แล ทะเลน้อย แลชีวิต แลความงดงาม

แล ทะเลน้อย แลชีวิต แลความงดงาม

แล ทะเลน้อย แลชีวิต แลความงดงาม
ในอ้อมกอดแห่งทะเลสาบสงขลา

-1-

….เวลาเช้ากำลังพองาม … แสงแดด กำลังกำดัด-ไม่ร้อนแรงเกินไป ปุยเมฆขาว เป็นฝอย ลอยล่องฟ่องฟูอยู่คู่กับฟ้าคราม งามตามความเหมาะสม เสมือนโทรมาสั่งล่วงหน้าไว้ได้ เมื่อเราเดินทางมาถึง “เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ทะเลน้อย”

เรื่อง เจนจบ ยิ่งสุมล
ภาพถ่าย อิสรชน พงไพร

เบื้องหน้า ดอกบัวแดงนับหมื่นนับแสนดอก ชูช่อดารดาษ ราวกับจะอวดศักดาให้ก้องไกร ว่าที่นี่คือสัญลักษณ์สำคัญที่สวยที่สุดของทะเลน้อย และแน่นอน ย่อมไม่มีบึงบัวที่ไหน ในโลกนี้ อลังการด้วยความงาม เทียบเท่าที่นี่ได้อีกแล้ว คนที่เพิ่งมีโอกาสมาเห็นทะเลน้อยเป็นครั้งแรก แน่นอนต้องตะลึงตามติดมาด้วยอาการตื่นตาตื่นใจแทบทุกคน

ทะเลสาบสงขลา ที่กว้างใหญ่ หลายสิบล้านไร่นั้น หากเปรียบไปให้เห็นภาพ ทะเลสาบทั้งหมดทั้งมวล หากเป็นคล้ายดั่งกระเพาะอาหารในตัวตนของคนเรา ทะเลน้อย ในความรู้สึกของผมก็คือ”ไส้ติ่ง” นั่นเองเพราะทะเลน้อยมีพื้นที่ 17,500 ไร่ ซุกซ่อนตัวเองอย่างเจียมเนื้อเจียมตน เป็นส่วนหนึ่งของทะเลสาบสงขลา  ที่มีพื้นที่ถึง 5.31 ล้านไร่

ส่วนของทะเลสาบสงขลาส่วนนี้ นอกจากจะเป็นส่วนที่เล็กที่สุดแล้ว ผมว่าเธอยังงามงดที่สุด และยังเป็นส่วนที่เป็นเพียงน้ำจืดเพียงส่วนเดียวอีกด้วย
สมดังประโยคที่ผมประทับใจท่อนหนึ่งในหนังสือ อันซีนไทยแลนด์ว่า….

ทะเลน้อย, สางขลา, ทะเลสาบสงขลา, ทุ่งบัวแดงทะเลน้อย, แรสซาร์ไซต์, พื้นที่ชุ่มน้ำ, พื้นที่ชุ่มน้ำของไทย

“บึงบัวทะเลน้อย บึงน้ำแห่งชีวิต”

ที่รวมของมวลไม้น้ำและเหล่าปักษาที่มาอาศัยอยู่นับแสน เป็นบึงน้ำที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของผู้คนมาเนิ่นนาน เรียกขาน บึง ว่าเป็น ทะเล ด้วยความกว้างใหญ่ “ใครจะเชื่อว่า ในยามเช้าทุกวันเมื่อแสงแดดส่อง บึงน้ำแห่งนี้ก็จะกลายเป็นบึงบัวสีชมพูด้วยดอกบัวแดงบานสะพรั่ง”

มาถึงทะเลน้อยต้องนั่งเรือ แหวกสายธาร และทะเลบัว ออกไปชมความงดงามให้ถึงแก่นแท้แค่ลงจากรถมาเดินๆ…เมียงๆมองๆความงดงามเลียบๆเคียงๆอยู่ริมตลิ่ง อย่างเดียว คงเป็นเรื่องที่ให้อภัยกันมิได้ ถ้าทำแบบนั้น เป็นความรู้สึกที่คุณสัมผัสได้แค่สัก10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น อีก 90 ที่เหลือ มันต้องลงเรือ ลอยล่องเข้าไปให้รอบทะเลน้อยครับ

