หายนะแห่ง สงครามซีเรีย กับการอพยพครั้งใหญ่ของประชาชน

หายนะแห่ง สงครามซีเรีย กับการอพยพครั้งใหญ่ของประชาชน

หายนะแห่ง สงครามซีเรีย

ในเดือนมีนาคม ปี 2011 ประชาชนชาวซีเรียได้ออกมาประท้วงรัฐบาลเผด็จการของตระกูลอัสซาด ฝ่ายรัฐบาลได้ใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้ฝ่ายตอบโต้จัดตั้งกองกำลังกบฏ กองทัพซีเรียเสรี (Free Syrian Army) เพื่อต่อสู้กับรัฐบาล สิ่งนี้ทำให้การประท้วงกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบซึ่งนับวันจะซับซ้อนและนองเลือดมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมหาศาลกลายเป็นผู้ลี้ภัย

วันที่ 15 มีนาคมนี้ถือเป็นวันครบรอบ 12 ปีของ สงครามซีเรีย แม้ว่าความรุนแรงในสงครามจะลดน้อยลง (Syrian Observatory for Human Rights ระบุว่าในปี 2018 มีผู้เสียชีวิตสองหมื่นคน ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยที่สุดตั้งแต่สงครามเริ่มขึ้น) แต่ผู้อพยพลี้ภัยก็ยังมีจำนวนมหาศาล โดยข้อมูลจากข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติระบุว่า ณ วันที่ 11 มีนาคม 2019 มีจำนวนผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ในประเทศรอบซีเรียกว่า 5,682,697 คน

(สรรพสัตว์ในสวนสัตว์ซีเรียเอาตัวรอดจากเมืองที่ล่มสลายอย่างไร?)

เรื่อง แคโรลิน บัตเลอร์

ภาพถ่าย ลินซีย์ แอดดารีโอสงครามซีเรีย

ตุรกี: หลังระเบิดจากการโจมตีทางอากาศของรัฐบาลกระหนํ่าลงมา ผู้คนต่างพาครอบครัวหนีออกจากเมืองเราะส์อัลอัยน์ในซีเรีย สถานที่ซึ่งกองทัพปลดปล่อยซีเรีย (Free Syrian Army) ผู้เป็นฝ่ายต่อต้าน สู้รบกับทหารฝ่ายรัฐบาลและชาวเคิร์ดในซีเรีย ชาวบ้านหนีข้ามไปยังเมืองเจย์ลันปีนาร์ ในตุรกี ปัจจุบัน ประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้ให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียที่ขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 3,644,342 คน (เพิ่มจากจำนวนห้าแสนคนในปลายปี 2013)

สงครามซีเรีย

ตุรกี: คนงานลำเลียงกระสอบแป้งขึ้นรถบรรทุกส่งไปยังซีเรีย ในปี 2012 มีเม็ดเงินจากนานาชาติราว 850 ล้านดอลลาร์สหรัฐส่งไปช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่ซีเรีย และอีก 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและประเทศเพื่อนบ้านในรูปแบบของเสบียงอาหารเร่งด่วน ยารักษาโรค การศึกษา และอื่นๆ เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์กังวลว่า ความขาดแคลนบริการด้านสาธารณสุขพื้นฐาน การศึกษา จิตวิทยา และบริการอื่นๆ อาจสร้างผลกระทบร้ายแรงแก่ซีเรียและภูมิภาคตะวันออกกลางทั้งหมด

ล่าสุดเมื่อกลางปี 2018 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศตัดงบประมาณกว่า 230 ล้านเหรียญ โดยงบเหล่านั้นคืองบประมาณที่สหรัฐใช้บริจาคให้ซีเรียเป็นประจำทุกปี

สงครามซีเรีย

อิรัก: ครอบครัวชาวเคิร์ดครอบครัวนี้หลับอยู่กลางแจ้งเพื่อหลีกหนีความร้อนอบอ้าวในเต็นท์ที่ค่ายกาเวร์กอสก์ นอกเมืองอาร์บิล ทางเหนือของอิรัก ผู้ลี้ภัยเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของคลื่นมนุษย์ 60,000 คนที่มาถึงเมื่อเดือนสิงหาคม 2013 ในช่วงที่จุดผ่านแดนทั้งสองจุดระหว่างซีเรียกับอิรักเปิดเป็นเวลาหนึ่งเดือน ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง ทุกวันนี้ ชายแดนต่างๆ มีการตรวจตราอย่างเข้มงวดอีกครั้ง

ล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2019 จำนวนผู้อพยพชาวซีเรียในอิรักมีจำนวนกว่า 253,085 คน (ข้อมูลจากข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2019)

(รูปถ่ายที่ผู้อพยพชาวซีเรียพกติดตัว)

สงครามซีเรีย

เลบานอน: รออิดาห์ วัย 15 ปี (ภาพถ่ายจากปี 2013) สูญเสียดวงตาข้างหนึ่งหลังถูกสะเก็ดระเบิดใกล้บ้านของเธอในเมืองอะเลปโปของซีเรีย ปัจจุบัน เธอช่วยพ่อแม่ดูแลน้องชายชื่อ คาลิด ในเต็นท์เช่าที่ไร่ใกล้เมืองสอัดนาเยล ประเทศเลบานอน เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์วิตกกังวลกับชะตากรรมของเด็กๆ ชาวซีเรียที่ต้องพลัดถิ่นหรือถูกบังคับให้หนีออกนอกประเทศ พวกเขาได้รับการศึกษาอย่างจำกัดหรือไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้เลย และอาจถูกบังคับให้เป็นแรงงานเด็ก รวมทั้งอาจต้องแต่งงานตั้งแต่วัยเยาว์ และถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศรูปแบบอื่นๆ

