ย้อนรอยกำเนิดคำสาป มัมมี่

ย้อนรอยกำเนิดคำสาป มัมมี่

ย้อนรอยกำเนิดคำสาป มัมมี่

ภาพยนตร์เกี่ยวกับมัมมี่มีจุดขายอยู่สองอย่าง ได้แก่ ความมั่งคั่งของทรัพย์สมบัติฟาโรห์ และคำสาปเลวร้ายที่ทำให้นักล่าสมบัติต้องพบกับจุดจบ แต่ฮอลลีวู้ดหาใช่ผู้ประดิษฐ์แนวคิดหรือความเชื่อว่าด้วยคำสาปเหล่านั้น

“คำสาปมัมมี่” เริ่มเป็นที่กล่าวขวัญถึงทั่วโลกหลังการค้นพบสุสานของฟาโรห์ตุตันคามุน ในหุบผากษัตริย์ ใกล้เมืองลักซอร์ ประเทศอียิปต์ เมื่อปี 1922 เมื่อฮาเวิร์ด คาร์เตอร์ เปิดช่องเล็กๆ เพื่อมองเข้าไปภายในสุสานและทรัพย์สมบัติที่ซุกซ่อนอยู่นานถึง 3,000 ปี เขายังจุดประกายความสนใจของคนทั่วโลกที่มีต่ออียิปต์โบราณ

ทรัพย์สมบัติระยิบระยับของฟาโรห์ตุตันคามุนเป็นข่าวพาดหัวที่โด่งดัง เช่นเดียวกับเรื่องราวอันหวือหวาเกี่ยวกับการตายของลอร์ดคาร์นาวอน ผู้ให้ทุนสนับสนุนการขุดค้นของคาร์เตอร์

ในความเป็นจริง คาร์นาวอนตายจากสาเหตุโลหิตเป็นพิษ และมีคนเพียง 6 คนจาก 26 คนที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์เปิดสุสานตุตันคามุนเสียชีวิตภายในสิบปี ส่วนคาร์เตอร์ซึ่งควรจะเป็นเป้าหมายหลักของคำสาป กลับมีชีวิตอยู่ต่อมาจนถึงปี 1939 หรือเกือบ 20 ปีหลังเขาค้นพบสุสาน

แต่แม้คำสาปฟาโรห์อาจไม่ขลังอย่างที่เชื่อกัน  แต่ก็หาได้คลายมนตร์ขลังที่สะกดความสนใจใคร่รู้ของผู้คน ซึ่งอาจเป็นต้นกำเนิดของคำสาปเหล่านั้นก็เป็นได้

 

กำเนิดคำสาป

โดมินิก มอนต์เซร์รัต นักไอยคุปต์วิทยาผู้ล่วงลับ ศึกษาค้นคว้าอย่างละเอียดและสรุปว่า แนวคิดว่าด้วยคำสาปของฟาโรห์มีจุดเริ่มต้นมาจากการแสดงบนเวทีคล้าย “ระบำเปลื้องผ้า” ครั้งหนึ่งในศตวรรษที่ 19 กลางกรุงลอนดอน

“การค้นคว้าของผมแสดงให้เห็นค่อนข้างชัดเจนว่า  แนวคิดว่าด้วยคำสาปของมัมมี่เก่าแก่กว่าการค้นพบสุสานตุตันคามุนของคาร์นาวอนและจุดจบของเขาร่วมร้อยปี” มอนต์เซร์รัตให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ Independent ของอังกฤษไม่กี่ปีก่อนหน้าเขาจะเสียชีวิต

มอนต์เซร์รัตเชื่อว่า การแสดงบนเวทีในครั้งนั้นซึ่งมีการ “เปลื้องผ้า” ที่ห่อหุ้มมัมมี่จากอียิปต์จริงๆ น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนคนแรก ตามมาด้วยคนอื่นๆ คิดพลอตและเรื่องราวเกี่ยวกับการล้างแค้นของมัมมี่

“งานวิจัยของผมไม่เพียงยืนยันว่า แนวคิดว่าด้วยคำสาปมัมมี่ไม่ได้มีต้นกำเนิดในอียิปต์ แต่ที่สำคัญกว่านั้น ยังชี้ชัดว่า แนวคิดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นหลังการประโคมข่าวการค้นพบสุสานตุตันคามุนเมื่อปี 1923” มอนต์เซร์รัต ย้ำในการให้สัมภาษณ์

