คลื่นชีวิตกลางทะเล

คลื่นชีวิตกลางทะเล

คลื่นชีวิตกลางทะเล

การเปลี่ยนแปลงของกาลเวลาที่รุดหน้า การพัฒนาการของสิ่งรอบกายไม่เคยหยุดอยู่กับที่ คนทั่วไปที่ใช้ชีวิตแอบอิงวิถีที่แข่งขันจึงมีภูมิคุ้มกันในสังคมโลกยุคโลกาภิวัตน์ แต่ก็มีกลุ่มคนบางกลุ่มเล็กๆในท้องทะเลอันดามันของประเทศไทย ที่ขาดภูมิคุ้มกันในด้านการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้ กรปรกับการดูแลของภาครัฐที่ดูแลไม่ทั่วถึง จึงทำให้ชีวิตของญาติพี่น้องพวกเขาบางครั้งก็ต้องดำเนินไปด้วยความอดสู แม้ในอดีตจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์สำคัญในการใช้เป็นเครื่องมืออ้างสิทธิ์ในดินแดนทางชายฝั่งทะเลก็ตาม

หากจะพูดถึง ชาวเลในประเทศไทย ซึ่งกระจายอยู่บริเวณชายฝั่งและหมู่เกาะในท้องทะเลอันดามัน โดยจะแบ่งเป็น 3 ชาติพันธุ์ คือ มอแกน(สิงทะเล) มอแกลน(สิงบก) และอูรักลาโว้ย ซึ่งเป็นชาวเลกลุ่มใหญ่ที่สุด ซึ่งในปัจจุบันส่วนใหญ่ลงหลักปักฐานอยู่ถาวร ทำอาชีพประมง รับจ้างทั่วไปจนซึบซับวิถีคนเมืองและการเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่างในชีวิตประจำวัน

“ผู้พิทักษ์ผืนทะเลไทย” ลุงลีน ชาวอูรักลาโว้ย ลูกหลานของโต๊ะฮีรี ต้นตระกูลหาญทะเล นามสกุลที่พระราชทานให้กับชาวเลผู้ที่เคยพิทักษ์ผืนแผ่นดินหมู่เกาะกลางทะเลไทยฝั่งอันดามันตะวันตกเมื่อสมัยยุคล่าอาณานิคมของอังกฤษ แต่ในปัจจุบันชาวเลใช้ชีวิตบนระลอกคลื่นจากอนาคตที่ไม่รู้ว่าจะถาโถมหรือราบเรียบทั้งจากนายทุนและการท่องเที่ยวที่ไม่ได้รับการจัดการ
“วิถีของพรานทะเล” โก่ง เด็กชายชาวอูรักลาโว้ย ใช้เวลายามเย็นกับฉมวกและหนังสติ๊ก ดำฝุดดำว่ายบริเวณหน้าหาดซันไรส์ และก็ได้ปลาไหลมอเร่ตัวเขืองหลังจากปลุกปล้ำอยู่พักใหญ่ใต้ผืนน้ำ มื้อเย็นของครอบครัวพวกเขาเดินไม่ไกลจากหมู่บ้านนัก ซึ่งแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรอบด้านในปัจจุบัน แต่การจับปลาดั้งเดิมของชาวเล ยังคงใช้กันสืบมาจากรุ่นสู่รุ่น
“ชีวิตบนลำเรือ” ชาวเลมอแกน แต่เก่าก่อนเคยใช้ชีวิตอยู่บนลำเรือก่าบางและเรือจ่าพัน พาหนะดั้งเดิมของชาวเลมอแกน ที่ใช้วิธีการขุดขึ้นจากท่อนไม้ซุง ที่ทุกวันนี้สามารถพบเห็นได้ไม่ง่ายนัก เพราะกฎหมายของกรมอุทยานฯที่ดูแลป่าไม้ ทำให้ไม่สามารถตัดไม้มาทำเรือจ่าพันและเรือก่าบางได้อีก

ชาวเล มักตั้งรกรากกับผืนทะเลอันสวยงาม ซึ่งอนาคตของชีวิตในผืนดินราคาแพงกลับอยู่บนความไม่แน่นอนของเงาอิทธิพล เมื่อพื้นที่ของการจัดสรรที่ดินให้กับชาวเลเพื่อตั้งบ้านเรือนและสร้างชุมชน มีเอกสารสิทธิ์ซ้อนทับ แม้แต่พิธีการต่างๆจะเริ่มขึ้นที่หลาโต๊ะเก่าแก่ตั้งอยู่รอบบริเวณที่ดินของเอกชน ซึ่งการจะเข้าไปทำพิธีจะต้องขออนุญาตผ่านเจ้าของที่ดินรอบข้างเสียก่อน แล้วนับประสาอะไรกับบ้านเรือนของชาวเลที่ปัจจุบันนี้เกาะที่เป็นเหมือนบ้านบรรพบุรุษกลับกลายเป็นคนนอกขออยู่อาศัยที่แสนลำเค็ญ

หรือแม้กระทั่งสวัสดิการต่างๆที่ควรจะได้รับ ซึ่งแม้แต่บัตรประชาชนอันเป็นความปรารถนาที่สุดของชีวิต โดยปัจจุบันเป็นเพียงราษฎรที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน การออกไปไหนมาไหนบนฝั่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ หรือแม้แต่สวัสดิการด้านสาธารณสุขยิ่งมืดมน หากเป็นชาวเลที่อาศัยอยู่ตามเกาะยิ่งแล้วใหญ่ เมื่อสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆที่ยังเข้าไม่ถึง ไฟฟ้า ถนน สะพาน ทำให้ชีวิตของพวกเขายังคงต้องดำรงเสมือนคนเร่ร่อนทั้งๆที่รอบตัวเขาพัฒนาไปไกลแล้วก็ตาม

