คลื่นสึนามิเข้าพัดถล่มอ่าวมิยากิ เมื่อปี 2011 ภาพจาก Kyodo News / AP
10 อันดับ สึนามิ ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์
ในอดีต เมื่อจู่ๆ น้ำทะเลเหือดหายไปและปรากฏกำแพงคลื่นสูงตระหง่านถาโถมเข้าใส่ฝูงชนในเวลาต่อมา ผู้คนมักคิดไปว่านี่คือความโกรธเกรี้ยวของพระเจ้า หรือเมืองนั้นๆ ต้องทำผิดบาปใดสักประการ แต่ทุกวันนี้เราทราบดีแล้วว่า “คลื่นสึนามิ” หาใช่บทลงโทษหรือพลังอำนาจจากสวรรค์ หากคือพลังงานจลน์ที่เคลื่อนที่จากแผ่นดินไหวใต้มหาสมุทรขึ้นสู่ผิวน้ำ และขยายตัวเข้าสู่ชายฝั่งต่างหาก
ปกติแล้วคลื่นในทะเลจะเกิดจากกระแสลม ทว่าคลื่นสึนามิแตกต่างออกไป ถึงแม้จะใช้คำว่าคลื่นก็ตาม แต่สึนามิเกิดจากแผ่นดินไหวใต้ทะเลที่มุดตัวหรือเคลื่อนตัวเข้าหากัน ดังนั้นเมื่อแผ่นเปลือกโลกปะทะกันจึงเกิดแรงสั่นสะเทือนและปลอดปล่อยพลังงานจลน์ขึ้นสู่ผิวน้ำ แรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นทำให้น้ำทะเลกระจายออกในทุกทิศทาง บางครั้งไกลออกไปหลายพันกิโลเมตร ขึ้นอยู่กับขนาดของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น นอกจากนั้นสึนามิยังสามารถเกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟใต้ทะเลได้อีกด้วย
ในการจัดอันดับคลื่นสึนามิที่รุนแรงที่สุด Australiangeographic จัดอันดับตามความรุนแรงและความเสียหายที่เกิดขึ้น และคุณผู้อ่านคงไม่ประหลาดใจที่จะได้รับทราบว่า สึนามิที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานั้นเพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อ 14 ปีนี้เอง และประเทศไทยเราเองก็ได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวงด้วยเช่นกัน
อันดับ1 เกาะสุมาตรา, อินโดนีเซีย – 26 ธันวาคม 2004
แผ่นดินไหวขนาด 9.1 แมกนิจูดนอกชายฝั่งของอ่าวสุมาตราที่ระดับความลึก 30 กิโลเมตร ส่งผลให้เกิดคลื่นสึนามิที่พัดถล่มไปไกลถึง 1,300 กิโลเมตร ประมาณกันว่าสึนามิในครั้งนั้นมีความสูงถึง 50 เมตร และถาโถมเข้าไปในแผ่นดินลึกถึง 5 กิโลเมตร เหตุที่คลื่นสึนามินี้ได้รับการจัดอันดับให้มีความรุนแรงที่สุดก็เพราะภัยพิบัติในครั้งนั้นคร่าชีวิตผู้คนไปถึง 230,000 คน ในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย, ศรีลังกา, อินเดีย, ไทย หรือแม้แต่หมู่เกาะเซเชลส์ที่ตั้งอยู่ใกล้แอฟริกาก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ทั้งนี้แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นยังถือว่าเป็นแผ่นดินไหวที่มีคาบเวลายาวนานที่สุดอีกด้วยอยู่ที่ราว 8 – 10 นาที และส่งผลให้แผ่นเปลือกโลกทั้งหมดเคลื่อนตัวไป 1 เซนติเมตร
แผนภาพกราฟิกแสดงการเดินทางของคลื่นสึนามิที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2004
อันดับ2 ชายฝั่งแปซิฟิกโทโฮกุ, ญี่ปุ่น – 11 มีนาคม 2011
