โคเปนเฮเกน เส้นทางสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ภายในปี 2025 ด้วยการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว และ CopenHill โรงงานผลิตพลังงานจากขยะที่ปลอดมลพิษที่สุดในโลก
ทุกวันนี้ เมืองต่าง ๆ ทั่วโลกคลาคล่ำไปด้วยผู้คน ประชากรโลกจำนวนมากกว่าครึ่งอาศัยอยู่ในเขตเมือง ภายใน ค.ศ. 2050 การอพยพย้ายถิ่นฐานจากชนบท จะทำให้ตัวเลขประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง เพิ่มขึ้นเป็น 70 เปอร์เซ็นต์
โจทย์ท้าทายที่สุดที่มนุษย์กำลังเผชิญคือ เราจะสร้างเมืองที่รองรับคนจำนวนมหาศาล ไปพร้อมกับการเติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างไร
ภายใต้วิกฤติโลกร้อน ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เมืองต้องสามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ผู้อยู่อาศัยจำนวนมาก ในขณะเดียวกันก็ยังรักษาและส่งต่อทรัพยากรธรรมชาติไปยังลูกหลานในอนาคต
โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก คือหนึ่งในเมืองที่วางแผนรับมือเรื่องความยั่งยืนได้ล้ำหน้าที่สุดในโลก
เราจะพาคุณไปทำความเข้าใจนโยบายและการสร้างเมืองที่เป็นมิตรกับผู้คนและโลก ทั้งความตั้งใจจะเป็นเมืองที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ ภายใน ค.ศ. 2025 จนถึงการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว และล่าสุด CopenHill โรงงานผลิตพลังงานจากขยะที่ใหญ่ที่สุดและสะอาดที่สุดที่มนุษย์เคยสร้าง
01 ขับเคลื่อนเมืองด้วยศูนย์คาร์บอน
2 ใน 3 ของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ หนึ่งในก๊าซเรือนกระจก สาเหตุของภาวะโลกร้อนมาจากกิจกรรมในเมือง ตัวเลขชี้วัดปริมาณนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเมื่อคนย้ายเข้ามาอาศัยในเมืองมากขึ้น กิจกรรมต่าง ๆ ระบบโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรที่จะมาหล่อเลี้ยงเมือง ย่อมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
“เราจะเป็นเมืองที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ ภายในปี 2025”
Frank Jansen อดีตนายกเทศมนตรีกรุงโคเปนเฮเกนที่ดำรงตำแหน่งมากว่า 10 และเพิ่งสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งไปเมื่อปลายปีที่แล้วกล่าว ตั้งแต่วันแรกของการทำงาน แฟรงค์สร้างแรงกระตุ้นเรื่องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และพยายามสร้างนโยบายเพื่อเมืองเมืองยั่งยืนมาโดยตลอด
นโยบายการพัฒนาเมืองของโคเปนเฮเกน มุ่งเน้นไปที่ การสัญจรที่ยั่งยืน (Mobility) การยุติการปล่อยมลพิษ (Pollution) และการใช้พลังงานหมุนเวียน (Energy) แฟรงค์เชื่อว่าการสร้างเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดี ต้องมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงสีเขียว
การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ หรือ Carbon Neutrality คืออะไร
ในแง่การขับเคลื่อนเมือง หมายถึงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว และการใช้พลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลม แสงอาทิตย์ ความร้อนใต้พิภพ น้ำและชีวมวล ในสัดส่วนที่มากกว่าพลังงานจากถ่านหิน ก๊าซธรรมชาตหรือน้ำมันปิโตรเลียมที่ใช้แล้วหมดไป ทั้งยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้ จนถึงจุดที่ทั้งเมืองขับเคลื่อนด้วยพลังงานหมุนเวียน
