ชัยวรมันที่ 7 ณ บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

ชัยวรมันที่ 7 ณ บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

ตะลึง! อำนาจเกรียงไกร ชัยวรมันที่ 7 ณ บ้านโป่ง

ชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724 – 1763)

แม้จะเป็นวีรกษัตริย์ของชาวกัมพูชา ทว่า พระราชอำนาจของพระองค์เกรียงไกร พระราชอาณาเขตของพระองค์ยิ่งใหญ่และกว้างขวางกว่ากษัตริย์พระองค์ใดในอาเซียนทั้งหมด แม้แต่วีรกษัตริย์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ผู้ชนะสิบทิศ” หรือบุเรงนองกยอดินนรธา ก็มิอาจเทียบเท่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทั้งอาณาเขต และสิ่งก่อสร้าง โดยเฉพาะศาสนสถานที่โลกตะลึง อย่างปราสาทบายน บันทายฉมาร์ ฯลฯ

ล่าสุด ผมต้องอึ้งและทึ่งอีกครั้ง เมื่อพบว่ามีเมืองโบราณสำคัญในสมัยชัยวรมันที่ 7 อีกเมืองหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้กรุงเทพมหานครกว่าเมืองใดๆ ไม่ว่าจะเป็น วิมายะปุระ (พิมาย) ศรีชัยสิงหปุระ (ปราสาทเมืองสิงห์) ฯลฯ ทว่า ผมเพิ่งเคยได้ยินชื่อ ศรีศัมพูกปัฏฏนะ (สี-สำ-พู-กะ-ปัด-ตะ-นะ) เป็นครั้งแรก

ชัยวรมันที่ 7, ประวัติศาสตร์ขอม, ทวารวดี, บ้านโป่ง, ราชบุรี, พิพิธภัณฑ์
รูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรแปดกร แบบเดียวกับที่พบ ณ ปราสาทเมืองสิงห์
ชัยวรมันที่ 7, ประวัติศาสตร์ขอม, ทวารวดี, บ้านโป่ง, ราชบุรี, พิพิธภัณฑ์
พระนางปรัชญาปรมิตา พระชายาของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

ทั้งๆ ที่เมืองนี้ตั้งอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไม่ถึง 80 กิโลเมตร หรือไม่ถึง 1 ชั่วโมง ทางรถยนต์ ปัจจุบัน ศรีศัมพูกปัฏฏนะ เป็นที่รู้จักนาม “สระโกสินารายณ์” เขตตำบลท่าผา อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี แค่นี้เอง

ทั้งนี้เพราะสิ่งก่อสร้างสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เมื่อราว 800 ปีก่อนที่ยังหลงเหลืออยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์คือ สระโกสินารายณ์ มีสถานะเป็น “บาราย” หรือสระน้ำเพื่อการชลประทานโดยใช้แรงงานคนขุด ถือเป็นพระราชภารกิจสำคัญลำดับต้นๆ ที่พระเจ้าแผ่นดินเขมรต้องทำนุบำรุงพระราชอาณาจักรให้น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ เพื่อความผาสุกของพสกนิกร

ชื่อเมืองศรีศัมพูกปัฏฏนะ ปรากฏในจารึกปราสาทพระขรรค์ (ปราสาทที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สร้างอุทิศถวายพระราชบิดา) ว่าเป็น 1 ใน 23 เมืองทั่วพระราชอาณาจักร ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดให้นำพระชัยพุทธมหานาถ – พระพุทธรูปปางนาคปรก ศิลปะบายน ไปประดิษฐาน

ชัยวรมันที่ 7, ประวัติศาสตร์ขอม, ทวารวดี, บ้านโป่ง, ราชบุรี, พิพิธภัณฑ์
ยิ้มแบบบายน ใบหน้าที่ทำให้โลกจดจำกัมพูชา

อาทิ ลโวทยปุระ (ลพบุรี) สุวรรณปุระ (สุพรรณบุรี) ชัยราชปุระ (ราชบุรี) ศรีวัชระปุระ (เพชรบุรี) ศรีชัยสิงหปุระ (เมืองสิงห์ กาญจนบุรี ฯลฯ บ่งบอกถึงพระราชศรัทธาสูงส่งในศาสนาพุทธนิกายมหายาน และพระราชอำนาจเหนือเมืองบริวารดังกล่าว ทว่า เพียงการปรากฏชื่อเมืองศรีศัมพูกปัฏฏนะในจารึกปราสาทพระขรรค์ยังมิอาจยืนยันได้ว่า คือชุมชน “สระโกสินารายณ์” ตำบลท่าผา อำเภอบ้านโป่ง ราชบุรี

