สีกิริยา ป้อมปราการราชสีห์ ท่ามกลางป่าลึกในศรีลังกา

สีกิริยา ป้อมปราการราชสีห์ ท่ามกลางป่าลึกในศรีลังกา

ป่าดงดิบโอบล้อมด้านล่างภูเขาหินแห่ง สีกิริยา ด้านบนคือป้อมปราการที่สร้างขึ้นโดยพระเจ้ากาชัยภะที่ 1 ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5 บริเวณตอนกลางของศรีลังกา ภาพถ่ายโดย PHILIPPE MICHEL/AGE FOTOSTOCK


ป้อมปราการ สีกิริยา ที่สร้างขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5 ได้ดึงดูดนักโบราณคดีอังกฤษช่วงทศวรรษที่ 1800 ซึ่งทำให้พวกเขาตกตะลึงไปกับงานแกะสลักหินรูปเหมือนสิงโตและจิตรกรรมบนภูเขาหินที่สวยงาม

ป้อมปราการสีกิริยา (Sigiriya) ตั้งอยู่บนภูเขาหินสูงชันซึ่งโผล่ขึ้นมาท่ามกลางป่าดงดิบที่อยู่ล้อมรอบในศรีลังกา ที่แห่งนี้เป็นที่ดึงดูดสายตาอย่างที่เคยเป็นมานับตั้งแต่การสร้างครั้งแรกโดยกษัตริย์ผู้ดุร้ายในช่วงศตวรรษที่ 5 สีกิริยาอันมีความหมายว่า หินของราชสีห์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโกในปี 1982 สถานที่แห่งนี้เข้าถึงได้ผ่านทางเดินเท้าที่ตัดไปยังอนุสาวรีย์รูปอุ้งเท้าคู่ของสิงโต

หลังจากการสร้าง ป้อมปราการแห่งนี้ได้ถูกป่าโดยรอบกลืนกินและเป็นที่คุ้นเคยของชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบเท่านั้น บุคคลภายนอกต้องใช้ข้อมูลที่บันทึกอยู่ในจารึกของพุทธศาสนาเพื่อค้นหาสถานที่แห่งนี้ ในที่สุด นักประวัติศาสตร์อังกฤษได้ค้นพบอาคารและจิตรกรรมบนภูเขาหินอันน่าตื่นตะลึงในช่วงศตวรรษที่ 19

สีกิริยา
ที่ตั้งของสีกิริยาบนเกาะศรีลังกา

จากราชอาณาจักรสู่อาณานิคม

สีกิริยาสร้างขึ้นในสมัยศตวรรษที่ห้าโดยพระเจ้ากาชัยภะที่ 1 (Kashyapa I) แห่งราชวงศ์โมริยะ ซึ่งเป็นชาวสิงหล เขากำหนดให้ป้อมปราการแห่งนี้เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรชาวสิงหลจนกระทั่งบัลลังก์ของพระเจ้ากาชัยภะถูกโค่นล้มไปเมื่อ ค.ศ. 495

หลังยุคพระเจ้ากาชัยภะ ราชวงศ์ก็มีทั้งยุครุ่งเรืองและล่มสลาย โชคชะตาของราชวงศ์เป็นไปตามการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจกันเองในราชวงศ์ และความขัดแย้งระหว่างชาวสิงหลพื้นเมืองกับผู้รุกรานภายนอกจากอินเดีย

สีกิริยา

พงศาวดาร มหาวงศ์ แห่งศรีลังกาที่แต่งขึ้นในศตวรรษที่ 5 กล่าวถึงเจ้าชายอินเดียนามวิชญา (Prince Vijaya) ผู้เป็นหลานชายของสิงโต เขาเดินทางไปที่เกาะศรีลังกาและแต่งงานกับเจ้าหญิงคูเวนี (Princess Kuveni) อันเป็นจุดเริ่มต้นของคนเชื้อชาติสิงหลในศรีลังกา (สิงหลมีความหมายว่า สิงโต) ในวัฒนธรรมชาวสิงหล สิงโตเป็นบรรพบุรุษของกษัตริย์ในเทพนิยายและเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจกษัตริย์ ภาพถ่ายนี้คือซากที่เหลือของอนุสาวรีย์ประตูอุ้งเท้าสิงโตแห่งสีกิริยา ภาพถ่ายโดย SUPERSTOCK/AGE FOTOSTOCK

