การเดินเท้าผ่านอินเดียเป็นระยะทาง 3,900 กิโลเมตร เผยให้เห็นพลังดึงดูดลี้ลับของมหานทีศักดิ์สิทธิ์ และวิกฤติ น้ำ ที่คุกคามวิถีชีวิตของผู้คน
ผมกำลังเดินเท้าท่องโลก ตลอดเจ็ดปีที่ผ่านมา ผมเดินทางย้อนรอยเส้นทางของ โฮโม เซเปียนส์ ที่รอนแรมจากแอฟริกาในยุคหินออกมาสำรวจโลกสมัยบรรพกาล ไม่มีที่แห่งใดในการเดินทางด้วยเท้าของผม ไม่ว่าจะในชาติหรือทวีปใด ที่ผมได้พบเห็นเคราะห์กรรมทางสิ่งแวดล้อมในระดับเดียวกับวิกฤติขาดแคลน น้ำ ที่กำลังจะเกิดขึ้นกับอินเดีย ซึ่งร้ายแรงน่ากลัวจนแทบไม่อยากนึกถึง
เรื่อง พอล ซาโลเพก
ภาพถ่าย จอห์น สแตนเมเยอร์
ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก บ้านของผู้คนกว่า 1,300 ล้านคน และภูมิทัศน์ได้รับการสลักเสลาจากมหานทีศักดิ์สิทธิ์ ทั้งสินธุ คงคา พรหมบุตร และลำน้ำสาขาอันทรงพลังทั้งปวง อินเดียกำลังยืนโงนเงนอยู่บนขอบผาแห่งภาวะฉุกเฉินทางน้ำโดยยังไม่ทราบผลพวงที่จะเกิดขึ้น ผู้คนราว 100 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในมหานคร 21 แห่งของอินเดีย รวมถึงกรุงเดลี เมืองเบงกาลูรู (บังคาลอร์) และไฮเดอราบาด อาจสูบน้ำบาดาลจนเหือดแห้งภายในสิ้นปีนี้ เกษตรกรในรัฐปัญจาบทางภาคเหนือของอินเดีย ซึ่งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำสำคัญของเอเชีย คร่ำครวญว่าระดับน้ำบาดาลที่ถูกสูบขึ้นมาใช้อย่างไม่หยุดหย่อนลดลง 12 ถึง 18 หรือกระทั่ง 30 เมตรภายในชั่วรุ่นเดียว และมลพิษในรูปกากของเสียอุตสาหกรรม น้ำทิ้งจากชุมชนในเมือง และน้ำระบายจากการเกษตร ทำให้ระบบแม่น้ำทั้งหมดเป็นพิษ รวมแล้วมีประชากรทั้งสิ้นราว 600 ล้านคนใช้ชีวิตอยู่โดยปราศจากน้ำสะอาดเพียงพอ
ผมเดินเท้าตัดข้ามที่ราบลุ่มแม่น้ำต่างๆทางตอนเหนือของอินเดียอยู่เกือบหนึ่งปีครึ่ง ย่ำเท้าไปบนสะพานลอยคอนกรีตข้ามทางหลวง เดินข้ามสะพานทางรถไฟ นั่งบนเป้ในเรือแคนูโคลงเคลง ล่องไปตามแม่น้ำสายแล้วสายเล่า มีแม่น้ำอยู่หลายร้อยสาย ทุกสายล้วนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือกระทั่งเป็นเทพตามความเชื่อในศาสนาฮินดู อนาคตของอินเดียจะถูกลิขิตด้วยกระแสน้ำขุ่นของแม่น้ำเหล่านี้
สินธุ: มหานทีแห่งมวลมหานที
แม่น้ำสินธุอันเกรียงไกรที่มีต้นกำเนิดจากธารน้ำแข็งในทิเบต มีลุ่มน้ำแผ่ปกคลุมพื้นที่กว่าหนึ่งล้านตารางกิโลเมตร สายน้ำที่หล่อเลี้ยงอารยธรรมโบราณ เส้นชีวิตสองสัญชาติสำหรับเกษตรกรหลายล้านคนในอินเดียและปากีสถาน เราจะหาพบได้ที่ไหน
ผมเข้าร่วมกับอารตี กุมาร-ราว ช่างภาพสิ่งแวดล้อม ย่ำเดินด้วยกันอย่างเชื่องช้าไปตามถนนสายเล็กสายน้อย ทางตอนใต้ของเมืองอมฤตสาร์ ภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียมีลำน้ำสาขาสายใหญ่ๆในเครือข่ายคดเคี้ยวของแม่น้ำสินธุพาดผ่านอยู่ห้าสาย ได้แก่ เฌลัม เจนาบ ราวี บีอาส และสัตเลจ เราออกค้นหาแม่น้ำบีอาส หลงทางกันตั้งแต่ยังไม่ถึงไหน
ทุกวันอากาศร้อนแผดเผา เราเดินเหงื่อโทรมลัดเลาะจัตุรัสแปลงข้าวสาลีไปอย่างไม่สิ้นสุด ผ่านวัดสิขประดับยอดด้วยโดมโล่งโปร่งสีขาว เหล่าอาสาสมัครแจกอาหารเรียบง่ายที่ประกอบด้วยถั่วดาลและข้าวให้แก่ผู้ผ่านทางทุกคน หลบหลีกทัพรถแทรกเตอร์เสียงดังกระหึ่ม แต่ละคันเปิดเพลงป็อปภาษาปัญจาบแผดใส่ท้องฟ้าผ่านทางลำโพงผูกกับที่นั่งคนขับ
