การพรางตัวของสัตว์ ซับซ้อนกว่าที่เราคิด มันมาในหลากหลายรูปแบบ และสัตว์บางชนิดใช้การพรางตัวมากกว่าหนึ่งแบบเพื่อหลอกล่อผู้ล่า
การพรางตัวของสัตว์ หรือการย้อมสีพรางตัว (Cryptic Coloration) ไม่ได้มีไว้สำหรับทหารในกองทัพเท่านั้น สิ่งเหล่านี้พบเห็นได้ทั่วไปในสัตว์ต่างๆ สำหรับทำตัวให้กลมกลืนเข้ากับสภาพแวดล้อม ไม่ให้ผู้จ้องโจมตีมองเห็นได้
การพรางตัวตามธรรมชาติเช่นนี้ เป็นหนึ่งในการปรับตัวของสิ่งมีชีวิต (Adaptation) ซึ่งเป็นกลไกทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตที่ทำการปรับเปลี่ยนลักษณะโครงสร้างทางกายภาพ สรีรวิทยา รวมถึงพฤติกรรมบางประการ ให้เหมาะสมต่อสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาในระบบนิเวศ ทั้งเพื่อป้องกันตนเองจากภัยคุกคามหรือผู้ล่า การเลือกแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหาร รวมถึงปัจจัยในด้านต่าง ๆ อีกมากมายที่ส่งผลต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต
กลวิธีการพรางตัวของสัตว์
การพรางตัวมีหลายประเภท และสัตว์บางชนิดใช้มากกว่าหนึ่งแบบในการพรางตัว กลยุทธ์ที่พบบ่อยที่สุดคือ การทำตัวให้กลมกลืนกับพื้นหลัง ซึ่งอาจจะเรียบง่ายเหมือนขนสีขาวของสุนัขจิ้งจองที่จับพอดีกับสีของทุนดราอาร์กติก หรือซับซ้อนเหมือนแมลงใบไม้ที่เลียนแบบการเคลื่อนไหวของใบไม้จริง
กลวิธีอีกอย่างคือ การพรางตัวแบบใช้สีให้สับสน เมื่อสัตว์ปลอมตัวตนไปตามตำแหน่งที่อยู่ด้วยการใช้แพทเทิร์นสี เช่น ผีเสื้อนกฮูกมีปีกเหมือนตานกฮูก ทำให้ผู้ล่าหลงคิดว่ากำลังจ้องมองไปที่ใบหน้าของนกฮูกอยู่ แทนที่จะเป็นด้านหลังของปีกผีเสื้อ
แทนที่จะปกปิดตัวตนของตัวเอง สิ่งมีชีวิตบางชนิด เช่น ผีเสื้อจักรพรรดิใช้สีสำหรับการเตือนภัย หรือกลไกที่เรียกว่า Aposematic ซึ่งเป็นวิธีการที่ส่งสัญญาณให้ผู้ล่ารู้ว่าพวกมันมีพิษ และไม่คุ้มที่จะเสี่ยงต่อการโจมตี
การเลียนแบบ (Mimicry) เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่มีประโยชน์ เช่น งูคิงสีแดง (Scarlet King Snake) ที่ไม่มีพิษ จะเลียนแบบสีของงูปล้องหวายที่มีพิษถึงตาย เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากผู้ล่า
Countershading เป็นกลยุทธ์การพรางตัวของสัตว์ให้ด้านล่างมีสีสว่างกว่าไล่ขึ้นไปถึงด้านบนที่มีสีเข้มกว่า เช่น เมื่อมองเห็นฉลามจากด้านบน มันจะดูแนบเนียนไปกับมหาสมุทรที่มืดเมื่อลึกลงไป ทำให้ชาวประมงและนักว่ายน้ำมองไม่เห็น ปลาเหยื่ออาจไม่ทันสังเกตเห็นฉลามเมื่อมองจากด้านล่าง ด้านที่มีสีอ่อนกว่าลำตัวของฉลามจะกลมกลืนไปกับผิวน้ำ
(ชมภาพเพิ่มเติม การพรางสมุทร คลิก )
สัตว์ที่ซ่อนตัวในสายตาแสนธรรมดา
การพรางตัวด้วยกลิ่น ใช้กลิ่นแทนที่จะเป็นสี สัตว์สามารถปกปิดกลิ่นของตัวมันเองด้วยกลิ่นของสัตว์สายพันธุ์อื่นเพื่อหลีกเลี่ยงผู้ล่า เช่น กระรอกดินแคลิฟอร์เนียเคี้ยวหนังงูหางกระดิ่งจนเหนียว แล้วติดเข้ากับหางของตัวเองเพื่อทำให้งูหางกระดิ่งสับสน
อะไรเป็นตัวกำหนดกลวิธีของการพรางตัว?
