พายุเฮอร์ริเคน มีความรุนแรงและคงตัวนานขึ้นบนพื้นดิน

พายุเฮอร์ริเคน มีความรุนแรงและคงตัวนานขึ้นบนพื้นดิน

การศึกษาครั้งใหม่ทำให้ทราบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจทำให้ พายุเฮอร์ริเคน มีพลังทำลายล้างมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ผืนดิน

การศึกษาใหม่ซึ่งเผยแพร่ในวารสาร Nature ได้วิเคราะห์ว่า พายุเฮอร์ริเคน ที่พัดถล่มอเมริกาเหนือตั้งแต่ปี 1967-2018 พบว่า พายุเฮอร์ริเคนที่ขึ้นฝั่งในปี 1960 จะสูญเสียความรุนแรงไปร้อยละ 75 ในวันแรก แต่ในปี 2018 พายุเฮอร์ริเคนที่ขึ้นฝั่งในวันแรกจะสูญเสียความรุนแรงไปเพียงร้อยละ 50 เท่านั้น

ในปี 2020 ฤดูพายุเฮอร์ริเคนได้ทำลายสถิติที่ผ่านมา โดยปัจจุบันมีพายุทั้งหมด 29 ลูกที่ยังคงสร้างความเสียหายต่อไปอีกหลายสัปดาห์ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะสิ้นสุดประมาณวันที่ 30 พฤศจิกายน ชายฝั่งตามแนวอ่าวของสหรัฐอเมริกาได้รับความเสียหายหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปัจจุบันพายุเฮอร์ริเคนอีทา ซึ่งเป็นพายุระดับ 1 กำลังเคลื่อนตัวไปทางชายฝั่งตะวันตกของฟลอริดา ในขณะที่ประชาชนตามชายฝั่งเรียนรู้ที่จะรับมือกับพายุที่ทวีความรุนแรงขึ้น งานวิจัยใหม่นี้ชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่อยู่ห่างจากชายฝั่งอาจได้รับผลกระทบมากขึ้นในอนาคต เนื่องจากพายุมีกำลังมากขึ้น และอ่อนกำลังช้าลงเมื่อขึ้นฝั่งแล้ว

นักวิจัยกล่าวว่าอุณหภูมิของมหาสมุทรที่ร้อนขึ้นส่งผลให้พายุก่อตัวนานขึ้นเมื่ออยู่บนผืนดิน หากมนุษย์ยังคงเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ความรุนแรงของพายุเฮอร์ริเคนบางลูกที่ทั้งลมและฝน อาจเคลื่อนตัวด้วยความเร็วลมประมาณ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และอาจเคลื่อนไปไกลจากชายฝั่งมากกว่าเดิม ซ้ำร้ายจะส่งผลกระทบต่อชุมชนที่ไม่มีความพร้อมสำหรับการรับมือกับภัยพิบัติมาก่อน

 

พายุเฮอร์ริเคน
เฮอร์ริเคนไมเคิลที่เกิดขึ้นในปี 2018 เป็นพายุระดับ 4 ได้สร้างความเสียหายมูลค่าประมาณ 25.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 757.3 พันล้านบาท การศึกษาใหม่พบว่า พายุเฮอร์ริเคนอยู่บนแผ่นดินนานกว่าในอดีต เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและอาจสร้างความเสียหายให้กับชุมชนมากขึ้น ภาพถ่าย : NOAA

พวกเขารู้ได้อย่างไร

“การค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างพายุเฮอร์ริเคนที่มีการก่อตัวนานขึ้นบนบกและมหาสมุทรที่ร้อนขึ้นเป็นเรื่องบังเอิญ” นักวิจัยกล่าว

พายุเฮอร์ริเคน
คลื่นทะเลที่เกิดจากพายุเฮอร์ริเคนเลสลี ซัดเข้าชายฝั่งใกล้เมืองลิสบอน ประเทศโปรตุเกส เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2018 ภาพถ่าย : PATRICIA DE MELO MOREIRA

Pinaki Chakraborty หัวหน้าภาควิชากลศาสตร์ของไหล สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโอกีนาวะ ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า “เรากำลังศึกษาวิวัฒนาการของพายุเฮอร์ริเคนที่เคลื่อนตัวอยู่บนพื้นดินโดยใช้แบบจำลองเสมือนจริงและเก็บข้อมูลที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยแบบจำลองที่มีอยู่ทั่วไป”

