เพื่อรับมือ โควิด-19 เราต้องเชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์

เพื่อรับมือ โควิด-19 เราต้องเชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์

นักวิจัยพยายามทำความเข้าใจเชื้อไวรัสโคโรนาอย่างกระท่อนกระแท่น วิทยาศาสตร์เป็นเช่นนี้เสมอมา การได้เห็นอาจทำให้รู้สึกไม่สบายใจ แต่นี่เป็นหนทางเดียวในการเอาชนะการระบาดใหญ่ทั่วโลกครั้งนี้

ถ้าจะมีแก่นเรื่องสักอย่างร้อยเรียงอยู่ในหนังสือและสารคดีที่ฉันเขียนตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ก็คงจะเป็นความหลงใหลในสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เรียนรู้เกี่ยวกับร่างกายมนุษย์ อาชีพที่อธิบายงานวิจัยด้านชีวเวชศาสตร์มายาวนานส่งผลให้ฉันเคารพในกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อย่างลึกซึ้ง แม้บางครั้งวิทยาศาสตร์จะผิดพลาดและต้องแก้ไขตนเอง ฉันก็ยังเชื่อว่าในที่สุดแล้ววิทยาศาสตร์จะช่วยให้เราเข้าใจโลกได้ชัดเจนขึ้น และเรียนรู้ที่จะก้าวหน้าต่อไป

ดังนั้นเมื่อนักวิทยาศาสตร์เร่งศึกษาเชื้อไวรัสโคโรนาซึ่งไม่เคยพบมาก่อนนี้เป็นครั้งแรก ฉันเตรียมตัวปฏิบัติตามคำแนะนำของพวกเขาในเรื่องการป้องกันตนเอง โดยตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า ไวรัสส่วนใหญ่แพร่ทางละอองฝอย (droplet) จากการไอและจามที่ตกค้างอยู่บนพื้นผิวต่างๆ ฉันเช็ดพื้นเคาน์เตอร์อย่างว่านอนสอนง่าย หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า และล้างมือจนเพชรเม็ดเล็กจ้อยบนแหวนแต่งงานเปล่งประกายสุกใสอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

จากนั้น ประมาณสองสัปดาห์ครึ่งหลังจากนิวยอร์ก เมืองของฉัน เข้าสู่การล็อกดาวน์ นักวิทยาศาสตร์เปลี่ยนคำแนะนำที่ต่างไปจากเดิมเป็นทุกคนควรสวมหน้ากากอนามัย แย้งกับคำแนะนำในตอนแรกที่ว่า หากไม่ใช่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็ไม่มีความจำเป็นต้องสวมหน้ากาก การทบทวนคำแนะนำนี้ตั้งอยู่บนสมมุติฐานใหม่ว่า เชื้อไวรัสโคโรนาแพร่ทางอากาศเป็นส่วนใหญ่

สเตอร์ลิง จอห์นสัน ในชุดป้องกันเต็มรูปแบบ ทำความสะอาดรถไฟขององค์การรถไฟฟ้าเบย์เอเรียที่อู่ในเมืองคองคอร์ด รัฐแคลิฟอร์เนีย (ภาพถ่าย: พารี ดูโควิช)

ฉันยอมรับว่า การเปลี่ยนคำแนะนำเรื่องการสวมหน้ากากทำให้ฉันรู้สึกกลัว ไม่ใช่เป็นเพราะคำแนะนำใหม่นั้นเอง แต่เพราะระหว่างที่นักวิทยาศาสตร์ศึกษาโรคนี้ พวกเขาก็คิดหาคำแนะนำไปด้วย จู่ๆคำแถลงอย่างจริงจังที่สุดจากผู้เชี่ยวชาญระดับหัวกะทิของโลกกลับฟังดูดีกว่าการคาดเดาอย่างมีหลักการและมาจากความตั้งใจดีเพียงเล็กน้อย

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ความท้าทายนี้ใหญ่หลวงและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน [อย่างน้อยก็ในชั่วรุ่นเรา] เชื้อไวรัสโคโรนาที่ชื่อ ซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) รวมความสามารถในการแพร่กระจายและความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต จนกลายเป็นส่วนผสมที่ทารุณโหดร้ายซึ่งแอนโทนี เฟาชี ผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติของสหรัฐฯ เรียกว่า “ฝันร้ายที่สุด” ของเขา