กลวิธีการพรางตัวของสัตว์ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น สัตว์ขนฟูใช้วิธีการพรางตัวที่แตกต่างจากสัตว์ที่มีขนเป็นแผงหรือมีเกล็ด เพราะขนแบบฟูนุ่มต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์หรือเดือนกว่าที่จะโตและเปลี่ยนสีได้ ในขณะที่เกล็ดหรือขนแบบแผงสามารถร่วงหล่นและเปลี่ยนสีใหม่ได้อย่างรวดเร็ว
สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่เป็นฝูงมีกลวิธีการพรางตัวที่แตกต่างจากพวกอยู่แบบโดดเดี่ยว เช่น แถบขาวดำของฝูงม้าลายอาจสร้างลายพรางที่ทำให้ผู้ล่าสับสน
สุดท้ายแล้ว พฤติกรรมหรือลักษณะทางกายภาพของนักล่าเองก็ช่วยกำหนดวิธีการพรางตัว เช่น หากผู้ล่าตาบอดสี เหยื่อก็ไม่จำเป็นต้องกลมกลืนไปกับฉากหลัง
ลายพรางเกิดขึ้นได้อย่างไร?
มี 2 วิธีในการสร้างลายพราง ได้แก่ เม็ดสี และโครงสร้างทางกายภาพ
สัตว์บางชนิด เช่น หมึกยักษ์มีเม็ดสีชีวภาพ (Biochromes) ซึ่งเป็นเม็ดสีขนาดเล็กที่ทำหน้าที่ดูดซับแสงและสะท้อนแสงให้เปลี่ยนไปสู่สีที่แท้จริงของสัตว์ หรือหมีขั้วโลก ซึ่งมีโครงสร้างทางกายภาพของขนที่ทำงานเหมือนปริซึมที่กระจายแสงทุกสีได้ โดยที่เรามองเห็นเป็นสีขาว
ทำไมเสือจึงมีแถบ?
แถบสีทำให้เสือเป็นสัตว์ดาวเด่นในสวนสัตว์ หากแต่สิ่งนี้ช่วยให้เสือกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมธรรมชาติในป่าและทุ่งหญ้าซึ่งเป็นบ้านของพวกมัน สีของแถบสลับดำเข้มและน้ำตาลอ่อนแนบเนียนไปกับแนวหญ้าสูงที่เสือซ่อนตัวอยู่ นั่นทำให้เหยื่อมองเห็นสัตว์ผู้ล่าชนิดนี้ได้ยากขึ้น
เช่นเดียวกันกับที่เหยื่อพรางตัวจากผู้ล่า ผู้ล่าเองก็ใช้การพรางตัวนี้เป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิตเช่นเดียวกัน เสือเป็นสัตว์ที่โจมตีเหยื่อจากระยะไกล นั่นทำให้เหยื่อยิ่งยากที่จะเห็นเข้าไปอีก เสือในเอเชียจะมีสีเข้ม ส่วนเสือไซบีเรียที่อาศัยในแถบเมืองหนาวจะมีสีอ่อนกว่า
ทักษะการพรางตัวอันน่าทึ่งของหมึกกระดอง
เจ้าพวกนี้คือลูกหมึกกระดองลายเสือ จากอควาเรียม Den Bla Planet ในกรุงโคเปนเฮเนกน เมืองหลวงของเดนมาร์ก แต่อย่าประมาทว่าพวกมันเป็นแค่เพียงตัวอ่อน เพราะหมึกกระดองเหล่านี้มีทักษะการพรางตัวและลอกเลียนแบบอันน่าทึ่งอยู่ในสายเลือด และที่เห็นอยู่นี้พวกมันกำลังแปลงกายเป็นปูเสฉวน
ด้วยปุ่มเล็กๆ บนผิวหนังที่มีชื่อเรียกว่า Papille และกล้ามเนื้อสองประเภทของหมึกทำหน้าที่สำคัญที่ช่วยให้การลอกเลียนแบบเป็นไปอย่างแนบแนียน หนึ่งคือกล้ามเนื้อลายที่มีลักษณะเหมือนกล้ามเนื้อของเรา ช่วยให้หมึกกระดองยกปุ่มบนผิวของมันขึ้นอย่างรวดเร็ว สองคือกล้ามเรียบซึ่งช่วยให้ร่างกายของมันคงรูปร่างเช่นนั้นไว้ได้นานนับชั่วโมง โดยใช้พลังงานเพียงน้อยนิดเท่านั้น ซึ่งช่วยให้การพรางตัวหรือลอกเลียนแบบสิ่งมีชีวิตอื่นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
จักจั่นเขา กับโครงสร้างพิเศษช่วยป้องกันตัวจากผู้ล่า