หากในปี 2508 ไม่เกิดเหตุการณ์ที่มีผู้ใช้รถแทรกเตอร์ไถปรับระดับพื้นดินทางทิศตะวันตกของสระโกสินารายณ์ แล้วพบเศษอิฐโบราณหักพังทับถมอยู่เป็นจำนวนมาก ที่สำคัญคือพบเศียรเทวรูปศิลา 2 เศียร ทำให้ชาวบ้านแตกตื่นแล้วพากันเข้ามาขุดค้น พบเศียรพระพุทธรูป เศียรเทวรูป พระพิมพ์ เครื่องปูนปั้นอีกมากมายเช่นกัน

ประวัติศาสตร์ขอม, ทวารวดี, บ้านโป่ง, ราชบุรี, พิพิธภัณฑ์
พระพุทธรูปปางนาคปรก ศิลปะบายน แบบเดียวกับพระชัยพุทธมหานาถ
ชัยวรมันที่ 7, ประวัติศาสตร์ขอม, ทวารวดี, บ้านโป่ง, ราชบุรี, พิพิธภัณฑ์
ประติมากรรรมนารายณ์ทรงสุบรรณ

จนกระทั่ง เดือนกุมภาพันธ์ 2509 กรมศิลปากรดำเนินการขุดค้น โดยมอบให้นายตรี อมาตยกุล หัวหน้ากองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ เป็นผู้ควบคุม ทำให้ได้ค้นพบหลักฐานสำคัญจำนวนมาก อันบ่งชี้ว่าที่นี่คือ “ศรีศัมพูกปัฏฏนะ” โดยเฉพาะรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรองค์ใหญ่ทำด้วยหินปูนสีเขียว แต่น่าเสียดายพบแต่ท่อนพระองค์เท่านั้น ส่วนเศียรและพระกรซึ่งมี ๘ พระกร และพระบาทได้หักหายไป นับเป็นกุญแจไขปริศนาสำคัญ ด้วยเป็นพระโพธิสัตว์ศิลปะบายน (ศิลปะเขมร ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗) เช่นเดียวกับที่พบ ณ ใจกลางปรางค์ประธานปราสาทเมืองสิงห์ กาญจนบุรี สอดคล้องกับความในศิลาจารึกปราสาทตาพรหม ซึ่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สร้างอุทิศถวายพระราชมารดา ที่ระบุว่าพระองค์ได้รับน้ำอมฤตจากพระศรีศากยะ หมายถึงทรงรับรสพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระองค์ยกย่องเทิดทูนพระราชบิดาเสมอพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เทิดทูนพระราชมารดาเสมอพระนางปรัชญาปรมิตา พระชายาของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ที่สำคัญ พระองค์เชื่อว่าพระองค์ก็เป็นอวตาร (การแบ่งภาคมาเกิด) ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรด้วยเช่นกัน การขุดค้นพบประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และพระนางปรัชญาปรมิตาจึงมีความสำคัญยิ่ง เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าบริเวณนี้เป็นที่ตั้งปราสาทประจำเมือง อันถือเป็นใจเมืองและเป็นศูนย์กลางโลกและจักรวาล หรือเป็นเขาพระสุเมรุประจำเมืองนั้นนั่นเอง

ประวัติศาสตร์ขอม, ทวารวดี, บ้านโป่ง, ราชบุรี, พิพิธภัณฑ์
สระโกสินารายณ์ ในอดีตคือ “บาราย” ประจำเมืองศรีศัมพูกปัฏฏนะ

โดยชาวบ้านเรียกบริเวณนี้ว่า “จอมปราสาท” มีปราสาทหินแบบเขมรตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางเมืองโบราณรูปสี่เหลี่ยม กว้างยาวด้านละ 1 กิโลเมตร  มีบาราย หรือสระโกสินารายณ์ ติดแนวกำแพงทางทิศเหนือ ค่อนไปทางตะวันออก เมืองตั้งอยู่ใกล้กับน้ำแม่กลอง ในเขตตำบลท่าผา อำเภอบ้านโป่ง ราชบุรี น่าเสียดาย ที่วันนี้ ไม่เหลือสภาพปราสาทหินให้เราเห็นแล้ว การลักลอบขุดหาโบราณวัตถุอย่างไร้การวบคุม ได้ทำลายหลักฐานทางโบราณคดีแทบสิ้นซาก คงเหลือแต่กองอิฐและเศษอิฐทิ้งกระจัดกระจาย กลาดเกลื่อนอยู่บนพื้นดินเท่านั้น

