จักรยาน … ทาง… ชีวิต
จักรยาน อยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน ดังเช่นที่เจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) เล่าไว้เมื่อครั้งอบรมนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่สำเร็จการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2483 ว่า ”สมัยหนึ่งราว ร.ศ. 117-118 ในกรุงเทพฯ เล่นรถจักรยานกันมาก จนถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงและเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ซึ่งเป็นคนอ้วนใหญ่ก็ยังถีบรถจักรยาน การเป็นดังนี้จะไม่สนุกใหญ่อย่างไร…”
จากคำกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่า ในสมัยก่อนจักรยานได้รับความนิยมอย่างมาก จนเมื่อมีการนำรถจักรยานยนต์และรถยนต์เข้ามามากขึ้น และสร้างระบบขนส่งมวลชนอื่น ๆ ทำให้จักรยานมีบทบาทน้อยลงเรื่อยมา
ทางเลือกของคนใช้จักรยานมีหลากหลายตามการใช้งาน ตั้งแต่การปั่นออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ถึงขนาดที่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ลงทุนสร้างสนามสุวรรณภูมิ (Suvanabhumi Cycle Track) หรือที่เรียกกันติดปากว่า ”ทางเขียว„ เพื่อให้นักปั่นจักรยานมีพื้นที่ปั่นมากขึ้น ไปจนถึงการปั่นเพื่อเดินทางในเมือง ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นเพราะปัญหานํ้ามันแพงและรถติด
เมื่อมีคนปั่นเพิ่มขึ้น ทางจักรยานก็เพิ่มตามถนนหลายสายได้รับการปรับปรุงให้เหมาะกับจักรยาน โรงงานผลิตจักรยานหลายโรงเริ่มผลิตจักรยานพับได้ เพื่อตอบสนองกระแสการใช้จักรยานกับระบบขนส่งมวลชนอื่น ๆ เช่น รถไฟและรถไฟฟ้า วิถีชีวิตของคนในปัจจุบันเริ่มหวนกลับมาใช้จักรยานมากขึ้น ทุกบ้านเริ่มมีจักรยานอย่างน้อยหนึ่งคัน เราเห็นพนักงานส่งเอกสารในชุดนักปั่นตามตรอกซอกซอยในเมืองหลวง เห็นกลุ่มอาสาสมัครปั่นจักรยานช่วยผู้ประสบอุบัติเหตุบนท้องถนน แม้แต่พระสงฆ์ยังใช้จักรยานในการบิณฑบาตและเผยแผ่ศาสนา
ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า จักรยานให้คุณค่า มากกว่า ที่คิด พวกเราพร้อมหรือยังที่จะเปิดโอกาสให้ “จักรยานเป็นพาหนะทางเลือกหนึ่งในชีวิตประจำวัน”
เรื่อง ธนัท ชยพัทธฤทธ์
รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง จากโครงการประกวดสารคดีภาพ “10 ภาพเล่าเรื่อง” ปี 2014 โดยนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย