วัดปรางค์หลวง ชมพระปรางค์เอนแห่งเมืองนนท์

วัดปรางค์หลวง ชมพระปรางค์เอนแห่งเมืองนนท์

เที่ยว วัดปรางค์หลวง ชมพระปรางค์เอนแห่งเมืองนนท์

จังหวัดนนทบุรีนั้นเป็นแหล่งชุมชนชาวสวนที่เชื่อกันว่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ด้วยความที่เป็นหัวเมืองที่อยู่ใกล้กรุงศรีอยุธยาที่สุด ทำให้การอพยพย้ายถิ่นฐานมาเป็นเรื่องที่ง่ายและสะดวก เมื่อมีชุมชนก็ต้องมีวัด เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธด้วย เมืองนนท์เองก็จัดได้ว่ามีวัดมากที่สุดอีกจังหวัดหนึ่ง จากข้อมูลทะเบียนวัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติพบว่ามีถึง 195 วัดทีเดียว และหนึ่งในนั้นคือ วัดปรางค์หลวง

นนทบุรีถือเป็นเมืองที่มีบทบาทต่อกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีเส้นทางออกสู่ทะเล นอกจากนี้ก็ยังมีเมืองธนบุรี เมืองนครชัยศรี เมืองสาครบุรี เมืองสมุทรสงคราม เมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรี และเมืองสมุทรปราการ โดยเรียกกลุ่มหัวเมืองเหล่านี้ว่า “ปากใต้” ที่ไม่ใช่ “ปักษ์ใต้” นั่นคือเมืองที่อยู่ทางตอนใต้ของกรุงศรีอยุธยา และถือเป็นกลุ่มหัวเมืองที่มีหน้าที่ผลิตและจัดหาอาหารทะเลส่งเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาอีกด้วย

วัดปรางค์หลวง, สถานที่ท่องเที่ยว, วัดไทย, วัด, นนทบุรี

วัดปรางค์หลวง วัดเก่าแก่ที่สุดในเขตปริมณฑล

วัดปรางค์หลวงตั้งอยู่ในอำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี นับเป็นวัดเก่าแก่ที่สุดในเขตปริมณฑล เชื่อกันว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น (พ.ศ. 1893 –  1991) ปัจจุบันกรมศิลปากรได้เข้ามาบูรณปฏิสังขรณ์จนงดงาม เดิมทีวัดแห่งนี้มีชื่อว่า “วัดหลวง” ต่อมาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 10  ได้ประทานชื่อใหม่เป็น “วัดปรางค์หลวง”

โบราณสถานสำคัญที่ควรมาชมคือ “ปรางค์ประธาน” ผู้ที่ชื่นชอบงานศิลปะแบบอยุธยาจึงไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง ในส่วนของข้อมูลนั้นมีแหล่งที่มาหลากหลาย ทั้งจากการบอกเล่าสืบกันมาจากชุมชนว่าวัดนี้สร้างในปี พ.ศ. 1890 แต่จากข้อมูลในหนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2 ระบุว่าสร้างเมื่อปี พ.ศ. 1904 ซึ่งโดยรวมแล้วก็พอจะบ่งชี้ได้ว่าวัดปรางค์หลวงสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น

