พลิกโฉมหน้าเมือง ลูร์ด เมืองแสวงบุญแห่งฝรั่งเศสสู่การท่องเที่ยว

พลิกโฉมหน้าเมือง ลูร์ด เมืองแสวงบุญแห่งฝรั่งเศสสู่การท่องเที่ยว

ลูร์ด สถานที่แสวงบุญโด่งดังที่สุดแห่งหนึ่งของชาวคาทอลิก เรียนรู้จากการระบาดใหญ่ทั่วโลก โดยมุ่งขยายการถวายบูชาสู่โลกภายนอกและส่งเสริมการท่องเที่ยว

เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของวิหารแม่พระแห่ง ลูร์ด สถานที่แสวงบุญสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของชาวคาทอลิก จำเป็นต้องปิดประตูไม่ต้อนรับผู้จาริก 20,000 คนที่แห่มาทุกวัน

การล็อกดาวน์นานสองเดือนของฝรั่งเศส ซึ่งเริ่มเมื่อวันที่ 17 มีนาคม ปี 2020 ทำให้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ไร้วี่แววของผู้แสวงบุญที่จุดเทียนบูชา ลานจอดรถกว้างใหญ่ปลอดจากรถทัวร์ หมู่ร้านรวงที่ขายของที่ระลึกทางศาสนาปิดหน้าต่าง แน่นหนา ส่วนโรงแรมในละแวกใกล้เคียงต่างล็อกประตู

แม้วิกฤติโควิด 19 จะทำให้เมืองที่ปกติต้อนรับผู้มาเยือนปีละสามล้านคนต้องดิ้นรนต่อสู้ แต่ลูร์ดก็ไม่เคยหยุด สวดภาวนา อันที่จริง การระบาดใหญ่ทั่วโลกครั้งนี้กระตุ้นให้สถานที่ซึ่งหยั่งรากมั่นคงในจารีตแบบอนุรักษนิยมต้องคิดใหม่ ทำใหม่อย่างคาดไม่ถึง

ลูร์ด, ภาวนา, สวดภาวนา
ครอบครัวอูทรีกจุดเทียนเพื่อสวดภาวนาให้สามีและพ่อ อาโนด์ (กลาง) ซึ่งป่วยเป็นลูคีเมียและกำลังรอปลูกถ่ายไขกระดูก เขากล่าวว่า “ลูร์ดเป็นตัวแทนของความชิดสนิทกับดวงหทัยของแม่พระ”
เดือนเมษายน ปี 2021 ถนนมงซินญอร์เชฟเฟอร์ ไร้วี่แววของนักท่องเที่ยว คนท้องถิ่นหวังว่าแผนชุบชีวิตเมืองจะขยายกิจกรรมการท่องเที่ยวให้เกินจากฤดูการแสวงบุญ ซึ่งปกติอยู่ในช่วงเดือนเมษายนถึงตุลาคม

เทคโนโลยีกลายเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงโลกเข้าด้วยกัน ขณะเดียวกันก็ “สร้างความปรารถนาให้ผู้จาริก แสวงบุญกลับมา” ด้วย มงซินญอร์ โอลิวิเยร์ ริบาโด ดูว์มา กล่าว “เพราะเราไม่ได้จาริกแสวงบุญจากในโซฟาที่บ้านกันนี่นา”

ระหว่างการระบาดใหญ่ทั่วโลก โบสถ์ได้รับคำขอมิสซาหลายพันจากผู้คนทั่วโลก มีการออกอากาศพิธีมิสซา ทางโทรทัศน์และโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีบาทหลวงประจำวิหารเป็นผู้ประกอบพิธี เฟอติเยร์ หรือผู้รักษาไฟ ยังคอยจุดเทียนเป็นพันๆ เล่ม หลายกรณีเป็นคำขอด้วยการสั่งซื้อทางออนไลน์ โดยเทียนจะถูกจุดจากแดนไกลในนามของผู้มีใจศรัทธาเอง

นวัตกรรมทางเทคโนโลยีมาถึงจุดสูงสุดในการจาริกแสวงบุญออนไลน์ครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2020 “ลูร์ดยูไนเต็ด” (Lourdes United) ออกอากาศ 10 ภาษา มีผู้ชม 80 ล้านคน ประกายไฟแห่งการเปลี่ยนแปลงลุกโชนขึ้นใน เมืองที่พึ่งพาการท่องเที่ยวแห่งนี้ เป็นความปรารถนาที่จะสร้างอนาคตขึ้นใหม่ ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และศรัทธาซึ่งอยู่เหนือสิ่งอื่นใด คือเป้าหมาย