มีหลายเมืองในยุคหลังที่ได้สิทธิครอบครองสีกิริยา เช่น เมืองโปลอนนารุวา (Polonnaruwa) อย่างไรก็ตาม ในช่วงศตวรรษที่สิบสอง การปกครองโดยรวมของศรีลังกาได้อ่อนแอไปทีละน้อย อำนาจของผู้ปกครองชาวสิงหลเริ่มถอยร่นออกจากพื้นที่ตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะศรีลังกา มีการละทิ้งภูมิภาค Rajarata และศูนย์กลางการปกครองต่างๆ รวมไปถึงเมืองสีกิริยา ซึ่งในเวลานั้นก็เริ่มที่จะล่มสลาย

ด้วยตำแหน่งที่ตั้งของศรีลังกาในมหาสมุทรอินเดีย ทำให้ชาวยุโรปพิจารณาเรื่องการแผ่ขยายอำนาจมายังที่นี่ตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1500 เป็นต้นมา เริ่มจากโปรตุเกส ต่อมาคือดัตช์ และอังกฤษในช่วงปลายทศวรรษที่ 1700 โดยในปี 1815 ราชอาณาจักรแคนดี พื้นที่เกาะอันเป็นราชอาณาจักรเอกราชแห่งสุดท้ายได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอังกฤษในท้ายที่สุด

สีกิริยา
การออกแบบของสวนในลานกว้างด้านตะวันตกของสีกิริยาตัดกับเส้นตรงด้านในที่ถูกล้อมรอบด้วยบรรยากาศพฤษชาติโดยรอบ ภาพถ่ายโดย ROBERT HARDING/AGE FOTOSTOCK

ความรู้คืออำนาจ

อังกฤษได้ส่ง จอร์จ ทูรนูร์ (George Turnour) ข้าราชการของจักรวรรดิมายังศรีลังกา โดยทูร์นูร์ผู้เป็นทั้งขุนนาง นักปราชญ์ และนักประวัติศาสตร์ผู้กระตือรือร้น ได้ทำงานร่วมกับพระสงฆ์เพื่อแปลพงศาวดารที่ชื่อว่า มหาวงศ์ (Mahavamsa) ซึ่งมีการแต่งขึ้นในศตวรรษที่ห้าจากภาษาบาลีมาเป็นภาษาอังกฤษ ตามพงศาวดารนี้ จอร์จพบชื่ออาณาจักรโบราณสองแห่ง คือ อนุราธปุระ (Anuradhapura) และ โปลอนนารุวา

ในเวลาต่อมา ทูร์นูร์ได้ศึกษาคัมภีร์จุลวงศ์ (Culavamsa) ที่กล่าวถึงเรื่องราวของพระเจ้ากาชัยภะว่า ในช่วงปลายศตวรรษที่ห้า เจ้าชายชาวสิงหลผู้นี้ได้สังหารพระเจ้าดาธุเสนะผู้เป็นบิดาเพื่อครองบัลลังก์ ช่วงชิงอำนาจจากพี่ชายซึ่งต้องหลบหนีไปที่อินเดีย และด้วยเกรงว่าจะถูกแก้แค้น พระเจ้ากาชัยภะ ได้ตัดสินใจสร้างป้อมปราการสีกิริยาแห่งนี้ แต่ก็ไร้ผล พี่ชายของเขากลับมาและโค่นล้มพระเจ้ากาชัยภะ สีกิริยาจึงสูญเสียสถานะความเป็นเมืองหลวงไปนับตั้งแต่นั้น

ในปี 1827 เจ้าหน้าที่ชาวสกอตแลนด์ โจนาธาน ฟอร์บส์ (Jonathan Forbes) ได้กลายมาเป็นเพื่อนกับทูร์นูร์ และได้ยินเรื่องราวของพระเจ้ากาชัยภะและวังของเขา จึงตัดสินใจที่จะออกตามหา ในปี 1831 เขาเริ่มออกเดินทางไปยังสถานที่ที่ชาวบ้านบอกว่าจะพบเจอซากของเมืองโบราณนี้