“ท่วงท่าลีลาที่หายใจรวยริน” รองเง็ง ท่วงท่าในทำนองร่ายรำรอบเรือปาจั๊กที่ทำขึ้นจากไม้ระกำ ก่อนพิธีแห่เรือรอบหมู่บ้านจะเริ่มขึ้น จากนั้นรอเวลาจนถึงรุ่งสางจึงนำไปลอยทะเลสะเดาะเคราะห์ครั้งใหญ่ประจำปีของชาวเลแหลมตุ๊กแก ตำบลเกาะสิเหร่ จังหวัดภูเก็ต รองเง็งชาวไทยใหม่ ได้รับการสืบสานมาจากบรรพบุรุษ
“หัวโทงกับใต้ผืนทะเล” การท่องเที่ยว ยังคงเป็นแหล่งรายได้หลักที่สำคัญของชาวเลในปัจจุบัน แม้ว่าทรัพยากรจะเสื่อมโทรมลงไปก็ตาม การจัดการการท่องเที่ยวทางทะเลที่หละหลวม ไกด์คนนอกไม่ใช่เจ้าของทรัพยากรกลับทำให้พื้นที่เศรษฐกิจทางการท่องเที่ยวเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทิ้งสมอในกองปะการัง การให้อาหารปลา หรือการจับสัตว์น้ำโชว์นักท่องเที่ยว
“ผู้บุกรุกบนแผ่นดินเกิด” บ้านชาวเลบนพื้นที่พิพาทกับนายทุนบนเกาะหลีเป๊ะ ซึ่งมีศิลปินช่วยวาดให้เพื่อเรียกร้องสิทธิในที่ดินเพียงแค่พักอาศัยและยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังอยู่ในปัจจุบัน แต่เดิมบ้านชาวเลจะอยู่ริมชายหาด แต่ค่อยๆถูกกลุ่มนายทุนกว้านซื้อ หลอกล่อด้วยเล่ห์อุบายต่างๆ ทั้งมอมเหล้าแล้วหลอกให้พิมพ์ลายนิ้วมือ ปล่อยเงินกู้ค้ำประกันนอกระบบดอกเบี้ยสูง ฯลฯ เพื่อให้ได้เอกสิทธิ์ครอบครองผืนดินกลางทะเลทอง

คนไทยกับชาวเล ก็คือคนเชื้อชาติเดียวกัน คล้ายครั้งเราใช้ประโยชน์จากพวกเขาเพื่ออ้างสิทธิ์ในดินแดนว่าเคยมีคนไทยอาศัยอยู่ แต่น่าเสียใจเมื่อในหลายๆที่ พวกพี่น้องของเค้ายังไม่ได้รับการดูแลที่ดีจากทางภาครัฐเลย

วันนี้ชาวเลที่เข้าใจวัฒนธรรมและประเพณีดั้งเดิมเหลืออยู่เพียงคนวัยชราเพียงไม่กี่คน อนาคตของความเป็นตัวตนของพวกเขากำลังนับถอยหลัง เพราะชาวเลยุคใหม่ไม่ให้สนใจของดั้งเดิมอีกแล้ว พรุ่งนี้ชาวเลที่กำลังจะมาถึง เขาอาจจะหลับไปแล้วตื่นมาพร้อมกับความเป็นตัวตนที่ฝังอยู่ใต้สุสานในหมู่บ้านโดยไม่มีวันหวนกลับก็ได้

“ข้ามน้ำกับสะพานที่ยังคงสร้างไม่เสร็จ” นางยม ประมงกิจ ชาวเลมอแกลน ที่กำลังข้ามคลองบนเกาะพยาม หลังกลับจากหาหอยเสียบและหอยลายที่อยู่อีกฟากฝั่งของหมู่บ้าน
“ของขวัญที่ล้ำค่าคือบัตรประชาชน” นางนาดี กล้าทะเล ชาวมอแกน ยิปซีแห่งท้องทะเลอันดามัน อาศัยอยู่ ณ หมู่บ้านชาวเล ที่อ่าวบอนใหญ่ ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ซึ่งแต่เดิม พวกเขาเคยพำนักพักพิงอยู่ที่อ่าวช่องขาด สถานที่เดิมที่มอแกนเคยใช้ชีวิตมาหลายรุ่นหลายสมัย ภายหลังประกาศเขตอุทยานฯ ที่อยู่ของพวกเขาก็ย้ายไปสองครั้ง
“ดิสโก้ชายหาด” วัยรุ่นชาวมอแกลน กำลังสนุกกับแสงสีและเสียงเพลงดิสโก้ ในงานประเพณีนอนหาด การซึบซับวิถีคนเมือง สุรา บุหรี่ การพนันและอบายมุขต่างๆ เป็นสิ่งที่วัยรุ่นชาวเลกำลังมอมเมา การเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่างในวิถีชีวิตและขนบธรรมเนียมผีสางที่มองว่าไม่น่าเชื่อถือ
“บุตรชายของท้องทะเล” มอแกน ชาติพันธุ์ชาวเลเก่าแก่ที่สืบเชื้อสายมาอย่างยาวนานภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของท้องทะเลอันดามัน ชีวิตชนเผ่าร่อนเร่ตามยอดคลื่นและกระแสน้ำมหาสมุทรยังคงเป็นแบบเดิมตลอดช่วงเวลาฤดูมรสุม

เรื่องและภาพ กิตติธัช โพธิวิจิตร

รางวัลชมเชย จากโครงการประกวดสารคดีภาพ “10 ภาพเล่าเรื่อง” ปี 2015 โดยนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม ไทยใหม่ ผู้บุกรุกบนแผ่นดินเกิด

ไทยใหม่

Recommend