ใครสร้าง สฟิงซ์ ไขปริศนาลึกลับ อียิปต์โบราณ นานกว่า 4,000 ปี

ใครสร้าง สฟิงซ์ ไขปริศนาลึกลับ อียิปต์โบราณ นานกว่า 4,000 ปี

เรื่องราวที่เราจะถ่ายทอดให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายได้รับรู้ในครั้งนี้ คือสิ่งต่างๆ ที่เราทราบเกี่ยวกับ “มหาสฟิงซ์แห่งกีซา” อันเป็นผลมาจากการศึกษาวิจัยเยี่ยงนักสืบอย่างยาวนานนับหลายปี โดยเหล่านักโบราณคดีและนักอียิปต์วิทยาทั้งหลาย

ด้วยกายาเฉกเช่นราชสีห์ และใบหน้าเยี่ยงราชันย์ มหาสฟิงซ์แห่งกิซา (the Great Sphinx) ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ประจำอียิปต์โบราณดังที่ทุกคนรับรู้ และเป็นแรงบันดาลใจไปยังประติมากรรมจำลองแบบอันใหญ่โตที่ผุดขึ้นในทั่วทุกมุมโลก ตั้งแต่ที่ลาสเวกัส เนวาดา จนถึงเมืองหลานโจว ประเทศจีน

เป็นเวลาหลายพันปีมาแล้วที่อนุสาวรีย์ขนาดมหึมานี้นอนหมอบอยู่ ณ เบื้องเท้าของบรรดาพีระมิดแห่งกิซาเพื่อปกปักษ์สุสานแห่งนี้ เฉกเช่นเดียวกับผืนทะเลทรายที่กลบฝังมันในช่วงเวลาแห่งการละเลย ความนิยมของสฟิงซ์มีทั้งพุ่งทะยานและตกต่ำ และเมื่อใดก็ตามที่มันปรากฏตัวขึ้นจากการกลบฝัง กายาอันอหึมาของอนุสาวรีย์ปักหลั่นแห่งนี้ก็ได้บันดาลและปลุกเร้าความรู้สึกฉงนสนเท่ห์และความอัศจรรย์ใจให้แก่ผู้ที่ได้จ้องมอง

สฟิงซ์, อียิปต์
มหาสฟิงซ์และพีระมิดของคาเฟร ซึ่งพระองค์ทรงบัญชาให้สร้างขึ้นเมื่อราว 2540 ปีก่อนค.ศ. คือแหล่งโบราณคดี 2 แห่งที่โด่งดังที่สุดของอียิปต์ ภาพถ่าย KENNETH GARRETT

สฟิงซ์ ยักษ์ใหญ่ในทะเลทราย

นักโบราณคดีเชื่อกันว่ามหาสฟิงซ์ถูกสร้างขึ้นเมื่อสมัยอาณาจักรเก่าของอียิปต์ (ราว 2575–2150 ปีก่อนค.ศ.) โดยฟาโรห์คาเฟร (Khafre) แห่งราชวงศ์ที่สี่ และเป็นหนึ่งในมหาประติมากรรม (monumental sculpture) ที่เก่าแก่และใหญ่โตที่สุดในโลก มันมีความสูงจากฐานถึงด้านบนสุดของศีรษะกว่า 20 เมตร และยาว 73 เมตรจากอุ้งเท้าหน้าจนถึงหาง ส่วนใหญ่ของประติมากรรมชิ้นนี้ถูกสลักขึ้นโดยตรงจากหินปูนจากกิซา และเสริมด้วยบล็อกหินปูน

ศีรษะของสฟิงซ์มีภาพลักษณ์ของความสูงศักดิ์ ทั้งยังประดับไปด้วยบางสัญลักษณ์ตามขนบประจำราชวงศ์ของอียิปต์ยุคโบราณ เช่น nemes หรือเครื่องเศียรทำจากผ้าที่เหล่าฟาโรห์องค์ต่างๆ ได้สวมใส่ ส่วนบนหน้าผาก เศษซากของรูปงูเห่าหลวงหรือ uraeus ซึ่งถูกสลักลงไปก็ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ ลักษณะเค้าโครงใบหน้าต่างๆ ของสฟิงซ์มีลักษณะแบบเพศชาย และแม้กาลเวลาจะช่วงชิงจมูกและเคราเยี่ยงราชาของประติมากรรมยิ่งใหญ่ชิ้นนี้ แต่รูปเค้าอื่นๆ ยังคงมีลักษณะชัดเจน แม้ว่ามันจะถูกกัดกร่อนไปบ้างก็ตามที

อุ้งเท้าขนาดยักษ์ทั้งคู่เหยียดออกหน้ากายาราชสีห์ของสฟิงซ์ หางของมันพันรอบลำตัว ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกปะผิวหน้า (faced) ด้วยบล็อกหินปูนคุณภาพสูงจากเหมืองหินที่ Tura บนเกือบทั่วทั้งพื้นผิว กระนั้น ชั้นผิวหน้าดังกล่าวก็เสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา บางส่วนนั้นถึงกับอันตรธานหายไปจนหมด แม้มันจะได้รับการบูรณะหลายครั้งในหลายศตวรรษที่ผ่านมา