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไม่แน่ใจว่าเขาจะได้พบเมืองโบราณที่กล่าวไว้ในคัมภีร์หรือไม่ เขาจึงละทิ้งการเดินทางในครั้งนั้นและมาเยือนที่แห่งนี้อีกครั้งใน 2-3 ปีต่อมา เขาแกะรอยคูเมืองที่ล้อมรอบสวนที่ด้านล่างหินผาแต่ไม่ได้ปืนขึ้นไป เขาสงสัยว่าชื่อ สีกิริยา ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับสิงโต เนื่องจากเขาไม่ได้เห็นสิ่งใดที่ยืนยันที่มาในเชิงนิรุกติศาสตร์ (etymology) ของคำนั้นได้เลย

สีกิริยา
สีกิริยาเป็นสถานที่ที่รวมการออกแบบและการใช้งานเข้าด้วยกัน ความต้องการทั้งน้ำสะอาดและการออกแบบที่สวยงามได้รวมกันเป็นสวนหลวงพระเจ้ากาชัยภะที่มีการออกแบบสมมาตรอันละเอียดลออ บ่อน้ำที่ใหญ่ที่สุดวางตัวอยู่ที่ลานกว้างด้านตะวันตก บันไดที่ลาดเอียงนี้มีบรรดาสวนเล็กๆ ตรงด้านล่างของภูเขาหิน ภาพถ่ายโดย DEA/AGE FOTOSTOCK

จิตรกรรมผนังถ้ำอันเลิศเลอ

ในปี 1851 นักไต่เขาชาวอังกฤษได้ปืนขึ้นไปถึงยอดได้ในที่สุด แต่งานสำรวจที่แห่งนี้เป็นหน้าที่ของ แฮร์รี ซี.พี. เบลล์ (Harry C.P. Bell) กรรมาธิการด้านโบราณคดีแห่งซีลอน การสำรวจของเขาในช่วงปลายศตวรรษที่สิบเก้าได้เป็นรากฐานของการศึกษาที่แห่งนี้ในเวลาต่อมา

เบลล์ได้สืบหาแผนผังของเมืองอัศจรรย์ของพระกาชัยภะแห่งนี้อย่างอุตสาหะ พร้อมกับการลงรายละเอียดของงานแกะสลักอุ้งเท้าสิงโตอันงดงามที่อยู่บริเวณทางเข้า ซึ่งฟอร์บส์ไม่มีโอกาสได้เห็น

สีกิริยา
ภาพวาดบนผนังภูเขาหินที่สีกิริยาเป็นรูปหญิงงามที่กำลังเต้นรำและถวายเครื่องสักการะ ซึ่งเชื่อว่าเป็นนางอัปสร นักนาฏศิลป์บนสรวงวรรค์ตามตำนานเทพนิยายแห่งอินเดีย ภาพถ่ายโดย JOSÉ RAGA/AGE FOTOSTOCK (บน) และ PHILIPPE MICHEL/AGE FOTOSTOCK (ล่าง)

นอกเหนือไปจากสวนน้ำที่ตกแต่งอย่างวิจิตรที่ด้านล่างของภูเขา การสำรวจของเบลล์ได้พบกับภาพวาดโบราณบนหน้าภูเขาหินแห่งนี้ ที่สีกิริยามีการตกแต่งด้วยจิตรกรรมที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งมรดกทางศิลปะที่มีคุณค่าของศรีลังกา มีภาพจิตรกรรม 21 ภาพที่แสดงถึงเรื่องนางอัปสร คือนางฟ้าที่เป็นนางรำบนสวรรค์

ไม่ไกลจากภาพวาดโบราณ จะมีภาพวาดบนผนังโดยพระและผู้แสวงบุญที่มาเยือนในช่วงศตวรรษที่แปดถึงสิบสาม และมีข้อความจากอดีตที่อาจทำให้ผู้มาเยือนในยุคสมัยนี้ต้องตื่นตะลึงว่า “สีกิริยา สถานที่ซึ่งเต็มไปด้วยความวิเศษ ตั้งอยู่บนเกาะ [แห่งศรีลังกา] เราเห็นอารมณ์แห่งความรื่นรมย์ และภูเขาหินที่ตรึงใจของผู้คนที่ได้มาเยือน”

เรื่อง VERÓNICA WALKER 


อ่านเพิ่มเติม ค้นพบอุโมงค์แห่งใหม่ใต้พีระมิดโบราณ 

Recommend