คางคกอ้อย ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ที่กำลังแพร่กระจายไปทั่วออสเตรเลีย
คางคกอ้อย (Cane toad) กลายเป็นกระแสโด่งดังในสื่อออนไลน์ เมื่อชายชาวออสเตรเลียคนหนึ่งบันทึกภาพฝูงคางคกอ้อยเกาะอยู่บนหลังงูตัวเขื่อง ขณะพยายามหนีน้ำท่วมในเขื่อนคูนูนูร์รา ประเทศออสเตรเลีย แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ชนิดนี้กำลังพยายามผสมพันธุ์กับสัตว์เลื้อยคลานไร้ขา และมันยังกลายเป็นปัญหาที่สำคัญต่อระบบนิเวศของออสเตรเลีย คางคกอ้อยแพร่กระจายทั่วแผ่นดินขนาด 1.2 ล้านตารางกิโลเมตรของออสเตรเลีย คุกคามชนิดพันธุ์ท้องถิ่นในหลายพื้นที่ที่มันครอบครอง
68mm just fell in the last hour at Kununurra. Flushed all the cane toads out of my brothers dam. Some of them took the easy way out – hitching a ride on the back of a 3.5m python. pic.twitter.com/P6mPc2cVS5
— Andrew Mock (@MrMeMock) December 30, 2018
คางคกอ้อยกลายมาเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นได้อย่างไร
ตามธรรมชาติ คางคกอ้อยเป็นสัตว์ที่กระจายพันธุ์อยู่ทางตอนกลางและตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา แต่ถูกนำเข้ามาในออสเตรเลียเมื่อปี 1935 เพื่อใช้ควบคุมประชากรแมลงเต่าทองในไร่อ้อยของรัฐควีนส์แลนด์ แต่แทนที่จะทำหน้าที่เป็นศัตรูทางธรรมชาติกับแมลงเต่าทอง พวกมันกลับตั้งตนเป็นศัตรูเสียเอง คางคกอ้อยตัวผู้ 51 ตัว และตัวเมียอีก 51 ตัว ที่นำมาจากฮาวายแพร่พันธุ์ออกไปทั่วออสเตรเลียอย่างไร้การควบคุม
“การทดลองล้มเหลวอย่างเห็นได้ชัด” โรเบิร์ต คาปอน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ กล่าวและเสริมว่า “คางคกอ้อยไม่ได้แสดงความสนใจต่อแมลงเต่าทองเลย แต่มันกลายเป็นปัญหาระดับมหากาพย์เลยทีเดียว”
เอเดรียน แบรดลีย์ อาจารย์อาวุโสประจำมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ อธิบายว่า คางคกอ้อยนับว่าเป็นชนิดพันธุ์ที่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากในออสเตรเลียไม่มีปรสิตตามธรรมชาติที่คอยควบคุมประชากรของพวกมันเลย
พิษของคางคกอ้อยร้ายแรงระดับไหน
คางคกอ้อยเป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่มีพิษรุนแรงทุกช่วงอายุ ตั้งแต่เป็นไข่ ลูกอ๊อด จนถึงตัวเต็มวัย และจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นตามอายุ
พิษของคางคกอ้อยผลิตจากต่อมพาราทอยด์ (paratoid gland) ที่อยู่ข้างกระโหลก ความรุนแรงของพิษสามารถจบชีวิตสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ได้ภายใน 90 วินาที อ้างจากคำบอกเล่าของปีเตอร์ ไวท์ ผู้เชี่ยวชาญสาขาจุลชีววิทยาและชีววิทยาโมเลกุล มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์
นักล่าประจำถิ่นอย่างตัวควอล ตัวเงินตัวทอง และงู มีวิวัฒนาการในการกินกบไม่มีพิษที่อยู่ในพื้นที่ แต่ต้องล้มตายจากพิษของคางคกอ้อย นอกจากนี้ พิษของคางคกต่างถิ่นชนิดนี้ยังสามารถฆ่าสัตว์ใหญ่อย่างจระเข้น้ำจืดได้
สำหรับมนุษย์ พิษของคากคกอ้อยมีความรุนแรงถึงชีวิต หากได้รับเข้าไปในร่างกายผ่านทางปาก หรือตา
ทำไมชนิดพันธุ์ต่างถิ่นจึงแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว
คางคกอ้อยตัวเมียที่โตเต็มวันสามารถวางไข่ได้ถึง 30,000 ฟองต่อครั้ง