บรรดานักโบราณคดีค้นพบร่องรอยเม็ดสีสีฟ้า เหลือง และแดงบนส่วนต่างๆ ของสฟิงซ์ ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าในครั้งกาลครั้งหนึ่ง มันเคยถูกประดับประดาอย่างมีสีสัน เมื่อศตวรรษที่หนึ่งในคริสตศักราช พลินีผู้เฒ่า (Plini the Elder) นักเขียนชาวโรมัน บรรยายถึงรูปลักษณ์สีสันเจิดจ้าของสฟิงซ์ไว้ว่า “ใบหน้าของอสูรกายตนนี้เป็นสีแดง”

ปริศนาของ สฟิงซ์ ในตำนานกรีก

ในยุคกรีกโบราณ “สฟิงซ์” คือปิศาจผู้มีศีรษะเป็นสตรี ลำตัวเป็นสิงห์โต และมีปีกของนก นางคืออสูรกายอำมหิตซึ่งสังหารผู้ใดก็ตามที่ไม่สามารถตอบปริศนาของตนได้ ความโหดร้ายดังกล่าวนี้มีชื่อเสียงมากที่สุดในเทพปกรณัมเรื่องอิดีปุส (myth of Oedepus) ตรงกันข้าม ญาติชาวอียิปต์ของเธอคือตัวตน (being) แห่งความกรุณาและการปกป้อง ผู้พิทักษ์เหล่ากษัตริย์และดินแดนแห่งนี้ ส่วนต้นกำเนิดของคำว่า “สฟิงซ์” ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่มันอาจมีรากจากคำว่า shesep-ankh อันมีความหมายว่า “ภาพมีชีวิต” ในภาษาอียิปต์ ซึ่งเป็นคำที่ใช้เมื่อกล่าวถึงภาพแสดงต่างๆ ของทวยเทพและฟาโรห์

ศิลาจารึก, อียิปต์
ศิลาจารึกคำสัตย์ (votive stela) จากเมื่อราวศตวรรษที่ 16-11 ก่อนค.ศ. แผ่นนี้ แสดงภาพผู้ศักการะซึ่งกำลังสวดภาวนาต่อประติมากรรมสฟิงซ์ ภาพถ่าย AKG/ALBUM

ต่างจากปิศาจของกรีก มหาสฟิงซ์มีศีรษะของบุรุษเพศและไม่มีปีก กระนั้น รูปลักษณ์ของสฟิงซ์ตัวอื่นๆ ซึ่งปรากฏอยู่ในต่างยุคสมัยของอียิปต์โบราณก็มีความแตกต่างกันออกไป โดยแม้ลำตัวของสิงห์โตจะยังคงอยู่ แต่ศีรษะของพวกมันกลับเปลี่ยนแปลงไปในหลากหลายรูปแบบ นอกจากศีรษะแบบมนุษย์แล้ว สฟิงซ์เหล่านี้ยังมีหัวของสัตว์ต่างๆ เช่นแกะตัวผู้ หมาใน เหยี่ยว และจระเข้

บรรดารูปสลักเช่นนี้มักถูกพบในฐานะส่วนประกอบหนึ่งของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในอียิปต์ เช่นสฟิงซ์ศีรษะเหยี่ยวจากสมัยศตวรรษที่ 13 ก่อนค.ศ. สองตัวถูกพบที่วิหารประจำฟาโรห์รามเสสที่สอง ณ อะบูซิมเบล หรือถนนแห่งสฟิงซ์ (avenue of sphinx) ที่ลักซอร์ ซึ่งถูกสร้างขึ้นเมื่อศตวรรษที่สี่ก่อน ค.ศ. และยังคงยืนเฝ้าพิทักษ์แนวถนนยาวเกือบ 2.41 กิโลเมตรซึ่งเชื่อมต่อวิหารต่างๆ ที่คาร์นัคและลักซอร์เข้าด้วยกัน

ในขณะที่สฟิงซ์แห่งกิซาใช้เวลากว่า 4,500 ปีเฝ้ามองกาลเวลาแต่ละศตวรรษดำเนินผ่านไป ความคิดเห็นที่ผู้คนมีต่อสิ่งมหัศจรรย์ปักหลั่นนี้ก็กลับเปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาลพร้อมกับแต่ละปีที่ก้าวไปข้างหน้า เมื่อครั้งราชอาณาจักรเก่า มันเป็นทั้งสิ่งที่ผู้คนเคารพบูชาและยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของเขตแดนศักดิ์สิทธิแห่งมหาสุสานที่กิซา แต่เมื่อระบอบการปกครองใหม่ๆ ขึ้นครองอำนาจ สฟิงซ์ตนนี้กลับถูกทอดทิ้ง ผืนทะเลทรายที่พัดพาเข้ามากลบฝังร่างของมันจนกระทั่งมีเพียงส่วนหัวเท่านั้นที่ยังคงมองเห็นได้

กระนั้น เมื่อเวลาผ่านพ้นไป ผู้มาเยือนกิซาทั้งหลายก็ได้ค้นพบยักษ์ใหญ่ผู้เฝ้าคอยอย่างอดทนที่จะถูกค้นพบอีกครั้ง และแล้ว ในยามที่มหาประติมากรรมแห่งนี้ผุดขึ้นจากทรายที่กลบฝัง ชีวิตของมันก็กลับฟื้นคืนขึ้น พร้อมกับนักท่องเที่ยวหน้าใหม่ผู้พร้อมใจมารวมตัวกันเพื่อรู้สึกอัศจรรย์ใจไปกับขนาด ความลึกลับ และความอดทนยิ่งยวดของมัน