ซิสเตอร์เซซีลีอาเป่าดอกแดนดิเลียนด้านหน้าวิหาร “การระบาดใหญ่ทั่วโลกเชื้อเชิญเราให้ทบทวนเกี่ยวกับกิจการงานของนักบวช” ด้วย มงซินญอร์ โอลิวิเยร์ ริบาโด ดูว์มา กล่าว
ผู้แสวงบุญ, แสวงบุญ
ผู้แสวงบุญล้างหน้าด้วยนํ้าจากนํ้าพุในถํ้ามาสซา-บีแอล ซึ่งเชื่อกันว่ามีพลังในการบำบัดรักษาโรคภัยไข้เจ็บ อัศจรรย์ 70 ครั้งที่ลูร์ดได้รับการยืนยันโดยศาสนจักรคาทอลิกตั้งแต่ปี 1862 โดยครั้งล่าสุดเกิดเมื่อปี 2008

ลูร์ดซึ่งตั้งอยู่ใกล้พรมแดนสเปน ประชากรพูดภาษาออกซิตอง (Occitan) ปรากฏบนแผนที่โลกในปี 1858 เมื่อแบร์นาแดต ซูบีรู เด็กสาววัย 14 ผู้ไม่รู้หนังสือและยากจน เห็นการประจักษ์ของพระนางพรหมจารีย์มารี 18 ครั้ง ในถ้ำมาสซาบีแอล เมื่อแม่พระบอกให้เธอดื่มและอาบน้ำจากน้ำพุธรรมชาติแห่งหนึ่ง แบร์นาแดตขุดดินลงไปจนสายน้ำพวยพุ่งออกมา ว่ากันว่าน้ำพุนี้มีพลังเยียวยาโรคภัยไข้เจ็บ และในไม่ช้าก็ดึงดูดคนเจ็บป่วยและผู้ทนทุกข์ให้มาที่นี่

นิมิตของแบร์นาแดตได้รับการยืนยันจากวาติกันในภายหลัง และเธอได้รับการประกาศเป็นนักบุญในปี 1933 มีการยอมรับอย่างเป็นทางการว่า เกิด “อัศจรรย์” 70 ครั้งที่ลูร์ดโดยศาสนจักรคาทอลิกนับจากปี 1862 เป็นต้นมา โดยครั้งหลังสุดเกิดเมื่อปี 2008 (และใช้เวลาหนึ่งทศวรรษในการยืนยัน) ในวาระครบรอบหนึ่งศตวรรษของการประจักษ์ มหาวิหารแซ็งปิอุสอิกซ์ (Basilica de Saint Pius X) ซึ่งอยู่ใต้ดินจึงถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับคน 25,000 คน เป็นรองเพียงมหาวิหาร เซนต์ปีเตอร์ที่วาติกันเท่านั้น

พิธีมิสซา
คุณพ่อเมาริซิโอ อีลีอาส ประกอบพิธีมิสซาออกอากาศจากถํ้ามาสซาบีแอล “สำหรับผู้แสวงบุญส่วนใหญ่ การสัมผัสก้อนหินคือการสัมผัสแม่พระ” ท่านกล่าว “แต่ไม่มีข้อผูกมัดใดๆ ว่า คุณต้องดำเนินชีวิตโดยยึดการแสดงออกและสัญลักษณ์เหล่านั้น
ช่างเทคนิคออกอากาศพิธีมิสซาเพื่อเหล่าทหารประจำการและทหารผ่านศึกทั่วโลกเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ปี 2021 ระหว่างการระบาดใหญ่ทั่วโลก เจ้าหน้าที่โบสถ์จัดซื้อชุดอุปกรณ์สำหรับถ่ายทอดทางโทรทัศน์เพื่อออกอากาศจากถํ้ามาสซาบีแอล

สำหรับครอบครัวชาวฝรั่งเศสที่เคร่งครัดหลายต่อหลายรุ่น ลูร์ดเป็นรากฐานของความศรัทธา และเป็นจุดหมายสำหรับฮันนีมูนพอๆ กับการบำบัดรักษา แต่ชื่อเสียงของลูร์ดขจรขจายไปไกลกว่าเขตแดนของฝรั่งเศส อันที่จริง นักแสวงบุญส่วนใหญ่ของลูร์ดมาจากต่างประเทศ ซึ่งทำให้เมืองมีชีวิตชีวาแบบมหานครใหญ่ ลูร์ดเป็นบ้านของคน 25 สัญชาติ รวมทั้งชุมชนทมิฬ ที่มีพื้นเพมาจากศรีลังกา แม้แต่ผู้ที่ไม่ได้นับถือคาทอลิกก็เดินทางมาตามหาความเชื่อทางจิตวิญญาณที่พวกเขาสัมผัสได้ที่นี่ เป็นภาพของผู้คนหลายพันที่หลั่งไหลมาจากทุกสารทิศ พวกเขามารวมตัวกันด้วยความรู้สึกดีๆ และเปี่ยมความหวัง เพราะเหนือสิ่งอื่นใด เมืองลูร์ดโอบรับมหาชน

