หากออเจ้าย้อนเวลาได้จริงจะคุยกับคุณพี่รู้เรื่องไหม?

หากออเจ้าย้อนเวลาได้จริงจะคุยกับคุณพี่รู้เรื่องไหม?

หากออเจ้าย้อนเวลาได้จริงจะคุยกับคุณพี่รู้เรื่องไหม?

กระแส “ออเจ้า” ที่ไม่ว่าเดินไปไหนมาไหนต้องได้ยินคำนี้เข้าหู เป็นใครก็อดไม่ได้ที่จะลองดู “บุพเพสันนิวาส” สักตอน หลายคนดูแล้วอยากจะย้อนเวลาไปสัมผัสวิถีชีวิตคนโบราณแบบนางเอกบ้าง พลางจินตนาการเข้าข้างตัวเองไปไกลว่าองค์ความรู้และทักษะที่ตนมีน่าจะช่วยอาณาจักรอยุธยาให้เรืองอำนาจขึ้นมาในด้านใดด้านหนึ่ง!

นอกเหนือจากความตื่นตาตื่นใจในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนไทยในสมัยอยุธยาตอนกลางแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ละครเรื่องนี้สนุกและสมจริงขึ้นเห็นจะเป็นภาษา ก็คำว่า “ออเจ้า” “เทื้อคาเรือน” “ฟะรังคี” ล้วนเป็นคำแปลกหูสำหรับคนทั่วไป จะไม่ให้ตื่นเต้นได้อย่างไร ฟังเสียงคุณพี่หมื่นเอ็ดแม่การะเกด อดสงสัยขึ้นมาไม่ได้ว่าผู้คนในสมัยอยุธยาเขาพูดจากันเช่นนี้จริงหรือ? เรื่องศัพท์แปลก ศัพท์โบราณพอเข้าใจได้ว่าต้องมี ทว่าสำเนียงหรือการออกเสียงเล่า มิต้องไปไกลถึงย้อนเวลาสามร้อยปี เอาแค่คนรุ่นนี้สื่อสารกับผู้เฒ่าผู้แก่ ยิ่งมาจากต่างจังหวัดด้วยแล้ว ก็เข้าใจได้ไม่ครบถ้วน ถ้าเช่นนั้นหากแม่เกศสุรางค์สามารถย้อนเวลาได้จริง ๆ จะฟังออกฤาว่าคุณพี่หมื่นเอ็ดว่ากระไร?

 

ความแตกต่างของภาษาไทยในสองยุคสมัย

หากคุณผู้อ่านลองพลิกหน้ากระดาษของหนังสือ “จินดามณี” “บันทึกการเดินทางไปฝรั่งเศสของโกษาปาน” หรือ “จดหมายเหตุโกษาปาน” ดูจะเห็นความแตกต่างที่ชัดเจนของรูปแบบการเขียนภาษาไทยเมื่อหลายร้อยปีก่อน และคงอ่านออกบ้าง อ่านไม่ออกบ้าง หรืออ่านออกแต่ไม่เข้าใจเลย นั่นเป็นเพราะอักขรวิธีและไวยากรณ์ที่ผิดเพี้ยนไปมากในสายตาคนปัจจุบัน

ออเจ้า
ภาพเขียนของออกพระวิสุทธสุนทร หรือโกษาปาน ราชทูตในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ร่วมเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรียังประเทศฝรั่งเศสพร้อมกับคณะราชทูตไทย

อ.ดร.วิภาส โพธิแพทย์ อาจารย์ภาควิชาภาษาไทย จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยกตัวอย่างของความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ “วรรณยุกต์” ในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือช่วงอยุธยาตอนกลางนั้นจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่ามีการใช้รูปวรรณยุกต์เพียงสองรูปเท่านั้นคือรูปเอกและรูปโท แต่แปลกไปกว่านั้นก็คือดูเหมือนว่าคนไทยโบราณจะไม่ได้เคร่งครัดเรื่องวรรณยุกต์มากนักจึงใส่วรรณยุกต์บ้างไม่ใส่บ้าง เช่น คำว่า “ทั้งปวง” ปรากฏในบันทึกเอกสารโบราณของโกษาปานว่าเขียนเป็น “ทังปวง” “เข้าใจว่าคนสมัยก่อนน่าจะดูตามบริบทว่าคำ ๆ นี้มีความหมายว่าอะไร ส่วนสาเหตุที่ไม่ปรากฏก็มีความเป็นไปได้หลายอย่างครับ อาจจะลบเลือนไปตามกาลเวลา หรืออาจเขียนตามเสียงที่คนสมัยนั้นออกจริง ๆ” อาจารย์วิภาสกล่าว รูปวรรณยุกต์ตรีกับจัตวาเพิ่งจะมาปรากฏในเอกสารสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งเป็นสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยมักใช้กับคำยืมที่มาจากภาษาจีน

อีกหนึ่งตัวอย่างที่พบเห็นบ่อยมากเมื่อลองอ่านเอกสารโบราณคือการใส่ไม้ยมก (ๆ) ขอยกตัวอย่างชัด ๆ จากประโยคในบันทึกการเดินทางไปฝรั่งเศสของโกษาปาน หน้าที่ 5 “ในวันเดียวนั้น หญิงเมียฝีดาวู 3 คน อยู่ไกลเมืองแบรศ 4 โยชน์ มาทักข้าพเจ้า ๆ ก็ปราศรัยรับส่งตามสมควรด้วยผู้มานั้น”

จะเห็นว่าคำว่า “ข้าพเจ้า” ซึ่งเป็นคำซ้ำถูกแทนที่ด้วยไม้ยมก ซึ่งในปัจจุบันถือว่าผิดหลักภาษาไทยเพราะไม่มีใครใช้ไม้ยมกแทนคำซ้ำที่เป็นคำคนละหน้าที่กัน ข้าพเจ้าตัวแรกเป็นกรรม ส่วนข้าพเจ้าตัวที่สองเป็นประธาน ฉะนั้นแล้วหากเขียนแบบนี้ในปัจจุบันถือว่าผิด แต่ในสมัยอยุธยาตอนกลางไม่ใช่เรื่องผิดแปลกแต่อย่างใดที่จะใช้ไม้ยมกแทนคำซ้ำ ดูเหมือนว่าคนไทยสมัยก่อนจะสร้างรูปแบบของอักขรวิธีโดยมีแนวคิดมาจากการทำอะไรให้ง่ายเข้าไว้ “แต่ปัจจุบันมีนิสิตเขียนแบบนี้นะครับ” อาจารย์วิภาสกล่าวติดตลก ไม่น่าเชื่อว่าอักขรวิธีที่เลิกใช้ไปแล้วจะกลับมาอีกครั้ง!

ออเจ้า
อ.ดร.วิภาส โพธิแพทย์ยังกล่าวว่า การใช้ไม้ยมกแทนคำซ้ำนั้นไม่เพียงแต่ใช้กับคำนามหรือคำสรรพนามทั่วไป แต่ชื่อเฉพาะเองในสมัยอยุธยาตอนกลางก็สามารถเขียนซ้ำได้ด้วยไม้ยมกเช่นกัน

เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างของรูปแบบภาษาเขียนที่แตกต่างจากในปัจจุบัน แต่ปัญหาก็คือบันทึกที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์นานัปการนี้ไม่สามารถเปล่งเสียงออกมาได้ ถ้าเช่นนั้นแล้วแท้จริงผู้คนในสมัยพระนารายณ์เขาออกเสียงกันอย่างไร? แล้วจะทราบได้อย่างไรในเมื่อไม่มีใครย้อนเวลาได้สักคน?

 

Recommend