สฟิงซ์, อียิปต์, อียิปต์โบราณ
ในภาพถ่ายสำหรับเนชั่น แนลจีโอกราฟิก ฉบับเดือนกันยายน 1913 นี้ นักขี่อูฐนิรนามคนหนึ่ง ใช้เวลาชั่วครู่ไปกับการพักผ่อน ณ เบื้องหน้าของมหาสฟิงซ์และเหล่าพีระมิดแห่งกีซา ภาพถ่าย KENNETH GARRETT

ผู้ใดกันที่สร้าง สฟิงซ์

ความลึกลับที่สุดสองประการเกี่ยวกับมหาสฟิงซ์แห่งกิซาได้แก่ มันสร้างขึ้นเมื่อใด และใครเป็นผู้สร้างมันขึ้นมา ความคิดเห็นซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางที่สุดในวงวิชาการคือ มันสร้างขึ้นเมื่อราว 4,500 ปีที่แล้ว เมื่อครั้งสมัยราชอาณาจักรเก่า ในช่วงเดียวกับการสร้างบรรดามหาพีระมิดแห่งอื่นๆ และชัดเจนว่ามหาสฟิงซ์และสุสานมหึมาเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกัน เพราะมันสามารถเห็นได้ว่ายักษาผู้พิทักษ์ตนนี้นอนหมอบอยู่ตรงกลางระหว่างกลางพีระมิดสองแห่ง ซึ่งสร้างโดยฟาโรห์แห่งราชวงศ์ที่สี่สองพระองค์ ได้แก่คูฟู ผู้ทรงครองราชย์เมื่อช่วงราว 2500 ปีก่อนค.ศ. ผู้สร้างมหาพีระมิด (the Great Pyramid) และคาเฟร ราชโอรสของพระองค์ ผู้ทรงสร้างสุสานของพระองค์เอง ซึ่งแม้จะมีขนาดเล็กกว่ามหาพีระมิดเล็กน้อย แต่ก็ยังคงเป็นสถาปัตยกรรมมีอันน่าประทับใจ

รูปสลักขนาดเล็กทำจากหินอ่อนของฟาโรห์คูฟูแห่งราชวงศ์ที่สี่
รูปสลักหินไดออไรต์ของฟาโรห์คาเฟร ผู้ทรงได้รับการปกปักษ์จากเทพฮอรัส ภาพถ่าย DEA/SCALA, FLORENCE

ในขณะที่บรรดาพีระมิดของเหล่าผู้ปกครองอิยิปต์โบราณยุคแรกเริ่มเหล่านี้ยิ่งใหญ่อลังการ บันทึกต่างๆ เกี่ยวกับฟาโรห์เหล่านี้กลับแทบไม่ปรากฏอยู่ นักโบราณคดีทั้งหลายจำเป็นต้องใช้วิธีการแบบนักสืบ เพื่อพยายามไขปริศนาว่าผู้ใดกันที่สร้างมหาสฟิงซ์ แต่จนถึงทุกวันนี้ ยังไม่มีการค้นพบหลักฐานชี้ชัดและจารึกต่างๆ ซึ่งยกย่องและกล่าวถึงคูฟูหรือคาเฟรในฐานะผู้ทรงบัญชาให้สลักมันขึ้นแต่อย่างไร

สมมติฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางที่สุด และได้รับการสนับสนุนโดยนักอียิปต์วิทยาเช่น Mark Lehner และ Zahi Hawass เสนอว่า คาเฟรทรงมีพระบัญชาให้สร้างมหาสฟิงซ์ เพื่อรวมมันเข้าเป็นส่วนประกอบหนึ่งของอนุสาวรีย์อื่นๆ ซึ่งพระองค์ทรงมีแผนให้สร้างขึ้น  โดยบรรดาอนุสาวรีย์ต่างๆ ที่กล่าวมานั้น มีทั้ง ที่บรรทมนิรันดร์กาล ของตัวพระองค์เอง และกลุ่มวิหารซึ่งตั้งอยู่รายรอบรวมอยู่ด้วย และนักวิชาการเหล่านี้ยังศึกษาทั้งซากของมหาสุสานดังกล่าวและสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ที่ฟาโรห์แต่ละองค์ทรงบัญชาให้สร้างขึ้นในบริเวณเดียวกัน และพบว่าการวางตำแหน่งของมหาสฟิงซ์ในแผนผังการจัดเรียงของกลุ่มสถาปัตยกรรมอันประกอบไปด้วยพีระมิดและวิหารฝังพระศพต่างๆ ของคาเฟรนั้นมีความถูกต้องลงตัวตามแบบแผนมากกว่า บ่งชี้ถึงการวางแผนและคิดไตร่ตรองอย่างละเอียดถี่ถ้วน พวกเขาเชื่อว่ามหาสฟิงซ์ถูกสลักขึ้นจากหินปูนก้อนมหึมา ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจถูกค้นพบขณะเหล่าแรงงานตัดหินก้อนใหญ่สำหรับการก่อสร้างวิหารต่างๆ ในบริเวณใกล้กัน

อียิปต์, พีรามิด
พีระมิดสามแห่ง ณ พระสุสานของฟาโรห์คูฟู (ด้านขวา) คาเฟร (ตรงกลาง) และเมนเคอเร (Menkaure) (ด้านซ้าย) ทั้งสามถูกสร้างขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 26 ก่อน ค.ศ. ภาพถ่าย MARCELLO BERTINETTI

ในขณะเดียวกัน ผู้ศึกษาบางรายกลับเสนอว่า มหาสฟิงซ์มิได้ถูกสลักขึ้นในยุคสมัยที่กล่าวไปข้างต้น แต่เป็นในเวลาที่นานนมก่อนหน้านั้น ข้อเสนอดังกล่าวอ้างอิงจากศิลาจารึกรายการ (Inventory Stela) อันเป็นจารึกจากราว 670 ปีก่อนค.ศ. หรือกว่าหนึ่งสหัสวรรษหลังเหตุการณ์เรื่องราวต่างๆ ที่มันกล่าวถึงในจารึก มันชี้ว่ามหาสฟิงซ์ได้รับการปฏิสังขรณ์ในรัชสมัยของฟาโรห์คูฟู อันเป็นการบอกโดยนัยว่าอนุสาวรีย์แห่งนี้มีขึ้นก่อนรัชสมัยของฟาโรห์องค์แรกๆ ทั้งสอง แต่อย่างไรก็ตาม แผ่นจารึกนี้ก็เต็มไปด้วยความคาดเคลื่อน ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายรายมองมันด้วยความคลางแคลงใจอย่างมาก

วิหารแห่งมหาสฟิงซ์

ณ บริเวณตรงข้ามกับมหาสฟิงซ์ เศษซากของวิหารแห่งหนึ่ง — ซึ่งเป็นไปได้ว่าถูกสร้างขึ้นพร้อมกับอนุสาวรีย์ยักษ์ใหญ่นี้ — ยังคงหลงเหลือให้เห็น และแม้การก่อสร้างศาสนสถานแห่งนี้จะไม่เคยสำเร็จเสร็จสิ้น ก็เป็นที่เชื่อกันว่ามันได้รับการสถาปนาให้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะมีภาพตัวแทนซึ่งแสดงร่างปรากฏต่างๆ ของสุรยเทพเร (Re) หรือรา (Ra) ซึ่งบรรดานักโบราณคดีค้นพบที่วิหารแห่งนี้ และถ้าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้สร้างแล้วเสร็จ มหาสฟิงซ์ซึ่งตั้งอยู่ที่ด้านหลังของมัน ก็จะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเทวสถานแห่งนี้

การขุดสำรวจครั้งต่างๆ เมื่อต้นศตวรรษที่ 20 เผยให้เห็นถึงซากบล็อกหินปูนมโหราฬของวิหารแห่งนี้ เป็นไปได้ว่าบล็อกเหล่านี้ถูกปะผิวหน้าด้วยหินแกรนิต ส่วนพื้นนั้นสร้างขึ้นด้วยหินอะลาบาสเตอร์ จากข้อมูลของ Herbert Ricke และ Siegfried Schott สองนักอียิปต์วิทยาชาวเยอรมัน เสาทั้ง 24 ต้นที่ลานส่วนกลางของมันอาจเป็นสัญลักษณ์แทนเวลา 24 ชั่วโมงของแต่ละวัน และอาจใช้เป็นหลักพิงสำหรับรูปสลักต่างๆ ประจำฟาโรห์ หากรูปสลักเหล่านั้นถูกนำมาตั้งขึ้น นอกจากนี้แล้ว วิหารแห่งนี้ยังมีแท่นบูชาแท่นหนึ่ง ณ ตรงกลางของมันอีกด้วย

สฟิงซ์
ภาพกราฟฟิกที่เห็นนี้ จำลองกลุ่มสถาปัตยกรรมของคาเฟร ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับมหาสฟิงซ์ – ซึ่งถูกวาดให้มีสีสันสดเข้มเหมือนดั่งที่มันเคยเป็นในกาลครั้งหนึ่ง ภาพจำลองนี้แสดงทางเดินยาวมีหลังคา ซึ่งเชื่อมวิหารหุบเขา (Valley Temple) ของคาเฟรเข้ากับวิหารบน (high temple) ที่ตั้งอยู่ติดกับพีระมิดของพระองค์ ทางเดินแห่งนี้ถูกใช้สำหรับการแห่พระศพของพระองค์ไปที่วิหารหุบเขา (หรืออีกชื่อหนึ่งคือวิหารล่าง : lower temple) วิหารแห่งนี้มีห้องซึ่งถูกประดับประดาด้วยรูปสลักของพระองค์อยู่ห้องหนึ่ง และเป็นที่เชื่อกันว่า ณ ที่แห่งนี้เอง ที่พระศพของคาเฟรได้ถูกดองไว้ ส่วนวิหารแห่งมหาสฟิงซ์ซึ่งถูกวางแผนให้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสิ่งปลูกสร้างแห่งนี้ ไม่เคยถูกสร้างจนสำเร็จ ภาพถ่าย 4D NEWS