02 การลงทุนสีเขียว
ในแง่โครงสร้างพื้นฐานสีเขียว โคเปนเฮเกนมีโครงข่ายจักรยานที่มีคุณภาพระดับต้น ๆ ของโลก ชาวโคเปนเฮเกนทุกคนปั่นจักรยาน มากกว่า 62 เปอร์เซ็นต์ของพวกเขาใช้จักรยานเป็นพาหนะหลักในชีวิตประจำวัน หน่วยงานภาครัฐเรียนรู้เรื่องนี้และไม่นิ่งเฉย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พวกเขาลงทุนกว่า 300 ล้านเหรียญดอลลาร์ในการสร้างระบบสาธารณูปโภคเพื่อจักรยานอย่างมีคุณภาพ
เงินลงทุนนั้นคุ้มค่า เพราะทุกวันนี้ ปริมาณจักรยานในเมืองโคเปนเฮเกน มีมากกว่ารถยนต์ถึง 5 เท่า นอกจากนี้ เมืองยังลงทุนกับระบบขนส่งมวลชน รถประจำทางทั้งหมดเปลี่ยนจากเชื้อเพลิงดีเซลไปเป็นรถพลังงานไฟฟ้าหมดแล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจักรยานและรถพลังงานไฟฟ้าจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ แต่นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่เล็กมาก เมื่อเทียบกับเป้าหมายในการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ แต่ความพยายามของพวกเขาไม่ได้หยุดแค่นั้น
80 เปอร์เซ็นต์ของแผนลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ คือการใช้พลังงานหมุนเวียน โคเปนเฮเกนประสบความสำเร็จในการสร้างระบบนำพลังงานที่เหลือจากการผลิตกระแสไฟฟ้า มาสร้างความร้อน (District Heating System) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยโครงข่ายท่อขนาดใหญ่ที่ดักจับความร้อนเศษเกิน จากระบบผลิตกระแสไฟฟ้า จะส่งความร้อนเหล่านั้นไปยังบ้านเรือนในเมืองโดยตรง
อาคารบ้านเรือน รวมถึงตึกสูง 99 เปอร์เซ็นต์ในโคเปนเฮเกน เชื่อมต่อกันทั้งหมดด้วย District Heating System ที่มีประสิทธิภาพ
นอกจากระบบความร้อน วิศวกรของโคเปนเฮเกนยังสร้างระบบทำความเย็นจากอุณหภูมิของน้ำในอ่างเก็บน้ำ เพื่อแจกจ่ายความเย็นไปตามระบบท่อเช่นกัน
ทำให้ในเมืองแห่งนี้ ผู้คนสามารถเพิ่มและลดอุณหภูมิภายในบ้าน สำนักงานไปจนถึงโรงงานได้ ด้วยระบบทำความร้อนและความเย็นที่ไม่ต้องใช้พลังงานในการผลิตเพิ่มเลย เทียบกับเมืองใหญ่อื่น ๆ โคเปนเฮเกนลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในส่วนนี้ไปได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของทั้งเมือง
03 เปลี่ยนขยะเป็นทรัพยากร
อีกหนึ่งนวัตกรรมสู่ความยั่งยืนที่เรียกเสียงฮือฮาไปทั่วโลกของโคเปนเฮเกนคือ CopenHill หรือ Amager Bakke โรงเผาขยะ ที่ใช้เทคโนโลยีล่าสุดในการเปลี่ยนขยะปีละ 485,000 ตันเป็นพลังงาน (Waste to Energy Power Plant)
นอกจากจะผลิตพลังงานไฟฟ้าป้อน 30,000 ครัวเรือน และผลิตความร้อนแก่ 72,000 ครัวเรือน โรงเผาขยะแห่งนี้ยังเป็นศูนย์การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม และสถานที่ท่องเที่ยว ที่มีเนินสกีเทียมเปิดตลอดทั้งปี รวมถึงเส้นทางวิ่ง รวมทั้งผนังปีนผา 100 เมตรที่สูงที่สุดในโลก
“โคเปนฮิลล์ คือโรงงานผลิตพลังงานจากขยะที่ปลอดมลพิษที่สุดในโลก ไม่มีสารพิษเล็ดรอดออกมาจากส่วนใดของโรงงาน มีเพียงไอน้ำเท่านั้นที่ระบายออกมาจากปล่องระบายขนาดใหญ่ เรามีลิฟต์ที่พาคุณพุ่งขึ้นจากชั้นพื้นดินสู่ชั้นบนสุด ระหว่างทางขึ้น เมื่อมองออกไป คุณมองเห็นทิวทัศน์สุดลูกหูลูกตาของเมือง มองกลับเข้ามา คุณจะเห็นอุปกรณ์อันซับซ้อนของหอคอยที่เปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน”