ทว่าซาลิมา อิแครม นักไอยคุปต์วิทยาที่มหาวิทยาลัย American University ในกรุงไคโร และผู้รับทุนจากสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เชื่อว่า แนวคิดว่าด้วยคำสาปมีอยู่จริงในอียิปต์โบราณโดยเป็นส่วนหนึ่งของระบบรักษาความปลอดภัยยุคแรกเริ่ม

เธอชี้ว่า บนกำแพงของมัสตาบา (หลุมศพก่อนยุคพีระมิด) บางแห่งในกาซาและซักคารามี “คำสาป” จารึกอยู่จริงๆ โดยมุ่งสร้างความหวาดกลัวให้ใครก็ตามที่คิดลบหลู่หรือปล้นสุสานของกษัตริย์

“คำสาปเหล่านี้มักข่มขู่ผู้คิดลบหลู่ด้วยการลงทัณฑ์ของเหล่าทวยเทพ” อิแครมกล่าวและเสริมว่า “หรือไม่ก็เป็นการพบจุดจบจากจระเข้หรือสิงโต ไม่ก็แมงป่องหรืออสรพิษ”

 

หรือจะเป็นสารพิษจากในสุสาน

ในระยะหลัง ผู้เชี่ยวชาญบางคนชี้ว่า คำสาปของมัมมี่จริงๆแล้วอาจอธิบายได้ด้วยเหตุผลทางชีววิทยา

เป็นไปได้หรือไม่ว่า หลุมศพที่ปิดตายอาจเป็นที่อยู่ของจุลชีพก่อโรคที่เป็นอันตราย หรือแม้แต่ร้ายแรงถึงชีวิตสำหรับใครก็ตามที่เปิดสุสานนั้นๆ หลังผ่านไปนับพันๆ ปี โดยเฉพาะคนอย่างลอร์ดคาร์นาวอนที่ระบบภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

หลุมศพหรือสุสานไม่เพียงบรรจุศพคนตายและสัตว์  แต่ยังรวมถึงอาหารที่ใส่ไว้เพื่อให้ผู้วายชนม์ใช้เป็นเสบียงในชีวิตหลังความตาย

ผลการศึกษาหลายชิ้นจากห้องปฏิบัติการแสดงให้เห็นว่า มัมมี่หลายร่างมีเชื้อราซึ่งรวมถึงสายพันธุ์ Aspergillus niger และ Aspergillus flavus ซึ่งสามารถทำให้เกิดการอุดตันหรือภาวะเลือดออกในปอดได้ แบคทีเรียอื่นๆ ที่พุ่งเป้าเล่นงานปอด เช่น Pseudomonas และ Staphylococcus อาจอาศัยอยู่ตามผนังของสุสานด้วย

สิ่งมีชีวิตเหล่านี้อาจทำให้หลุมศพหรือสุสานฟังดูน่ากลัว แต่นักวิทยาศาสตร์ดูเหมือนจะเห็นพ้องกันว่า ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้น

เอฟ. เดอโวล์ฟ มิลเลอร์ ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาที่มหาวิทยาลัยฮาวาย เห็นด้วยกับความเห็นของฮาเวิร์ด คาร์เตอร์ ที่ว่า เมื่อคำนึงถึงสภาพแวดล้อมในพื้นที่ ลอร์ดคาร์นาวอนอาจจะปลอดภัยกว่าด้วยซ้ำเมื่ออยู่ภายในสุสานตุตันคามุนมากกว่าข้างนอก

มิลเลอร์บอกว่า “อียิปต์ตอนบนในยุคทศวรรษ 1920 ไม่มีอะไรที่เราพอจะเรียกได้เต็มปากว่ามีสุขอนามัยเลย ความคิดที่ว่า สุสานใต้ดินที่ปิดตายมา 3,000 ปีจะมีสิ่งมีชีวิตเล็กจิ๋วแปลกประหลาดที่สามารถฆ่าใครสักคนได้หลังผ่านไปหกสัปดาห์ และทำให้รูปการณ์ออกมาเหมือน [ภาวะโลหิตเป็นพิษ] ยิ่งไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้”

อันที่จริง มิลเลอร์บอกว่า เขาไม่เคยได้ยินว่ามีนักโบราณคดีหรือแม้แต่นักท่องเที่ยวสักคน ได้รับอันตรายหรือเจ็บป่วยจากสารพิษภายในสุสานเลย

แต่ก็คงเช่นเดียวกับภาพยนตร์เกี่ยวกับมัมมี่ที่สามารถนำกลับมาเล่าใหม่ได้ครั้งแล้วครั้งเล่า ตำนานว่าด้วยคำสาปของมัมมี่ดูเหมือนจะไม่มีวันตาย