วิหารแห่งนี้มีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สองแห่ง โดยแห่งหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก และอีกแห่งอยู่ทางทิศตะวันตก สถานฝั่งตะวันออกอาจถวายต่อเคปรี (Khepri) เทพแห่งอรุณสุริยะ และสถานฝั่งตะวันตกอาจถวายแด่อาทุม (Atum) เทพแห่งอาทิตย์อัสดง เป็นไปได้ว่าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทั้งสองแห่งถูกปิดล้อมรอบ แต่พื้นที่ตรงกลางถูกเปิดให้เห็นฟากฟ้าเบื้องบน และปล่อยให้แสงเจิดสรัสของเร สุริยเทพผู้ทรงพลัง ฉายมาในทุกคราที่ดวงอาทิตย์โคจรขึ้นสู่จุดสูงสุดในแต่ละวัน

ระหว่างช่วงปรากฏการณ์วิษุวัตแต่ละครั้ง (equinox หรือวันที่กลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน) การเรียงตัวของดวงดาวทางดาราศาสตร์สามารถถูกสังเกตได้จากทั้งวิหารแห่งมหาสฟิงซ์ ตัวมหาสฟิงซ์เอง และพีระมิดของคาเฟร ผู้ชมมองซึ่งยืนอยู่บนแกนระหว่างตะวันตกและตะวันออกของวิหารและมุ่งสายตาไปยังอาทิตย์ตกดินในทิศตะวันตก จะสามารถมองเห็นการตกดินของสุริยวิษุวัต (equinoctial sun) ณ ด้านใต้ของมหาสฟิงซ์และพีระมิดของคาเฟรได้เช่นกัน (เหล่านักวิชาการชี้ถึงปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ เพื่อสนับสนุนทฤษฎีซึ่งกล่าวว่าคาเฟรคือผู้ทรงสร้างมหาสฟิงซ์)

ราวหนึ่งพันปีต่อมา ฟาโรห์อาเมนโฮเทปที่สองแห่งราชวงศ์ที่ 18 ทรงสร้างวิหารขนาดเล็กแห่งหนึ่งใกล้กับซากกลุ่มสถาปัตยกรรมของคาเฟร วิหารจากสมัยราชอาณาจักรใหม่ (New Kingdom) ซึ่งถูกสร้างด้วยอิฐดิบ และตั้งชิดกับมุมฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของวิหารแห่งมหาสฟิงซ์แห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นเพื่อถวายแด่เทพ Har-em-akhet หรือ “ฮอรัสแห่งขอบฟ้า (Horus on the Horizon)” ผู้ทรงมีความเกี่ยวโยงกับมหาประติมากรรมชิ้นนี้เมือครั้งสมัยนั้น

นิมิตรขององค์ชาย

หลังการเสื่อมอำนาจลงของราชอาณาจักรเก่า ทั้งมหาสฟิงซ์และสิ่งปลูกสร้างต่างๆ รอบตัวมันก็ถูกทอดทิ้งและหมดสภาพลง พวกมันหลับใหลนิทราเป็นเวลากว่าหลายศตวรรษ ขณะที่ทะเลทรายกองทับถมขึ้นรอบๆ กระนั้น ในระหว่างยุคราชอาณาจักรใหม่ (ราว 1539-1075 ปีก่อน ค.ศ.) อนุสาวรีย์ยักษ์แห่งนี้ก็กลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาใหม่ เมื่อฟาโรห์หนุ่มองค์หนึ่งใช้มันเป็นเครื่องมือเชื่อมโยงการครองราชย์ของพระองค์เข้ากับเหล่าผู้ครองอำนาจเมื่อครั้งกาลนานก่อน

สฟิงซ์, อียิปต์โบราณ, อียิปต์
ภาพถ่ายทางอากาศของมหาสฟิงซ์ จากยุคทศวรรษที่ 1920 ภาพถ่าย WERNER FORMAN/ALBUM

ระหว่างสองอุ้งเท้าของมหาสฟิงซ์ ศิลาจารึกแห่งความฝัน (Dream Stela) ของฟาโรห์ทุตโมสที่สี่ (Thutmose IV) ถูกตั้งไว้ ศิลาจารึกซึ่งถูกค้นพบเมื่อปี 1817 นี้ กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มประติมากรรมมหาสฟิงซ์หลังเวลาผ่านไปเนิ่นนาน โดยมันถูกตั้งไว้ ณ สถานที่แห่งนี้เมื่อช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในสมัยราชวงศ์ที่ 18 หินจารึกมหึมาแผ่นดังกล่าวถูกสลักขึ้นด้วยหินแกรนิตอันแข็งแกร่ง หนักราว 15 ตัน และสูงราว 3.66 เมตร นอกจากนี้แล้ว แผ่นศิลานี้ยังมีข้อความจารึกต่างๆ ซึ่งสลักลงอย่างโอ่อ่างดงาม เพื่อบอกเล่าถึงเรื่องราวหนึ่งจากเมื่อครั้งที่ฟาโรห์ลำดับที่แปดแห่งราชวงศ์ที่ 18 องค์นี้ยังทรงเป็นเจ้าชายผู้ทรงพระเยาว์ และมหาสฟิงซ์ยังถูกกลบฝังใต้ผืนเม็ดทรายจนถึงระดับหัวใหล่ทั้งสอง