“นี่คือสถานที่แห่งความศรัทธาของผู้คน ไม่ใช่ที่สำหรับเหล่าปัญญาชนครับ” รีบาโด ดูว์มา อธิบายและเสริมว่า “เราต้อนรับผู้คนที่ไม่มีถ้อยคำและที่ทางในการแสดงออกถึงศรัทธา แต่ที่นี่พวกเขาทำได้ สิ่งนี้คือหัวใจที่เผยตัวออกมา ในอากัปกิริยาง่ายๆ ของลูร์ด ไม่ว่าจะเป็นการแตะหิน ดื่มน้ำศักดิ์สิทธิ์ หรือเดินในขบวนแห่พร้อมเทียนที่ส่องสว่าง”

ลูร์ด
นักเดินเขาสองคนผ่านมาทางลูร์ดบนเส้นทางจากบียาริตซ์ไปยังตูลูส ในขณะที่วิหารศักดิ์สิทธิ์ยังคงเป็นจุดหมายหลักของการท่องเที่ยว เมืองแห่งนี้กำลังพัฒนาสถานที่น่าสนใจอื่นๆ เพื่อดึงดูดลูกค้าที่หลากหลายกว่าเดิม
ลูร์ด, พระแม่มารี
ร้านรวงเช่นแซ็งเบอนัวขายของที่ระลึก เช่นเทียน สายประคำและรูปแม่พระมารีพรหมจารีย์ ความช่วยเหลือจากเทศบาลเมืองช่วยให้ร้านเหล่านี้รอดจากการล้มละลาย

เมื่อเวลาผ่านไป ลูรด์จึงพึ่งพาเงิน 300 ล้านยูโรที่สะพัดทุกปีโดยผู้จาริกแสวงบุญเหล่านี้ เศรษฐกิจของเมืองเชื่อมโยง แนบแน่นกับการท่องเที่ยวเชิงศาสนาดุจลูกประคำกับสายประคำ การพัฒนาเส้นทางรถไฟของฝรั่งเศสช่วยให้เมืองเติบโต เป็นจุดหมายปลายทาง มีการเปิดตัวขบวนรถไฟเฉพาะสำหรับนักแสวงบุญที่เพียบพร้อมด้วยเตียงพยาบาล โมเดลการท่องเที่ยวถูกกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ผู้แสวงบุญส่วนใหญ่จะมากันเป็นกลุ่มใหญ่โดยมีบริษัททัวร์เป็นผู้จัดตลอดฤดูกาล ที่ทอดยาวตั้งแต่เดือนเมษายนถึงตุลาคม มีการต่อรองค่าห้องพักโรงแรมจนได้ราคาถูก และมักรวมอาหารไว้ด้วยแล้ว

การหลั่งไหลเข้ามาของนักแสวงบุญนี้มีส่วนสร้างบุคลิกลักษณะของเมืองด้วย ภูมิทัศน์ของเมืองถูกหล่อหลอมจากการท่องเที่ยวขนาดใหญ่และกิจการร้านขายของที่ระลึกอันโรยรา อันที่จริงดูเหมือนว่าวันแห่งความรุ่งเรืองของจุดหมายปลายทางแห่งนี้จะผ่านไปแล้ว ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ผู้มาเยือนลูร์ดมีแต่จะลดลง

ร้านเอเอฟซีชิกเกนเป็นร้านอาหารแห่งเดียวในบูเลอวาร์ดเดอลากรอตที่ยังเปิดอยู่ตลอดช่วงการระบาดใหญ่ กลุ่มเจ้าของร้านมาจากศรีลังกาและลงหลักปักฐานอยู่ในลูร์ดเมื่อห้าปีก่อน ความที่ไม่มีวัดเป็นของตนเอง ชาวฮินดูศรีลังกาพบว่า ในพระแม่มารีพรหมจารีย์นั้น “มีความพ้องกับพระแม่มารีอัมมันของชาวทมิฬ” นาทราชา เทวาปาลัน (ในภาพ) กล่าว
ลูร์ด
ผู้จาริกแสวงบุญทั้งเด็ก ๆและสูงวัยจากสังฆมณฑลมงเปลีเยที่จาริกมายังเมืองลูร์ด พูดคุยกันเบื้องหน้าภาพพอร์เทรตของนักบุญแบร์นาแดต ผู้เป็นแรง-บันดาลใจแห่งการเดินทางของพวกเขา ย้อนหลังไปเมื่อปี 1858 เด็กสาวผู้ไร้การศึกษาและยากจนผู้นี้ อ้างว่าเห็นพระแม่พรหมจารีย์มารีประจักษ์ 18 ครั้งในถํ้ามาสซาบีแอล ทำให้ที่นั่นกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับผู้ศรัทธา