วัดปรางค์หลวง, สถานที่ท่องเที่ยว, วัดไทย, วัด, นนทบุรี

พระปรางค์เอนแห่งเมืองนนท์

เพียงแค่ได้เห็นปรางค์ประธาน (เจดีย์ทรงปรางค์) ครั้งแรก ผมก็รับรู้ได้เลยว่า ถ้าพระปรางค์ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์เช่นอดีตคงมีความสวยงามมาก สิ่งที่บ่งบอกว่าปรางค์ประธานองค์นี้น่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้นก็คือรูปแบบการก่อสร้างซึ่งเป็นศิลปะขอม อาณาจักรขอมได้แผ่ขยายอิทธพลเข้ามาในแผ่นดินสยามโดยมีลพบุรีเป็นจุดศูนย์กลางสำคัญ ต่อมาในสมัยสุโขทัยขอมยังคงเรืองอำนาจอยู่ การสร้างบ้านเมืองจึงมีผังเป็นสี่เหลี่ยมมุมฉาก และมีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ในช่วงเวลาคาบเกี่ยวจากสมัยสุโขทัยมาสมัยอยุธยาทำให้การก่อสร้างบ้านเมืองหรือวัดยังติดรูปแบบของทางขอม พูดง่ายๆ ว่ายังไม่มีสไตล์ของตัวเองที่ชัดเจน อย่างปรางค์ประธานองค์นี้คือเป็นแบบขอมโบราณที่เคยมีอิทธิพลต่อลพบุรี ไม่ใช่แบบเขมรที่เป็นเขมร ปัจจุบันยอดปรางค์มี 6 ชั้น ดูรวมๆ แล้วคล้ายปราสาทขอม พระปรางค์ที่มีรูปแบบคล้ายกันก็เช่น วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วัดปรางค์หลวง, สถานที่ท่องเที่ยว, วัดไทย, วัด, นนทบุรี

องค์พระปรางค์มีซุ้มจระนำทั้งสี่ด้านปิดทึบ เป็นซุ้มที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางประทับยืน ปางอุ้มบาตร ปางประทานอภัยด้วยพระหัตถ์ซ้าย ปางถวายเนตร  สังเกตที่พระพักตร์มีรูปทรงออกแป้นๆ เกือบสี่เหลี่ยม ซึ่งเป็นอีกจุดหนึ่งที่คล้ายกับพระพุทธรูปศิลปะขอม ศักดิ์ชัย สายสิงห์ (2556, หน้า  288 – 289) ได้กล่าวถึงพระพุทธรูปปูนปั้นยืนนี้ว่า ปางดังกล่าวไม่ค่อยนิยมนำมาประดับปรางค์สมัยอยุธยามาก่อน แต่กลับพบที่ทางเหนือคือสุโขทัย – ล้านนา เช่น พระพุทธรูปดุนแผ่นทองจังโกบนองค์ระฆังของพระธาตุหริภุญชัย ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 20

นี่คือข้อสันนิษฐานจากรูปแบบสถาปัตยกรรม แต่ยังมีข้อมูลจากหลายแหล่งที่มีข้อมูลไม่ตรงกันนักว่าถ้าดูองค์พระปรางค์แยกส่วนก็จะบอกได้ว่าแต่ละส่วนควรอยู่ในยุคสมัยใด แต่ถ้าเอาทั้งหมดมารวมกันบ้างก็ว่าวัดปรางค์หลวงนี้น่าจะอยู่ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 21 สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ด้วยเหตุผลที่ว่าพระองค์ทรงเคยเสด็จไปประทับที่เมืองพิษณุโลกในปี พ.ศ. 2006 จึงได้รับอิทธิพลจากศิลปะทางเหนือพร้อมทั้งช่างกลับมาก็เป็นได้

ปัจจุบันพระปรางค์องค์นี้มีลักษณะเอนอันเนื่องมาจากดินทรุด ซึ่งผมว่าทำให้ดูสะดุดตา และพลอยทำให้นึกไปถึงหอเอนแห่งเมืองปิซาที่มีอายุไล่เลี่ยกัน

