ช่างเป็นภูมิทัศน์อันน่าตื่นตาตื่นใจยิ่งนัก แถบนี้ของแอนตาร์กติกาตะวันออกมีแมวนํ้า เพนกวิน และนกอื่นๆ เพียงไม่กี่ชนิดอาศัยอยู่ และไม่มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบนบกอยู่เลยแม้แต่ชนิดเดียว คุณอาจคิดว่า ก้นสมุทรคงมีสภาพเป็นทะเลทรายเช่นกัน แต่อันที่จริง กลับเป็นอุทยานงามสะพรั่งที่หยั่งรากอยู่ในห้วงลึกของกาลเวลา
สัตว์ทะเลแถบขั้วโลกใต้ส่วนใหญ่ถูกตัดขาดจากโลกที่เหลือมานานหลายสิบล้านปี ตั้งแต่ตอนที่ทวีปดังกล่าวแยกตั;ออกจากทวีปอื่นๆ แล้วกลายเป็นนํ้าแข็งทั้งทวีปนับแต่นั้นมา กระแสนํ้าเย็นรอบขั้วโลกใต้ (Antarctic Circumpolar Current) ก็เคลื่อนตัวหมุนวนจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออกรอบทวีปแอนตาร์กติกาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระดับอุณหภูมิมีความสูงตํ่าแตกต่างกันอย่างสุดขั้วและขวางกั้นการแพร่กระจายของสัตว์ทะเล การตัดขาดอันยาวนานนี้เปิดทางให้สิ่งมีชีวิตที่มีความหลากหลายอย่างมากและเป็นชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่น วิวัฒน์อยู่ตรงก้นสมุทรนั่นเอง
เมื่อดำลึกลงไปกว่า 50 เมตรลงไป แสงจะมืดสลัวลงและเราไม่เห็นสาหร่ายเคลป์หรือพืชพรรณชนิดอื่นใดอีก ก้นสมุทรจะปกคลุมด้วยไฮดรอยด์หรือขนนกทะเลอย่างหนาแน่น (พวกมันเป็นสัตว์ที่อยู่รวมกันเป็นคอโลนี และมีความเกี่ยวข้องกับปะการัง) และหอยพัดนับพันๆตัว หอยพัดเหล่านี้มีขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร แต่อาจมีอายุถึง 40 ปีหรือมากกว่านั้น เพราะสรรพชีวิตเติบโตอย่างเชื่องช้า ในแอนตาร์กติกา ที่ความลึกระดับนี้ เรายังสังเกตเห็นไครนอยด์ สัตว์ในอันดับดาวขนนก ซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดกับดาวทะเล พวกมันดักจับอนุภาคอาหารที่ล่องลอยอยู่ด้วยแขนพลิ้วไหวซึ่งอาจมีมากถึง 20 เส้น และมีสัตว์จำพวกไอโซพอดหน้าตาคล้ายแมลง ปีกแข็งขนาดใหญ่แหวกว่ายและคืบคลานอยู่ท่ามกลางพวกมัน
ลูกเพนกวินนับพันตัวกำลังหายไปเพราะแผ่นน้ำแข็งในแอนตาร์กติกาละลาย
ความหลากหลายนั้นมากมายละลานตาที่สุดที่ระดับความลึก 70 เมตร ซึ่งเป็นขีดจำกัดของการดำนํ้าของเรา เราเห็นกัลปังหาพุ่ม สัตว์จำพวกมีกระดอง ปะการังอ่อน ฟองนํ้า ปลาเล็กปลาน้อย สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่เกาะยึดตัวอยู่กับที่มีขนาดใหญ่โตเป็นพิเศษ สัตว์คล้ายพืชซึ่งปรับตัวได้เป็นอย่างดีในสภาพแวดล้อมค่อนข้างคงที่เหล่านี้เติบโตอย่างเชื่องช้า แต่ดูเหมือนจะโตได้อย่างไร้ขีดจำกัดถ้าไม่มีอะไรมารบกวน เราอดสงสัยไม่ได้ว่า สิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะตอบสนองอย่างไรเมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้โลกของพวกมันร้อนขึ้น
อ่านต่อหน้า 3