ยิ่งเมื่อสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ประสบกับการสูญเสียผู้มาเยือนในช่วงการระบาดใหญ่ทั่วโลก ลูร์ดแทบพังพินท์และ ล้มตายเพราะการเลิกจ้างงานและการสูญเสียรายได้ การระบาดใหญ่ครั้งนี้เผยให้เห็นภยันตรายของเศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเชิงศาสนามากเกินไป

หลังการกักตัวเบื้องต้นนานสองเดือน ตลอดปี 2020 มีนักท่องเที่ยวมาเยือนลูรด์เพียง 800,000 คน และเป็น นักเดินทางอิสระ ซึ่งเป็นลักษณะของผู้มาเยือนที่แตกต่างจากกลุ่มที่มากับทัวร์โดยสิ้นเชิง

“การระบาดใหญ่เชื้อเชิญให้เราครุ่นคิดถึงกิจการงานของนักบวชครับ” ริบาโด ดูว์มา กล่าว สถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้เปลี่ยนวิธีจัดการเพื่อต้อนรับผู้มาเยือนกลุ่มใหม่ ซึ่งไม่รู้ว่าพวกเขาจะพบกับอะไรบ้าง ตามประวัติศาสตร์ ผู้แสวงบุญรวมตัวเป็นกลุ่มโดยมีมัคคุเทศก์และบาทหลวงเป็นผู้นำสู่ประสบการณ์ สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเองเหล่านี้ ทางโบสถ์จึงสร้างโปรแกรม “การแสวงบุญในหนึ่งวัน” ซึ่งมีข้อมูลพื้นฐาน มิสซาหนึ่งรอบ และการนำชมสถานที่แบบมีไกด์นำ และอื่นๆ

ลูร์ด
ขบวนแห่เทียนคือไฮไลต์ของพิธี “ลูร์ดยูไนเต็ด” ลูร์ดและวิหารคู่เมือง ปรับตัวเพื่อให้สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และความศรัทธายั่งยืนกว่าที่เคยเป็นมา
วิหาร, ลูร์ด
ทิวทัศน์เมื่อมองจากปราสาทยุคกลางของเมืองจะเห็นวิหารแม่พระแห่งลูร์ดได้ในระยะไกล

“เราจำเป็นต้องโอบรับผู้คนมากหน้าหลายตาและหลากหลายขึ้นครับ” ริบาโด ดูว์มา อธิบายและเสริมว่า “ความรับผิดชอบของผมในยุคแห่งความเสื่อมของคริสต์ศาสนาในประเทศและสังคมของเรา อยู่ที่การมองเห็นว่า สิ่่งใดจำเป็นต้องทำ เพื่อที่พอถึงปี 2030 ลูร์ดจะยังบรรลุภารกิจของตนอยู่

บรรดาผู้บริหารเมืองเองก็ตระหนักถึงความจำเป็นของการเปิดรับผู้มาเยือนที่มีความหลากหลายมากขึ้นด้วย เตียร์รี ลาวี นายกเทศมนตรีคนใหม่ ผู้ที่มีสายตระกูลเป็นญาติห่างๆ กับแบร์นาแดต ซูบีรู มองเห็นโอกาสของเมืองจากวิกฤติทางสาธารณสุขครั้งนี้ “มันเหมือนการกดปุ่มรีเซ็ตใหญ่ยักษ์เลยครับ” เขาบอก

ขณะที่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์เมืองลูร์ดยังคงเป็นจุดหมายปลายทางหลัก สถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ จะดึงดูดบรรดาลูกค้า ที่ต่างกันไป หนึ่งในนั้นคือการทำเส้นทางเดิน “ยุคกลาง” ขึ้นใหม่ โดยจะนำนักท่องเที่ยวสู่เมืองด้านบนซึ่งมีปราสาท ภายในป้อมปราการโบราณที่กำลังบูรณะอยู่ เป็นสถานที่ที่ชาร์เลอมาญ จักรพรรดิพระองค์แรกของอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ยกทัพปิดล้อมและกำราบผู้ปกครองชาวมัวร์ในปี 778

“ผมเรียกลูร์ดว่า ‘เจ้าหญิงนิทรา’ ครับ” ลาวีกล่าว “คุณต้องมีความเชื่อ ขับเคลื่อน และทำทุกอย่างเพื่อปลุกเธอ ให้ตื่นขึ้น”

เรื่อง แมรี วินสตัน นิกลิน

ภาพถ่าย เซเวอรีน ซาฌู

ติดตามสารคดี พลิกโฉมหน้าเมืองลูร์ด ฉบับสมบูรณ์ ได้ที่นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนเมษายน 2565

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/543178


อ่านเพิ่มเติม การบูรณะ นอตเทรอดาม อาสนวิหารอันเป็นที่รัก หลังเพลิงผลาญ

นอตเทรอดาม

Recommend