Farm to Table กับการทำเกษตรอย่างยั่งยืน

Farm to Table กับการทำเกษตรอย่างยั่งยืน

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของครอบครัว และความแน่นอนคือความไม่แน่นอน

หลังจากกลับจากฝึกงานที่ญี่ปุ่นคุณยุ้ยมีความมั่นใจมากขึ้นจึงได้คุยกับครอบครัว และตัดสินใจเปลี่ยนจากสวนมะม่วงเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม ด้วยความหวังที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเลี้ยงกุ้งแบบไม่ใช้สารเคมีเพราะเธอรักตัวเอง คนรอบข้าง และลูกค้า จึงอยากส่งมอบกุ้งคุณภาพดีสู่ผู้บริโภค

เลี้ยงกุ้งได้กำไรเยอะ มีคุณภาพชีวิตดีกว่าเมื่อก่อน แต่มีความสุขอยู่ได้ไม่กี่ปี ก็เจอโรคระบาดชื่อ โรคกุ้งตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) ตายด่วนตายไวตายเกลี้ยงบ่อเลย” คุณยุ้ยหัวเราะดังลั่นกับชะตากรรมของตัวเองในช่วงนั้น (แต่ความรู้สึกตอนนั้นคือเสียใจมากเพราะเงินที่ลงทุนหายไปกับกุ้งที่ตาย)

หลังจากนั้นไม่นาน “ยุ้ยเปลี่ยนจากบ่อกุ้งขาวแวนนาไมเป็นปลานิลทันที แล้วนำปลามาขายสดๆ หน้าบ่อ ไม่ไปขายที่ตลาด เลี้ยงเองขายเองทำให้เรากล้าบอกลูกค้าได้เลยว่า จุดเด่นของปลานิลบ่อเราคือไม่ใช้สารเคมี ไม่มีกลิ่นโคลน เพราะเลี้ยงแบบระบบกึ่งธรรมชาติและควบคุมระบบน้ำอย่างดี” เธออธิบาย

แสดงว่ากิจการขายปลานิลหน้าบ่อได้รับผลตอบรับที่ดี” เราถาม

ไม่เลยค่ะ” เธอตอบทันทีพร้อมกับเสียงหัวเราะ

การเกษตรกรรม, การทำเกษตรอนย่างยั่งยืน, ความยั่งยืนทางอาหาร, การทำเกษตร, คนรุ่นใหม่ทำเกษตร, เกษตร, เกษตรกรรม
ปลานิลตัวเขื่องที่ว่ายอยู่ในสระบัว

หลังจากที่ได้ขายปลานิลหน้าบ่อไปได้สักระยะ คุณยุ้ยพบว่า ลูกค้าต้องการซื้อวัตถุดิบครบในจุดเดียวเพื่อนำกลับไปประกอบอาหาร ซึ่งหน้าบ่อไม่ได้มีผักและวัตถุดิบอื่นๆ เหมือนในตลาดสด ประกอบกับในตอนนั้นบ่อเลี้ยงปลานิลของเธอยังไม่มีชื่อเสียง จึงไม่ใช่จุดหมายที่ผู้บริิโภคเดินทางมาซื้อเพียงปลานิลสดกลับไปประกอบอาหารเองที่บ้าน

ยุ้ยงัดความรู้และประสบการณ์ที่มีทั้งหมดมาใช้ ไม่งั้นครอบครัวไม่รอด และนึกขึ้นได้ว่า ตอนฝึกงานที่ญี่ปุ่นเขาเลี้ยงหมูดำคุโรบูตะแล้วแปรรูปส่งขาย นำผลแอปเปิ้ลที่ไม่สวยมาแปรรูปเป็นน้ำแอปเปิ้ล นำผลไม้บางส่วนมาอบแห้ง น้องสาวของยุ้ยจึงทดลองทำปลานิลเผาพร้อมผักสดและน้ำจิ้ม เพื่อเป็นการแปรรูปและจำหน่ายที่หน้าบ่อ” เธอบอก

