ต้นแบบ หอฟอกอากาศ ระดับเมือง “ฟ้าใส”

ต้นแบบ หอฟอกอากาศ ระดับเมือง “ฟ้าใส”

ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) โดย บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) เปิดตัวต้นแบบ หอฟอกอากาศ ระดับเมือง ชื่อ “ฟ้าใส” นำร่องภาคอสังหาริมทรัพย์รายแรกของประเทศไทย

เรื่องปัญหามลพิษทางอากาศเป็นปัญหาระดับมหภาค ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพของชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมาก หลายฝ่ายเริ่มเห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น และตระหนักถึงการแก้ปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศในระยะยาว

RISC โดยบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ทำการศึกษาและวิจัยภายใต้หลักการนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ซึ่งพยายามค้นคว้าวิจัยให้บรรลุเป้าหมายทางสุขภาวะและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และขณะเดียวกันก็ช่วยส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น รวมทั้งเพื่อการพัฒนาทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ” รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษา ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน กล่าวและเสริมว่า “ด้วยเหตุนี้จึงมุ่งตอกย้ำแนวคิดการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของทุกสรรพสิ่งบนโลก หรือ ‘for all well-being’ และมุ่งมั่นขยายแนวคิดนี้สู่สาธารณชนเป็นวงกว้าง

หอฟอกอากาศ,

ต้นแบบ หอฟอกอากาศ ระดับเมือง ภายใต้ชื่อ “ฟ้าใส” มีที่มาจากแนวคิดการฟอกอากาศที่เต็มไปด้วยมลภาวะให้ใสสะอาด ปลอดฝุ่นพิษ PM 2.5 ด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูง โดย RISC คิดค้นและพัฒนาร่วมกับบริษัท เนสเทค ประเทศไทย จำกัด พัฒนาระบบหอฟอกอากาศอัตโนมัติแบบไฮบริด (Hybrid Air Purifier Tower)

หอฟอกอากาศระดับเมืองฟ้าใสสามารถฟอกอากาศบริสุทธิ์ได้ในอัตราสูงสุด 120,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ติดตั้งที่โครงการ 101 True Digital Park ที่เป็นศูนย์กลางแหล่งรวม Tech และ Startup Ecosystem ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดทั้งปี 2563 เพื่อทำการฟอกอากาศ และเก็บข้อมูลเชิงลึกทั้งในเรื่องของสภาพอากาศ การทำงานของระบบ และตัวเครื่อง ตลอดทั้งปี เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาต่อยอดเครื่องฟอกอากาศระดับเมืองรุ่นต่อไปให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

สำหรับการทำงานของหอฟอกอากาศอัตโนมัติแบบไฮบริด พัฒนาต่อยอดจากระบบดูดฝุ่น PM 2.5 โดยประสานระบบพลังงานไฮบริด คือการใช้พลังงานจากแผงโซล่าร์เซลล์ขนาด 3,850 วัตต์ ร่วมกับระบบแบตเตอรี่ จึงช่วยลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานไฟฟ้าจากภายนอก

หลักการทำงานเริ่มต้นจากการใช้ใบพัดความเร็วสูงดึงอากาศเข้าไปในระบบ และแยกฝุ่นขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ด้วยความเร็วลมและการปล่อยละอองน้ำเพื่อการดักจับฝุ่นสามชั้น ต่อเนื่องด้วยระบบ Jet Venturi Scrubber ระบบทั้งหมดใช้น้ำ 70 ลิตร ทำให้สามารถฟอกอากาศได้ในอัตราสูงสุดถึง 120,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง

โดยระบบอัจฉริยะจะควบคุมการทำงานของมอเตอร์ใบพัดให้สอดคล้องกับความเข้มข้นของฝุ่นละออง จนระดับความเข้มข้น PM2.5 ลดลงถึงเกณฑ์ปกติ โดยทาง RISC ได้มีแผนการพัฒนาหอฟอกอากาศระดับเมือง เพื่อลดปัญหามลภาวะทางอากาศให้กับเมืองอย่างต่อเนื่อง ใช้งบประมาณกว่า 10 ล้านบาท

“การทำงานของหอฟอกอากาศระดับเมืองขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ที่สำคัญคือกระแสลม ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมทิศทางของลมได้ ซึ่งกระแสลมเป็นตัวแปรที่ทำให้ฝุ่นละอองกระจายจากแหล่งกำเนิดไปยังพื้นที่ต่างๆ และหอฟอกอากาศระดับเมืองจะทำงานได้เต็มประสิทธิภาพเมื่อกระแสลมสงบนิ่ง ในระยะรัศมี 1 กิโลเมตร” รศ.ดร.สิงห์ อธิบาย

หอฟอกอากาศ
(จากซ้าย) คุณชาลอต โทณวณิก, คุณไกรพิชิต เมืองวงษ์, รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต, และคุณวิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์

“เนสเทค ประเทศไทย  รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมพัฒนากับ RISC และ MQDC ในการสร้างเครื่องต้นแบบ ‘ฟ้าใส’ หอฟอกอากาศระดับเมืองขึ้น เนสเทค ประเทศไทย หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ‘ฟ้าใส’ จะเป็นต้นแบบของหอฟอกอากาศระดับเมืองที่เป็นกลไกสนับสนุนการแก้ไขปัญหาคุณภาพอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นพิษ PM 2.5 ได้อย่างเป็นรูปธรรม” นายไกรพิชิต เมืองวงษ์ ผู้บริหาร บริษัท เนสเทค ประเทศไทย จำกัด (NESTECH) และประธานกลุ่มจิตอาสาเพื่อการจัดการภัยพิบัติ (ERIG) กล่าว

เมื่อปลายปีที่แล้ว RISC โดย MQDC ได้ร่วมฉลองเทศกาลแห่งความสุขและมอบของขวัญปีใหม่ 2563 ให้กับคนกรุงเทพฯ โดยได้ทำการติดตั้ง “เครื่องฟอกอากาศระดับเมือง” ด้วยเทคโนโลยีเครื่องฟอกอากาศแบบไฟฟ้าสถิต (Electrostatic air purifier) ใช้การตกตะกอนเชิงไฟฟ้าสถิต ด้วยการปล่อยประจุบวกให้ไปจับกับฝุ่นละอองแล้วดูดเข้าไปติดที่ระนาบที่มีขั้วตรงข้าม อากาศที่ออกมาจึงเป็นอากาศสะอาด ที่ลานกิจกรรมลานระหว่างสยามดิสคัฟเวอรี่และสยามเซ็นเตอร์

และในปีนี้วางแผนย้ายไปติดตั้งเครื่องฟอกอากาศระดับเมือง ในพื้นที่ที่มีคุณภาพอากาศไม่ดี ระดับค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ในปริมาณสูง เพื่อฟอกอากาศให้กับประชาชนในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว นอกจากนั้น RISC ยังได้วางแผนการวิจัยต่อเนื่องเก็บข้อมูลฝุ่นละอองในพื้นที่ที่มีปริมาณรถยนต์สัญจรหนาแน่นและมีปริมาณฝุ่นจำนวนมาก เพื่อนำข้อมูลมาวิจัยต่อยอดพัฒนาเป็นเครื่องฟอกอากาศระดับเมืองรุ่นต่อไปที่ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต


ขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) 

ข้อมูลเพิ่มเติม : https://risc.in.th/


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ฝุ่นละออง PM 2.5 ภัยร้ายกลางเมืองที่กำลังคุกคามสุขภาพ

Recommend