จักจั่นเขา (Treehopper) แมลงซึ่งได้ชื่อว่าอสุรกายจิ๋วแห่งป่าดิบชื้น พวกมันเป็นเจ้าแห่งการพรางตัว ด้วยโครงสร้างแปลกประหลาดที่ยื่นออกจากตัวให้เห็นชัดๆ เช่น ปุ่มกลมเหมือนเฮลิคอปเตอร์ของจักจั่นเขาชนิด โบซีเดียม (Bocydium) โดยนักกายวิภาคศาสตร์แมลงอธิบายว่า โครงสร้างพิเศษเหล่านั้นงอกจากโปรโนตัม (pronotum) ที่แปรรูปร่างไป โปรโนตัมเป็นส่วนหนึ่งของส่วนอกซึ่งในแมลงอื่นๆ มีลักษณะคล้ายแผ่นโล่อันเล็กๆ แต่จักจั่นเขามีหัวสร้างสรรค์ จึงมีโปรโนตัมโค้งเป็นยอดแหลมพิสดารหรือทรงกลม อันเป็นป้ายโฆษณาอวดความโดดเด่นเฉพาะตัวของพวกมัน
เป็นไปได้ว่าโปรโนตัมที่เด่นชัดเหล่านั้นช่วยปกป้องจักจั่นเขาจากสัตว์นักล่า หนามและเงี่ยงประกาศเตือนว่า อย่าได้คิดกลืนพวกมันง่ายๆ ส่วนสีสันสดใสบ่งบอกว่าในตัวมีสารพิษ การลอกเลียนซึ่งเป็นศิลปะการทำตัวให้เหมือนสิ่งอื่น ยังมีบทบาทในการป้องกันตัวด้วย ทรงกลมประหลาดด้านบนลำตัวของ โบซีเดียม ดูคล้ายดอกเห็ดของ คอร์ดีเซปส์ (Cordyceps) ซึ่งเป็นราฆ่าแมลงที่พบได้ทั่วไปในป่าดิบชื้น
ถึงแม้จะมีขนาดใหญ่ แต่โปรโนตัมก็กลวงและมีน้ำหนักเบา ช่วยให้จักจั่นเขาบินได้ง่ายดายอย่างน่าแปลกใจ สจวร์ต แมกแคมีย์ นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการอนุกรมวิธานแมลงของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ กล่าวว่า ที่น่าทึ่งก็คือโปรโนตัมของพวกมันมีเส้นประสาทและโครงสร้างคล้ายขนเรียกว่า ขนแข็ง (seta) ซึ่งรับสิ่งเร้าที่ยังไม่มีใครทราบและอาจช่วยจักจั่นเขารับสัมผัสสิ่งแวดล้อม
กิ้งก่าคาเมเลี่ยน ไม่ได้เปลี่ยนสีเพื่อพรางตัวอย่างเดียว
กิ้งก่าคาเมเลี่ยนเป็นสิ่งมีชีวิตที่ยากจะสังเกตเห็น ลองถามบรรดานักสำรวจที่กำลังมองหามันตามแหล่งธรรมชาติดูได้ และทักษะนี้มีเหตุผลอยู่เบื้องหลัง เนื่องจากว่ากิ้งก่าเหล่านี้ไม่มีขากรรไกรคมๆ ไม่มีผิวหนังที่เป็นพิษ ในขณะเดียวกันพวกมันก็ไม่ได้เคลื่อนที่รวดเร็ว ดังนั้นแล้วการหลบซ่อนตัวอยู่นิ่งๆ กลมกลืนไปกับสิ่งแวดล้อมคือวิธีการที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้พวกมันรอดจากสายตาของบรรดานักล่า
ทั้งนี้เนื่องจากร่างกายของกิ้งก่าคาเมเลี่ยนนั้นไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการเปลียนสี รายงานจาก Milinkovitch ด้วยรูปลักษณ์ตามธรรมชาติของมันเองนั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับกองใบไม้หรือพุ่มไม้อยู่แล้ว เช่นเดียวกับแมลงกิ่งไม้ที่มีรูปลักษณ์คล้ายกิ่งไม้
เท่านั้นยังไม่พอ พวกมันยังมีความสามารถในการปรับลดความสว่างของผิวหนังอีกด้วย Devi Stuart-Fox นักชีววิทยาวิวัฒนาการ จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ผู้ศึกษาการเปลี่ยนสีของกิ้งก่าคาเมเลี่ยนมานานมากกว่าสิบปีเล่าว่า เมื่อกิ้งก่าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแสงน้อย เช่นป่าทึบ เซลล์เมลานินที่ประกอบด้วยเม็ดสีสีน้ำตาลถึงดำจะถูกส่งมายังผิวหนัง และทำให้ร่างกายของกิ้งก่ามีสีเข้มขึ้น เพื่อช่วยในการพรางตัว
ชมภาพการพรางตัวของสัตว์เพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก