ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและ ปาเลสไตน์

ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและ ปาเลสไตน์

ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ กินเวลานานนับร้อยปี เพื่อแย่งชิงดินแดนอันศักสิทธิ์ที่ต่างฝ่ายต่างอ้างความเป็นเจ้าของ

อิสราเอล, ปาเลสไตน์, สงคราม, ความขัดแย้ง, การโจมตี
ภาพถ่าย Sander Crombach / Unsplash

จุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง ปาเลสไตน์

ย้อนกลับไปในปี 1922 เมื่อจักรวรรดิออตโตมันพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 ดินแดนที่พวกเขาเคยครอบครองได้ตกเป็นของอังกฤษ และถูกตั้งชื่อว่า ปาเลสไตน์  พื้นที่แห่งนี้มีนครเยรูซาเล็มที่เป็นเมืองศักสิทธิ์ของคนทั้งสามศาสนาได้แก่ยูดาห์ คริสต์ และอิสลาม

อังกฤษที่เคยรับปากชาวยิวว่า หากช่วยพวกเขาชนะสงครามจะมอบดินแดนแห่งนี้ให้ และเมื่อชนะสงคราม อังกฤษได้ทำตามสัญญานั้น และชาวยิวจึงเดินทางอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนแห่งพันธสัญญานี้ ท่ามกลางความไม่พอใจของชาวปาเลสไตน์ ที่อาศัยอยู่มาก่อนแล้วในสมัยจักรวรรดิออตโตมันยังคงปกครองอยู่ นี่คือจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งของคนทั้งสองกลุ่ม

ชาวยิวได้อ้างว่านี่คือแผ่นดินของพวกเขา ดินแดนที่พระเจ้าประทานให้ตามพระคัมภีร์ แต่ชาวปาเลสไตน์ที่เป็นชาวอาหรับก็โต้แย้งว่า นี่คือดินแดนของพวกเขาเช่นกัน ซึ่งพวกเขาอาศัยอยู่มานานหลายร้อยปีแล้ว เมื่อไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยการพูดคุย ความรุนแรงจึงเกิดขึ้น ทั้งสองกลุ่มจึงต่อสู้กันมาตลอดหลายสิบปีจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 (ปี 1939) ชาวยิวทั่วยุโรปได้หลบหนีการฆ่าล้างเผ่าพันธ์จากนาซีและเดินทางสู่ดินแดนศักสิทธิ์แห่งนี้

อิสราเอล, ปาเลสไตน์, สงคราม, ความขัดแย้ง, การโจมตี
ภาพถ่าย Chuttersnap / Unsplash

การก่อตั้งประเทศอิสราเอล

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองจบลง องค์การสหประชาติ หรือยูเอ็น ถูกตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติ และในปี 1947 ยูเอ็นได้มีมติให้แบ่งดินแดนปาเลสไตน์แห่งนี้ออกเป็นสองส่วนคือ หนึ่ง รัฐของชาวยิว และอีกส่วนคือรัฐของชาวอาหรับ อีกทั้งกำหนดด้วยว่า นครเยรูซาเล็มเป็นเมืองที่ไม่ตกอยู่ในความครอบครองใครไม่ว่าจะยิวหรืออาหรับ เป็นดินแดนที่เป็นกลาง

วันที่ 14 พฤษภาคม ปี 1948 ชาวยิวจึงประกาศเอกราชตั้งดินแดนของตัวเองขึ้นและใช้ชื่อว่า “อิสราเอล” แน่นอนว่าชาวอาหรับไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง โดยให้เหตุผลว่า พวกเขาอาศัยอยู่มานานหลายร้อยปี แต่บ้านของพวกเขากลับต้องยกให้คนอื่นโดยที่พวกเขาไม่สิทธิในการตัดสินใจใด ๆ เลย

ความขัดแย้งได้กลายเป็นสงครามเมื่อประเทศอาหรับอื่น ๆ ได้เข้าร่วมสงครามการขับไล่อิสราเอลออกจากดินแดนแห่งนี้ อียิปต์ เลบานอน จอร์แดน ซีเรีย และซาอุดิอาระเบีย พร้อมกับชาวอาหรับในปาเลสไตน์ทำสงครามกับอิสราเอล แต่สุดท้ายแล้วกลับพ่ายแพไปอีกทั้งยังต้องเสียดินแดนปาเลสไตน์เพิ่มเติม