เรือนำเที่ยวที่นี่มีเยอะ ราคามาตราฐาน ทั้งคนขับ ที่สวมวิญญาณไก๊ดไปด้วยในตัวตนคนเดียวกัน มีมาตราฐานเชื่อถือได้ แถมอัธยาศัย ยังเลิศล้ำเกือบทุกคนทีเดียวหลังจากตกลงเช่าเรือ เป็นที่เรียบร้อยแล้วไม่นานนัก เสียงเครื่องยนต์ก็ดังกระหึ่ม

…เรือเคลื่อนออกจากท่า ลำเดียวเดี่ยวโดด แหวกบัวดอกแรก …ดอกที่ 2 …3…4…เข้าไปในทะเลล้านบัวอย่างเชื่องช้า แต่ทุกคนบนเรือหัวใจแช่มชื่นเหมือนจุดดำเล็กจิ๋ว…บนกระดาษขาวบริสุทธิ์

สายลมระบัดพัดแรง… แล้วความคิดคำนึงของผมก็ผุดพรายท่ามกลางสายน้ำ…

ทะเลน้อย, สางขลา, ทะเลสาบสงขลา, ทุ่งบัวแดงทะเลน้อย, แรสซาร์ไซต์, พื้นที่ชุ่มน้ำ, พื้นที่ชุ่มน้ำของไทย

เกือบ 20 ปีที่แล้ว ผมมาสัมผัสกับทะเลน้อยเป็นครั้งแรกในชีวิต …เพราะความเป็นคนเดินทาง และหน้าที่การงาน นานจนจำไม่ได้ว่ามาทะเลน้อย อีกกี่ครั้ง แต่ไม่เคยลืมความสวยงาม และความประทับใจของที่นี่ มาจนถึงบัดนี้

ทุกวันนี้ ทะเลน้อยก็ยังสวย น่าดู น่าชม แม้ว่าบางสิ่งบางอย่างอาจแปรเปลี่ยนไปบ้างตามกาลเวลาอันเป็นสัจธรรมของโลกทะเลเปลี่ยนเพราะคน…แต่คนไม่เคยเปลี่ยนเพราะทะเล

ใครนึกภาพทะเลน้อยไม่กระจ่าง ลองกางแผนที่ออกมาดู ทะเลน้อยตั้งตัวอย่างเจียมเนื้อเจียมตัวอยู่เหนือสุด โดยมีทะเลหลวงในเขตจังหวัดพัทลุงกั้นกลาง
และมี ทะเลสาบคูขุด อยู่ทางใต้ในเขตจังหวัดสงขลา อาณาเขตของทะเลน้อยคือ ทิศเหนือ จดคลองชะอวด อำเภอชะอวด และอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ทิศตะวันออก จดทะเลหลวง ทางหลวงหมายเลข 4083 อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ทิศใต้ จดคลองปากประ อำเภอควนขนุนจังหวัดพัทลุง และทิศตะวันตก จดฝั่งทะเลน้อยด้านตะวันตก อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง และ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช

-2-

ทะเลน้อย, สางขลา, ทะเลสาบสงขลา, ทุ่งบัวแดงทะเลน้อย, แรสซาร์ไซต์, พื้นที่ชุ่มน้ำ, พื้นที่ชุ่มน้ำของไทย

ทะเลน้อย, สางขลา, ทะเลสาบสงขลา, ทุ่งบัวแดงทะเลน้อย, แรสซาร์ไซต์, พื้นที่ชุ่มน้ำ, พื้นที่ชุ่มน้ำของไทย

องค์การยูเนสโกได้คัดเลือกให้ทะเลน้อยเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือ “แรมซาร์ไซต์” แห่งแรกในประเทศไทย และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คัดสรรให้ทะเลน้อยเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวอันซีนไทยแลนด์อันแสนมหัศจรรย์ เมื่อเกือบยี่สิบปีที่ผ่านมา

