ต้นไม้ในเมืองใหญ่

ต้นไม้ในเมืองใหญ่

ต้นไม้ในเมืองใหญ่

เมื่อคนไทยสร้างบ้านแปลงเมือง นอกจากบริเวณใกล้แหล่งน้ำ เรายังนิยมเลือกพื้นที่ที่อุดมด้วยต้นไม้  ร่องรอยดังกล่าวปรากฏให้เห็นในชื่อท้องที่ที่ตั้งตามตามพืชพรรณประจำถิ่น นับจาก “บางกอก” ชื่อเมืองหลวง จนไปถึงบางเล็ก บางน้อยอย่าง “บางลำพู” “บางกระเจ้า” “บางอ้อ” “บางจาก” “หนองแขม” “บางหว้า” “บางบัว” “บางไผ่” ฯลฯ  แสดงว่ากรุงเทพฯ ที่เกิดจากตะกอนทับถมของแม่น้ำจนเป็นที่ราบลุ่มอุดมสมบูรณ์ มีพืชสัตว์อยู่มาก (“หนองงูเห่า” “หัวตะเข้า” และ “ดอนอีเหยี่ยว” หรือดอนเมืองในปัจจุบัน เป็นต้น)  บางกอกเคยมีต้นทุนเป็นแหล่งต้นไม้กระจายอยู่ทั่ว แต่ถึงวันนี้ ยากนักที่ใครจะได้เห็นต้นไม้อันเป็นที่มาของชื่อสถานที่เหล่านั้น

ต้นไม้เคยสร้างเมือง เคยทำให้เมืองมีเอกลักษณ์ มีหน้าตาผิดแผกไปตามชื่อบางนั้น ทั้งหมดกลายเป็นเรื่องอดีต  ปัจจุบันเมืองเป็นฝ่ายกำหนดว่าต้นไม้ควรจะเป็นชนิดใด อยู่ตรงไหน ตลอดจนชะตากรรมที่เหลือหลังจากนั้นด้วย

อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี: กิ่งหลักของต้นยางนาขนาด 17 คนโอบ อายุ 300-400 ปี หักโค่นลงมาตั้งแต่เมื่อหลาย ปีก่อน ทางวัดซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ (วัดยาง ณ รังสี) ตั้งใจให้อยู่ในตำแหน่งเดิมเพื่อให้คนได้เห็นถึงขนาดอันใหญ่โต

กรุงเทพฯ ไม่มีป่าใหญ่กลางเมืองแบบป่าเมจิจิงกุขนาด 437 ไร่ที่ไม่ไกลจากฮาราจุกุ มีทั้งต้นไม้สูงใหญ่ยักษ์นานาชนิด นก และสัตว์ป่าต่างๆ ทั้งชะมด ค่าง ทานุกิหรือจิ้งจอกแรคคูน กวาง และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ ทั้งที่ป่าดังกล่าวเพิ่งปลูกใหม่มาแค่ 100 ปี  เราไม่มีป่าดิบชื้นขนาด 60 ไร่แบบบูกิตนานาส อยู่ใต้ฐานหอคอยกัวลาลัมเปอร์ติดถนนและตึกสูงสมัยใหม่  ต้นไม้ที่นั่นอายุ 200-300 ปี

เท่าที่กรุงเทพฯ มีคือสวนสาธารณะ 35 แห่งสำหรับคนราว 10-12 ล้านคน เท่ากับวอชิงตัน ดี.ซี. ที่มีไว้สำหรับคน  สี่แสนคนเมื่อ 50 ปีก่อนโน้น

ต้นไม้เมืองจึงต้องอยู่อาศัยตามสวนสาธารณะและสองข้างถนน ที่เหลืออยู่ในบ้านเรือน หน่วยงาน โรงเรียน บริษัท และชุมชน  แต่ต้นไม้เมืองเหล่านี้ย่อมมีชีวิตและสุขภาพแตกต่างไปจากพวกพ้องในป่าหรือแม้แต่ในชนบทที่ยังเหลือสภาพธรรมชาติเป็นอันมาก

ในบรรดาต้นไม้เมือง ต้นไม้บนถนนอยู่ลำบากที่สุด เพราะนอกจากจะต้องอยู่ด้วยตัวเองแล้ว ยังต้องเผชิญกับสภาพอากาศแบบเมือง ดินใต้ฟุตบาทก็แข็งเพราะถูกบีบอัดหรืออาจมีก้อนปูนผสมอยู่ รากโตไปไม่ได้ลึกหรือต้องเจอกับท่อระบายน้ำ ทั้งยังเสี่ยงต่อการถูกตัดง่ายๆ  บางทีได้รับปุ๋ยมากเกินไป  เมื่อลำต้นเป็นแผลและอ่อนแอง่าย เป็นแหล่งเจาะทำลายของแมลง ฯลฯ  ในท้ายที่สุด ความเครียดที่ต้นไม้ต้องทนนั้นหนักหน่วงจนส่วนใหญ่ต้องตายไปก่อนจะโตเต็มที่ด้วยซ้ำ