Pinaki Chakraborty กล่าวว่า แบบจำลองที่มีอยู่ทั่วไปไม่ได้นับรวมข้อมูลเรื่องความชื้นที่เพิ่มขึ้นของพายุเฮอร์ริเคนที่กักเก็บไว้ขณะพัดหมุนตัวอยู่บนพื้นดิน

ภูมิอากาศแบบอบอุ่นมีความชื้นมากกว่าภูมิอากาศแบบหนาวเย็น และการศึกษาก่อนหน้านี้หลายงานวิจัยแสดงให้ว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพายุเฮอร์ริเคนที่มีปริมาณน้ำฝนมากขึ้น หากเปรียบพายุเฮอร์ริเคนคือเครื่องยนต์ น้ำทะเลอุ่นที่อยู่ใต้ทะเลก็เสมือนเชื้อเพลิง เมื่อน้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงมากเป็นพิเศษ เช่น ในทะเลแคริบเบียน และอ่าวเม็กซิโก ย่อมส่งผลให้พายุเฮอร์ริเคนมีกำลังสูงขึ้นได้

เราจำเป็นต้องปรับตัวหรือไม่

การศึกษาชิ้นใหม่ไม่ได้อ้างอิงถึงพายุเฮอร์ริเคนที่เกิดขึ้นในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา โดยทั่วไปนักวิทยาศาสตร์ต่างเห็นพ้องกันว่า พายุหนึ่งลูกหรือแม้แต่ช่วงฤดูพายุเฮอร์ริเคนไม่สามารถเชื่อมโยงโดยตรงถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์ได้

ถ้าพายุเฮอร์ริเคนในอนาคตเป็นไปตามงานวิจัยนี้ บริเวณทวีปแอตแลนติกควรปรับแผนและเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติในอนาคต เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่เตรียมอพยพล่วงหน้าก่อนพายุจะเคลื่อนตัวมาถึง

สู่การยืนยัน

นักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่าจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการเกิดขึ้นของปรากฏการณ์ใหม่นี้และเข้าใจถึงผลกระทบของมัน

“ฉันคิดว่าการรวมรวบข้อมูลและการสร้างแบบจำลองอย่างง่ายเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก” Dan Chavas นักวิทยาศาสตร์ด้านบรรยากาศของมหาวิทยาลัย Purdue และหนึ่งในผู้ตรวจสอบของการศึกษากล่าว “ ฉันคิดว่าผลกระทบมีอยู่จริง แต่คำถามคือผลกระทบดังกล่าวรุนแรงเพียงใด”

Pinaki Chakraborty กล่าวว่า จำเป็นต้องทำการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อหาการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่ส่งผลกระทบต่อพายุเฮอร์ริเคน และรายละเอียดทางกายภาพเกี่ยวกับความชื้นที่เพิ่มขึ้น ที่ส่งผลต่อการหมุนของพายุเฮอร์ริเคนบนพื้นดิน ขณะนี้ ทวีปอเมริกาเหนือ ถือว่ามีข้อมูลเกี่ยวกับพายุเฮอร์ริเคนที่ดี และมากที่สุด แต่นักวิทยาศาสตร์ยังคงต้องใช้ทฤษฎีนี้เกี่ยวกับพายุหมุนเขตร้อนในสถานที่อื่น ๆ

“งานของ Chakraborty ชี้ให้เห็นว่า ทฤษฎีนี้อาจประยุกต์ใช้กับการเกิดพายุในมหาสมุทรแปซิฟิกได้ด้วย แต่สำหรับตอนนี้การวิจัยในมหาสมุทรแอตแลนติกถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญสำหรับการเข้าใจผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อพายุเฮอร์ริเคน” Dan Chavas กล่าว

เรื่อง : ซาราห์ กิบเบ็นส์

***แปลและเรียบเรียงโดย พชร พงศ์ยี่ล่า

โครงการนักศึกษาฝึกงาน กองบรรณาธิการ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : หน้าต่างบานใหม่สู่สภาพอากาศ

สภาพอากาศ, เอเวอเรสต์

Recommend