เมฆรูปธง ความงามของมวลเมฆ

เมฆรูปธง ความงามของมวลเมฆ

เมื่อเรามองไปขึ้นไปบนท้องฟ้า นอกจากดวงดาวต่างๆ เรายังมองเห็นกลุ่มมวลเมฆที่ลอยตัดกับสีฟ้า ซึ่งมีรูปร่างและสีสันแตกต่างกันไปตามปัจจัยที่แปรเปลี่ยน เช่น เมฆรูปธง ที่มักเกิดขึ้นในเขตภูเขาสูง

เมฆรูปธง (Banner Cloud) หรือ “เมฆป้าย” คือ หนึ่งในกลุ่มเมฆภูเขา (Orograhic Cloud) ที่ก่อตัวขึ้นจากการเคลื่อนที่ของกระแสอากาศหรือมวลอากาศในแนวระดับที่ยกตัวสูงขึ้น เมื่อเคลื่อนที่ปะทะเข้ากับสิ่งกีดขวาง โดยเฉพาะเทือกเขาสูงชัน และจะคงตัวอยู่ (Stationary Cloud) ด้านหลังลมของยอดเขาก่อนจะสลายตัวไป

เมฆรูปธง, เมฆ

เมฆรูปธงจึงถูกพบเห็นบ่อยครั้งตามเทือกเขาสูงที่ตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยว โดยเฉพาะภูเขาที่มียอดเขาแหลมคมและมีรูปทรงคล้ายพีระมิด ทำให้เมฆพิเศษชนิดนี้ เมื่อปรากฏขึ้นจึงดูคล้ายคลึงกับการมีธงหรือป้ายขนาดใหญ่โบกสะบัดอยู่เหนือยอดเขา และยังทำให้เมฆรูปธงส่วนใหญ่มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นเพียงหิมะบนยอดเขาที่ถูกพัดลงมาตามกระแสลมเท่านั้น

การก่อตัวของเมฆรูปธง

เมฆรูปธงมีกลไกการก่อตัวคล้ายคลึงกับเมฆยอดเขา (Cap Cloud) ที่ได้รับอิทธิพลมาจากการยกตัวของภูมิประเทศ (Orographic Influence) ทำให้เกิดเมฆทางด้านรับลม (Windward Side) ของแนวเทือกเขาที่จะค่อย ๆ สลายตัวไป เมื่อกระแสลมเคลื่อนที่ลงไปตามด้านหลังลม (Leeward Side) ของเทือกเขา

อย่างไรก็ตาม เมฆรูปธงมักก่อตัวขึ้นและคงตัวอยู่ทางด้านหลังลมของภูเขาเท่านั้น เมื่อกระแสลมพัดผ่านเทือกเขาโดดเดี่ยวที่มีลักษณะของปลายยอดแหลม ทำให้กระแสอากาศที่มีความร้อนสูงพัดพาเอาความชื้นจากบริเวณที่ราบหรือพื้นที่ในระดับต่ำกว่า เคลื่อนที่ขึ้นไปตามแนวเทือกเขา ก่อนเย็นตัวลงและก่อให้เกิดการกลั่นตัวของไอน้ำ กลายเป็นกลุ่มเมฆที่ก่อตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการแบ่งชั้นของกระแสลมเหนือยอดเขาด้านบน

การยกตัวขึ้นของมวลอากาศบางส่วนหลังเทือกเขา (Leeside Upwelling) และกระแสลมรอบเทือกเขาที่ทำให้เกิดการไหลวนของกระแสอากาศบริเวณปลายยอดในด้านหลังลม ก่อตัวเป็นเมฆรูปธงจากการไหลของกระแสอากาศที่เคลื่อนที่ด้านหลังเทือกเขา ทำให้เมฆรูปธงที่ก่อตัวขึ้นมีลักษณะคล้ายกับหิมะที่พัดพามาจากยอดเขา

การก่อตัวของเมฆรูปธง

เมฆรูปธงที่โด่งดังที่สุด

เมฆรูปธงที่มีชื่อเสียงที่สุด คือ เมฆที่เกิดขึ้นเหนือยอดเขาแมทเทอร์ฮอร์น (The Matterhorn) ในสวิตเซอร์แลนด์ ที่มีความสูงราว 4,475 เมตร และเหนือยอดเขาเอเวอเรสต์ (Mount Everest) ที่มีความสูงราว 8,848 เมตร ซึ่งเทือกเขาสูงทั้งคู่ต่างมีลักษณะปลายยอดแหลมคม รูปทรงคล้ายพีระมิด

เมฆรูปธง, เมฆ, ยอดเขาแมทเทอร์ฮอร์น
ยอดเขาแมทเทอร์ฮอร์น

เมฆรูปธงเหนือยอดเขาเอเวอเรสต์มักปรากฏขึ้นในเวลากลางวัน ก่อนสลายตัวไปในตอนเย็น โดยที่นักเดินทางและนักปีนเขาที่มีประสบการณ์มักนำการก่อตัวของเมฆรูปธงมาใช้ในการพยากรณ์สภาพอากาศ ซึ่งตำแหน่งและความสูงของเมฆสามารถช่วยบ่งบอกทิศทางลมและความรุนแรงของกระแสลมเหนือยอดเขา

เมฆรูปธง, เมฆ, ยอดเขาเอเวอเรสต์
ยอดเขาเอเวอเรสต์

เช่น เมื่อเมฆรูปธงที่ปรากฏขึ้นเหนือยอดเขาเอเวอเรสต์ชี้ไปทางทิศเหนือ แสดงว่าหิมะกำลังจะตกหนัก หรือหากเมฆรูปธงม้วนตัวขึ้นเหมือนควันจากปล่องไฟแทนการโบกสะบัดตามแรงลมเฉกเช่นปกติ นักปีนเขาส่วนใหญ่มักคาดการณ์ว่า สภาพอากาศกำลังจะเลวร้ายลง เป็นต้น

สืบค้นและเรียบเรียง
คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ และณภัทรดนัย


อ้างอิง

World Meteorological Organization (WMO) – https://cloudatlas.wmo.int

University of Wyoming – http://www-das.uwyo.edu

Met Office College – https://www.weatheronline.co.uk

China Daily – http://en.chinaculture.org

Volkmar Wirth – https://www.researchgate.net


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : เมฆยอดเขา ปรากฏการณ์ความงามบนที่สูง

Recommend