การตัดสินใจเดินทางไปเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ฮาลา-บาลา ของฉันคงไม่ต่างอะไรกับการซื้อทัวร์ไฟไหม้ เพราะทันทีที่รู้ว่าพรรคพวกในหาดใหญ่และปัตตานีจัดทริป พร้อมคนในพื้นที่อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส เป็นผู้นำทางแล้วด้วย ยิ่งทำให้ฉันรู้สึกว่า ฉันไม่ควรพลาดทริปนี้ด้วยประการทั้งปวง
จากกรุงเทพฯ มีเที่ยวบินตรงไปจังหวัดนราธิวาสทุกวัน จุดนี้ยิ่งทำให้การเดินทางสะดวกสบายมากขึ้น ฉันไม่คิดอะไรมาก จัดการซื้อตั๋วแล้วขอติดสอยห้อยตามไปทั้งที่ยังไม่รู้รายละเอียดอะไร รู้แค่ว่าจะไปป่า ฮาลา-บาลา เท่านั้น
ตัวฉันเองได้เดินทางในประเทศไทย (รวมท่องเที่ยวและทำงาน) รวม 76 จังหวัดแล้ว ยังขาดก็เพียงแค่นราธิวาส ครั้งนี้จึงเป็นความพิเศษอย่างยิ่งที่ฉันจะเดินทางครบ 77 จังหวัด ส่วนคำถามที่คนทั่วไปมักจะถามเป็นอย่างแรกคือ “อันตรายไหม” ก็คงตอบจากความรู้สึกส่วนตัวว่า การเดินทางไปสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เหตุการณ์ความรุนแรงไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลาและไม่ได้เกิดในทุกพื้นที่ ดังนั้นหากชาวบ้านสามารถดำเนินชีวิตกันตามปกติ แล้วทำไมเราจะไปไม่ได้ สำหรับฉันความรู้สึกของการไปนราธิวาสก็เหมือนการไปปัตตานี และยะลา แต่ระดับความตื่นเต้นในสิ่งที่ตั้งตารอมานานนั้นต่างกันมาก
ป่าฮาลา-บาลาประกอบไปด้วยพื้นที่ป่าสองผืนคือป่าฮาลา (อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส) และป่าบาลา (อำเภอแว้ง และอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส) เราเข้าทางฝั่งบาลาโดยขออนุญาตล่วงหน้าไปจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า เส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่ชาวคณะเลือกไว้ให้ชาวกรุงอย่างเราไม่ต้องสมบุกสมบันมาก
ฉันได้ยินกิตติศัพท์ของป่าฮาลา-บาลามาได้สักพักแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเปรยความสวยงามว่า เป็นป่าแอมะซอนแห่งเอเชีย หรือความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ ตลอดจนสัตว์ป่าต่างๆ ที่ยังคงความ “ดิบ” เอาไว้ได้มาก และแน่นอนสายเดินป่าต้องเคยได้ยินถึงความหลากหลายของนกเงือกซึ่งมีกว่า 10 สายพันธุ์
ส่วนอีกเรื่องที่ร่ำลือกันหนาหูคงไม่พ้นเรื่องความชุกชุมของทากดูดเลือด ไม่ว่าสอบถามกับถามใครก็ได้คำตอบเหมือนกันว่า ทากมีทั้งปี จะมากหรือน้อยก็อีกเรื่องหนึ่ง ฉันก็ได้แต่ทำใจว่าอย่างไรก็คงหนีไม่พ้น