รุกขกร คือคุณหมอรักษาคนไข้ที่ไม่สามารถบอกถึงอาการป่วยของตนเอง โดยเริ่มจากการประเมินอาการที่ลำต้น กิ่งก้าน ใบ ระบบราก รวมถึงสภาพดินในบริเวณนั้น ตัดส่วนที่มีปัญหา ทายารักษา และกลับมาประเมินสุขภาพประจำปี นอกจากกิ่งที่ต้องรองรับน้ำหนักขณะปีนแล้ว อันตรายที่รุกขกรต้องระมัดระวังคือสายไฟฟ้า ทั้งยังต้องไม่ให้กิ่งก้านที่กำลังตัดตกลงมาถูกรถหรือคนที่สัญจรไปมา หากต้นไม้ต้นนั้นอยู่ริมถนน

เมื่อ 26 ปีก่อน มีกลุ่มนักวิชาการ อาจารย์ แพทย์ สื่อมวลชน ฯลฯ รวมตัวกันพูดคุยเรื่องปัญหาสาธารณะ ทั้งระดับเมืองและประเทศ ต่อมาพัฒนาเป็น “บางกอกฟอรั่ม” จัดกิจกรรมอย่างถนนคนเดิน ถนนวัฒนธรรม ฯลฯ ทำให้คนเมืองรู้สึกว่าตัวเองสามารถช่วยขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสร้างเมืองน่าอยู่เองได้  ซึ่งส่งแรงถึงคนรุ่นถัดมาที่หันมาสนใจปัญหารอบตัว และไม่ได้มองว่าประเด็นสิ่งแวดล้อมจำกัดอยู่แต่ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การสร้างเขื่อน มลพิษจากเหมืองหรือนิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ เท่านั้น

เจ็ดปีก่อน เมื่อมีเหตุการณ์ตัดต้นไม้ใหญ่หลายสิบต้นในซอยสุขุมวิท 53 เพื่อทำศูนย์การค้า คนกรุงเทพฯ พยายามหาวิธีต่างๆ เพื่อให้ต้นไม้เหล่านั้นรอดพ้นจากความตาย  แม้ความพยายามหนนั้นจะไม่สำเร็จ แต่นับเป็นก้าวแรกของการเคลื่อนไหวเพื่อให้คนกรุงฯ รักหวงแหนต้นไม้ จนรู้สึกว่าการตัดต้นไม้เป็นเรื่องยอมรับไม่ได้

BIGTrees Project หรือ บิ๊กทรีส์ ก่อตั้งขึ้นจากคนไม่กี่สิบคน เพิ่มจำนวนเป็น 3,000 คนภายในเวลาไม่กี่วันหลังข่าวการตัดต้นไม้เผยแพร่ออกไปด้วยการใช้เฟซบุ๊กและโซเชียลมีเดีย  ปัจจุบันมีผู้กดไลค์ติดตามราว 1.4 แสนคน

“เราไม่ได้เริ่มต้น แต่เรามากับกระแสนั้น” อรยา สูตะบุตร ผู้ก่อตั้ง BIGTrees กล่าว “คนรู้สึกมากกับความเสื่อมถอยของสิ่งแวดล้อมเมือง ก็พอดีกับที่เราตัดสินใจเอาต้นไม้ใหญ่เป็นพระเอกหรือนางเอกในการสื่อสาร  จากที่ไกลตัว จากที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมมีหลายประเด็นไปหมด ทั้งน้ำ มลภาวะ ขยะ ฯลฯ พอเราโฟกัสการสื่อสารว่าต้นไม้ดี ต้นไม้ควรจะอยู่ก็เกิดความสะเทือนใจเมื่อต้นไม้ถูกทำลาย  เมื่อเราย้ำมากขึ้น คนก็เกิดความผูกพันกับต้นไม้ใกล้ตัว”