วิธีการนี้ได้ผลตอบรับดีเกินคาด เพราะตอบโจทย์ลูกค้าที่ซื้อกลับไปทานได้เลย ประกอบกับความโดดเด่นของปลานิลที่เลี้ยงในบ่อ จึงเกิดการซื้อซ้ำและบอกต่อในกลุ่มของผู้บริโภค ยุ้ยจึงคิดว่า เราเจอทางรอดของครอบครัวแล้ว” คุณยุ้ยเล่าด้วยน้ำเสียงที่ตื่นเต้น

การเกษตรกรรม, การทำเกษตรอนย่างยั่งยืน, ความยั่งยืนทางอาหาร, การทำเกษตร, คนรุ่นใหม่ทำเกษตร, เกษตร, เกษตรกรรม

Farm to Table เมนูอาหารจากผู้ผลิตเสิร์ฟถึงโต๊ะผู้บริโภค

ถึงแม้กิจการปลาเผาของคุณยุ้ยจะได้รับผลตอบรับที่ดีเกินคาด แต่เธอก็ไม่ประมาทเพราะได้รับบทเรียนมากมาย และจากคำถามที่เธอถามตัวเองอยู่เสมอว่า “จะทำอย่างไรให้ครอบครัวเกษตรกรของเธอมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” ซึ่งคำตอบก็คือ จะต้องมีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน จึงนำไปสู่คำถามที่ว่า “แล้วจะทำอาชีพเกษตรกรรมอย่างไรให้ยั่งยืน

คุณยุ้ยจึงเริ่มเข้าร่วมเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) เพื่อหาเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนความรู้และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมถึงศึกษาเกี่ยวกับแนวคิดหรือรูปแบบธุรกิจต่างๆ ที่จะมาต่อยอดอาชีพเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน จนได้รู้จักกับแนวคิด “Farm to Table”

“Farm to Table” คือการที่ผู้ผลิตหรือเกษตรกรนำพืชผักหรือเนื้อสัตว์ที่ปลูกไว้ในจุดเดียวกันหรือใกล้กับร้านอาหารที่ดูแลแบบไม่ใช้สารเคมี แล้วนำมาประกอบเป็นเมนูอาหารต่างๆ ให้กับผู้บริโภค โดยพืชผักที่ปลูกนั้นจะเน้นการปลูกตามฤดูกาล เพื่อแก้ปัญหาการใช้สารเคมีและลดต้นทุนในการดูแลนอกฤดูกาล

จากนั้นเธอเปิดร้านอาหารปลาวัน Farm to Table และได้เข้าร่วมโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อเรียนรู้การเขียนแผนธุรกิจ รวมถึงการคำนวณต้นทุนและกำไร เป็นการวางแผนเตรียมตัวก่อนการลงทุนเปิดร้านขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเดิมพันครั้งใหญ่อีกครั้งของครอบครัวเธอ

การเกษตรกรรม, การทำเกษตรอนย่างยั่งยืน, ความยั่งยืนทางอาหาร, การทำเกษตร, คนรุ่นใหม่ทำเกษตร, เกษตร, เกษตรกรรม
มะพร้าวน้ำหอมที่นำมาทำน้ำตาลปึกเพื่อใช้ในร้านและจำหน่าย
การเกษตรกรรม, การทำเกษตรอนย่างยั่งยืน, ความยั่งยืนทางอาหาร, การทำเกษตร, คนรุ่นใหม่ทำเกษตร, เกษตร, เกษตรกรรม
โรงเคี่ยวน้ำตาลดอกมะพร้าวน้ำหอม

ระหว่างที่กำลังก่อสร้างร้านอาหาร ยุ้ยทดลองปลูกผักสวนครัวตามฤดูกาล ปลูกดอกบัว เลี้ยงปลานิล ปลาดุก กุ้งขาวแวนนาไม เป็ดและไก่พันธุ์ไข่ (ใช้เฉพาะไข่) เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพเพียงพอที่จะใช้ในร้านอาหาร และเราไม่ใช้สารเคมี” เธอกล่าว