เพราะประการแรก เมื่อมันปรากฏขึ้น ไม่มีใครในโลกมีภูมิคุ้มกัน ประการที่สอง มันล่องลอยในอากาศและทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนเกิดภาวะติดเชื้อ นั่นหมายความว่าเชื้อจะถูกพ่นกลับสู่อากาศอย่างง่ายดาย จึงสามารถแพร่จากคนสู่คนได้ ประการที่สาม และน่าจะเลวร้ายที่สุด เชื้อไวรัสนี้แพร่ได้มากที่สุดก่อนแสดงอาการ นั่นหมายความว่า ผู้เป็นพาหะรู้สึกสบายดีพอจะไปไหนมาไหนได้ ตอนที่พวกเขาน่าจะเอาเชื้อมาติดเรามากที่สุด

อุบายที่เชื้อไวรัสนี้ใช้ขัดขวางการตอบโต้ของร่างกายมีประสิทธิภาพอย่างร้ายกาจ เมื่อเข้าสู่ร่างกายทางจมูกหรือปาก เชื้อไวรัสโคโรนาจะหลบหลีกแนวปราการภูมิคุ้มกันด่านแรกเข้าไปในเซลล์ได้อย่างง่ายดาย สร้างสำเนา ของเชื้อเอง แล้วทำให้แน่ใจว่า สำเนาเหล่านั้นใช้การได้โดยใช้กลไกพิสูจน์อักษรที่ไวรัสอื่นมากมายไม่มีเลยด้วยซ้ำ

เมื่อทางการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ชาวอิตาลีก็กลับมาประกอบพิธีกรรมต่างๆ ที่เคยถูกเลื่อนออกไปได้ ในภาพนี้ มาร์ตา โคลซานี และอเล็สซีโย คาวัลลาโล สวมหน้ากากผ้าระหว่างประกอบพิธีสมรสที่วัดซันวีโต ในเมืองบาร์ซาเนาะใกล้กับนครมิลาน นครรัฐวาติกันออกกฎระเบียบอนุญาตให้บาทหลวงสามารถใช้ดุลพินิจในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ได้ตามความเหมาะสม (ภาพถ่าย: ดาวิเด แบร์ตุชโช)

กล่าวคือมันสามารถเปลี่ยนเซลล์ปอดของมนุษย์ให้กลายเป็นวัสดุไร้ประโยชน์ที่ดูเหมือนกระจกฝ้า ทำให้หลอดเลือดแตกหรืออุดตันหลอดเลือดด้วยลิ่มเลือดขนาดจิ๋ว และทำลายการทำงานของไต หัวใจ หรือตับ โดยทำให้แข็งเกินกว่า จะซ่อมแซม เชื้อนี้สามารถกระตุ้นปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันทุติยภูมิจนทำงานผิดปกติไปอย่างเลวร้าย ก่อให้เกิดหายนะ โดยภูมิคุ้มกันเอง และใครก็ตามที่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อมีโอกาสจะติดเชื้อด้วย

ฝันร้ายที่สุดของเฟาชีหรือ ฉันถึงกับหลับไม่ลง

ขณะที่การระบาดใหญ่ครั้งนี้คุกคามทั่วโลก การต่อกรกับโรคนี้ก็อยู่ในความสนใจของสาธารณชนอย่างกว้างขวาง ประชาชนทั่วไปเริ่มเข้าใจกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ซึ่งปกติแล้วจำกัดอยู่ในการประชุมวิชาการและวารสาร ที่ขยับขับเคลื่อนอย่างเชื่องช้า การถกเถียงอภิปรายเกี่ยวกับแนวคิดเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในโทรทัศน์ เช่นเดียวกับ บนทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และในสนามหลังบ้าน

การจับตามองความพยายามทางวิทยาศาสตร์ที่เข้มข้นขึ้นทุกขณะให้ความรู้สึกเหมือนดาบสองคม กล่าวคือ ทำให้รู้สึกมีกำลังใจ แต่ขณะเดียวกันก็ติดตามได้ยาก ดังนั้น ฉันจึงทำสิ่งที่ทำมาตลอดชีวิตการทำงาน นั่นคือโทรศัพท์ไปขอความคิดเห็นจากนักวิทยาศาสตร์ ตามปกติแล้ว วิธีนี้ช่วยให้วิธีคิดของฉันกระจ่างขึ้น แต่คราวนี้…กลับไม่มากเท่าไร