ก่อนจะไปถึง ชาวกรุงอย่างฉันได้แต่จินตนาการว่าการเข้าป่าครั้งนี้ต้องลุยระดับไหน จะต้องบุกป่าฝ่าดงมากเพียงไร ภาพที่ลอยมาในหัวเป็นฉากในนิยายเรื่อง “เพชรพระอุมา” ของพนมเทียนเลยทีเดียว ในส่วนของการเตรียมตัวจึงพยายามเตรียมของไปให้น้อยที่สุดในเป้ขนาด 30 ลิตร ถือว่าไม่เป็นภาระจนเกินไปหากต้องเดินป่าเข้าไปยังจุดกางเต็นท์พักแรม
เวลา 16:40 น. ฉันเดินทางมาถึงนราธิวาสเป็นครั้งแรก ฉันจึงเลือกพักในตัวเมืองก่อนหนึ่งคืน เพื่อสัมผัสบรรยากาศของเมืองนราฯ พอล่วงเข้าช่วงเย็นฉันแวะไปจิบกาแฟดริปและขนมอาเก๊าะ (ขนมพื้นเมืองทำจากแป้ง กะทิ ไข่เป็ด และน้ำตาล) ที่ร้าน De’ Lapae Art Space จากนั้นเที่ยวชมเรือกอและจากสะพานปรีดานราทัศน์ ไปเดินเล่นที่หาดนราทัศน์ กินอาหารพื้นเมือง แล้วจบที่ร้านน้ำชาเจ้าดังที่คนพื้นถิ่นพาฉันไปชิมแตออ (ชาดำไม่ใส่นม) และโรตีมะตะบะที่อร่อยเกินบรรยาย คืนแรกทุกคนรีบนอนแต่หัววันเพราะต้องเก็บแรงไว้ลุยในวันต่อไป
เช้าวันต่อมาจากเมืองนราฯ สู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา เรานัดหมายกันที่สะพานศรีสังวาลย์ อำเภอสุคีริน เพราะมีคณะมาสมทบจากอำเภอเมืองปัตตานี และที่ขาดไม่ได้คือ นูรฮีซาน บินมานุ หรือ “ซัม” ผู้นำทางของเราจากอำเภอแว้ง ระหว่างทาง เขาบอกว่า ถ้าโชคดีจะเห็นชาวบ้านออกมาร่อนทองที่แม่น้ำ ซัมเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม “ยังยิ้ม” ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของเยาวชนกลุ่มเล็กๆ ในพื้นที่อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ซัมจึงมีความคุ้นเคยกับพื้นที่เป็นอย่างดี เพราะได้นำเยาวชนหลายกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความหวงแหนในผืนป่า และการสร้างจิตสำนึกเรื่องธรรมชาติ
เราได้เห็นชาวบ้านประมาณสามถึงสี่คนออกมาร่อนทอง จากการสอบถามได้ความว่านี่เป็นวิถีชีวิตของพวกเขามานานแล้วและเขาก็จะนำทองที่ได้ไปขายได้เงินวันละ 300-400 บาท นับเป็นโชคของเราเพราะภาพแบบนี้คงหาดูได้ยากเต็มที
จากแม่น้ำที่ชาวบ้านร่อนทอง ซัมได้พาเราไปแวะอีกสองจุดคือ ถ้ำลำเลียงทองหรือเหมืองทองโต๊ะโม๊ะ ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยสงครามอินโดจีน ปัจจุบันยังคงเหลือไว้เพียงแต่ร่องรอยในอดีตให้เราจินตนาการถึงยุคเหมืองทองรุ่งเรือง
อีกหนึ่งจุดที่เราไปเยี่ยมชมคือหน่วยพิทักษ์ป่าภูเขาทอง ที่เราต้องเดินเท้าเข้าไปประมาณ 500 เมตรเพื่อชมต้นกะพงหรือสมพงยักษ์ สำหรับคนกรุงอย่างฉันก็เห็นป่ามาหลายที่ แต่ยอมรับเลยว่าตื่นตาตื่นใจมากกับความเขียวขจีและความอุดมสมบูรณ์ของป่าดงดิบแถบนี้ ที่สำคัญคือ ไม่มีใครเลยนอกจากพวกเรา เด็กๆ ในคณะดูตื่นเต้นกว่าใครเพื่อน ต่างลงเล่นในลำธารน้ำใส ส่วนผู้ใหญ่ก็จับจองทำเลนั่งพักผ่อนตามอัธยาศัยพร้อมทั้งกินข้าวห่อกันไป
