ในท้ายที่สุด หลุมดำ จะกลืนกินจักรวาลทั้งหมดเลยหรือไม่? คำตอบสั้น ๆ คือ ‘ไม่’ – แต่คำตอบยาว ๆ คือ ‘ใช่

ในท้ายที่สุด หลุมดำ จะกลืนกินจักรวาลทั้งหมดเลยหรือไม่? คำตอบสั้น ๆ คือ ‘ไม่’ – แต่คำตอบยาว ๆ คือ ‘ใช่

ไม่มีอะไรหนีจาก หลุมดำ ได้ แม้แต่สิ่งที่เร็วที่สุดในจักรวาลอย่างแสงก็ตาม ทุกสิ่งต่างก็เป็น ‘อาหาร’ ให้หลุมดำกลืนกินด้วยแรงดึงดูดมหาศาลที่ไม่มีอะไรต้านทานได้

ประโยคเหล่านี้คือคำบรรยายของหลุมดำที่ทุกคนเคยได้ยิน จนอาจทำให้เกิดความสงสัยว่า ถ้าเช่นนั้นแล้ว หลุมดำจะกลืนกิน ‘ทุกอย่าง’ ในจักรวาลรึเปล่า? คำตอบสั้น ๆ คือ ‘ไม่’ หลุมดำจะไม่กินทั้งจักรวาล แต่คำตอบยาว ๆ คือ ‘ใช่’ มันอาจเป็นหนึ่งในจุดจบของจักรวาล

เริ่มจาก ‘ไม่’ มันจะ ‘ไม่มีทาง’ กินจักรวาล หรือแม้แต่กาแล็กซี 1 กาแล็กซีจนหมดในเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากในความเป็นจริงแล้วพวกมันจะกินเฉพาะสิ่งที่อยู่ใกล้มันมากเท่านั้น หรือพูดอีกอย่างว่ากินเฉพาะสิ่งที่อยู่ในรัศมีขอบฟ้าเหตุการณ์เท่านั้น (Event Horizon)

พูดเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น หากดวงอาทิตย์ของเราที่กว้างประมาณ 1.3927 ล้านกิโลเมตรกลายเป็นหลุมดำ มันจะมีเขตของขอบฟ้าเหตุการณ์ประมาณ 3 กิโลเมตรรอบตัวมันเท่านั้น นั่นหมายความว่า โลกจะไม่ถูกกลืนกิน

แต่แน่นอนว่าแรงโน้มถ่วงและความมืดที่หนาวเย็นจากดวงอาทิตย์ที่หายไปจะมีผลกระทบกับเรา (เพื่อความชัดเจน ดวงอาทิตย์จะไม่ตายกลายเป็นหลุมดำ แต่กลายเป็นดาวแคระขาวแทน)

ไม่เพียงเท่านั้น การแผ่รังสีของหลุมดำยังขัดขวางการกลืนกินของหลุมดำด้วยเช่นกัน สิ่งนี้ทำให้อัตราการดูดที่หลุมดำมีน้อยลงไปอีก ด้วยเหตุนี้ กาแล็กซีทางช้างเผือกยังคงไม่ถูกหลุมดำมวลมหาศาลอย่าง Sagittarius A* ที่อยู่ใจกลางกลืนกิน และการขยายตัวของจักรวาลก็ทำให้ทุกอย่างห่างออกจากกัน

แต่หากจักรวาลมีเวลามากพอ มากราว ๆ กับ เลข 1 ที่ตามด้วยศูนย์ 100 ตัว หรือมากกว่าอายุจักรวาลปัจจุบันหนึ่งร้อยเท่า คำตอบของคำถามนี้จะเปลี่ยนเป็น ‘ใช่’ เพราะหลุมดำจะกลืนกินทุกสิ่ง แต่นักวิทยาศาสตร์คาดว่าจักรวาลจะถึงจุดจบในรูปแบบอื่น ๆ ก่อนเสียมากกว่า (เช่น บิ๊กครัช – Big Crunch, บิ๊กริป – Big Rip และอื่น ๆ)

ดาวฤกษ์ต่าง ๆ ที่มีมวลมากพอ มากกว่าดวงอาทิตย์สัก 20 เท่า ก็จะมีเวลาเยอะพอที่จะเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นหลุมดำ เมื่อนั้น จักรวาลจะมีหลุมดำเกิดขึ้นจำนวนมาก และแรงดึงดูดของมันจะสร้างผลกระทบต่อวัตถุต่าง ๆ ในอวกาศ ด้วยจำนวนที่มากขึ้น ก็มีโอกาสที่มันจะเจอสสารและกลืนกินดวงดาวมากขึ้น

ท้ายที่สุด แรงโน้มถ่วงจะดึงดูดทุกอย่างและสร้างวงโครจรเรียงตัวเข้าสู่หลุมดำ สิ่งสำคัญที่ต้องเน้นย้ำคือหากจักรวาลมีเวลามากพอ จักรวาลหยุดขยายตัว และไม่จบลงในแบบอื่น ๆ ซะก่อน หลุมดำจะกลืนกินทุกอย่าง

แต่ไม่มีอะไรน่ากังวลในวันนี้ หรือแม้แต่อีกล้านปีข้างหน้าเกี่ยวกับหลุมดำ โดยตำแหน่งหลุมดำที่ใกล้ที่สุดกับโลกเราก็อยู่อย่างออกไปกว่า 1,000 ปีแสง และถึงแม้จะกระจายหลุมดำทั้งหมดในจักรวาลให้ทั่วพื้นที่ มันก็จะอยู่ห่างจากโลกไป 40-80 ปีแสง

“ไม่มีอะไรให้ต้องกังวล” กัวเรฟ คานนา (Gaurav Khanna) นักฟิสิกส์หลุมดำจากมหาวิทยาลัยโรดไอส์แลนด์กล่าว

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://solarsystem.nasa.gov/news/1068/10-questions-you-might-have-about-black-holes

https://www.livescience.com/space/black-holes/could-a-black-hole-devour-the-universe

https://www.skyatnightmagazine.com/space-science/will-black-holes-consume-everything-universe

https://bigthink.com/starts-with-a-bang/black-hole-swallow-earth

อ่านเพิ่มเติม หลุมดำ คืออะไร? รู้จัก ‘แรงดึงดูดทำลายล้าง’ แห่งจักรวาลของเรา

Recommend