สฟิงซ์
แผ่นศิลาซึ่งวางอยู่ ณ ระหว่างกลางของอุ้งเท้าทั้งสองของมหาสฟิงซ์ในภาพนี้ คือศิลาจารึกแห่งความฝันของฟาโรห์ทุตโมสที่สี่แห่งราชวงศ์ที่ 18 ซึ่งเล่าถึงเรื่องราวในนิมิตรครั้งหนึ่งจากเมื่อครั้งที่พระองค์ยังทรงเป็นเจ้าชาย ศิลาจารึกนี้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มประติมากรรมมหาสฟิงซ์หลังจากมหาอนุสาวรีย์แห่งนี้สร้างขึ้นแล้วเสร็จเป็นเวลานานนับพันปี ภาพถ่าย MICHAEL GREENFELDER/ALAMY/ACI

เรื่องราวบนศิลาจารึกดังกล่าวเล่าถึงเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อยามบ่ายของวันหนึ่ง เมื่อสุริยเทพ Horemakhet-Khepri-Re-Atum ทรงปรากฏกายขึ้นด้วยด้วยรูปลักษณ์ของมหาสฟิงซ์ และตรัสกับเจ้าชายทุตโมส ผู้ทรงบรรทมพักผ่อนภายใต้ร่มเงาของประติมากรรมแห่งนี้ว่า ตนเองจะช่วยให้มนุษย์ผู้นี้กลายเป็นผู้ปกครองแผ่นดิน หากพระองค์สามารถขจัดปัดเป่าเม็ดทรายซึ่งห้อมล้อมปกคลุมมหาสฟิงซ์ได้สำเร็จ กระนั้น ตอนจบของเรื่องเล่านี้ก็สาบสูญไปกับกาลเวลา เนื่องเพราะส่วนของข้อความจารึกซึ่งถูกกัดกร่อนหายไป

ทุตโมสที่สี่ทรงใช้เรื่องราวนิมิตรครั้งนี้สร้างความชอบธรรมในฐานะฟาโรห์ให้กับตนเอง เนื่องเพราะแท้จริงแล้ว พระองค์ทรงมิใช่ราชโอรสผู้มีสิทธิ์สืบทอดบัลลังก์ต่อจากอาเมนโฮเทปที่สอง – ผู้ทรงเป็นพระบิดาของพระองค์ – เป็นลำดับแรก

บุคคลทั้งสองในรูปสลักจากหินแกรนิตซึ่งถูกพบที่คาร์นัคชิ้นนี้ คือฟาโรห์ทุตโมสที่สี่และไทอา พระมารดาของพระองค์ ภาพถ่าย SCALA, FLORENCE

ไม่ว่านิมิตรดังกล่าวจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ มันก็กลายเป็นเครื่องมือชวนเชื่ออย่างดี ฟาโรห์องค์ใหม่ผู้นี้ทรงผูกโยงตนเองเข้ากับเหล่าทวยเทพและสายสันติวงศ์อันสืบทอดมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล จากนั้น ฟาโรห์ทุตโมสที่สี่จึงทรงเริ่มบูรณะมหาสฟิงซ์ และช่วยให้มันโผล่พ้นขึ้นจากทราย นอกจากนี้ บรรดานักวิชาการยังเชื่อกันว่าเคราที่ถักเป็นเปีย ซึ่งถูกสลักขึ้นจากก้อนหินและติดเข้ากับคางของมัน คือส่วนหนึ่งของการบูรณะมหาสฟิงซ์ของพระองค์ เคราดังกล่าวนี้หลุดลงสู่พื้นเมื่อสักช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนที่เศษต่างๆ ซึ่งแตกกระจายของมันจะถูกค้นพบเมื่อปี 1817

ถึงคราวเสื่อมสภาพ

หลังสมัยราชอาณาจักรใหม่ อันเป็นช่วงที่ความหลงใหลต่อมหาสฟิงซ์ที่เคยฟื้นคืนชีพขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ได้ผ่านพ้นไป สิ่งก่อสร้างอัศจรรย์แห่งนี้ต้องจมปลักลงสู่ห้วงยามแห่งการถูกละเลยทิ้งขว้างอันแสนยาวนานอีกครั้ง และในครานี้ ผืนทรายที่กลบฝังมันไม่เพียงแค่ถมตัวจนขึ้นถึงหัวใหล่ของ แต่ยังพะเนินสูงขึ้นจนกระทั่งศีรษะของมันกลายเป็นเพียงส่วนเดียวที่มองเห็นได้ แต่แม้ในยามที่ประติมากรรมเอกอุชิ้นนี้ต้องตกอยู่ในภาวะกึ่งเป็นกึ่งตาย มันก็ยังคงสามารถแผ่อำนาจอิทธิพลในฐานะสิ่งสักการะในจิตสำนึกของผู้คนได้

บันทึกต่างๆ จากศตวรรษที่ 12 และ 13 กล่าวว่า ผู้คนท้องถิ่นได้ถวายเครื่องเซ่นแด่มหาสฟิงซ์ เพื่อวิงวอนให้แม่น้ำไนล์ท่วมหลากและการเก็บเกี่ยวได้ผลดีขึ้น ส่วนในศตวรรษที่ 11 อันเป็นช่วงเวลาที่อียิปต์ถูกพิชิตโดยราชวงศ์ฟาฏิมิด (Fatimid) และถูกสถาปนาเป็นเมืองหลวงแห่งรัฐอิสลาม (caliphate) ภายใต้ราชวงศ์ดังกล่าว Al-Idrisi นักภูมิศาสตร์ชาวแอฟริกาเหนือ รายงานว่า เมื่อผู้ใดก็ตามมีความประสงค์ที่จะได้รับตำแหน่งฐานะหรือหน้าที่ทางการเมืองต่างๆ ในยุคสมัยนี้ คนเหล่านั้นก็จะเดินทางไปถวายตัวต่อมหาสฟิงซ์

