โบราณวัตถุเปิดเผยถึง “การดำเนินการทูตด้วย เบียร์” ในวันท้ายๆ ของอาณาจักรโบราณ

โบราณวัตถุเปิดเผยถึง “การดำเนินการทูตด้วย เบียร์” ในวันท้ายๆ ของอาณาจักรโบราณ

ชาววารีโบราณดื่มเบียร์ชิชาจากภาชนะที่มีการตกแต่งอย่างประณีต ในงานเลี้ยงพิธีการ ภาพถ่ายโดย KENNETH GARRETT, NAT GEO IMAGE COLLECTION

การวิจัยเกี่ยวกับแก้ว เบียร์ ที่ถูกทำลายหลังงานเฉลิมฉลองครั้งใหญ่เมื่อเกือบ 1,000 ปีก่อน แสดงให้เห็นว่าอาณาจักรวารีในเปรูจัดงานฉลองครั้งสำคัญในบริเวณชายขอบของอาณาจักรที่กำลังล่มสลายได้อย่างไร

ในราวคริสต์ศักราชที่ 1050 เหล่าชนชั้นนำที่อาศัยอยู่ใน Cerro Baúl ได้จัดงานฉลองเพื่อยุติงานฉลองทั้งมวล

Cerro Baúl เป็นเมืองอาณานิคมหน้าด่านซึ่งตั้งอยู่ ณ ชายขอบด้านใต้สุดของอาณาจักรวารี (Wari) ในบริเวณที่ปัจจุบันคือประเทศเปรู ตำแหน่งที่ตั้งบนที่ราบสูงชันและไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาตินับว่าไร้ประสิทธิภาพอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะเมื่อเมืองนี้เป็นจุดหมายของงานเฉลิมฉลองอย่างสุรุ่ยสุร่าย และการหมัก เบียร์

เป็นเวลากว่าสี่ศตวรรษที่ผู้นำวารีที่อาศัยอยู่ในเมือง Cerro Baúl ได้จัดงานฉลองร่วมกับทั้งคู่อริของพวกเขาจากอาณาจักร Tiwanaku และผู้นำท้องถิ่นที่อยู่ใต้การปกครองของอาณาจักรสำคัญทั้งสอง โดยในงานฉลองที่ว่านี้ พวกเขาชื่นชมภาพทิวทัศน์เหนือหุบเขา Moquegua พร้อมกับเอร็ดอร่อยกับอาหารอย่างหนูตะเภา ตัวลามะ และปลา และแน่นอน งานเฉลิมฉลองย่อมต้องมีน้ำเมา พวกเขาดื่มเครื่องดื่มลักษณะคล้ายเบียร์ที่เรียกว่าชิชา (Chicha) กันอย่างหัวราน้ำ ซึ่งเครื่องดื่มดังกล่าวหมักจากข้าวโพดและเม็ดพริกไทย

แต่ในงานเฉลิมฉลองครั้งหนึ่งเมื่อ 950 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่อาณาจักรวารีกำลังล่มสลาย เหล่าผู้ร่วมงานได้ปิดการเฉลิมฉลองด้วยการทำลายโรงหมักเบียร์ในสถานที่แห่งนี้

ในครั้งนั้น ชาววารีตัดสินใจอพยพออกจากเมืองหน้าด่านดังกล่าว โดยพวกเขาทำลายวิหารและวังไปก่อนหน้านี้แล้ว และเมื่อทำลายโรงหมักแห่งนี้ พวกเขาได้จุดไฟเผาและโยนภาชนะสำหรับเครื่องดื่มเข้าไปในกองเพลิง ก่อนจะกลบฝังไว้ด้วยทราย เพื่อไม่ให้ผู้ใดสามารถกลับมาใช้งานโรงหมักแห่งนี้ได้อีก แต่เป็นสิ่งนี้เองที่ทำให้มันถูกแช่แข็งด้วยกาลเวลา และกลายมาเป็นแหล่งโบราณคดีหายากสำหรับนักโบราณคดีที่ขุดค้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

เมื่อไม่นานมานี้ นักวิจัยวิเคราะห์ภาชนะเซรามิกจากงานฉลองครั้งสุดท้ายที่เมืองแห่งนี้ โดยผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Sustainability เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2019 ระบุว่า มีแนวโน้มว่าชาววารีสามารถจัดงานฉลองขนาดใหญ่ได้แม้แต่ในช่วงที่อาณาจักรกำลังล่มสลาย ด้วยการใช้วัตถุดิบในพื้นที่ในการทำเบียร์และภาชนะเครื่องดื่ม

ซากโรงหมักเบียร์อายุ 950 ปี ณ แหล่งโบราณคดีที่ Cerro Baúl ในเปรู ภาพถ่ายจาก THE FIELD MUSEUM