Bjake Ingels ผู้ก่อตั้ง BIG บริษัทสถาปนิกสัญชาติเดนมาร์กที่มีชื่อเสียงระดับโลกซึ่งรับหน้าที่ออกแบบโคเปนฮิลล์กล่าว
บียาเค่อธิบายว่า บนภูเขาที่มนุษย์สร้างนี้มีต้นไม้ถูกปลูกไว้หลายร้อยต้น แต่ละต้นถูกเลือกสปีชีส์มาเพื่อให้พวกมันเติบโตที่ความสูงถึง 100 เมตรบนอากาศได้ มีกิจกรรมให้ทำมากมายเหมือนอยู่ในสวนสาธารณะดี ๆ แห่งหนึ่ง เพราะเขาต้องการเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนที่มีต่อการจัดการความยั่งยืน
Hedonistic Sustainability คือคอนเซปต์ออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อความยั่งยืนของบียาเค่ ที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้คนให้มาเล่นสนุกหรือใช้ชีวิตใกล้ ๆ ระบบจัดการขยะ หรือระบบสร้างพลังงานทดแทน เพราะเขาเชื่อว่ามนุษย์ไม่จำเป็นต้องเสียสละความสะดวกบายหรือความสนุกสนานอะไรในชีวิต เพื่อสร้างสิ่งที่ดีให้กับโลก ด้วยเทคโนโลยี มันสามารถอยู่ในพื้นที่เดียวกันได้
“โรงงานผลิตพลังงานจากขยะ ไม่จำเป็นต้องดูสกปรก ใหญ่โตน่าเกลียด และตอนนี้สวนสาธารณะที่น่าตื่นเต้นที่สุดของเมืองก็อยู่ที่นี่แล้ว”
04 เทคโนโลยีที่ยั่งยืน
โคเปนฮิลล์ใช้เงินลงทุนกว่า 611 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดย Amager Ressourcecenter (ARC) บริษัทจัดการขยะในโคเปนเฮเกนที่เทศบาลเมือง 5 แห่งเป็นเจ้าของร่วมกัน คือ Dragør, Frederiksberg, Hvidovre, Copenhagen และ Tårnby
Jacob Simonson CEO ของ ARC อธิบายว่า ที่นี่มีการผลิตพลังงานเยอะมาก จนสามารถทำให้น้ำในสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานโอลิมปิก มากกว่า 19 สระ เดือดจาก 0 เป็น 200 องศาได้ในแต่ละวัน
“เรานำขยะมาจากกรุงโคเปนเฮเกนและพื้นที่โดยรอบ ครอบคลุมการบริการประชากร 680,000 คนต่อวัน และบริษัทกว่า 46,000 แห่ง ด้วยรถขนขยะ 250-350 คัน”
ค.ศ. 2017 และ 2018 ปริมาณขยะและชีวมวลทั้งที่เผาไหม้ที่โคเปนฮิลล์ คือ 357,000 ตันและ 443,000 ตัน และการผลิตพลังงานรวมอยู่ที่ 900,000 MWh และ 1,259,000MWh ตามลำดับ ภายในโคเปนฮิลล์ประกอบไปด้วยเตาเผา 2 เตาที่เชื่อมต่อกับหม้อไอน้ำและกังหันสร้างกระแสไฟฟ้า โดยแต่ละเตาสามารถเผาขยะได้ 35 ตันต่อชั่วโมง
เริ่มแรก ขยะจะถูกยกผ่านเครน ป้อนเข้าสู่เตาเผาไหม้ขั้นสูงที่เรียกว่า DynaGrate ซึ่งมีลักษณะเป็นตะแกรงระบายความร้อนด้วยน้ำคล้ายบันได แท่งตะแกรงถูกจัดเรียงสลับกันและติดตั้งบนเพลาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้
DynaGrate เผาไหม้ขยะด้วยความร้อนที่เหมาะสม ทำให้สามารถการเก็บวัสดุอย่างโลหะและอีกหลายประเภทไปรีไซเคิลต่อได้ นอกจากนี้ชิ้นส่วนแท่งตะแกรงที่จัดเรียงสลับกันนี้ ทำให้พวกมันไม่สัมผัสกัน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการบำรุงรักษาลงไปได้มหาศาล
โรงงานใช้เทคโนโลยีการควบแน่นของก๊าซไอเสีย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตความร้อน นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งเทคโนโลยีการทำความสะอาดก๊าซไอเสีย ที่ลดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์