วิทยาศาสตร์บนพรมแดนความรู้ใหม่มักเผยว่า เรารู้เกี่ยวกับบางสิ่งน้อยนิดเพียงใด แม้จะศึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆโดยตรงก็ตาม ด้วยเหตุนี้ การพูดคุยทางโทรศัพท์เหล่านั้นทำให้ฉันรู้ซึ้งว่า เรายังต้องไปอีกไกลเพียงใด กระนั้นก็ยังรู้สึกดีที่ได้ยินว่ามีนักวิทยาศาสตร์มากมายกำลังหาคำตอบ

ช่างภาพเลือกถ่ายภาพวิถีชีวิตใหม่ของเราด้วยกล้องถ่ายภาพความร้อนเพื่อสะท้อนว่า อุณหภูมิร่างกายกลายเป็นดรรชนีชี้วัดว่าเราอาจติดเชื้อไวรัสโคโรนาได้อย่างไร อุณหภูมิจะถูกเปลี่ยนเป็นระดับสีซึ่งไล่โทนตั้งแต่สีน้ำเงินที่เย็นจนถึงสีส้มที่อุ่น ในภาพคือการเว้นระยะห่างทางสังคมที่จูบิลีการ์เดนส์ ใกล้ชิงช้าสวรรค์ลอนดอนอาย (ภาพถ่าย: ไจลส์ ไพรซ์)

“เป็นเรื่องน่าทึ่งที่เห็นผู้คนใช้ความสามารถและพรสวรรค์แก้ปัญหานี้กันครับ” เกรกก์ กอนซัลเวส ผู้อำนวยการร่วมของโครงการพันธมิตรเพื่อความยุติธรรมด้านสาธารณสุขของโลก (Global Health Justice Partnership) ที่มหาวิทยาลัยเยล บอกฉัน “ทุกคนล้วนอยากทำอะไรสักอย่าง” แม้จะเรียนจบจากสาขาที่ต่างออกไปมากก็ตาม

ความทุ่มเทด้านการวิจัยทั้งหมดก่อให้เกิดข้อมูลปริมาณมหาศาลในเวลาที่สั้นอย่างน่าทึ่ง ภายในไม่กี่สัปดาห์เมื่อทราบว่ามีการแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คนเป็นครั้งแรก นักวิทยาศาสตร์ก็วิเคราะห์ลำดับสารพันธุกรรมของไวรัสนี้จนครบทั้งจีโนม พอถึงฤดูร้อน ในสหรัฐฯมียาที่มีศักยภาพในการรักษาโควิด-19 กว่า 270 ตัวอยู่ระหว่างการทดลองทางคลินิก

สำหรับการค้นหาวัคซีนซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุด กลุ่มนักวิจัยนานาชาติจากสหรัฐฯ จีน สหราชอาณาจักร อินเดีย เยอรมนี สเปน แคนาดา ไทย และประเทศอื่นๆ พบผู้ท้าชิงมากกว่า 165 ขนานเมื่อถึงต้นเดือนสิงหาคม ความก้าวหน้าเกิดขึ้นเร็วมาก จนแม้กระทั่งผู้ยึดมั่นในความจริงชนิดถึงแก่นอย่างเฟาชี ซึ่งมีแนวโน้มจะเน้นถึงความจำเป็นในการทดลองทางคลินิกกับอาสาสมัครจำนวนมากก่อนนำยาใหม่มาใช้ ยังยอมรับว่าเขา “มองโลกในแง่ดีอย่างไม่ประมาท” ว่า วัคซีนอาจพัฒนาสำเร็จในช่วงต้นปีหน้า ถ้าเขาถูกต้อง โปรดเถิด โปรดเถิด ให้เขาคิดถูกด้วยเถิด นั่นจะเป็นวัคซีนที่พัฒนาเร็วกว่าการพัฒนาวัคซีนที่เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ถึงสามปี

แต่บางครั้งวิทยาศาสตร์ก็เร่งรัดไม่ได้ กอนซัลเวสบอกฉันว่า “คุณเรียกร้องให้พบการรักษาจากหลอดทดลอง เพียงเพราะคุณต้องการมันอย่างที่สุดไม่ได้หรอกครับ”

ความเรียงโดย โรบิน มาแรนตซ์ เฮนิก


อ่านเพิ่มเติม เมื่อช่างภาพผู้บันทึกเรื่องราวของโควิด-19 ต้องเสี่ยงเป็นผู้ติดเชื้อเสียเองโรคระบาด

Recommend