ชีวิตที่จำจากจรของแรงงานอพยพ

ชีวิตที่จำจากจรของแรงงานอพยพ

ลองนึกถึงภาพภาพนี้ที่สนามบินมะนิลา โถงผู้โดยสารขาเข้าคลาคลํ่าไปด้วยผู้คน ญาติสนิทมิตรสหายยืนออกันอยู่ด้านนอกพลางดันกันไปมาเพื่อจะได้เห็นผู้โดยสารคนแรกที่โผล่ออกมา นี่คือภาพเมื่อราว 13 ปีก่อน ตอนที่เทเรซากลับมาเยี่ยมบ้านครั้งแรกหลังจากหายหน้าไปสามปี

พอเธอมองเห็นน้องชายคนหนึ่ง ตามด้วยน้องชายและน้องสาวอีกสองคน แล้วยังมีบรรดาหลานชายด้วย เธอรู้สึกตกใจมากญาติทุกคนที่ไม่เคยสนใจไยดีตอนที่เธอออกจากฟิลิปปินส์ มาตอนนี้กลับนั่งอยู่ในรถที่ขอยืมมาเพื่อรับเธอกลับบ้าน ของที่วางอยู่ด้านบนสุดของรถเข็นสัมภาระที่เธอเข็นไปหา พวกเขาคือกล่องบรรจุโทรทัศน์สีเครื่องใหม่เอี่ยม

“เรามีทีวีขาวดำเล็กๆเครื่องหนึ่งที่บ้านค่ะ” เทเรซาเล่าให้ฉันฟัง “แต่ฉันบอกตัวเองว่า ‘ฉันจะซื้อทีวีขนาด 25 นิ้ว’ ฉันเห็นสีหน้าพวกเขาว่ามีความสุขมากแค่ไหนที่ได้ทีวีเครื่องนั้น”

ห้องที่ตั้งทีวีไว้เรียกว่า ซาลา หรือห้องนั่งเล่นใหญ่ของครอบครัว ได้รับการซ่อมแซมและต่อเติมให้แข็งแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยการก่อสร้างทำครั้งละเล็กละน้อย ทุกสองสามเดือนเงินที่เทเรซาโอนไปให้จะแบ่งไปใช้ซ่อมบ้าน ตอนแรกก็ซ่อมซาลา ต่อมาก็เป็นห้องครัว ตามด้วยห้องนอน “พวกเขาทำทีละเล็กละน้อยจนตอนนี้บ้านเรากลายเป็นบ้านหินไปแล้วค่ะ” เทเรซาบอก

แรงงานข้ามชาติ
ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในประเทศกาตาร์ พี่เลี้ยงเด็กรายหนึ่งกำลังเหม่อมองผ่านนายจ้าง แม้พี่เลี้ยง “นำเข้า” จำนวนมากจะเป็นมุสลิมเช่นกัน แต่ความแตกต่างทางวัฒนธรรม และการพลัดพรากจากครอบครัวและเพื่อนฝูง ก็อาจทำให้ชีวิตในต่างแดนอ้างว้างโดดเดี่ยวไม่น้อย

มีเพลงยอดนิยมภาษาตากาล็อกเกี่ยวกับแรงงานส่งเงินกลับประเทศอยู่เพลงหนึ่ง ขับร้องโดยโรเอล กอร์เตซ เมื่อ 25 ปีก่อน เป็นเพลงชื่อ “นาปากาซากิต คูยา เอ็ดดี” เทเรซาพุ่งไปที่เครื่องคอมพิวเตอร์ของเธอเพื่อเปิดยูทูบ หลังจากฉันบอกว่าไม่เคยฟังเพลงนี้ “เดี๋ยวฉันแปลให้ฟังนะคะ” เทเรซาบอก

เสียงเพลงดังขึ้น เนื้อเพลงวิ่งอยู่ด้านล่างจอ “ฉันอยู่ที่นี่ ณ ใจกลางประเทศอาหรับ และทำงานหนักยิ่ง” เทเรซาแปลระหว่างเสียงร้องอันไพเราะของกอร์เตซดังขึ้น “ในที่ซึ่งร้อนเหลือ… จนมือไม้หยาบกร้าน ผิวกายคลํ้าเกรียม”