แล้วผมก็เริ่มตระหนักได้ทีละน้อย เราพบแม่น้ำสินธุตั้งนานแล้ว! หลายวันหรือหลายสัปดาห์แล้วที่เราเดินอยู่ในแม่น้ำที่แผ่กระจาย กระแสน้ำสินธุถูกผัน สูบออก ส่งเข้าร่องชักน้ำ กระจายออก แยกเข้าสู่ลำคลอง ท่อส่งน้ำ ฝาย และร่องคูนับไม่ถ้วน ระบบโครงข่ายซับซ้อนที่มนุษย์สร้างขึ้นนี้เปลี่ยนโฉมเครือข่ายลำน้ำสาขาของสินธุให้กลายเป็นเกือบไร้ตัวตนในฐานะองค์ประกอบสำคัญทางภูมิศาสตร์ ทุกรวงข้าวสาลีสุกงอมในจำนวนนับพันล้านรวงของปัญจาบมีน้ำจากลุ่มน้ำสินธุอยู่หยาดหยดหนึ่ง
อินเดียเป็นนักรบรุ่นแรกในการปฏิวัติเขียว เมล็ดพันธุ์ให้ผลผลิตสูง ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง รถแทรกเตอร์และเครื่องสูบน้ำติดเครื่องยนต์ ช่วยให้เพิ่มปริมาณผลผลิตได้อย่างมหาศาลมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 จากที่เคยถูกใช้เป็นตัวอย่างประชาสัมพันธ์ความอดอยาก ทุกวันนี้ อินเดียหาเลี้ยงปากท้องตัวเองได้เป็นอย่างดี เกษตรกรของประเทศนี้ส่งออกธัญพืชกับผลไม้ปริมาณมหาศาลไปขายทั่วโลก แต่ชัยชนะเหนือความหิวโหยอันน่าทึ่งนี้มีราคาต้องจ่ายสูงลิบ สารเคมีเพื่อการเกษตรทำให้ชั้นหินอุ้มน้ำของแม่น้ำสินธุปนเปื้อนมลพิษ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่ามีส่วนก่อให้เกิดพื้นที่ที่พบการกระจายโรคอย่างมะเร็งในระดับสูง แล้ววันเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากการเก็บเกี่ยวอย่างไม่ยั่งยืนตลอดหลายทศวรรษก็มาถึง นั่นคือ การลดลงอย่างฮวบฮาบของน้ำใต้ดินที่มีปริมาณจำกัด การทำไร่ในปัญจาบกลายเป็นเรื่องเสี่ยง ประชาชนนับล้านกำลังหนีไปที่อื่น โดยอพยพไปอยู่ตะวันออกกลาง อเมริกาเหนือ และที่อื่นๆ
คงคา: แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์
ผมเดินเลาะตลิ่ง แม่คงคา ไปจนกระทั่งลำน้ำกว้างใหญ่ของแม่น้ำหักโค้งไปทางทิศเหนือเหมือนใบมีดเหล็กกล้าแวววาวตัดผ่านที่ราบสีเหลืองของเมืองพาราณสี นครศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของศาสนาฮินดูจมอยู่ในหมอกฝุ่นจากอิฐ คนงานนับพันคนทุบทลายกำแพงย่านเมืองเก่าของพาราณสีด้วยค้อนปอนด์และอีเต้อ รื้อถอนตรอกโบราณและอาคารทรุดเอียงตามแผนปรับปรุงภูมิทัศน์เมืองให้สวยงามขึ้น ผู้อยู่อาศัยเดิมถูกไล่ที่ รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยให้พวกเขา ไม่กี่คนดูมีความสุข การเกิดใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย
พาราณสีมีชื่อเรียกในหมู่ชาวฮินดูผู้เปี่ยมศรัทธาว่า กาศี หรือสถานที่ “ซึ่งดวงประทีปแห่งพระผู้เป็นเจ้าส่องสกาว” ท่าน้ำหรือฆาต 88 แห่งของนครศักดิ์สิทธิ์นี้มีบันไดหินสึกกร่อนอย่างงดงามทอดลงสู่แม่น้ำคงคา ที่ปลายบันได ผู้ศรัทธาชำระล้างบาปในกระแสน้ำขุ่นมัว ดื่มและอาบน้ำที่ปนเปื้อนแบคทีเรียจากอุจจาระสูงกว่าระดับปลอดภัยหลายร้อยเท่า นักแสวงบุญปีละหลายหมื่นคนเดินทางเพื่อมาตายและได้รับการเผาที่ท่าน้ำดังกล่าว การได้รับการเผาในพาราณสีเป็นหนทางที่มั่นใจได้มากที่สุดว่าจะบรรลุโมกษะ หรือหลุดพ้นจากสังสารวัฏอันเป็นทุกข์
ผมนั่งมองทุกสรรพสิ่ง ตั้งแต่พวงมาลัยดอกดาวเรืองสีสดไปจนถึงอุจจาระ ที่มนุษย์ผสมลงไปในแม่น้ำคงคา แม่น้ำช่วงนี้สีดำมืดด้วยเถ้ากระดูก เป็นลำน้ำที่ตัวมันเองก็ยากยิ่งที่จะชำระให้บริสุทธิ์ ยามรุ่งสาง นกนางแอ่นบินฉวัดเฉวียนบนท้องฟ้าสีทองแดง ผมคิดคำนึงถึงความตายและศึกสงครามในชีวิตผม พาราณสีเป็นเมืองที่เหมาะจะมานั่งตรึกตรองถึงการสร้างหรือการทำลายล้างโลก หรือจะให้ดีกว่านั้นคือลุกขึ้นแล้วเดินต่อไป
ติดตามอ่านเรื่องราวฉบับสมบูรณ์ได้ในนิตยสารเนชั่นแนล จีดโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนสิงหาคม 2563
สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/508393