ทะเลน้อย…เป็นแหล่งดูนก ที่ขึ้นชื่อที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย จัดอยู่ในอันดับท็อปทรี ก็คงไม่ผิดนัก สำหรับ“กูรู” หรือปรมาจารย์ดูนกในเมืองไทย ที่นี่คือสถานที่แรกๆของพวกเขา ที่ต้องนึกถึง

จากการสำรวจพบว่าที่นี่มีนกน้ำนานาชนิด มากกว่า 200 สายพันธุ์ ทั้งนกประจำถิ่น นกอพยพ ตามฤดูกาล เช่น เหยี่ยวดำ นกซ่อมทะเลอกแดง นกที่อยู่ในสถานภาพถูกคุกคาม เช่น นกหัวโตมลายู นกตะกรุม เป็ดดำหัวดำ หรือนกที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ เช่น นกกาบบัว ที่มีการทำรังวางไข่ที่ทะเลน้อยเพียงแห่งเดียว นอกจากนี้ก็ยังมีนกที่พบเห็นทั่วไปคือ นกอีโก้ง นกเป็ดน้ำ นกเป็ดแดง เป็ดคับแค นกพริก ฯลฯ

เรือของเรา….แล่นเอื่อยๆเรื่อยเลาะไปตาม “ร่องน้ำ” ที่คนขับเรือคุ้นเคยดี เวลาที่ใกล้เข้าไปในดงกระจูด ขนาดใหญ่ เขาจะดับเครื่องเรือ ใช้ไม้ถ่อเข้าไปแทน
แน่นอนว่า แถวนั้นย่อมต้องมี”นก”ให้ดูแน่ๆตามประสบการณ์ของเขา

ทะเลน้อย, สางขลา, ทะเลสาบสงขลา, ทุ่งบัวแดงทะเลน้อย, แรสซาร์ไซต์, พื้นที่ชุ่มน้ำ, พื้นที่ชุ่มน้ำของไทย

นกกาน้ำ สีดำทมึน กำลังเกาะอยู่บนยอดหลักไม้ มันกำลังกางปีกผึ่งแดด-ลม ให้ปีกแห้ง เดาได้ไม่ยากว่า…เมื่อไม่กี่นาทีก่อนหน้านี้มันคงบินฉิวโฉบลงไปในน้ำเพื่อล่าเหยื่ออันโอชะของมัน มันเขม้นมอง พวกเราซึ่งเป็นแขกแปลกหน้าด้วยความสงสัย ตามสัญชาติญาณระวังภัย ทุกคนในลำเรือ เงียบกริบ มีเพียง เสียงชัตเตอร์บางเบาที่ระรัวกระหน่ำซ้ำซ้อนขึ้น ราวกับข้าวตอกแตก

แว่บเดียว จริงๆ นกกาน้ำ….ก็โผผินบินขึ้นสู่ฟ้าครามไปอย่างรวดเร็ว พร้อมส่งเสียงร้องมันทักทาย หรือด่าเรา หรือเปล่า ไม่มีใครรู้จนวันนี้

เกือบๆทุกๆ 5-10 นาที พวกเราได้พบนก อีกมากมายเป็นระยะๆ ทั้งนกอีโก้ง นกเป็ดน้ำ นกเป็ดแดง นกพริก ฯลฯที่กำลังหากินกันเป็นคู่บ้าง เดี่ยวบ้าง
ผลของการบันทึกภาพวิถีชีวิตของพวกมัน เป็นไปตามความคาดหมาย…

“ถ่ายง่ายนิดเดียว…แต่ติดยากเหลือเกิน”

หลังจากงานนี้พวกเราได้สัจธรรม กลับมาในชีวิตอีกอย่างหนึ่งว่า รอยเท้า ของ พี่เชน-ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ ช่างภาพสัตว์ป่ามือหนึ่งของเมืองไทยนั้น วัดได้ยากเหลือเกิน แม้จะรู้เบอร์รองเท้าที่พี่แกใส่ก็เถอะ