เธอดื่มดํ่าไปกับบทเพลง ทั้งร้องคลอและแปลไปด้วย โดยพยายามบอกเป็นภาษาอังกฤษให้ทันเนื้อร้อง “ทุกครั้งที่หลับตานอน เขานึกภาวนาขอให้วันคืนผ่านไป เพื่อจะได้กลับบ้านเสียที” เธอบอก “เขาดีใจมากเวลาลูกชายเขียน จดหมายมาหา  แต่กลับต้องตกตะลึง นํ้าตารินไหล ‘พ่อจ๋า! กลับบ้านเราเถอะจ้ะ กลับมาเร็วๆ! แม่มีผู้ชายคนใหม่แล้ว!’”

พอถึงท่อนสุดท้าย  ตัวเอกในเพลงก็กลับฟิลิปปินส์ และพบว่า ลูกสองคนของเขาสูบกัญชา ส่วนภรรยามีลูกคนที่สาม แต่ไม่ใช่ลูกของเขา “เจ็บปวดเหลือเกิน พี่เอ็ดดี” เทเรซาร้องคลอเสียงดัง พลางขยับขาเขย่ากล่อมลูกน้อยที่ฟันกำลังขึ้นซึ่งนั่งบนเข่าเธอไปด้วย “เกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของฉันกันนี่” หนูน้อยหยุดร้องไห้ เทเรซาส่งลูกให้ลูอิสอุ้มต่อ ลูกวัยสามขวบอีกคนนอนแผ่หลาอยู่บนฟูก

แรงงานข้ามชาติ
ใบหน้าของเคซุส เบาทิสตา ปรากฏขึ้นในจอจากเมืองชาร์ญาฮ์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเขาทำงานเป็นช่างไฟฟ้า ส่วนลูกชายชื่อ เคซุส คูเลียน (เจ.เจ.) พูดคุยกับเขาจากอพาร์ตเมนต์หนึ่งห้องนอนที่อาศัยอยู่กับแม่และน้องชายใกล้กรุงมะนิลาเกือบตลอดเก้าขวบปีของชีวิต เจ.เจ.รู้จักพ่อในฐานะผู้หาเลี้ยงครอบครัวที่อาศัยอยู่ไกลออกไป 6,900 กิโลเมตร

อีกไม่กี่ปีข้างหน้าเมื่อเด็กทั้งสองโตจนนอนฟูกหลังนั้นไม่ได้แล้ว พวกแกจะถูกส่งตัวกลับไปอยู่ที่ฟิลิปปินส์เหมือนพี่ๆ ครอบครัวครูซมีอุปกรณ์สื่อสารสมัยใหม่ที่คนรุ่นพ่อแม่ไม่มี ทั้งโทรศัพท์มือถือพร้อมระบบส่งข้อความ เฟซบุ๊ก สารพัดโปรแกรมประยุกต์ที่ใช้ติดต่อสื่อสารถึงกันได้ทั่วโลก และคอมพิวเตอร์ที่ตอนนี้เทเรซากับลูอิสยืนอยู่ใกล้ๆ พร้อมลูกน้อยในอ้อมแขนของลูอิส

แต่ในบ่ายวันศุกร์นี้ ขณะที่ลูกสาวกับลูกชายคนโตของครอบครัวครูซโผล่หน้าขึ้นมาในหน้าต่างวิดีโอ ฉันรู้สึกได้ว่า พ่อแม่ของพวกแกคงรู้สึกชื่นใจเป็นพิเศษ เพราะท่ามกลางเสียงหัวเราะ การชี้และโบกไม้โบกมือ อย่างน้อยภายในห้องนอนอันแออัดของพวกเขา ก็ยังมีร่างเล็กๆ ที่พึ่งพาตนเองไม่ได้สองร่างอยู่ใกล้ๆให้พอได้โอบกอดคลายความคิดถึง


อ่านเพิ่มเติม โรงเรียนฝึกนางงาม เส้นทางสู่ความฝันของสาวฟิลิปปินส์

Recommend