คลื่นสึนามิความเร็ว 800 กิโลเมตรต่อขั่วโมง ความสูง 10 เมตร เข้าถาโถมกลืนกินชายฝั่งทางตะวันออกของญี่ปุ่น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 18,000 คน สึนามิในครั้งนั้นเกิดขึ้นจากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 9 แมกนิจูด ที่ระดับความลึก 24.4 กิโลเมตร นับเป็นแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงมากเป็นอันดับ 4 เท่าที่เคยมีบันทึกมา ซึ่งนอกเหนือจากความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินแล้ว คลื่นสึนามิยังพัดถล่มโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะส่งผลให้แกนปฏิกรณ์ปรมาณูหลอมละลาย ชาวญี่ปุ่นนับแสนคนต้องอพยพจากที่อยู่อาศัย และปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวก็ยังไม่สามารถเข้าอยู่ได้เนื่องจากมีการรั่วไหลของรังสี
อันดับ3 กรุงลิสบอน, โปรตุเกส – 1 พฤศจิกายน 1755
แผ่นดินไหวขนาด 8.5 แมกนิจูดส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์สามระลอกเข้าถล่มชายฝั่งโปรตุเกสและชายฝั่งทางตอนใต้ของสเปน เชื่อกันว่าสึนามิในครั้งนั้นสูงถึง 30 เมตร แรงกระเพื่อมถูกส่งไปไกลถึง Carlisle Bay ประเทศบาร์เบโดส ในทะเลแคริบเบียน ซึ่งคลื่นได้ลดกำลังลงเหลือความสูงเพียง 1.5 เมตร ภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิที่เกิดขึ้นส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวม 60,000 คน ในโปรตุเกส, โมร็อกโก และสเปน
อันดับ4 ภูเขาไฟกรากะตัว, อินโดนีเซีย – 27 สิงหาคม 1883
สึนามิในครั้งนั้นเป็นผลพวงจากการระเบิดของภูเขาไฟกรากะตัวหลังเงียบสงบมานาน แรงระเบิดก่อคลื่นที่สูงถึง 37 เมตร พัดถล่มเกาะหลายแห่งบริเวณรอบๆ มีรายงานว่าชายฝั่งของเมืองบอมเบย์หรือมุมไบน้ำทะเลเกิดลดตัวลงอย่างฉับพลัน ซึ่งเป็นสัญญาณก่อนการเกิดคลื่นสึนามิ นอกจากนั้นยังมีรายงานผู้เสียชีวิตหนึ่งรายในศรีลังกา รวมมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 40,000 คน แต่ส่วนใหญ่แล้วเสียชีวิตจากการะเบิดของภูเขาไฟมากกว่าคลื่น
(จำเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิในอินโดนีเซีย เมื่อเดือนกันยายนปี 2018 ได้ไหม รู้หรือไม่ว่าลักษณะของภูมิประเทศมีผลให้คลื่นทวีความรุนแรงขึ้น)
อันดับ5 ทะเลเอ็นชูนะดะ (Enshunada), ญี่ปุ่น – 20 กันยายน 1498
เหตุแผ่นดินไหวขนาด 8.3 แมกนิจูด ก่อให้เกิดคลื่นสึนามิความสูง 17 เมตรเข้าพัดถล่มชายฝั่งคิอิ, มิกาวะ, ซูรูกุ และอีกหลายแห่ง ความรุนแรงของคลื่นยังส่งผลให้น้ำทะเลท่วมเข้าไปในทะเลสาบฮามานะ ในจังหวัดชิสุโอกะ ซึ่งแต่เดิมแยกจากน้ำทะเลอย่างชัดเจน นอกจากนั้นยังมีรายงานน้ำท่วมบ้านเรือนมากมาย รวมยอดผู้เสียชีวิตอย่งาน้อย 31,000 ราย
อันดับ6 ภูมิภาค Nankaido, ญี่ปุ่น – 28 ตุลาคม 1707
แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวขนาด 8.4 แมกนิจูดก่อให้เกิดคลื่นยักษ์ความสูง 25 เมตร ถาโถมเข้าใส่อ่าว Kyushyu, Shikoku และ Honshin เมืองโอซาก้า เมืองท่าที่ตั้งอยู่ทางตอนกลางของญี่ปุ่นเองก็ได้รับผลกระทบไปด้วย รวมผู้เสียชีวิต 30,000 ราย นอกจากนั้นยังมีรายงานระลอกคลื่นอีกหลายสิบลูกเข้าพัดถล่มไม่หยุดในช่วง 15.00 – 16.00 น. หลังเกิดเหตุ เชื่อกันว่าแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงจากการปะทุของภูเขาไฟฟุจิ ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นจนวันนี้ภูเขาไฟฟุจิก็ไม่เคยปะทุขึ้นอีกเลย
อันดับ7 ชายฝั่งซันริคุ, ญี่ปุ่น – 15 มิถุนายน 1896
คลื่นสึนามิความสูง 38.2 เมตร อันเป็นผลจากแผ่นดินไหวขนาด 7.6 แมกนิจูด เข้าพัดถล่มอ่าวซันริคุ ส่งผลให้บ้านเรือนมากกว่า 11,000 หลังได้รับความเสียหาย ผู้คนอีก 22,000 คนเสียชีวิต มากไปกว่านั้นยังมีรายงานว่าแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวพัดเอาคลื่นเข้ากระแทกชายฝั่งทางตะวันออกของจีนด้วย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอีก 4,000 ราย และทำลายเรือกสวนไร่นา
อันดับ8 ตอนเหนือของชิลี – 13 สิงหาคม 1868
แผ่นดินไหวขนาด 8.5 แมกนิจูด ที่มีจุดศูนย์กลางบริเวณท่าเรือเมืองเอริกาซึ่งขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของเปรู แต่ปัจจุบันเป็นของชิลี ส่งผลให้เกิดแรงสั่นสะเทือนไปยังประเทศอื่นๆ ที่ตั้งอยู่ตามแนววงแหวนแห่งไฟ ทั้งยังก่อให้เกิดคลื่นสึนามิความสูง 21 เมตร ภัยพิบัติในครั้งนั้นส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวม 25,000 ราย ความเสียหายต่อทรัพย์สินอยู่ที่ 300 ล้านดอลาร์สหรัฐ
อันดับ9 หมู่เกาะรีวกีว, ญี่ปุ่น – 24 เมษายน 1771
เชื่อกันว่าแผ่นดินไหวขนาด 7.4 แมกนิจูดคือตัวการก่อคลื่นสึนามิที่เข้าพัดถล่มหมู่เกาะรีวกีว อย่างไรก็ดีความเสียหายที่รุนแรงที่สุดเกิดขึ้นกับเกาะอิชิงากิ และเกาะมิยาโกะ แต่เดิมข้อมูลจากหน่วยงานญี่ปุ่นระบุว่าคลื่นมีความสูงถึง 85.4 เมตร แต่ภายหลังพบว่าตัวเลขดังกล่าวน่าจะเกิดจากการวัดที่ผิดพลาด เพราะคลื่นจริงๆ น่าจะสูงเพียง 11 – 15 เมตรเท่านั้น ภัยพิบัติดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 12,000 คน และบ้านเรือนอีก 3,137 หลังได้รับความเสียหาย
อันดับ10 อ่าวอิเสะ, ญี่ปุ่น – 18 มกราคม 1586
แผ่นดินไหวที่ก่อให้เกิดคลื่นสึนามิถล่มอ่าวอิเสะ ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างจังหวัดมิเอะกับจังหวัดไอชิในญี่ปุ่น ประมาณกันว่ามีความรุนแรง 8.2 แมกนิจูด ความสูงของคลื่นราว 6 เมตร สร้างความเสียหายให้แก่เมือง Nagahama ซึ่งเดิมได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวอยู่แล้ว นอกจากนั้นยังมีรายงานน้ำท่วมจากทะเลสาบ Biwa รวมจำนวนผู้เสียชีวิต 8,000 ราย
แหล่งข้อมูล
The 10 most destructive tsunamis in history
ประวัติเกี่ยวกับสึนามิที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
อ่านเพิ่มเติม