สฟิงซ์, อียิปต์โบราณ
ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ศีรษะของมหาสฟิงซ์เป็นเพียงส่วนเดียวที่ยังมองเห็นได้ ดั่งเช่นที่เดวิด โรเบิร์ตส์ ผู้เป็นศิลปิน แสดงในรูปพิมพ์หิน (lithograph) ซึ่งเขาทำขึ้นระหว่างการเดินทางสู่อียิปต์ครั้งหนึ่งเมื่อปี 1838 ภาพถ่าย BRIDGEMAN/ACI

อนุสาวรีย์แห่งนี้ยังสร้างความตื่นตาตื่นใจอย่างยิ่งยวดแก่บรรดาชาวยุโรปผู้ได้มาเยี่ยมชมมัน André Thévet นักสำรวจชาวฝรั่งเศสผู้แต่งบันทึกประสบการณ์เรื่องจักรวาลพรรณนาแห่งภูมิภาคเลอวองต์ (Cosmography of the Levant)  บรรยายถึงมหาสฟิงซ์ในผลงานซึ่งถูกตีพิมพ์เมื่อปี 1556 ชิ้นนี้ว่า “[มัน] คือศีรษะของมหาอนุสาวรีย์” ต่อมา ในปลายยุคทศวรรษที่ 1790 หรือสองศตวรรษให้หลัง นโปเลียน ผู้นำกองทัพของตนเข้าต่อสู้กับกองทัพอังกฤษในอียิปต์ กลับเกิดความหลงใหลต่อทั้งประวัติศาสตร์โบราณและแหล่งโบราณคดีต่างๆ ของดินแดนแห่งนี้ รวมไปถึงมหาสฟิงซ์ด้วยเช่นกัน

มีเรื่องกล่าวขานกันว่า เมื่อจักรพรรดิ์แห่งฝรั่งเศสองค์นี้ทรงทอดพระเนตรเห็นบรรดาพีระมิดและอนุสาวรีย์อันโอ่าอ่าแห่งนี้ พระองค์ทรงถึงกับต้องป่าวประกาศว่า “ประวัติศาสตร์นับหลายพันปีกำลังจ้องมองลงมาที่พวกเรา!” อียิปต์โบราณนั้นสร้างแรงบันดาลใจให้กับเหล่าผู้ติดตามของนโปเลียนอย่างมากโข จนเมื่อพวกเขากลับสู่ฝรั่งเศส ทหารเหล่านี้ก็ลงมือตั้งหน้าตั้งตาสรรค์สร้างงานเขียนขนาดความยาวหลายเล่มหนังสือ ซึ่งเล่าถึงประวัติศาสตร์ของมันอย่างครอบคลุม พร้อมด้วยการอธิบายพรรณาอันละเอียดละออถึงความอัศจรรย์ทุกสิ่งที่พวกเขาได้ประสบพบเจอ

แต่แม้ทั้งตัวพระองค์และเหล่าทหารจะหลงใหลคลั่งใคล้ต่ออียิปต์โบราณเพียงใด ช่วงเวลาที่พระองค์ทรงรบทัพจับศึกในดินแดนแห่งนี้ก็กลับทำให้เรื่องเล่าเพ้อพกเกี่ยวกับจมูก (ที่หายไป) ของสฟิงซ์เรื่องหนึ่งผุดกำเนิดขึ้น เรื่องเล่าดังกล่าวครหาว่าเหตุที่มันต้องเสียจมูก — และโฉม — ไปนั้น เป็นผลมาจากลูกกระสุนจากปืนใหญ่ของทหารฝรั่งเศส แต่ในความเป็นจริงแล้ว จมูกของมันได้สูญหายไปตั้งแต่ก่อนที่นโปเลียนจะทรงยาตราทัพเข้าสู่อียิปต์เป็นเวลาอย่างน้อยหลายทศวรรษ

ในหนังสือเรื่องหนึ่งจากปี 1755 ที่ชื่อว่า การล่องเดินทางสู่อียิปต์และนูเบีย (Voyage to Egypt ans Nubia) ซึ่งเขียนโดย Frederic Louis Norden นักสำรวจชาวเดนมาร์กผู้ไปเยือนฝรั่งเศสเมื่อปี 1737 ก่อนจะเดินทางต่อไปยังดินแดนแห่งมหาสฟิงซ์ในปีเดียวกัน ได้บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับการเดินทางของตนอย่างละเอียดในหนังสือเล่มดังกล่าว มีภาพร่างของมหาสฟิงซ์ที่ไม่มีจมูกรวมอยู่ด้วย นี่เป็นหลักฐานบ่งชี้ว่าเรื่องครหาที่กล่าวไปข้างต้นเป็นเพียงเรื่องหลอกลวง กระนั้น มายาคติซึ่งถูกหักล้างด้วยหลักฐานชี้มัดนี้ กลับยังมีอำนาจต่อความเชื่อของคนบางกลุ่ม แม้เวลาจะผ่านมาอย่างยาวนานแล้วก็ตาม

ภาพร่างโดยละเอียดจากปี 1731 นี้ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจมูกของมหาสฟิงซ์หายไปเป็นเวลานานตั้งแต่ก่อนนโปเลียนจะทรงนำทัพเข้าสู่อียิปต์แล้ว ภาพถ่าย AURIMAGES

หลักฐานอันเป็นลายลักษณ์ของศาสนาอิสลามชิ้นหนึ่งระบุว่า จมูกของมหาสฟิงซ์ถูกทำให้หลุดออกจากใบหน้าของมันเมื่อปลายศตวรรษที่ 14 Al-Maqrizi นักประวัติศาสตร์ชาวอียิปต์จากสมัยยุคกลาง บันทึกว่า Muhammad Sa’im al-Dahr ผู้นับถือศาสนาอิสลามนิกายซูฟี รู้สึกขุ่นเคืองการบูชามันโดยคนท้องถิ่น ทำให้เขาใช้ลิ่มกระเทาะจมูกของมันออก โชคร้ายไปกว่านั้น เคราของมันซึ่งหลุดออกเจากการเสื่อมสภาพอย่างช้าๆ ไปตามกาลเวลา รวมไปถึงเศษชิ้นส่วนของอวัยวะของสฟิงซ์ชิ้นนี้ Mark Lehner นักอียิปต์วิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านมหาอนุสาวรีย์แห่งนี้ เชื่อว่ามันถูกทำลายโดยตั้งใจ และไม่เคยถูกพบอีกเลย

สฟิงซ์ ฟื้นคืนชีพ

ความพยายามครั้งแรกๆ ต่อการขุดมหาสฟิงซ์ขึ้นจากผืนทรายนั้นประสบความสำเร็จเพียงเล็กน้อย แต่ในปี 1817 Giovanni Battista Caviglia นักอียิปต์วิทยาชาวอิตาลี ก็สามารถขุดย้ายทรายซึ่งฝังส่วนด้านหน้าของมันออกได้สำเร็จ และเมื่อปลายศตวรรษที่ 19 หน้าอกแผ่นกว้างและอุ้งเท้ามหึมาของมันก็กลับปรากฏให้เห็นขึ้นอีกครั้ง ในยามที่ทศวรรษต่างๆ ดำเนินไป ความสำเร็จเหล่านี้ก็รุดหน้าไปพร้อมกัน จนในท้ายที่สุด เมื่อปลายช่วงทศวรรษที่ 1930 ผืนทรายอันเปรียบดั่งหลุมฝังศพของมหาสฟิงซ์ก็ถูกเคลื่อนย้ายออกไปจนหมดสิ้น ทำให้ความยิ่งใหญ่ทั้งหมดของหนึ่งในสิ่งก่อสร้างชั้นยอดที่สุดชิ้นหนึ่งของโลกแห่งนี้หลุดพ้นจากการถูกปกคลุมซ่อนเร้นนานนับหลายชั่วกัลป์

ตั้งแต่ความสำเร็จในการฟื้นคืนชีวิตของมันในครั้งนั้น เหล่านักโบราณคดีก็ได้เริ่มขยายขอบเขตการศึกษาแหล่งโบราณคดีแห่งนี้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น เพื่อขุดค้นเสาะหาบรรดาความลับอื่นๆ ที่ฝังตัวหลบซ่อนอยู่ลึกลงไป ตัวอย่างเช่น ทีมงานนักโบราณคดีจากศูนย์ศึกษาวิจัยอียิปต์แห่งสหรัฐฯ (the American Research Center in Egypt) ภายใต้การนำของเลห์เนอร์ บรรจงทำแผนที่ของกลุ่มประติมากรรมมหาสฟิงซ์ที่ทั้งละเอียดถี่ถ้วนและครอบคลุมทุกอาณาบริเวณของมัน อันเป็นสิ่งที่ช่วยเปิดทางสู่ความรู้ความเข้าใจใหม่ๆ เกี่ยวกับการสร้างอนุสาวรีย์แห่งนี้ และยังผลให้การอนุรักษ์สามารถดำเนินไปได้ดีขึ้น

สฟิงซ์
มหาสฟิงซ์ ซึ่งถูกสร้างขึ้นเมื่อราว 2500 ปีก่อนค.ศ. สำหรับฟาโรห์คาเฟร นอนหมอบอยู่ ณ ทางเข้าที่ราบสูงกีซา ส่วนพีระมิดด้านหลังนั้น คือมหาพีระมิดของฟาโรห์คูฟู ผู้เป็นพระบิดาของพระองค์ ภาพถ่ายโดย KENNETH GARRETT

เรื่อง เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก สหรัฐฯ

แปล ภาวิต วงษ์นิมมาน


อ่านเพิ่มเติม 158 ปี ภาพ ซามูไรญี่ปุ่น ยืนถ่ายรูปหน้าสฟิงซ์ของอียิปต์ บันทึกประวัติศาสตร์ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงบนโลก

ซามูไรญี่ปุ่น
ซามูไรญี่ปุ่น

Recommend