….เกือบชั่วโมงผ่านไป เหลียวมองกลับไป จนไม่เห็นฝั่งที่เราออกเรือมา ทุกเมตร ทุกวาที่เรือแล่นล่องไป นกนานาชนิด ผ่านเข้ามาให้เห็นเป็นระยะๆ ผ่านสายตา และถ่ายทอดลงสู่ซิมของกล้อง พวกเราเจอนกมากมาย หลากหลายชนิด เรียกได้ว่า เปิดเบิดร์ไกด์ พลิกตำราดูนกกันแทบ ไม่ทันทีเดียว

-3-

ตำนานความเป็นมาของทะเลน้อย เริ่มต้นขึ้นใน พ.ศ. 2517 โดยชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านรอบทะเลน้อย ได้ร่วมกันเสนอต่อกรมป่าไม้ ขอให้มีการจัดตั้ง “อุทยานนกน้ำทะเลน้อย” ขึ้น เนื่องจากมีการล่านกที่อาศัยอยู่อย่างชุกชุมในพื้นที่ทะเลน้อย ทำให้จำนวนนกที่มีขนาดใหญ่ เช่น นกกาบบัว ลดจำนวนลงเรื่อยๆ
จนเกรงว่า ถ้าไม่อนุรักษ์ไว้ นกเหล่านี้จะต้องสูญพันธุ์ กรมป่าไม้จึงส่งเจ้าหน้าที่มาสำรวจสภาพพื้นที่และสัตว์ป่าในทะเลน้อย และได้ประกาศให้ทะเลน้อย
ซึ่งมีพื้นที่ 17,500 ไร่ และพื้นที่ป่าในบริเวณใกล้เคียงคิดเป็นเนื้อที่รวมกันราว 285,625 ไร่ ประกาศให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 เป็นต้นมา

นั่นถือว่าเป็นการเปิดศักราชเริ่มต้นแนะนำทะเลน้อยให้เป็นที่รู้จักของสาธารณชนเพิ่มมากขึ้น ผู้คนค่อยๆ รับรู้เพิ่มเติม ถึงความงามล้ำค่าหมดจดของส่วนสำคัญของทะเลสาบสงขลาส่วนนี้

ถ้าพูดกันถึงเฉพาะเรื่องนก ของที่นี่ นกมากมายสายพันธุ์ต่างๆที่น่าสนใจในทะเลน้อย สามารถแยกออกได้เป็นวงศ์ต่างๆ คือ

วงศ์นกยาง– มีลักษณะขายาว คอขาว กินปลาและสัตว์น้ำเล็กๆ มีขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ พบราว 15 ชนิด เช่น นกยางไฟหัวดำ นกยางโทนใหญ่ นกกาบบัว นกกระสาแดง โดยเฉพาะนกยางและนกกระสาแดง จะทำรังและอาศัยอยู่ในทะเลน้อยตลอดทั้งปีเป็นจำนวนมาก

วงศ์นกเป็ดน้ำ– ปากแบน สามารถว่ายน้ำและดำน้ำหาปลาได้ดี อยู่รวมกันเป็นฝูง อพยพมาในฤดูหนาว นกเป็ดน้ำที่พบในทะเลน้อย เช่น นกเป็ดแดง เป็ดคับแค เป็ดลาย นอกจากนี้ยังมี นกเป็ดผี มีลักษณะคล้ายนกเป็ดน้ำ ต่างกันตรงปลายปากแหลม ว่ายน้ำและดำน้ำเก่ง และรวดเร็วเหมือนหายตัวได้

วงศ์นกอัญชัญ- นกน้ำวงศ์นี้จะมีขาและนิ้วยาว สามารถเดินหากินบน ใบบัวกอไม้น้ำได้เป็นอย่างดี ส่วนใหญ่เป็นนกประจำถิ่น เช่น นกอัญชัญคิ้วขาว นกกวัก นกอีลุ้ม นกอีล้ำ นกคู๊ท คือ นกอีแจว นกพริก

วงศ์นกกาน้ำ- นกน้ำสีดำรูปร่างคล้ายกา นิ้วเท้ามีพังผืดดำน้ำเก่งมาก มีทั้ง กาน้ำเล็กและ กาน้ำใหญ่

