พระธาตุพนม สัญลักษณ์แห่งศรัทธาแห่งจังหวัดนครพนม

พระธาตุพนม สัญลักษณ์แห่งศรัทธาแห่งจังหวัดนครพนม

พระธาตุพนม
กว่า 2,500 ปีแห่งมหาศรัทธาคนสองแผ่นดิน

-1-

เริ่มต้นเดินทางสู่ พระธาตุพนม – ท่ามกลางความมืดมิด…ดื่นดึก จากจุดเริ่มต้นที่กรุงเทพฯ เมื่อตอนเย็นย่ำ ผ่านถนนมิตรภาพ หนทางอันเปลี่ยวเหงา ช่วงระหว่างขอนแก่น-มุ่งหน้า สู่ร้อยเอ็ด-กาฬสินธุ์ -นอกจากความมืดทมึนแล้ว สองข้างทางที่มีแต่ทุ่งนา และที่ราบสูงรายล้อมโอบกอด มองเห็นแบบสลัวลาง ด้วยแสงเหลืองรำไรจากพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว ที่ค้างฟ้าอยู่ทางด้านซ้ายมือ

หน้าปัดนาฬิกา ที่พร่างพรายด้วยลวดลายดิจิทัล บ่งบอกเวลา 23.00 นาฬิกา เมื่อเราเข้าใกล้จังหวัดมุกดาหารรถของเรายังทะยานต่อไปเรื่อยๆ มุ่งหน้าสู่ จุดหมายปลายทางที่หวังและตั้งใจ นั่นคือคืออำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ใกล้เข้าไป… ใกล้เข้าไปทุกนาที ที่อยากไปให้ถึงแห่งความตั้งใจและศรัทธา

ไม่นานนัก… สิ่งที่พวกเรารอคอยก็มาบรรจบพบกัน ด้านซ้ายมือไกลลิบ… สุดถนน สุดสายตา บางสิ่งตั้งตระหง่าน สูงเสียดฟ้า ขาวโพลนเด่นเป็นสง่าน่าเลื่อมใสศรัทธายิ่งเข้าไปใกล้ สีทองอร่ามเรืองรองของลวดลาย ยิ่งทอแสงตระการตา… งามจับหัวใจ

เรามาถึงแล้ว ณ องค์พระธาตุพนม ปูชนียสถานที่สำคัญที่สุด แห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทย และเป็นพระธาตุแห่งมหาศรัทธาของพี่น้องชาว ลาว ที่ศักดิ์สิทธิ์สมคำร่ำลือมานานกว่าสองพันปี

พระธาตุพนม, ที่เที่ยวนครพนม, โบราณสถาน, วัด, วัดธาตุพนม, นครพนม

-2-

พระธาตุพนมถูกสร้างขึ้น และประดิษฐาน บนผืนแผ่นดินไทย มาเป็นเวลานานกว่า 2,500 ปี สร้างอยู่บนเนินที่เรียกว่า”ภูกำพร้า” ซึ่งปัจจุบัน คือบริเวณวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองนครพนม 52 กิโลเมตร มีความเชื่อกันมาว่า พระธาตุพนมถูกสร้างขึ้น ตั้งแต่สมัยอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ เมื่อประมาณ พ.ศ. 8

โดยมีท้าวพญาทั้ง 5 เป็นประธานในการก่อสร้าง ท้าวพญาทั้ง 5 นี้ เป็นเจ้าผู้ครองนครในแคว้นต่าง ๆ คือ

1. พญาจุลณีพรหมฑัต – ครองแคว้นจุลณี เป็นผู้ก่อด้านตะวันออก
2. พญาอินทปัตนคร – ครองเมืองอินทปัตนคร หรือแคว้นกัมพูชาโบราณ เป็นผู้ก่อด้านใต้
3. พญาคำแดง – ครองเมืองหนองหานน้อย ซึ่งปัจจุบันคือ อำเภอหนองหาน อุดรธานี ก่อด้านตะวันตก
4. พญานันทเสน  -ครองเมืองศรีโคตรบูร  เป็นผู้ก่อด้านเหนือ
5.พญาสุวรรณพิงคาร-ครองเมืองหนองหานหลวง คือ จังหวัดสกลนครในปัจจุบัน เป็นผู้ก่อรวมยอดเข้าเป็นรูปฝาละมี

ลักษณะพระธาตุองค์เดิม ใช้ดินดิบก่อขึ้นเป็นรูปเตาลักษณะสี่เหลี่ยม แล้วเผาให้สุกทีหลัง มีกว้างด้านละ 2 วา สูง 2 วา ข้างในเป็นโพรงมีประตูเปิด-ปิดทั้ง 4 ด้าน พระธาตุพนม ถูกสร้างขึ้น เพื่อบรรจุพระอุงรังคธาตุ คือกระดูกส่วนหน้าอกขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระมหากัสสปเถระอันเชิญมาจากประเทศอินเดีย เมื่อแรกบรรจุเสร็จ ยังไม่ปิดประตูองค์พระธาตุให้ปิดสนิท

เมื่อ พ.ศ.500 พระมหากัสสปะ ก็ได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุ เข้าบรรจุภายในที่อันสมควร แล้วให้ปิดประตูอุโมงค์ไว้ทั้ง 4 ด้าน โดยสร้างประตูด้วยไม้ประดู่ ใส่ดาลปิดไว้ทั้ง 4 ด้าน

แล้วให้คนไปนำเอาเสาศิลาจากเมืองกุสินารา 1 ต้น มาฝังไว้ที่มุมเหนือตะวันออก แปลงรูปอัศมุขี (ยักษิณีหน้าเป็นม้า) ไว้โคนต้นเพื่อเป็นหลักชัยมงคลแก่บ้านเมืองในชมพูทวีป

นำเอาเสาศิลาจากเมืองพาราณสี 1 ต้น ฝังไว้มุมใต้ตะวันออก แปลงรูปอัศมุขีไว้โคนต้น เพื่อหมายมงคลแก่โลก

นำเอาเสาศิลาจากเมืองตักศิลา 1 ต้น ฝังไว้มุมเหนือตะวันตก พญาสุวรรณพิงคาระให้สร้างรูปม้าอาชาไนยไว้ตัวหนึ่ง หันหน้าไปทางทิศเหนือ เพื่อแสดงว่าพระบรมธาตุเสด็จออกมาทางทิศทางนั้น และพระพุทธศาสนาจักเจริญรุ่งเรืองจากเหนือเจือมาใต้

พระมหากัสสปะให้สร้างม้าพลาหกไว้ตัวหนึ่ง คู่กัน หันหน้าไปทางทิศเหนือ เพื่อเป็นปริศนาว่า พญาศรีโคตบูรจักได้สถาปนาพระอุรังคธาตุไว้ตราบเท่า 5,000 พระวัสสา เสาอินทขีล ศิลาทั้ง 4 ต้น ยังปรากฏอยู่ 2 ต้น ทางทิศตะวันออก ส่วนอีก 2 ต้น ได้ก่อหอระฆังหุ้มไว้ ส่วนม้าศิลาทั้ง 2 ตัว ก็ยังปรากฏอยู่ถึงปัจจุบัน

ต่อมาได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติม จนพระธาตุพนม มีลักษณะเป็นพระเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงบัวเหลี่ยม หรือทรงแจกัน ก่อด้วยอิฐมีลวดลายจำหลักลงไปในแผ่นอิฐ มีซุ้มคั่นด้านละซุ้ม ซ้อนกัน 3 ชั้น ลดหลั่นกันลงมาอย่างวิจิตร พระธาตุพนมได้รับการบูรณะเรื่อยมาตามกาลเวลา

-3-

วันที่ 11 สิงหาคมพ.ศ. 2518 สิ่งที่ไม่มีใครคาดฝันก็เกิดขึ้น เป็นข่าวใหญ่ที่สั่นคลอนสะเทือนความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชาวไทยไปทั่วทั้งประเทศ เมื่อองค์พระธาตุพนมได้หักโค่นล้มลง… เนื่องจากได้เกิดฝนตกติดต่อกันหลายวัน ประกอบกับมีลมพายุแรงพัดกรรโชกแรง จึงเป็นผลให้องค์พระธาตุพนมที่เก่าแก่ และผุพังอยู่ก่อนแล้ว ได้พังทลายลงมาทั้งองค์เมื่อเวลา 17.00 น. องค์พระธาตุอันสูงใหญ่ล้มทับถาวรวัตถุที่ตั้งอยู่ทั่วบริเวณนั้นพังยับเยิน เช่นกำแพงแก้วชั้นที่ 1 – 2  หอพระเหนือใต้ หอบูชาข้าวพระ ศาลาการเปรียญ และพระวิหารหอพระแก้ว …ฯลฯ

