ขนมปังขิง : ลวดลายที่แฝงอยู่ในสถาปัตยกรรมไทย

ขนมปังขิง : ลวดลายที่แฝงอยู่ในสถาปัตยกรรมไทย

สราญรมย์ ขนมปังขิง ณ แพร่

๑.

“คลับคล้ายคลับคลาว่าเคยเห็นลายหน้าจั่ว ขนมปังขิง แบบนี้ที่ไหนหนอ?” ผมตั้งคำถามในใจ ขณะกำลังละเลียดชมความงามของภาพอาคารไม้เก่าแก่กว่าหนึ่งร้อยปี ที่อดิศร ไชยบุญเรือง กัลยาณมิตรชาวแพร่ส่งมาให้ ในฐานะที่เป็นภาพประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของป่าไม้เมืองไทย นั่นคือภาพอาคารของบริษัทบอมเบย์ เบอร์มา ธุรกิจต่างชาติแห่งแรกที่เข้ามาทำไม้ในดินแดนล้านนาไทย ณ เมืองแพร่ – เมืองไม้สักทองคุณภาพดีที่สุดของโลก อดิศรเพิ่งถ่ายนี้ไว้เมื่อราว 2 เดือน ก่อนอาคารประวัติศาสตร์ล้ำเลอค่าจะถูกรื้อทำลาย เหลือแต่เพียงภาพถ่ายไว้เป็นอนุสรณ์ ด้วยเหตุผลที่มีเงื่อนงำ

เรื่องและภาพถ่าย  ธีรภาพ โลหิตกุล

บ้านไม้สัก, เมืองแพร่, บอมเบย์เบอร์มา
อาคารบริษัท บอมเบย์ เบอร์มา ที่ถูกรื้ออย่างมีเงื่อนงำ สังเกตลายที่หน้าจั่ว (ภาพ- อดิศร ไชยบุญเรือง)

“อ๋อ นึกออกแล้ว จั่วคุ้มหนานไชยวงศ์ ก็มีลายแบบนี้” (หนาน ภาษาเหนือ คือ ทิด ในภาษากลาง)

ปีติในดวงใจบังเกิดท่ามกลางความรันทดหดหู่ ด้วยคุ้มหรือบ้านหนานไชยวงศ์ทรงคุณค่า ได้รับการคุ้มครองแล้ว โดยสมาคมสถาปนิกสยาม ยกย่องเป็น “อาคารอนุรักษ์สถาปัตยกรรม” ประจำปี 2555 เป็นคุ้มแบบล้านนาผสมผสานด้วยลวดลายแบบ “ขนมปังขิง” (Ginger Bread House) ซึ่งศาสตราจารย์วิบูลย์ ลี้สุวรรณ อธิบายไว้ในหนังสือ “พจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรมไทย ฉบับพิมพ์ พ.ศ. 2559 ว่า…

ขนมปังขิง : ลวดลายฉลุไม้สำหรับตกแต่งอาคารมีลักษณะคล้ายขนมปังขิง (Ginger Bread) ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก เป็นที่นิยมมากในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยใช้ตกแต่งจั่ว ตัวอาคาร พระที่นั่ง ตำหนัก และบ้านเรือน

อาคารขนมปังขิงที่โดดเด่นและโด่งดังมาก ในฐานะเรือนไม้สักทองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก คือพระที่นั่งวิมานเมฆ อีกหนึ่งงานชิ้นเอกของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้ได้รับสมัญญานาม “นายช่างใหญ่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์”

บ้านไม้สัก, เมืองแพร่, บอมเบย์เบอร์มา, ขนมปังขิง
พระที่นั่งวิมานเมฆ เรือนขนมปังขิงสร้างด้วยไม้สักทองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

นอกจากนั้น ยังมี ตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร ที่ประดับลายขนมปังขิง ในขณะที่เมืองแพร่ มีเรือนขนมปังขิงหลายหลัง ที่เลื่องชื่อมากเห็นจะไม่มีหลังใดเกิน “บ้านวงศ์บุรี” เพราะสวยคลาสสิกจนกองละครนับไม่ถ้วนเรื่อง เลือกบ้านหลังนี้เป็นสถานที่ถ่ายทำ

๒.

คุ้มวงศ์บุรี กับคุ้มเจ้าหนานไชยวงศ์ เกี่ยวพันกันทางเครือญาติ ด้วยคุ้มวงศ์บุรีสร้างขึ้นตามดำริของแม่เจ้าบัวถา มหายศปัญญา ชายาองค์แรกในเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่องค์สุดท้าย เพื่อเป็นของกำนัลในพิธีเสกสมรสระว่างเจ้าสุนันตา ผู้เป็นบุตรีเจ้าบุรีรัตน์ (น้อยหนู มหายศปัญญา) ที่ท่านรับมาเป็นบุตรีบุญธรรม และหลวงพงษ์พิบูลย์ (เจ้าพรหม วงศ์พระถาง) โดยท่านทั้งสองได้ใช้เรือนหลังนี้เป็นเรือนหอในพิธีเสกสมรสด้วย เริ่มก่อสร้างใน พ.ศ. 2440 แล้วเสร็จในปี 2442 โดยได้ช่างชาวจีนจากมณฑลกวางตุ้งมาควบคุมการก่อสร้าง