โดยรายงาน Vulnerability Assessment of Syrian Refugees in Lebanon (VASyR) ประจำปี 2018 ระบุว่า แม้จะมีการช่วยเหลือจำนวนมากจากต่างประเทศและจากเลบานอนเอง จะช่วยปรับปรุงสถานการณ์สำหรับผู้อพยพให้ดีขึ้นในบางส่วน ชีวิตของผู้อพยพก็ยังคงไม่มั่นคง โดยนักเรียนระดับมัธยมต้นและปลายได้เข้าห้องเรียนเพียงร้อยละ 11 และ 3 เท่านั้น ส่วนการแต่งงานในวัยเด็ก (อายุ 12-19 ปี) มีมากถึงร้อยละ 29

สงครามซีเรีย

จอร์แดน: ผู้ชายและเด็กชายชาวซีเรียเข้าแถวรับขนมปังรายวันที่ค่ายผู้ลี้ภัยเซอะตะรี  ซึ่งเปิดเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2012 โครงการอาหารโลกของสหประชาชาติแจกจ่ายขนมปังราว 25 ตันทุกเช้า ในฐานะค่ายผู้ลี้ภัยชาวซีเรียที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง ที่นี่เป็นบ้านของผู้คนกว่า 100,000 คน ภายในมีตั้งแต่รถพ่วง เต็นท์ โรงเรียน โรงพยาบาล และคลินิกผดุงครรภ์ เรื่อยไปจนถึงธุรกิจมากมายที่เริ่มโดยผู้ลี้ภัยในค่ายด้วยกันเอง กระนั้น  ผู้ลี้ภัยจำนวนมากต้องเผชิญกับปัญหาสุขอนามัยและไฟฟ้า ทั้งยังต้องต่อกรกับแก๊งอันธพาลและตลาดมืดที่เฟื่องฟู ข้อมูลจากข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2019 ระบุว่ามีผู้ลี้ภัยจำนวนกว่า 77,862 อาศัยอยู่ในค่ายแห่งนี้ รายงานอีกฉบับระบุว่า ณ ปัจจุบัน ในค่ายมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่เพื่อให้เป็นแหล่งไฟฟ้าพลังงานทางเลือก จึงทำให้ค่ายมีไฟฟ้าอย่างทั่วถึง

สงครามซีเรีย

เลบานอน: หญิงผู้ลี้ภัยในเมืองสอัดนาเยลเตรียมอาหารสำหรับพิธีศพของญาติ ซึ่งเป็นนักรบของกองทัพปลดปล่อยซีเรียที่ถูกสังหารในเมืองอะเลปโปของซีเรีย จำนวนผู้ลี้ภัยในประเทศเล็กๆ แห่งนี้เพิ่มจาก 100,000 คนเป็น 800,000 คนเพียงชั่วข้ามปี รัฐบาลเลบานอนยังไม่ได้จัดตั้งค่ายพักพิงอย่างเป็นทางการ ผู้ลี้ภัยจึงมักขออาศัยอยู่กับคนท้องถิ่น แต่ราวหนึ่งในสามต้องใช้โรงรถ ตึกร้าง และที่พักอาศัยอื่นๆ ซึ่งไม่ปลอดภัยเป็นที่ซุกหัวนอน

นีเนตต์ เคลลีย์ ผู้แทนองค์การสหประชาชาติ บอกว่า “มีตัวอย่างนับพันๆ ที่แสดงถึงความโอบอ้อมอารีที่ชาวเลบานอนมีต่อผู้ลี้ภัยชาวซีเรียอย่างที่ฉันไม่เคยพบเห็นมาก่อน แต่ยิ่งผู้ลี้ภัยทะลักเข้ามามากเท่าไร ความตึงเครียดก็มากขึ้นตามไปด้วย” ล่าสุดในปี 2019 มีผู้ลี้ภัยจำนวนกว่า 946,291 คนอาศัยอยู่ในเลบานอน (ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์) โดยเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้ (ร้อยละ 55 ข้อมูลจาก VASyR เดือนตุลาคม 2018) อาศัยอยู่ในแหล่งหลบภัยที่ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐาน และในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน Human Rights Watch ระบุว่ามีผู้อพยพจำนวนกว่า 55,000-90,000 คน เดินทางกลับไปยังซีเรีย เนื่องจากสถานการณ์ที่ย่ำแย่ในเลบานอน และรัฐบาลยังออกกฏข้อห้ามที่ส่งผลให้ผู้ต้องการลี้ภัยทางการเมืองชาวซีเรียจำนวนมากไม่สามารถเดินทางเข้าเลบานอนได้

***แปลและเรียบเรียงโดย ภาวิต วงษ์นิมมาน
โครงการนักศึกษาฝึกงาน กองบรรณาธิการ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม : ชีวิตท่ามกลางซากปรักหักพังของเมืองโมซูล

เมืองโมซูล

Recommend