สันนิษฐานกันว่าการบูรณะหลายครั้ง ที่ผ่านมา ตั้งแต่อดีตกาล… มีแต่การต่อเติมยอดขึ้นไป แต่ไม่ได้สร้างฐานดั้งเดิมใหม่ เมื่อฝนตกหนักน้ำฝนปริมาณมหาศาลซึมเข้าไป ฐานเก่าจึงไม่สามารถทนทานน้ำหนักส่วนบนได้ จึงพังทลายลงมาในที่สุด

การพังทลายลงมานั้น อยู่ในสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช  เป็นนายกรัฐมนตรี และท่านได้สั่งการให้มีการบูรณะขึ้นใหม่ทันที การบูรณะสร้างใหม่ครั้งนั้น เสร็จสิ้นสมบูรณ์มีการสมโภชใน พ.ศ. 2522 สมัยที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

เป็นการสร้างขึ้นใหม่ทั้งองค์ โดยรักษาโครงสร้างขนาดรูปแบบ และลวดลายจำหลักต่าง ๆ ให้เหมือนองค์เดิม สร้างในที่เดิม สูงเท่าองค์เดิม คือ 57 เมตร พระธาตุพนมองค์ใหม่ สร้างครอบซากฐานพระธาตุองค์เดิม ซึ่งยังเหลืออยู่ประมาณ 6 เมตรเศษ

สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ข้างในกลวงเป็นโพรงมีคานยึด 5 แห่ง มีกรุสำหรับบรรจุพระอุรังคธาตุ 1 กรุ และมีกรุสำหรับบรรจุสิ่งของที่พบเมื่อพระธาตุพังทลายลงมา 8 กรุ

พระธาตุพนม, ที่เที่ยวนครพนม, โบราณสถาน, วัด, วัดธาตุพนม, นครพนม

เรื่องน่าอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นก็คือ พระอุรังคธาตุ- ไม่ได้ถูกหาพบในวันที่พระธาตุพังทลายลงมา ทุกคนที่ช่วยกันค้นหา ไม่มีใครพบ ราวกับพระอุรังธาตุนั้นหายตัวได้

แต่มาพบเอาหลังจากวันที่พังทลายลงมาแล้วถึง 62 วัน คือ มาพบเอาเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2518  จึงพบพระอุรังคธาตุบรรจุไว้ในผอบแก้ว มีฐานคล้ายรูปหัวใจ สีขาวแวววาว คล้ายแก้วผลึก มีน้ำมันจันทร์หล่อเลี้ยงและมีพระอุรังคธาตุบรรจุอยู่ 8 องค์ และทั้งผอบ ทั้งพระอุรังคธาตุ อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่ได้แตกหักเสียหายแต่อย่างใด

วันที่ 21 – 22 มีนาคม 2522  มีพระราชพิธีบรรจุพระอุรังคธาตุขึ้นใหม่ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่9และสมเด็จพระนางเจ้า สิริกิตติ์ฯ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงบรรจุพระอุรังคธาตุด้วยพระองค์เอง

นอกจากนั้นยังมีสิ่งของล้ำค่า อีกหลายหมื่นชิ้นที่ชาวไทยถวายบรรจุไว้เป็นพุทธบูชา โดยเฉพาะยอดฉัตรทองคำมีน้ำหนักถึง 110 กิโลกรัม

องค์พระธาตุพนมนอกจากจะเป็นศูนย์รวมจิตใจของชนชาวพุทธแล้ว รูปแบบการก่อสร้างขององค์พระธาตุพนมยังเป็นต้นแบบให้กับการก่อสร้างพุทธเจดีย์ในภาคอีสานและในสปป. ลาว อีกมากมายหลายแห่ง

พระธาตุพนม, ที่เที่ยวนครพนม, โบราณสถาน, วัด, วัดธาตุพนม, นครพนม

กล่าวได้ว่า องค์พระธาตุพนมเป็นสัญญลักษณ์ของอาณาจักรศรีโคตรบูร อันรุ่งเรืองแห่งอดีตกาล ก่อนจะมาเป็นจังหวัดนครพนม

ประวัติการบูรณะ องค์พระธาตุพนมมีมาอย่างต่อเนื่องก่อนหน้า และหลังจากการพังทลายคราวนั้นอีกหลายครั้ง คือ

ครั้งที่หนึ่ง พ.ศ.500 – พญาสุมิตรธรรมวงศา แห่งเมืองมรุกนคร และพระอรหันต์ 5 องค์ เป็นพระประธานในการบูรณะ เติมยอดพระธาตุองค์เดิมขึ้นไปอีกประมาณ 24 เมตร แล้วอัญเชิญพระอุรังคธาตุจากที่บรรจุไว้ตั้งแต่สมัยพระมหากัสสปะเถระ นำไปประดิษฐานใหม่ที่ใจกลางพระธาตุชั้นที่ 2 ซึ่งครั้งนี้ได้มีการปิดประตูองค์พระธาตุอย่างมิดชิดถาวร