ช่วงแดดร่มลมตกคณะเราเดินทางถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา จากลานจอดรถนึกว่าต้องมีการเดินเท้าไปยังจุดพักแรม สรุปว่าให้กางเต็นท์กันตรงลานสนามหญ้านั้นได้เลย ส่วนใครไม่มีเต็นท์ก็สามารถนอนในบ้านพักของทางการได้ น้ำไฟมีพร้อม สัญญาณโทรศัพท์เข้าถึงแบบแรงบ้างอ่อนบ้างให้พออุ่นใจว่าจะติดต่อกับคนทางบ้านได้
เมื่อจัดการข้าวของเสร็จแล้วฉันก็ไม่รีรอ ออกมานั่งปักหลักบริเวณสนามหญ้าเพราะจากจุดนี้จะมีนกเงือกหัวแรดเจ้าถิ่นบินมาอวดโฉมให้ดูเป็นประจำ และฉันก็ได้เห็นนกเงือกตัวแรกโดยที่ยังไม่ได้บุกป่าฝ่าดงเลยด้วยซ้ำไป จากนั้นก็ได้เห็นอีกคู่บินกลับรังอยู่ลิบๆ ซัมบอกว่าความจริงนี่ไม่ใช่ฤดูชมนกเงือกเพราะไม่ใช่ระยะเวลาที่ลูกไทรสุก เพราะฉะนั้นถ้ามาถึงวันแรกแล้วได้เห็นเลยก็ถือว่าโชคดีทีเดียว (สำหรับฉันถือว่าโชคดีเป็นสองเท่าเพราะรอดจากเหล่าทากทั้งหลายได้) แค่เสียดายที่ฟ้าไม่เปิด ไม่เช่นนั้นจะมีโอกาศได้เห็นส่วนหางของทางช้างเผือกเพราะเราอยู่ในป่าและไม่ถูกรบกวนโดยแสงจากเมือง
กำหนดการของเช้าวันต่อมาคือเราจะล้อหมุนกันตั้งแต่หกโมงเพื่อเข้าไปยังจุดที่เราจะเดินขึ้นไปชมทะเลหมอกสองแผ่นดินช่วงพระอาทิตย์ขึ้น จากนั้นจะเข้าไปยังจุดชมสัตว์และปิดท้ายด้วยการเดินเท้าเข้าไปน้ำตกสายรุ้ง ความที่เคยไปดูทะเลหมอกมาหลายที่ก็จะนึกถึงสภาพการเดินมืดๆชันๆ แถมไกลเป็นกิโลแม้ว ปรากฎว่าของจริงที่นี่คือทางเดินทำเป็นขั้นไว้ให้เดินง่าย ไม่ชัน ไม่ลื่นและขึ้นไปเพียงนิดเดียวก็ได้เห็นทะเลหมอกเป็นลักษณะสายหมอกบางๆคลอเคลียตามหุบเขาและยอดเขา
แม้ทะเลหมอกจะไม่แน่นอย่างที่คาดคิดก็ได้สัมผัสลมเย็นยามเช้าและอากาศบริสุทธิ์ คุ้มค่ากับที่ต้องตื่นตั้งแต่ตีห้า และถือว่าเป็นการขึ้นจุดชมวิวที่ไม่โหดเลย ป่าฮาลา-บาลาก็ใช่ว่าจะมีแต่ความเขียว ตลอดทางฉันยังได้เพลิดเพลินกับกล้วยไม้ดินสีสวยและดอกไม้ป่าริมทางขนาดกะจิดริดด้วย
ซัมพาเราเข้าไปไปลึกขึ้นอีกนิดเพื่อไปจุดชมสัตว์ จุดที่ว่านี้เป็นศาลามองไปเห็นบริเวณที่ป่าเปิดโล่ง หากเป็นช่วงลูกไทรสุกจะมีนักท่องเที่ยวมาตั้งกล้องเพื่อดูนกเงือก วันนั้นอากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝนจึงมีความเป็นไปได้น้อยมากที่นกเงือกจะออกมาปรากฏตัว ขณะที่เดินตามทางเข้าไปในป่าเราพบฝูงลิงปีนป่ายต้นไม้เล่นกันอย่างครึกโครม แต่ลิงที่นี่ไม่คุ้นกับคนเหมือนลิงที่เขาใหญ่ พอพวกเราเดินเข้าใกล้ก็ต่างพากันวิ่งหายขึ้นต้นไม้ไป หลังจากรอสักพักและไม่เห็นวี่แววของนกเงือก อีกทั้งไม่ได้ยินเสียงนก เราจึงพากันออกมาที่น้ำตกสายรุ้งเพื่อลงเล่นน้ำกัน