วงศ์นกตีนเทียน- นกชายเลนชนิดนี้มีขายาวปากยาว มีสีเป็นขาวดำ ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง เมืองไทยมีชนิดเดียว คือ นกตีนเทียน

นอกจากนี้แล้วยังมีนกที่พบเสมอๆ เช่น เหยี่ยวแดง นกกระแตแต้แว๊ด นกนางนวลแกรบเคราขาว นกกระเต็นน้อย นกนางแอ่นบ้าน

นอกจากนกแล้ว…ไม่น่าเชื่อว่าสัตว์ป่าในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อยก็สำรวจพบไม่ต่ำกว่า 250 ชนิด เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 13 ชนิด เช่น ลิงแสม เสือปลา และลิงลม สัตว์เลื้อยคลาน 25 ชนิด เช่น เต่า ตะพาบน้ำ จิ้งแหลน และงูชนิดต่างๆ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก เช่น กบ และเขียดชนิดต่างๆ  ปลาน้ำจืดไม่ต่ำกว่า 45 ชนิด เช่น ปลาช่อน ปลากระดี่ ปลาซิว ส่วนปลาที่น่าสนใจแต่พบตัวได้ยากกว่า เช่น ปลาปักเป้าน้ำจืด และปลาเสือพ่นน้ำ เป็นต้น

-4-

เวลาผ่านไปเกือบ 2 ชั่วโมง โชเฟอร์ทางน้ำของเรา พาเราลัดเลาะเข้าไปใน “คลองนางเรียม” ซึ่งเล่ากันว่าในสมัยก่อนมีจระเข้ชุกชุม แต่ปัจจุบันจระเข้เหลือเพียงตำนานให้เล่าขานกันเท่านั้น เช่นเดียวกับ”ช้างน้ำ”ก็มีปรากฏในทะเลน้อยด้วย มีคนเคยงมพบกระดูกที่เป็นส่วนกรามของมัน แล้วนำเอามาทำสากตำหมาก

คลองนางเรียมมีความยาวประมาณ 2 กิโลเมตรเศษ ไหลไปออกทะเลสาบสงขลา เช่นเดียวกับคลองลำปำชาวบ้านใช้คลองนี้เป็นเส้นทางสัญจรระหว่างทะเลน้อยกับหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ริมทะเล สองฝั่งคลองนางเรียมยังมีพันธุ์ไม้หลายชนิดปรากฏให้เห็น เช่นย่านลิเพา ต้นลำพู ต้นกุ่มน้ำ จิกพรุ เสม็ดขาว บัวสาย บัวลินจง
เมื่อพ้นจากคลองนางเรียมทางขวามือเป็นทุ่งโล่งมีหญ้าสั้นๆขึ้นเขียวขจี โดยเฉพาะชาวบ้านเรียกกันว่า”แหลมดิน” เราสามารถหาที่จอดเรือแล้วขึ้นฝั่งไปเดินบนดินได้ แหลมดินเป็นจุดดูนกน้ำและนกชายเลนได้เป็นอย่างดี มีนกเด่นๆ เช่น นกตีนเทียน นกช้อนหอยขาว นกหัวโตหลังจุดสีทอง และ นกแอ่นทุ่งใหญ่ เป็นต้น ถ้าโชคดีอาจได้พบนกกาบบัว หรือ นกตะกรุม เดินหากินอยู่บ้างก็ได้

ทะเลน้อย, สางขลา, ทะเลสาบสงขลา, ทุ่งบัวแดงทะเลน้อย, แรสซาร์ไซต์, พื้นที่ชุ่มน้ำ, พื้นที่ชุ่มน้ำของไทย

อีกทั้งบางส่วนของแหลมดิน ชาวบ้านยังใช้เป็นที่เลี้ยง “ควายไล่ทุ่ง” ได้หลายฝูง โดยกั้นเป็นคอกพองาม ตอนเช้าก็ปล่อยให้มันออกกินหญ้าบนแหลมดินตกเย็นก็ต้อนมันกลับเข้าคอก เป็นครรลองของชีวิตทั้งของคนเลี้ยงสัตว์ และสัตว์เลี้ยงของพวกเขาเช่นนี้มาเนิ่นนาน