ครั้งที่สอง พ.ศ.2157 – พระยานครหลวงพิชิตราชธานีศรีโคตรบูร แห่งเมืองศรีโคตรบูร เป็นประธาน ได้สร้างกำแพงแก้วรอบองค์พระธาตุพนม พร้อมทั้งซุ้มประตูและเจดีย์หอข้าว

ครั้งที่สาม พ.ศ.2236 – 2245  มีพระครูหลวงโพนสะเม็ก แห่งเมืองนครเวียงจันทน์ เป็นประธาน ได้ใช้อิฐต่อเติมขึ้นไปจนองค์พระธาตุสูง 47 เมตร ปรับปรุงที่ประดิษฐานพระอุรังคธาตุใหม่ บรรจุพระพุทธรูปเงิน ทอง แก้วมรกต และอัญมณีต่าง ๆ ไว้ และจารึกชื่อไว้ว่า “ธาตุประนม”

ครั้งที่สี่ ใน พ.ศ.2350 – 2356  -มีเจ้าอนุวงศ์ แห่งเวียงจันทน์เป็นประธาน ได้ทำฉัตรใหม่ ด้วยทองคำประดับด้วยเพชรพลอยสีต่าง ๆ ได้ทำพิธียกฉัตรขึ้นสู่ยอดพระเจดีย์ เมื่อ พ.ศ.2356  แต่ฉัตรนี้ได้นำลงมาเก็บรักษาไว้ที่วัดพระธาตุพนม เมื่อ พ.ศ.2497

ครั้งที่ห้า  พ.ศ.2444 – มีพระครูวิโรจนรัตโนบล  วัดทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธาน ได้ซ่อมแซมโบกปูนองค์พระธาตุใหม่ ลงรัก ปิดทอง ซ่อมแซมกำแพงชั้นใน ชั้นนอก

ครั้งที่หก พ.ศ.2483 – 2484 ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมี หลวงวิจิตรวาทการเป็นหัวหน้า ได้สร้างเสริมครอบพระธาตุองค์เดิมด้วยคอนกรีต เสริมเหล็กตั้งแต่ชั้นที่ 3 ขึ้นไป และต่อยอดให้สูงขึ้นไปอีก 10 เมตร รวมเป็น 57 เมตร มีฐานกว้างด้านละ 16 เมตร สูงจากพื้นดินถึงบัวล่าง 8 เมตร จำหลักลายวิจิตรงดงามทั้ง 4 ด้าน เป็นรูปของกษัตริย์โบราณเกี่ยวพันด้วยรูปสัตว์ และกนกลายก้านขดลายในผักกูดตรงกลาง

-4-

พระธาตุพนม ในวันนี้…ยังเปี่ยมล้นไปด้วยศรัทธา จากพุทธศาสนิกชน อยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย และยิ่งนับวันยิ่งเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้นๆ

ดินแดนแห่งนครพนม…ขึ้นชื่อลือนามมาแต่อดีตแล้วว่า เป็นดินแดน แห่งพระธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุมากมายเปี่ยมล้น ไปเกือบจะถ้วนทั่วในทุกอำเภอ มีพระธาตุถูกสร้าง และประดิษฐานครบทั้ง 12 ปีเกิดและ ครบทั้ง 7 วัน

นครพนม… อีกนัยหนึ่งถือได้ว่า คือดินแดนแห่งความศักดิ์สิทธิ์ ที่ยืนยง มาเป็นเวลานานหลายพันปี และสิ่งต่างๆทั้งหมดทั้งมวลเหล่านั้น จะยืนยาวต่อไป ตราบอีกนานเท่านาน

-5-

โบราณวัตถุ  ที่สำคัญและน่าสนใจในวัดพระธาตุพนม

กลองมโหระทึก  ตั้งอยู่ภายในศูนย์วัฒนธรรมวัดพระธาตุพนม มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 51 เซนติเมตร ลวดลายของกลองมโหระทึกใบนี้ เหมือนที่พบในประเทศเวียดนาม อายุประมาณ พุทธศตวรรษที่ 1 – 5  มีการค้นพบอีก 1 ใบ ในท้องที่อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม  ขณะนี้เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติขอนแก่น มีอายุ และขนาดไล่เลี่ยกับใบที่พบที่ธาตุพนม