เชื่อกันว่ามัมมี่ของตุตันคามุนคือต้นกำเนิดแนวคิดหรือตำนานว่าด้วยคำสาปของมัมมี่ แต่ต้นกำเนิดที่แท้จริงอาจมาจากการแสดงบนเวทีในลอนดอนเมื่อหนึ่งร้อยปีก่อนหน้าที่สุสานของยุวกษัตริย์พระองค์นี้จะถูกค้นพบและเป็นข่าวดังไปทั่วโลกเมื่อปี 1922 (ภาพถ่ายโดย Kenneth Garrett)

รูปสลักฟาโรห์ตุตันคามุนพบในหลุมฝังพระศพ: รูปสลักขนาดเท่าคนจริงซึ่งเชื่อว่าเป็นการจำลองพระพักตร์ของฟาโรห์ตุตันคามุน  สลักจากไม้เนื้อแข็ง ลงสี และปิดทอง นักวิชาการบางคนสันนิษฐานว่าอาจเป็นส่วนหนึ่งของหุ่นจำลอง บ้างเชื่อว่าเป็นรูปจำลองมเหสีของตุตันคามุน คนงานในภาพถือรูปสลักให้ดูราวกับว่า ฟาโรห์ตุตันคามุนกำลังทรงพระดำเนิน (ภาพถ่ายโดย Ledger Photo Service)

ภาพภายในห้องหรือคูหาชั้นนอกภายในหลุมฝังพระศพตุตันคามุน: รูปสลักที่เห็นซึ่งน่าจะเป็นองค์ฟาโรห์ยืนอารักขาระหว่างประตูทางเข้าที่ถูกปิดตาย ทางขวาสุดคือช่อดอกไม้ที่ใช้ในพิธีฝังพระศพ ด้านหน้าคือหีบที่ฝาด้านบนสลักเป็นรูปสิงโตล่าเหยื่อ  ด้านข้างเป็นรูปกษัตริย์ทรงทำสงครามกับศัตรูจากแอฟริกาและเอเชีย สิ่งที่อยู่ด้านในคือพัสตราภรณ์ หีบยาวบุผ้าลินินทางซ้ายบรรจุชุดชั้นในของกษัตริย์ รูปสลัก Halthor หรือเทพีวัวค้ำยันตั่งหรือเตียงที่ใช้ในพิธีกรรม (ภาพถ่ายโดย New York Times/Redux)

แมลงสแกรับทองคำประดับบนฉลองพระองค์: เครื่องประดับคล้ายเข็มกลัดหรือหัวเข็มขัดนี้จารึกพระนามกษัตริย์และสลักเสลาขึ้นอย่างวิจิตรจากเงินและทองคำประดับด้วยหินคาร์เนเลียน แก้วลาปิสลาซูลี และเทอร์คอยส์ สแกรับซึ่งอยู่กลุ่มแมลงปีกแข็งเป็นของศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวข้องกับสุริยเทพ ชาวอียิปต์โบราณยังใช้เป็นตราสัญลักษณ์อีกด้วย  (ภาพถ่ายโดย New York Times/Redux)

รูปสลักขนาดเท่าพระองค์จริงรูปหนึ่งของฟาโรห์ตุตันคามุนยืนเฝ้าประตูทางเข้าสู่ห้องฝังพระศพ:  รูปสลักนี้ทำจากไม้เนื้อแข็งทาทับด้วยสีดำ  เครื่องประดับศีรษะ คอเสื้อ ปลอกแขนและข้อมือ ตลอดจนไม้เท้าปิดทอง ส่วนรองเท้า (แตะ) ทำจากทองคำ บนหน้าผากทำเป็นรูปงูเห่าประดับสำริดและทองคำ  เบ้าตาและคิ้วทำจากทองคำ ลูกตาและรูม่านตาทำจากหินอะราโกไนต์และหินออบซิเดียน ตามลำดับ (ภาพถ่ายโดย New York Times/Redux)

มัมมี่ของยูยาได้รับการเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์อียิปต์ในกรุงไคโร (ภาพถ่ายตีพิมพ์ปี 1923) เป็นมัมมี่ที่อยู่สภาพดีที่สุดร่างหนึ่งเท่าที่ค้นพบ  ยูยาคือบิดาของราชินีไทยี พระมารดาของฟาโรห์นอกรีตพระนามว่า อเคนาเตน (ภาพถ่ายโดย Earle Harrison)

เรื่อง  ไบรอัน แฮนด์เวิร์ก

 

อ่านเพิ่มเติม

ตุตันคามุน : ย้อนรอยการค้นพบสุสานฟาโรห์ผู้โด่งดัง

 

Recommend