พระอุโบสถ

พระอุโบสถเก่าที่สร้างมาคู่กับองค์พระปรางค์ โดยสร้างตามคติความเชื่อและตามระเบียบของวัดในสมัยอยุธยาที่มีปรางค์ประธานเป็นที่ตั้งหลักของวัด มีอุโบสถอยู่ด้านหน้าหรือทางทิศเหนือนั่นเอง ด้วยพระอุโบสถหันหน้าไปทางทิศเหนือ แกนทิศหลักของวัดจึงเป็นเหนือ – ใต้ ซึ่งต่างจากวัดทั่วไปที่เจดีย์ประธานและวิหารอุโบสถจะเรียงตามแนวทิศมงคลคือ ตะวันตก – ตะวันออก ภายในพระอุโบสถเก่านั้นประดิษฐาน “หลวงพ่ออู่ทอง” พระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองปางมารวิชัย หน้าตัก 9 คืบ ปัจจุบัน องค์พระประธานรอการปิดทองอีกครั้งเนื่องจากได้รับความเสียหายในช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่ทำให้องค์พระระเบิด จึงต้องมีการซ่อมแซม

วัดปรางค์หลวง, สถานที่ท่องเที่ยว, วัดไทย, วัด, นนทบุรี

ใบเสมาที่หน้าอุโบสถเป็นหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่มีความเก่าแก่ และทำให้เชื่อได้ว่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น เพราะใบเสมาแบบนี้มักเป็นที่นิยมและมีให้เห็นที่พิษณุโลก สุโขทัย เป็นใบเสมาที่อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 – 21   สลักจากหินชนวนสีเทา เดิมอยู่ครบแต่เกิดชำรุดเสียหายจากการเข้าปรับปรุงพื้นที่ ตอนนี้เหลืออยู่หนึ่งอันที่สมบูรณ์ที่สุด ส่วนรอบอาคารพระอุโบสถเป็นกำแพงเก่าที่ดูจากหลักฐานแล้วกำแพงเดิมน่าจะสูงใหญ่มาก เพราะดูจากความหนาของกำแพง นี่คือเทคนิคการก่อสร้างอย่างหนึ่งที่ได้รับอิทธพลมาจากทางโลกตะวันตก อย่างเช่น ตึกพระเจ้าเหาที่อยู่ในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี วัดพุทไธศวรรย์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็มีกำแพงหนาและสูงเช่นกัน

นี่เป็นเพียงข้อมูลบางส่วนที่พอสืบค้นได้ จะตรงและจริงแค่ไหนนั้นตอบยาก เพราะแต่ละข้อมูลก็มีเหตุผลอ้างอิงอธิบายรับรองไว้ สำหรับผมขอแค่เพียงมีเวลาเดินชมแล้วนำข้อมูลมาประกอบการชมอย่างเข้าใจก็พอใจแล้ว

วัดปรางค์หลวง, สถานที่ท่องเที่ยว, วัดไทย, วัด, นนทบุรี

ช่วงนี้การเดินทางท่องเที่ยวไปยังที่ต่างๆ อาจไม่สะดวกนัก โดยเฉพาะต่างประเทศ ยิ่งเป็นประเทศอิตาลีด้วยแล้วน่าจะยังอีกนาน ดังนั้นหากคุณผู้อ่านท่านใดมีแผนจะเดินทางไปชมหอเอนแห่งเมืองปิซา ประเทศอิตาลีแล้วละก็ ผมว่าลองแวะไปชมพระปรางค์เอนแห่งเมืองนนท์ก่อนเป็นไง พระปรางค์องค์นี้ใช้เวลานานกว่าห้าร้อยปีถึงจะเอนนะครับ ส่วนหอเอนแห่งเมืองปิซานั้นสร้างเสร็จปุ๊บก็เอนเลย แสดงให้เห็นถึงความสามารถของช่างไทยว่าเก่งไม่แพ้ใครเลยละ

เรื่อง: ไตรรัตน์ ทรงเผ่า
ภาพถ่าย: เอกรัตน์ ปัญญะธารา


ข้อมูลอ้างอิง

อยุธยาในย่านกรุงเทพฯ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประภัสสร์ ชูวิเชียร

ยอดปรางค์ 6 ชั้นตามความเชื่อทางพระพุทธศาสนาที่ว่าสวรรค์มี 6 ชั้น


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เทคนิคพาลูกเที่ยวในช่วงวันหยุด

Recommend