โคเปนฮิลล์ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 100,000 ตันต่อปี และช่วยให้ให้โคเปนเฮเกนสามารถนำขยะโลหะกลับมาใช้ใหม่ได้ 90 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้การกลั่นตัวเป็นหยดน้ำของก๊าซไอเสีย ทำให้โรงงานสามารถกู้น้ำได้ 100 ล้านลิตรและนำขี้เถ้าด้านล่างจากการเผา 100,000 ตันมาใช้เป็นวัสดุทำถนนได้อีก
05 พลังของผู้คน
โคเปนเฮเกนฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำสาธารณะอย่างจริงจัง ไม่กี่สิบปีก่อน หากล่องไปตามลำคลองของเมืองแห่งนี้ จะพบว่าน้ำในแหล่งน้ำสาธารณะแทบจะทั้งหมด มีการปนเปื้อนอย่างรุนแรงจากระบบอุตสาหกรรม การรั่วไหลของน้ำมันหรือแม้แต่ขยะมูลฝอย
“ครั้งแรกที่ผมย้ายมาอยู่ที่โคเปนเฮเกน เมื่อ ค.ศ. 1987 ท่าเรือบริเวณนี้เต็มไปด้วยมลพิษ คุณไม่มีทางนึกภาพการลงไปว่ายน้ำในอ่าวนี้ได้เลย แต่ทุกวันนี้คุณสามารถกระโดดลงไปเล่นน้ำได้อย่างไม่ต้องกังวลเลย เรามี Harbor Bath และพื้นที่สาธารณะอีกหลายที่เด็ก ๆ และผู้คนสามารถพักผ่อน หรือจะมาว่ายน้ำก็ได้”
แฟรงค์อธิบายว่าโคเปนเฮเกนใช้เวลาหลายสิบปี ด้วยความเข้มงวดและความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการนำนวัตกรรมบำบัดน้ำมาประยุกต์ใช้อย่างจริงจัง ทำให้ผลลัพธ์เป็นอย่างที่เห็นทุกวันนี้
ไม่ต้องแปลกใจที่นักออกแบบและนักสร้างสรรค์ที่มีชื่อเสียงมากมาย เติบโตมาจากโคเปนเฮแกน เพราะคนที่นี่เชื่อเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วม และภาครัฐก็พร้อมจะทำงานร่วมกับภาคเอกชนและประชาชนอย่างแข็งขัน
“ชาวโคเปนเฮเกนต่างกระตือรือร้นที่จะแสดงความคิดเห็น และสร้างเมืองที่ดีกว่า พวกเขาต้องการเมืองที่มีคุณภาพสูงสำหรับการใช้ชีวิต ดังนั้นพวกเขาจึงยินดีเริ่มต้นด้วยตัวเองเช่นกัน ทุกคนยินดีที่จะคัดแยกขยะอย่างถูกต้องเพื่อให้เทศบาลสามารถจัดการขยะต่อได้ง่าย รวมถึงยินดีขี่จักรยานหรือใช้ระบบขนส่งมวลชนไปทำงาน”
แฟรงค์บอกต่อว่า แรงผลักดันสูงสุดที่จะทำให้เป้าหมาย ในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ภายใน ค.ศ. 2025 เป็นจริงได้คือพลังของประชาชนทุกคน
10 ปีในการดำรงตำแหน่งของแฟรงค์ โคเปนเฮเกนมีประชากรมากขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ในขณะเดียวกันด้วยโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวต่าง ๆ เมืองกลับลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไปได้กว่า 42 เปอร์เซ็นต์
ตอนนี้ยังไม่มีใครรู้ ว่าโคเปนเฮเกนจะประสบความสำเร็จในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์หรือไม่ ในอีก 4 ปีข้างหน้า แต่สิ่งที่ชัดเจนคือเมืองแห่งนี้คือตัวอย่างของการสร้างเมืองแห่งอนาคต ที่รองรับผู้อยู่อาศัยจำนวนมากได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไปพร้อม ๆ กับการเติบโตอย่างยั่งยืน
สืบค้นและเรียบเรียง มิ่งขวัญ รัตนคช
ข้อมูลอ้างอิง
- Amager Bakke Waste-to-Energy Plant
- Inside CopenHill: The clean energy plant with its own ski slope | On Location
- The Sustainable City of the Future: Copenhagen, Denmark
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : Blue Lagoon โรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพที่สร้างเงินมหาศาลให้การท่องเที่ยวไอซ์แลนด์