จริงแล้วน้ำตกสายรุ้งไม่ได้เปิดให้คนทั่วไปเช้าชมเพราะทางเดินไปค่อนข้างชันและลื่น จึงควรมีคนท้องที่พามาเท่านั้น หากพยายามจะหาทางเข้าเองจะหาไม่เจอเพราะไม่มีป้ายบอกไว้เลย และหากจะมาเส้นทางนี้ควรแต่งกายรัดกุมและรองเท้าสำหรับเดินป่า สำหรับฉันยังสวมถุงกันทากอีกด้วยเพราะตั้งแต่ที่จุดชมสัตว์มีคนเจอทั้งทากเกาะและดูดเลือดไปหลายรายอยู่จึงขอไม่เสี่ยงดีกว่า หลังจากเด็กๆและพวกผู้ชายได้เล่นน้ำกันสมใจแล้วเราก็พากันกลับออกมา และทันทีที่ถึงบริเวณที่ทำการก็ได้เห็นนกเงือกบินออกไปอีกตัว
ระหว่างรอหลายคนเก็บข้าวของและอาบน้ำอาบท่า ฉันยืนอยู่กับชาวคณะที่กำลังดริปกาแฟอยู่ จึงเอ่ยปากอย่างทีเล่นทีจริงว่า อยากให้มีนกเงือกสักตัวบินมาส่งจัง หลังจากนั้นไม่นานก็มีนกเงือกหนึ่งตัวบินผ่านแล้วไปเกาะที่ต้นไม้ไกลลิบตา เราคว้ากล้องส่องทางไกลกันแทบไม่ทัน แล้วขณะที่กำลังหาเจ้าตัวนั้น ก็มีอีกสองตัวออกบินแล้วหายวับไปกับตา ถ้าให้นับก็เท่ากับว่ารอบนี้ฉันได้เห็นนกเงือกถึงเจ็ดตัว แม้ไม่มีโอกาสได้ถ่ายรูปนกใกล้ๆ แต่ก็เป็นตัวบ่งชี้ว่าป่าฮาลา-บาลานั้นเป็นบ้านที่อุดมสมบูรณ์ของนกเงือกอย่างที่ได้ยินได้อ่านมาจริงๆ
ในทุกครั้งที่เข้าป่าจะต้องรู้สึกว่าเหนื่อยและลำบาก แต่ครั้งนี้กลายเป็นว่ายังไม่ทันเหนื่อยเลย และได้สัมผัสบรรยากาศป่าดงพงไพรเต็มที่ แถมมีโบนัสเป็นนกเงือกอีกด้วย เอาเป็นว่าคงต้องกลับมาแก้มือด้วยการเดินป่าที่ลุยกว่านี้ และถ้าเป็นไปได้ควรจะเป็นช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ลูกไทรสุก จะได้เห็นนกเงือกโชว์ตัวกันให้สมใจ
เรื่อง สุวิมล สงวนสัตย์
ภาพ Sum Nara Nara
คำแนะนำ
- เนื่องจากนราธิวาสไม่ได้เป็นจังหวัดท่องเที่ยวหลัก จึงไม่มีบริการรถเช่าหรือรถตู้พร้อมคนขับ หากต้องการใช้บริการดังกล่าวต้องหาจากพื้นที่อื่นเท่านั้น
- ก่อนเดินทางควรตรวจสอบสภาพเส้นทางในป่าจากเจ้าหน้าที่หรือคนในพื้นที่ด้วยเพราะบางช่วงที่ฝนตกชุกอาจมีดินถล่มโคลนถล่มทำให้เส้นทางขาด กรณีของกลุ่มเราเกือบต้องใช้แผนสองเช่นกัน
- ป่าดิบชื้นทางใต้ขึ้นชื่อเรื่องทาก เพราะฉะนั้นหาอุปกรณ์ป้องกันไปให้พร้อม ไม่ว่าจะเป็นสเปรย์ที่มี DEET 95% หรือถุงกันทาก แต่ถ้าเป็นหน้าฝนก็จะมีประเภทที่อยู่บนต้นไม้ด้วยจึงควรแต่งกายรัดกุม
- สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โทร 0-2561-0777 ต่อ 1615
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ: นกชนหิน : เหยื่อของเงินตรา อำนาจ และความหรูหรา