ดำเนินการทูตด้วยเบียร์

Cerro Baúl เป็นสถานที่ที่มีความสำคัญทางการเมืองสำหรับอาณาจักรวารี โดยศูนย์กลางทางการทูตแห่งนี้ที่ต้องใช้เวลาเดินทางทางเท้าประมาณสองถึงสามสัปดาห์จากเมืองหลวง Huari มีวิหารบางแห่งที่สร้างอุทิศให้เทพของอาณาจักรคู่แข่งอย่าง Tiwunaku เพื่อให้พวกเขาพึงพอใจ

“พวกเราทราบว่าชาววารีพยายามหลอมรวมกลุ่มผู้คนที่เดินทางมายังเมืองแห่งนี้ และหนึ่งในวิธีที่พวกเขาอาจใช้คือการจัดเทศกาลที่มีเบียร์ท้องถิ่นเป็นส่วนประกอบสำคัญ” ไรอัน วิลเลียมส์ (Ryan Williams) หัวหน้าทีมวิจัยและหัวหน้าสาขามานุษยวิทยาของพิพิธภัณฑ์ฟิลด์ (Field Museum) ในชิคาโก กล่าว

วิลเลียมส์และทีมงานประมาณการว่า โรงหมักเบียร์ที่นี่ผลิตเบียร์ได้ครั้งละ 1514 ถึง 1892 ลิตร (400 ถึง 500 แกลลอน) ซึ่งเป็นจำนวนที่มากโขสำหรับการต้มก่อนยุคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเมื่อชิชามักมีอายุการเก็บเพียงประมาณห้าวัน สิ่งนี้หมายความว่า อาจมีผู้นำหลายร้อยคนเข้าร่วมการเฉลิมฉลองในแต่ละครั้ง

งานวิจัยนี้มุ่งทำความเข้าใจวิธีต้มเบียร์และผลิตภาชนะเครื่องดื่มสำหรับงานเลี้ยงดังกล่าว นักวิจัยค้นพบว่า แม้ภาชนะที่ใช้ต้มและดื่มชิชา ซึ่งมีรูปร่างเลียนแบบเทพของวารีนี้ จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับภาชนะที่ค้นพบในเมืองหลวง พวกมันกลับถูกผลิตในพื้นที่ ด้วยดินเหนียวที่พบได้ในบริเวณเดียวกัน

“ผมเคยคิดว่าภาชนะเนื้อละเอียดพวกนี้ส่งมาจากเมืองหลวง แต่ที่จริงแล้ว ชาววารีในต่างจังหวัดสามารถเลียนแบบวิถีชีวิตในเมืองหลวงได้ด้วยตัวเอง” วิลเลียมส์กล่าวและเสริมว่า “สิ่งนี้น่าสนใจมาก เพราะบ่งชี้ว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องพึ่งพาทรัพยากรจากศูนย์กลาง นั่นทำให้พื้นที่ห่างไกลเหล่านี้มีความยืดหยุ่นกว่ามากในระยะยาว”

หมักเบียร์โบราณขึ้นมาใหม่

เซรามิกโบราณเหล่านี้มีสารเคมีตกค้างของชิชาอยู่ เมื่อนักวิจัยต้องการทราบว่าชาววารีใช้ส่วนผสมอะไรบ้างในการต้มชิชา พวกเขาจึงทำเบียร์ดังกล่าวด้วยความช่วยเหลือจากผู้หญิงในแถบตีนเขาแอนดีสซึ่งอยู่ใกล้กัน โดยหญิงผู้นี้ทราบว่าจะปรุงเครื่องดื่มที่ยังพบเห็นได้ทั่วไปในภูมิภาคนี้ขึ้นมาอย่างไร

“เป็นเรื่องยากมากๆ ที่จะรู้ได้อย่างแน่ชัดว่าสารเคมีเหล่านี้คืออะไร หากไม่มีการทดลอง” ดอนนา แนช (Donna Nash) ผู้ร่วมตีพิมพ์งานวิจัย และศาสตราจารย์ด้านโบราณคดีแห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทเเคโรไลนากรีนส์โบโร กล่าว โดยการผลิตชิชาขึ้นใหม่ในแต่ละแบทช์ ต้องใช้เวลาหนึ่งเดือนกว่ากระบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้น และเพื่อให้กระบวนการดังกล่าวใกล้เคียงกับแบบดั้งเดิมมากที่สุด ทีมงานได้เลือกใช้หม้อเซรามิกเพื่อต้ม (Boil) และหมัก (Ferment) ส่วนผสม และใช้มูลลามะเป็นเชื้อไฟ

นักโบราณคดีจำลองภาชนะเครื่องดื่มตามแบบชาววารีขึ้นใหม่จากวัสดุท้องถิ่นในเปรู เพื่อให้เข้าใจว่าพวกเขาผลิตเบียร์โบราณได้อย่างไร ภาพถ่ายจาก THE FIELD MUSEUM