มองออกไปไกลลิบ ถนนยกระดับแบบถนนลอยฟ้าในเมืองหลวง ยาวกว่าสิบกิโลเมตร ทอดตัวตระหง่าน มันถูกสร้างขึ้นเมื่อหลายปีก่อน ด้วยงบประมาณอันมหาศาล เพื่อเชื่อมความเจริญของชุมชนเข้าสู่กัน และเพื่อให้กระแสธารของทะเลน้อย กับทะเลหลวง เชื่อมโยงรินไหล ผลักดัน สู่กันได้ตลอดเวลา

เรือของเราเริ่มวนลำกลับ มาอีกขอบด้านหนึ่งของทะเลน้อย

ด้านนี้ ไร้บึงบัว เพราะน้ำลึกกว่าอีกด้านหนึ่ง แต่ต้นกระจูด และเครื่องมือดักปลาสารพัดชนิดเยอะกว่า คนเรือบอกเราแบบติดตลกว่า ทุกวันนี้จำนวนคนจับปลาในทะเลน้อย อาจมีมากกว่าจำนวนปลาด้วยซ้ำไป

ทะเลน้อย, สางขลา, ทะเลสาบสงขลา, ทุ่งบัวแดงทะเลน้อย, แรสซาร์ไซต์, พื้นที่ชุ่มน้ำ, พื้นที่ชุ่มน้ำของไทย

ทะเลน้อย, สางขลา, ทะเลสาบสงขลา, ทุ่งบัวแดงทะเลน้อย, แรสซาร์ไซต์, พื้นที่ชุ่มน้ำ, พื้นที่ชุ่มน้ำของไทย

จนเรือกลับเข้าท่า…ในเวลาเกือบใกล้เที่ยง

เดินแวะเลาะเลียบร้านค้า-ร้านขายของที่ระลึกอีกฝั่งถนนหน้าท่าเรือ

พินิจดูของฝากจากทะเลน้อย ที่เกือบทั้งหมดเกิดจากต้นกระจูด และฝีมือของกลุ่มแม่บ้านชาวทะเลน้อย ไม่ว่าจะเป็น เสื่อ หมวก แผ่นรองจาน แผ่นรองแก้ว กระเป๋า ฯลฯ

ของฝากที่ขึ้นชื่ออีกอย่างหนึ่งของทะเลน้อยก็คือปลาดุกร้า(ปลา-ดุก-ร้า)ที่อร่อยแบบสุดจะบรรยาย ต้นตำรับของปลาดุกร้าของแท้ต้องที่ทะเลน้อยเท่านั้น
ทะเลน้อย ให้อะไรกับผมมากมายหลายอย่าง

อย่างน้อยที่สุด ความสวยสดของเธอ ก็ยังประทับใจผมอยู่มิรู้ลืม

มันมิใช่เป็นเพียงแค่บึงล้านบัว อันเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของทะเลสาบสงขลาเท่านั้น ที่นี่…ยังเป็นต้นกำเนิด ของสรรพชีวิต แหล่งอยู่อาศัย และแหล่งหากิน ของสัตว์โลกอีกมากมาย

แม้โลกจะเปลี่ยนแปลง-สิ่งแวดล้อมจะเปลี่ยนไป ผมก็ได้แต่ภาวนา และหวังว่า…”ทะเลน้อย”แม้จะได้รับผลกระทบจากสิ่งดังกล่าวเหล่านั้นบ้าง
ก็ขออย่าให้รวดเร็ว และรุนแรงกว่านี้อีกเลย

วันนี้เธออาจช้ำชอกบ้าง แต่วันหน้า หวังว่าเธอคงไม่ชอกช้ำไปมากกว่านี้…ทะเลน้อย


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เขาหลัก ตะกั่วป่า พังงา ในมุมมองที่ไม่เคยเห็น

เขาหลัก, พังงา, ทับปุด, มะลุ่ย

Recommend