“คางคกอ้อยสามารถเกาะอยู่บนตัวเมียในสายพันธุืเดียวกันเพื่อผสมพันธุ์ และมันยังเกาะไปตามสิ่งต่างๆ ที่หาได้ ไม่ว่าจะเป็นกบต่างสายพันธุ์ หรือแม้แต่รองเท้าบู้ท (ในกรณีที่คุณเดินผ่านหนองน้ำที่พวกคางคกกำลังผสมพันธุ์)” โจดี รอว์ลีย์ อาจารย์พิเศษสาขาชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ กล่าว
“ผมเคยเห็นคางคกอ้อยเพศผู้ตัวหนึ่งพยายามกอดรัดรากมะม่วง และยังเคยเห็นมันพยายามกอดรัดกระป๋องเบียร์เปล่า หรือแม้แต่กล่องฟิล์มที่ทิ้งแล้ว”
“พวกมันจะตระหนักได้ภายหลังว่าไม่ใช่ตัวเมีย และจะหยุดพฤติกรรมกอดรัดไปเอง มันอาจจะฟังดูแปลก แต่พฤติกรรมนี้นับเป็นกลยุทธ์หนึ่งของการสืบพันธุ์ ถ้าตัวผู้ตัวไหนช้าเกินไป ก็ย่อมไม่มีโอกาสได้ผสมกับตัวเมีย คางคกตัวผู้จึงต้องรีบแย่งชิงโอกาสในการผสมพันธุ์ โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมที่มีจำนวนประชากรสูง”
ในประเทศไทย ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ที่กำลังรุกรานระบบนิเวศเป็นอันดับต้นๆ คือ เต่าแก้มแดง (Trachemys scripta) พบการระบาดในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพ และปริมณฑล การระบาดของเต่าแก้มแดงเกิดจากผู้ที่นิยมเลี้ยงสัตว์แปลกบางคนนำไปปล่อยตามแหล่งน้ำธรรมชาติ และด้วยพฤติกรรมการหากินของเต่าญี่ปุ่นที่มักขุดไข่เต่าชนิดอื่น มันจึงกลายมาเป็นผู้รุกรานที่สำคัญของเต่าสายพันธุ์พื้นเมือง
อีกหนึ่งผู้รุกรานที่อยู่ในเมืองไทยมาช้านาน และเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมมาตลอดคือ ผักตบชวา พืชน้ำที่ประสบความสำเร็จในการกระจายพันธุ์อย่างรวดเร็ว การแพร่ระบาดของผักตบชวาส่งผลให้แสงอาทิตย์ไม่สามารถส่องผ่านไปยังผิวน้ำด้านล่างได้ คุณภาพน้ำจึงต่ำลงจนส่งผลกระทบต่อสิ่งมีวิตชนิดอื่นๆ ที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น
แล้วจะยับยั้งชนิดพันธุ์ต่างถิ่นได้อย่างไร
กรณีของคากคกอ้อยในออสเตรเลีย หลายปีที่ผ่านมามีการความพยายามในการควบคุมประชากรของคางคกอ้อย โดยการกำจัดคางคกตัวเต็มวัย เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีโครงการทดลองเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้รสชาติของคางคกอ้อยในสัตว์ประจำถิ่น โดยการให้สัตว์เหล่านั้นกินไส้กรอกที่ทำจากคางคกอ้อย ในระดับความเป็นพิษที่ทำให้สัตว์อาเจียนออกมา เพื่อให้สัตว์ประจำถิ่นเกิดพฤติกรรมการเรียนรู้ว่า คางคกอ้อยไม่ใช่เหยื่อที่สามารถกินได้
งานวิจัยชิ้นใหม่ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยซิดนีย์และมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ชี้ว่า พิษของคางคกอ้อยเป็นพิษต่อตัวมันเอง โดยใช้พิษของคากคกเป็นเหยื่อล่อลูกอ๊อด ซึ่งสามารถทำให้ลูกอ๊อดตายได้
ในประเทศไทย การควบคุมสัตว์ต่างถิ่นอยู่ในความดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีการกำหนดมาตรการป้องกัน ควบคุม และกำจัด ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นให้สอดคล้องกับสถานการ์ปัจจุบัน ส่งเสริมการศึกษาวิจัยด้านการนำชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานหรือมีแนวโน้มรุกรานไปใช้ประโยชน์ พร้อมทั้งเพิ่มเติมแนวทางการควบคุมหรือกำจัดชนิดพันธุ์ที่มีความเสี่ยงต่อการรุกรานสูง
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ
เอเลี่ยนสปีชีส์ เดินทางข้ามมหาสมุทรด้วยขยะพลาสติก