การทดลองเหล่านี้ยืนยันเป็นครั้งแรกว่า ชิชาที่ผลิตที่ Cerro Baúl ทำจากข้าวโพดและ Molle ซึ่งเป็นเม็ดพริกไทยสีชมพูที่หาได้ทั่วไปในเปรู เม็ดพริกไทยดังกล่าวทำให้เบียร์มีรสชาติที่ประณีตแต่ร้อนแรง นอกจากนี้ พวกมันยังทนต่อภัยแล้ง ทำให้ชาววารีสามารถผลิตเบียร์ได้แม้ในยามขาดแคลนพืชผลที่ต้องพึ่งพาน้ำอย่างข้าวโพด กระนั้น ความละเอียดอ่อนของวัตถุดิบดังกล่าวทำให้การผลิตเบียร์อย่างถูกวิธีเพื่อให้รสชาติของมันไม่เพี้ยนเป็นเรื่องยาก

แพทริก แมคโกเวิร์น (Patrick McGovern) นักวิทยาศาสตร์จากพิพิธภัณฑ์โบราณคดีและมานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania Museum of Archaeology and Anthropology) ซึ่งศึกษาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โบราณ กล่าวว่างานวิจัยชิ้นใหม่นี้เป็นตัวอย่างของ “โบราณคดีเชิงชีวโมเลกุล (Biomolecular Archaeology) สมัยใหม่ที่ยอดเยี่ยมที่สุด ด้วยการใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่ละเอียดอ่อนกับหลักฐานทางโบราณคดีเชิงพฤกษศาสตร์ (Archeaobotanic) และเครื่องปั้นดินเผา

แนชกล่าวว่ามีข้อสังเกตว่าชิชาบางแบทช์อาจมีสารหลอนประสาทรวมอยู่ด้วย เนื่องจากมีการวาดภาพพืชที่มีฤทธิ์หลอนประสาทอยู่บนเครื่องปั้นดินเผาบางชิ้น ในการทดลองครั้งต่อๆ ไป เธอต้องการหาว่ามีสารเหล่านี้ตกค้างบนเครื่องปั้นดินเผาจากโรงหมักด้วยหรือไม่ ส่วนวิลเลียมส์กล่าวว่าพวกเขาหวังว่าการวิเคราะห์ทางดีเอ็นเอจะเปิดเผยว่าชาววารีใช้ยีสต์สายพันธุ์ใดในการทำเครื่องดื่ม

ปัจจุบัน นักวิชาการยังคงถกเถียงถึงสาเหตุที่ชาววารีอพยพออกจาก Cerro Baúl และสาเหตุที่อาณาจักรของพวกเขาล่มสลาย อย่างไรก็ตาม วิลเลียมส์คิดว่าเมืองหน้าด่านแห่งนี้ให้บทเรียนสำคัญถึงการพึ่งพาตนเองในท้องถิ่น ซึ่งเป็นบทเรียนที่สามารถนำมาปรับใช้ในปัจจุบันได้

“เรายังต้องหาคำตอบเชิงพื้นที่และเวลาว่าอาณาจักรวารีล่มสลายได้อย่างไร บางคนกล่าวว่าวารีล่มสลายราวคริสต์ศักราช 950 ส่วนการประมาณการล่าสุดของพวกเราคือราวคริสต์ศักราช 1050 ซึ่งในช่วงหนึ่งร้อยปีนั้น อาจมีบางพื้นที่ที่ยังคงรักษาธรรมเนียมของตนไว้ได้ เนื่องจากความสามารถในการพึ่งพาตนเอง ในขณะที่ส่วนอื่นๆ ของอาณาจักรกำลังล่มสลายลง”

วิลเลียมส์ทิ้งท้ายว่า ธรรมเนียมการทำเบียร์ในโลกใหม่ยังค่อนข้างถูกมองข้ามอยู่ แม้จะมีความสนใจใหม่ๆ สำหรับการทำเบียร์แบบโบราณ ท่ามกลางการปฏิวัติคราฟต์เบียร์ อย่างไรก็ตาม พิพิธภัณฑ์ฟิลด์และโรงเบียร์ Off Colour Brewing ซึ่งตั้งอยู่ในชิคาโก ได้เริ่มผลิต “วารีเอล (Wari Ale) ซึ่งมีสูตรตั้งต้นจากงานวิจัยของแนช โดยพิ้งค์เอล (Pink Ale) ที่ผสมเม็ดพริกไทยนี้จะเริ่มจำหน่ายที่ชิคาโกในเดือนมิถุนายน


อ่านเพิ่มเติม ค้นพบสุสานโบราณของกษัตริย์อาณาจักรมายา

Recommend