ต่อมาที่ดินบริเวณจอมปราสาท ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทสยามคราฟท์ ในเครือบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จอมปราสาทจึงกลายเป็นที่ตั้งศาลพระภูมิของโรงงานสยามคราฟท์

ปัจจุบัน จอมปราสาทคงเหลือเป็นเนินดินใหญ่ และที่โล่งบริเวณกลางโรงงาน ส่วนสระน้ำโกสินารายณ์ (บาราย) ได้รับการพัฒนาเป็นสวนสาธารณะ เป็นที่ออกกำลังกายและสนามเด็กเล่น แต่ที่น่าปีติยินดียิ่งนักคือ การที่เทศบาลตำบลท่าผาเห็นความสำคัญของเมืองโบราณ “ศรีศัมพูกปัฏฏนะ” มานำเสนอไว้ใน “พิพิธภัณฑ์ชุมชนสระโกสินารายณ์” ซึ่งแม้จะเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนขนาดเล็ก ทว่า จัดแสดงโบราณวัตถุอย่างมีศิลปะ ทันยุคทันสมัย เข้าใจง่าย ไม่มีข้อมูลมากมายให้ยืนอ่านจนเมื่อย แต่มีสิ่งที่จับต้องได้ อาทิ พระพักตร์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร สูงเกือบ 2 เมตร ที่มาของคำว่า “ยิ้มแบบบายน” จนกล่าวได้ว่าเป็นใบหน้าที่ทำให้โลกจดจำกัมพูชาได้ดีพอๆ กับปราสาทนครวัด ก็จำลองแบบมานำเสนอไว้ในพิพิธภัณฑ์ชุมชนแห่งนี้ด้วย

จนผมคิดว่าไม่เป็นการเกินเลยไป ที่จะยกย่องให้ที่นี่เป็น “พิพิธภัณฑ์ชุมชนขนาดเล็กที่ดีที่สุด” และหากใครไปเยือนบ้านโป่ง ก็ไม่น่าพลาดชมด้วยประการทั้งปวง

เรื่องและภาพถ่าย – ธีรภาพ โลหิตกุล


*พระโพธิสัตว์

คือท่านผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดยกำลังบำเพ็ญบารมี ๑๐ คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา ตามคติความเชื่อของชาวพุทธ นิกายมหายาน (ที่มา: พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) พ.ศ.๒๕๓๗)

ตามคติความเชื่อของชาวพุทธฝ่ายมหายาน ยกย่อง พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เป็นพระโพธิสัตว์แห่งความเมตตากรุณา และเป็นประมุขของพระโพธิสัตว์ทั้งมวล

*ศรีศัมพูกปัฏฏนะ

ความหมายของชื่อเมืองโบราณนี้ อ.วรณัย พงศาชลากร นักโบราณคดีอิสระ ระบุไว้ใน Oknation BLOG ว่า

“ศัมพูกะ” เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า “หอยสังข์” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์มงคลทั้งในคติฮินดูและพุทธ อีกทั้งเมืองโบราณนิยมออกแบบผังเมืองเป็นรูปหอยสังข์ ส่วน “ปฏฏนฺ – ปัดตะนัม – นะ” แปลว่า “แผ่นดิน หรือท่าขึ้นเรือ”


*พิพิธภัณฑ์ชุมชนสระโกสินารายณ์  

หน่วยงานรับผิดชอบ : เทศบาลเมืองท่าผา อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โทร. 0-3221-0531

ที่ตั้ง :  ด้านข้างสระโกสินารายณ์ฝั่งทิศตะวันตก หลังโรงงาน SCG  หมู่ 19 ตำบลท่าผา  อำเภอบ้านโป่ง ราชบุรี

*เปิดบริการ : วันพุธ – อาทิตย์  เวลา 10.00-16.00 น.  ค่าบริการ: ฟรี

*กรณีจะเข้าชมจอมปราสาท ติดต่อ เจ้าหน้าที่โรงงานสยามคราฟท์ SCG แจ้งความจำนงเข้าชม ฟรี


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : สวัสดี… ปราสาทพระวิหาร

Recommend