เมื่อมีวัตถุดิบอยู่ภายในบริเวณร้านหรือใกล้ร้าน จึงสามารถจัดการเรื่องต้นทุนการขนส่ง คุณภาพความสดใหม่ของวัตถุดิบ ลดค่าใช้จ่ายเรื่องบรรจุภัณฑ์ และที่สำคัญลดการเกิดของเสียจากกระบวนผลิตอาหารได้

หากผักในสวนไม่เพียงพอ คุณยุ้ยก็รับซื้อจากชาวสวนละแวกใกล้เคียง เพื่อช่วยสนับสนุนอาชีพเกษตรกรรมในชุมชนให้ดีขึ้น ทำให้เกิดกำไรทั้งผู้ขาย (กำหนดราคาได้) และผู้ซื้อ (ซื้อในราคาที่คุ้มค่า) รวมถึงดอกกล้วยไม้สวยๆ ที่ใช้ตกแต่งจานอาหารและบริเวณร้าน ก็รับซื้อจากสวนกล้วยไม้ละแวกนั้นเช่นกัน เมื่อกิจการเติบโตเธอจึงจ้างพนักงานที่เป็นคนในท้องถิ่น เพื่อช่วยลดปัญหาการย้ายถิ่นฐาน

ร้านปลาวันมีการกำจัดขยะและของเสียด้วยการนำเศษอาหารที่เหลือให้เป็ดและไก่ เศษไม้ เศษทางมะพร้าว นอกจากทำปุ๋ยก็เอาไปทำเป็นเชื้อเพลิงในโรงเคี่ยวน้ำตาล เธอแยกขยะพลาสติกทุกชิ้น เพื่อให้เกิดมลพิษน้อยที่สุด แล้วนำไปขายให้กับโรงงานรีไซเคิล และเนื่องจากไม่ใช้สารเคมี ทางร้านจึงนำมูลสัตว์ที่อยู่ภายในฟาร์ม และเศษใบไม้มาใช้แทนปุ๋ยเคมี

ยุ้ยเลี้ยงควายไว้ให้ลูกค้าดูเล่นค่ะ แล้วนำมูลของมันไปเป็นปุ๋ย มูลเป็ดมูลไก่ เศษใบไม้ก็เอาไปทำปุ๋ย” คุณยุ้ยอธิบายอย่างฉะฉาน

แนวคิด Farm to Table คือการทำเกษตรอย่างยั่งยืนค่ะ ยิ่งช่วงสถานการณ์โควิด-19 ยุ้ยมั่นใจมากว่าเดินมาถูกทาง ถึงจะเปิดร้านอาหารไม่ได้ แต่ยุ้ยก็ยังมีวัตถุดิบที่จะประกอบอาหารเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องคนในครอบครัวรวมถึงพนักงานอีก 12 ชีวิต ทุกอย่างที่เราปลูก ทุกอย่างที่เราเลี้ยง มันนำมาใช้ประโยชน์ได้หมดโดยไม่ต้องพึ่งภายนอก” คุณยุ้ยเล่าอย่างภาคภูมิใจ

ในอนาคต คุณยุ้ยอยากร่วมมือกับเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อร่วมมือกันพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงเกษตรโดยชุมชน หวังให้เป็นการช่วยสร้างรายได้และเผยแพร่การทำการเกษตรอย่างยั่งยืนของคุณยุ้ยและเครือข่ายได้อีกทางหนึ่ง

เรื่อง: ณสิตา ราชาดี
ภาพถ่าย: ไพฑูรย์ ปฏิสนธิเจริญ


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ท่องเที่ยวชุมชน ที่บ้านบางหมาก จังหวัดชุมพร

Recommend