เจ้าหน้าที่สถานีควบคุมไฟป่าอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ มีงานให้ทำมากเป็นพิเศษ เหตุไฟไหม้มีตลอดทั้งวันทั้งคืน และเจ้าหน้าที่ต้องอยู่เวรตลอด 24 ชั่วโมง เที่ยงของวันที่อากาศร้อนเหมือนตะวันขี่หลัง ผมติดตามเจ้าหน้าที่ควบคุมไฟป่าไปยังจุดรับแจ้งเหตุเพลิงไหม้ ที่บ้านโป่งนก อำเภอสันกำแพง เลยบ่อนํ้าร้อนสันกำแพงและรีสอร์ตหลายแห่งไปไม่ไกล

“คนอื่นเขาวิ่งหนีไฟ แต่เราต้องวิ่งเข้าหาหรือครับ” ผมเอ่ยปากแซวลูกจ้างของสถานีขณะโดยสารไปกับรถ “ชาติที่แล้วพวกเราคงเกิดเป็นแมงเม่าครับ” ลูกจ้างคนหนึ่งตอบกลับมายิ้ม ๆ

ลูกจ้างดับไฟ 12 คน (เสือไฟ) เป็นชาวบ้านในละแวกนั้น พวกเขาได้ค่าจ้างวันละ 300 บาท พร้อมแบกอุปกรณ์ดับไฟคือคราดที่ด้ามทำจากไม้ไผ่ กับเครื่องพ่นลมสะพายหลังอีกเครื่องหนึ่ง หัวหน้าชุดดับไฟครั้งนั้นชื่อ สุริยน ภูใจ หนุ่มชาวลำปางผู้เงียบขรึม เขามีหน้าที่แจ้งพิกัดไฟจากจีพีเอส ถ่ายภาพ ช่วยทำแนวกันไฟ และตัดสินใจว่าเราควรจะหยุดหรือควรไปต่อ

พื้นที่ส่วนใหญ่แถบนี้เป็นป่าเบญจพรรณ กอไผ่แห้งๆ และเศษใบไม้กรอบบนพื้นเป็นเชื้อเพลิงชั้นดี นั่น! ไฟกำลังกระพือ เสียงไม้แตกลั่นดังเปรี๊ยะๆ เหมือนคนขอความช่วยเหลือ ลมพัดหอบให้ไฟโชนขึ้น เราโดดลงจากรถกระบะเก่า ๆ แล้วทำแนวกันไฟรอบ ๆ รถเพื่อป้องกันไฟไม่ให้ไหม้ลามมาถึงรถตอนที่เราไม่อยู่ สุริยนนำหน้าลูกทีมเราเดินเลาะไปตามสันเขา ข้างๆ เป็นลำห้วยแห้งผาก ไฟป่าลุกลามเป็นสาย ไฟเหมือนสัตว์ร้ายตะกละตะกลามกินทุกอย่างที่ขวางหน้า ทิ้งเถ้าถ่านดำไว้เบื้องหลัง เราคราดใบไม้บนพื้นสร้างเป็นแนวโล่งๆ เพื่อกันไฟ วิธีดับเพลิงง่ายๆ ตั้งอยู่บนหลักการที่ว่า ถ้าไม่มีเชื้อเพลิงก็ไม่มีไฟ เราทำแนวกันไฟเลียบเชิงเขา เมื่อไฟลามมาถึงแนวกันไฟก็ดับลง เหลือแต่ควันไฟให้นํ้าหูนํ้าตาไหล

กองเพลิงใหญ่ขวางทางอยู่ และเราจำเป็นต้องผ่านไป “เสือไฟ” เดินเฉียดกองเพลิงเหมือนมันไม่มีตัวตน แต่สำหรับผม แค่อยู่ห่างกองเพลิงใหญ่เพียงเมตรเดียวก็ร้อนระอุแสบผิว สุริยนสั่งการให้ลูกทีมไต่ดอยขึ้นไปทำแนวกันไฟให้สูงขึ้น ป้องกันไฟลามจากภูเขาลูกหนึ่งไปอีกลูกหนึ่ง เราไต่ความสูงขึ้นไปช้า ๆ ตามแนวหน้าผาชัน รองเท้ายางของผมทำงานได้ดี แต่ก็เริ่มต้องไต่สี่ขาเหมือนแพะภูเขา พวกเราหายใจหอบและสูดควันเข้าสองปอด “ถ้าใช้ผ้าปิดปากจะทำงานไม่ถนัดครับ เวลาเดินขึ้นดอยจะเหนื่อยมาก” สุริยนบอกผม

”ตรวจสุขภาพกันบ้างไหม” ผมถาม เขาหัวเราะพลางส่ายหน้า

ไฟลุกลามถึงยอดดอยไล่เลี่ยกับเรา หลายคนเริ่มนั่งพักเหนื่อย ควันปริศนาลอยจาง ๆ มาจากยอดดอยอีกหลายลูก งานของนักผจญเพลิงไม่มีวันจบ สุริยนส่งลูกทีมปีนขึ้นไปดูเส้นทางล่วงหน้า ลูกทีมโร่กลับมาบอกว่าไปไม่ไหว เพราะเป็นภูเขาชันอีกลูก และทอดยาวไปไกลไฟลามข้ามภูเขาแน่ๆ เราหยุดพักกันอึดใจหนึ่ง เมื่อมีสัญญาณว่าเปลวไฟจากยอดดอยจะไล่ลามลงมา พวกเขาจึงเร่งทำแนวกันไฟและจุดไฟย้อนกลับขึ้นไป เพื่อให้ไฟมาปะทะกันเองและดับลง

สุริยนตัดสินใจว่าคงไปไกลกว่านี้ไม่ไหวแน่ๆ เขาจึงสั่งถอยทัพ ระหว่างขาลงดอยชัน เรายังทำแนวกันไฟไปเรื่อยๆ ตลอดทาง จนมาพบกับไร่มันสำปะหลังของชาวบ้านในละแวกนั้น เราเดินตัดไร่ออกไปยังถนน จนกลับมาถึงรถที่จอดอยู่ แนวกันไฟที่เราทำไว้ก่อนหน้านี้ทำหน้าที่ได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ ไฟที่ลามจากป่าลึกมอดลง ทิ้งไว้เพียงขี้เถ้าและตอไม้ดำเป็นถ่าน เราพักกันที่ศาลาของหมู่บ้าน สุริยนแกะห่อข้าวกลางวัน ขณะที่ลูกทีมนั่งพักหมดสภาพ ตอนนั้นเกือบสี่โมงเย็นแล้ว รวมสามชั่วโมงกว่าที่เราขึ้นไปบนดอยลูกนั้น ใบหน้าผมมีคราบเขม่าและจมูกแทบไม่รับรู้กลิ่นใด ๆ

รถกระบะพาเราออกมาจากหมู่บ้าน ผมรู้สึกเหมือนฮีโร่ผู้ปิดทองหลังพระ ถ้าไม่มีใครขึ้นไปดับไฟ ป่านนี้ไฟคงลามลงมาถึงรีสอร์ตละแวกนี้ ออกจากจุดเกิดเหตุไปได้ไม่ไกลนัก สุริยนก็เลี้ยวรถเข้าไปในซอยเล็กๆ สู่เชิงเขาอีกลูกหนึ่ง ตรงนั้นดำเป็นตอตะโก ชาวบ้านแจ้งว่าไฟยังไม่ดับ เจ้าของสวนมะม่วงที่อยู่ใกล้ ๆ หอบนํ้าใส่กระติกและซื้อนํ้าอัดลมมาเลี้ยงพวกเรา ลูกทีมเสือไฟหยิบคราดประจำกาย สุริยนนำทีมเดินเท้าไป เสียงลั่นเปรี๊ยะของไม้ต้องไฟดังสนั่น ดวงอาทิตย์หลบไปหลังเขาพวกเขายังไม่ได้กลับบ้าน

(อ่านต่อหน้า 5)

Recommend