พระธาตุพนม, ที่เที่ยวนครพนม, โบราณสถาน, วัด, วัดธาตุพนม, นครพนม

ใบเสมาหินทราย ชุมชนชาวพุทธที่ใช้ใบเสมา เป็นกลุ่มชนที่ตั้งถิ่นฐานบริเวณสองฟากลำน้ำก่ำ อยู่ในพื้นที่เขตอำเภอนาแก อำเภอธาตุพนม ลักษณะคล้ายใบหอกป้าน มีลายสลักรูปสันนูน แหล่งโบราณคดี ที่พบที่บ้านทู้ บ้านโปร่ง บ้านหลักศิลา เป็นต้น

เสาอินทขีล  ทำจากศิลาทราย ในตำนานกล่าวไว้ว่า ท้าวพญาทั้ง 5 ที่ริเริ่มสร้างองค์พระธาตุพนมนั้น ได้ให้คนไปนำมาจากที่ต่าง ๆ รวมกัน 4 ต้น แล้วฝังไว้ในบริเวณรอบ ๆ พระธาตุทั้ง 4 มุม ดังนี้ ต้นที่ 1  นำมาจากเมืองกุสินารา  ฝังไว้ที่มุมตะวันออกเฉียงเหนือ และสร้างรูปอัจจมุขี ไว้ที่โคนเสา 1 ตัว  ต้นที่ 2  นำมาจากเมืองพาราณสี ฝังไว้ที่มุมตะวันออกเฉียงใต้  และสร้างรูปอัจจมุขี ไว้ที่โคนเสา 1 ตัว ต้นที่ 3  นำมาจากเมืองลังกา  ฝังไว้ที่มุมตะวันตกเฉียงใต้  และต้นที่ 4  นำมาจากเมืองตักศิลา ฝังไว้ที่มุมตะวันตกเฉียงเหนือ

ยังทีโบราณวัตถุที่สำคัญอีก คือประติมากรรมรูปม้า  ตามตำนานกล่าวาถึงม้าพลาหก  และม้าอาชาไนย ที่สลักจากศิลา พบที่วัดพระธาตุพนม เวลานี้อยู่ข้างบันไดทางขึ้นวิหารหอพระแก้ว ม้าดังกล่าวมีรูปแบบศิลปกรรมเฉพาะถิ่นต่างไปจากชุมชนโบราณแห่งอื่น เรียกว่าแบบนี้มีเฉพาะสองตัวนี้เท่านั้น

ประติมากรรมรูปสิงห์  หรืออัจจมุขี พบที่วัดธาตุพนม ที่โคนเสาอินทขีล ต้นที่ 1 และ 2 เป็นศิลปกรรมเฉพาะถิ่น ไม่เคยพบในชุมชนโบราณแห่งอื่น ๆ

นอกจากนี้ยังพบเหรียญเงินฟูนัน  เป็นเหรียญโลหะเล็ก ๆ พบบริเวณกำแพงแก้ว และเหรียญฟูนันแบบเดียวกันนี้ ได้พบที่เวียดนาม ชายฝั่งทะเล อายุราวพุทธศตวรรษที่ 13 – 18 ช่วงสมัยลพบุรี และยังพบพระพิมพ์ดินเผา อีกเป็นจำนวนมาก

-6-

พระธาตุพนม เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีวอก และเป็นพระธาตุประจำวันเกิดของคนเกิดวันอาทิตย์ มีพระคาถาบูชาชื่อ คาถาพระนารายณ์แปลงรูป ใช้ทางเมตตามหานิยม ให้สวดภาวนาวันละ 6 จบ คือ “อะ วิต สุ นุต สา นุส ติ”

ใครได้ไปนมัสการซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้เกิดปีวอก หรือเกิดวันอาทิตย์ก็ตาม เชื่อว่าจะได้รับอานิสงฆ์บุญ บารมีและผู้คนให้ความเคารพนับถือ  สิ่งของบูชาพระธาตุ ประกอบด้วย ข้าวตอก น้ำอบ ข้าวเหนียวปิ้ง ดอกไม้สีแดง ธูป 6 ดอก เทียน 2 เล่ม

เรื่อง: เจนจบ ยิ่งสุมล
ภาพถ่าย: อิสรชน พงไพร

ข้อมูลเพิ่มเติม

สำนักงานการกีฬาและท่องเที่ยว จังหวัดนครพนม – https://nakhonphanom.mots.go.th/

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครพนม – https://www.facebook.com/TATNakhonphanomFanpage/


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : สระแก้ว มหัศจรรย์สุดแดนดินถิ่นบูรพา

Recommend