กิจกรรมที่ BIGTrees ชวนคนเมืองทำเป็นกิจกรรมเรียบง่ายไม่ซับซ้อน เปิดกว้างให้คนทั่วไปเข้าร่วมโดยไม่จำเป็นต้องทำงานด้านสิ่งแวดล้อมหรือนักอนุรักษ์  เพียงการถ่ายรูปต้นไม้ใหญ่ การปั่นจักรยานเยี่ยมต้นไม้ ชมนิทรรศการ ฟังการเสวนา ฯลฯ ที่อรยาบอกว่าเป็นกิจกรรมง่ายๆ “ลงทุนน้อย ไม่ต้องมีออร์แกไนเซอร์ ไม่ต้องมีความรู้ ไม่ต้องมีประสบการณ์ ไม่ต้องมีทักษะ ไม่ต้องเตรียมตัว มาตัวเปล่าเลย  แค่อยากทำอะไรให้ธรรมชาติ แต่ขี้เกียจไปป่า ขี้เกียจลุยโคลน ไม่อยากไปประท้วง เวลาโพสต์ลงเฟซบุ๊กก็ได้โชว์เพื่อนว่าได้ทำความดีและกิจกรรมที่ทำก็สนุก” ทำให้ทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วมรักษาธรรมชาติได้ เกี่ยวข้องได้ ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร อายุเท่าไร หรือมีความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมช่วงกว้างขนาดไหน เรื่องต้นไม้ก็เป็น “เรื่องของทุกคน”

งานสำคัญที่ BIGTrees มีส่วนสำคัญในการทำให้ปรากฏในสังคมไทยคือ งานรุกขกรรมและการตัดแต่งต้นไม้อย่างถูกวิธี ซึ่งถือเป็นกุญแจที่ช่วยเปิดประตูในการหาวิธีอยู่ร่วมกันของคนเมืองกับต้นไม้อย่างสมดุล จนเกิดเป็นความร่วมมือในการก่อตั้งโรงเรียนต้นไม้จากหลายฝ่าย  และงานสำคัญที่ BIGTrees กำลังทำอยู่ในปัจจุบันคือการดูแลต้นมะขามรอบสนามหลวงร่วมกับทางกรุงเทพมหานครและกรมป่าไม้  นอกจากนี้ กลุ่มยังร่วมก่อตั้งเครือข่ายต้นไม้ในเมืองและขยายงานสู่การปลูกป่าและการขับเคลื่อนด้านนโยบายเกี่ยวกับต้นไม้ด้วย

ต้นไม้และสวนกลายเป็นส่วนหนึ่งของเมืองที่ขาดไม่ได้  ถ้าเราดูสารคดีอย่าง Urbanized (2011) กับ Naturopolis (2013) จะเห็นแนวโน้มทั่วโลกที่ว่าด้วยความพยายามเปลี่ยนแปลงเมืองให้มีพื้นที่สีเขียว ซึ่งไม่ใช่แค่เป็นสวนสวยเพื่อความรื่นรมย์ของมนุษย์อย่างเดียว แต่เป็นพื้นที่ที่สปีชีส์อื่นๆ ได้อยู่อาศัยด้วย หรือจะพูดให้ถูกก็คือ ได้กลับมาอาศัยอีกครั้ง  นั่นเป็นเหตุให้ทำไมคนสิงคโปร์ถึงดีใจหักหนาที่มีครอบครัวนากมาอาศัยอยู่ในบึงใจกลางเมือง

ที่สำคัญไปกว่านั้น ท่ามกลางสภาพภูมิอากาศที่ทั้งเปลี่ยนแปลงและแปรปรวนจนหลายครั้งที่นักวิทยาศาสตร์พยากรณ์ไม่ถูก  เมืองยุคใหม่อาศัยพื้นที่ธรรมชาติในฐานะที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (Green infrastructure) ในการรับมือกับความไม่แน่นอนที่ว่า  เมืองอย่างปารีสที่เคยเผชิญกับคลื่นความร้อนเมื่อ 10 ปีก่อนจนมีคนตายไปเกือบ 15,000 คน ย่อมรู้ดีว่าถ้าในตอนนั้นมีต้นไม้มากกว่านี้ จะช่วยลดอุณหภูมิลงไปได้อีกอย่างน้อยสามองศาเซลเซียส  เมืองสมัยใหม่จึงต้องเป็นเมืองฉลาด น่าอยู่ และยังคุ้มกันตัวเองจากภัยพิบัติได้ หรือเมื่อต้องเผชิญกับภัยพิบัติก็ฟื้นฟูตัวเองได้เร็ว (resilience)

ดร. สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานมูลนิธิโลกสีเขียว กล่าวว่า “เราต้องไม่ลืมว่าพัฒนาการของเมืองและวัฒนธรรมไปเร็วกว่าวิวัฒนาการทางชีวภาพของเราจะปรับตัวตามได้ทัน  ที่สุดแล้วเราคือสัตว์  ไม่ว่าเราจะพัฒนาไปอย่างไร เราต้องมีปฏิสัมพันธ์กับโลกธรรมชาติเสมอ”

เรื่อง นิรมล มูนจินดา
ภาพถ่าย ชาญพิชิต พงศ์ทองสำราญ

 

อ่านเพิ่มเติม

กัปตันการบินไทยผู้ใช้เวลาว่างปลูกต้นไม้ให้กรุงเทพฯ

Recommend