ส่วนคุ้มเจ้าหนานไชยวงศ์ หรือบ้านเจ้าทิดไชยวงศ์ สร้างราว พ.ศ. 2450 โดยเจ้าบุรีรัตน์ (น้อยหนู มหายศปัญญา) เจ้าของคุ้มวงศ์บุรี สร้างเพื่อเป็นเรือนหอให้ธิดาคือ เจ้าสุธรรมมา มหายศปัญญา และเจ้าหนานตึ หัวเมืองแก้ว บุตรเขย ที่มีอาชีพทำป่าไม้เช่นเดียวกัน จัดเป็นบ้านแบบขนมปังขิง สร้างจากไม้สักทองทั้งหลัง ทาด้วยสีครีมน้ำตาลหรือสีไข่ไก่ขลิบแดง ด้านในไม่ทาสีเพื่อให้เห็นเนื้อไม้ หลังคาเป็นทรงมนิลา มุงด้วยไม้แป้นเกล็ด ประดับลายฉลุสวยงาม สันนิษฐานว่าเป็นช่างชุดเดียวกับที่สร้างคุ้มวงศ์บุรี

แต่ด้วยเหตุที่คุ้มเจ้าหนาน ไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างดีเท่าคุ้มวงศ์บุรี จึงแลดูไม่โดดเด่นเท่า แต่กระนั้น ก็มีหลายมุมที่หาดูจากบ้านหลังอื่นได้ยาก อาทิ ลายฉลุหน้าจั่วงามพิสุทธิ์ ลายเดียวกับจั่วอาคารบอมเบย์ เบอร์ม่า ทว่า ฉลุลายได้ละเอียดละออตากว่าเยอะ อีกทั้งที่หน้าต่างชั้นล่างของคุ้ม ยังมีกันสาดไม้โค้งประดับเสาสุดเท่ ซึ่ง อ.ปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูศ อุปนายกสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม และกรรมการพิทักษ์มรดกสยาม สยามสมาคมฯ ให้ความกระจ่างว่า สถาปัตยกรรมตะวันตกมาอยู่ในประเทศที่มีภูมิอากาศร้อนชื้น (tropical) จึงจำเป็นต้องทำกันสาดยื่นมาคลุมหน้าต่างเพื่อกันแดดกันฝน ซึ่งก็แล้วแต่การออกแบบของสถาปนิกว่าจะทำแบบใดให้สวยงาม บางครั้งก็ทำลักษณะลาดลงตรงๆ

“แต่ในกรณีคุ้มเจ้าหนานฯ น่าจะอยากให้มีความสวยงามอ่อนช้อยเข้ากับโค้งลายไม้ฉลุด้านหน้า เลยออกแบบให้มีความโค้งและลาดเอียงลงมาเพื่อให้น้ำฝนไหลลง ซึ่งไม่ค่อยเห็นที่อื่นทำแบบนี้”

๓.

นอกจากนั้น ที่ชั้นสองของคุ้ม ยังมีประตูบานเปิดยาวถึงพื้นและมีราวกันตก ทีเด็ดอยู่ที่ลายฉลุใต้ราวกันตก ที่งามลลิตา หรืองามอย่างน่ารักน่าเอ็นดู ซึ่ง อ.ปองขวัญ วิเคราะห์ว่า ลายบ้านหลังนี้หนักไปทางดอกไม้ ใบไม้ ซึ่งรับอิทธิพลจากฝรั่ง แต่ช่างไทยมาดัดแปลงปรับลาย เมื่อมาเห็นพืชพรรณแบบไทย จึงออกมาเป็นลายลูกครึ่งฝรั่ง – ไทย ทั้งที่หน้าจั่วและใต้ราวกันตก ถือเป็นเสน่ห์ของคุ้มหลังนี้ ที่หาชมไม่ได้ง่ายนัก

ยิ่งแดดยามบ่ายวันนั้น สาดส่องลงมาทาบทาผนังคุ้ม ส่งให้กันสาดไม้โค้งประดับเสาดูโดดเด่นด้วยแสงและเงา จนยากจะตัดใจจากลาคุ้มหลังนี้ไปได้ง่ายๆ

บ้านไม้สัก, เมืองแพร่, บอมเบย์เบอร์มา,
บัญชรศิลป์ ณ คุ้มหนานไชยวงศ์

……….…………

ขอขอบคุณ

อ.ปองขวัญ ลาซูศ อุปนายกสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม – เอื้อเฟื้อข้อมูล

อดิศร ไชยบุญเรือง รองประธานหอการค้าจังหวัดแพร่ – เอื้อเฟื้อภาพ

เอกสารอ้างอิง

วิบูลย์ ลี้สุวรรณ, ศ. พจนานุกรมศิลปกรรมไทย ฉบับพิมพ์ พ.ศ. 2559

เว็บไซต์ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
………………….

ขนมปังขิง

เป็นชื่อขนมปังชนิดหนึ่งของชาวตะวันตก ที่มีส่วนผสมของพืชสมุนไพรหลายชนิด อาทิ อบเชย กานพลู โป๊ยกั๊ก กระวาน ผักชี ขิง ลูกจันทน์เทศ แต่ชาวตะวันตกเรียก Ginger Bread เมื่อขนมนี้เข้าในไทยสมัยอังกฤษ ฝรั่งเศสมาล่าอาณานิคม คนไทยจึงเรียก ขนมปังขิง หรือ ขนมขิง อีกทั้งฝรั่งตะวันตกยังเรียกบ้านที่ประดับลวดลายที่มีลักษณะหงิกงอคล้ายขิงว่า Ginger Bread House สถาปัตยกรรมประดับลวดลายแบบนี้ เริ่มนิยมในสมัยพระนางเจ้าวิกตอเรีย ขึ้นเป็นจักรพรรดินีของอังกฤษ ขนมปังขิงจึงมักอยู่คู่กับอาคารศิลปะ “วิกทอเรียนกอทิก” อาทิ สถานีรถไฟฉัตรปตี ศิวาจี เมืองมุมไบในอินเดีย


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : จาโรคา : ระเบียงเสน่ห์ราชสถาน

Recommend