อย่างไรก็ตามมีพื้นที่บางส่วนที่ชาติอาหรับได้เข้าควบคุมคือ เขตเวสต์แบงก์ ทางทิศตะวันออก ที่เป็นของจอร์แดน และกาซา ทางทิศตะวันตก เป็นของอียิปต์ ทั้งสองพื้นที่ได้กลายเป็นเขตกันชนระหว่างอิสราเอลกับชาติอาหรับ เมื่อชาวปาเลสไตน์ดั้งเดิมแทบจะไม่มีพื้นที่อยู่ พวกเขาจึงตั้งองค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์หรือ PLO เพื่อต่อสู้แบบกองโจรกับอิสราเอลเรื่อยมา

อิสราเอล, ปาเลสไตน์, สงคราม, ความขัดแย้ง, การโจมตี
ภาพถ่าย Timon Studler / Unsplash

สงครามหกวัน

จนกระทั่งปี 1967 สงครามครั้งใหญ่ได้ปะทุขึ้นอีกครั้ง เมื่ออิสราเอลไม่พอใจที่ชาติอาหรับรอบข้างให้การสนับสนุนองค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ ชาติอาหรับรอบข้างทั้งหมดจึงรวมพลทหารเพื่อเข้าร่วมรบ ซึ่งมีจำนวนกำลังพลมากกว่าอิสราเอล 10 เท่า สงครามครั้งนี้มีชื่อว่า “สงครามหกวัน” อิสราเอลใช้เวลาเพียงหกวันจัดการกองกำลังของชาติอาหรับ ความเสียหายนี้ส่งผลให้อาหรับต้องพ่ายแพ้ และสูญเสียดินแดนกาซาและเวตส์แบงก์ไป

หลังจากนั้น อิสราเอลได้ขับไล่ชาวปาเลสไตน์เดิมออกจากพื้นที่อย่างเด็ดขาด ท่ามกลางเสียงขัดแย้งจากนานาประเทศ กลุ่มปลดปล่อยปาเลสไตน์ หรือ PLO ได้เสื่อมอำนาจลง และกลุ่มฮามาสได้เข้ามาแทนที่ ในขณะที่ PLO พยายามเจรจากับอิสราเอลอย่างสันติหลังจากความพ่ายแพ้ในสงคราม กลุ่มฮามาสกลับใช้วิธีการที่รุนแรงแทน และไม่ยอมเจรจาตกลงใดๆ อย่างเด็ดขาด อิสราเอลและปาเลสไตน์จึงมีเหตุความรุนแรงเรื่อยมา

อิสราเอล, ปาเลสไตน์, สงคราม, ความขัดแย้ง, การโจมตี
ภาพถ่าย Ehimetalor Akhere Unuabona / Unsplash

กลุ่มฮามาสเป็นผู้นำ

ในปี 2006 เมื่อกลุ่มฮามาสได้ชนะการเลือกตั้งภายในของปาเลสไตน์จึงเกิดความขัดแย้งภายในที่เป็นสงครามกลางเมืองที่มีชื่อว่า “สงครามแห่งฉนวนกาซา” และชัยชนะเป็นของกลุ่มฮามาสที่พร้อมจะโจมตีอิสราเอลต่อไปจนถึงปัจจุบัน

จนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา การปะทะระหว่างชาวปาเลสไตน์และตำรวจรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อทางตำรวจอิสราเอลได้ใช้กระสุนยาง พร้อมระเบิดแสง โจมตีใส่ชาวปาเลสไตน์ที่กำลังประกอบพิธีในมัสยิด และชาวปาเลสไตน์ได้ตอบโต้ด้วยการขว้างหิน เหตุการณ์ความวุ่นวายนี้ทำให้ชาวปาเลสไตน์บาดเจ็บอย่างน้อย 305 คน และตำรวจอิสราเอลบาดเจ็บ 21 ราย แน่อนว่าสร้างความไม่พอใจต่อกลุ่มฮามาส

พวกเขาจึงตอบโต้ด้วยการยิงจรวดกว่า 1,600 ลูกไปยังอิสราเอลจนเกิดเหตุการณ์การปะทะรุนแรงในที่สุด และเกรงว่าจะรุนแรงขึ้นไปอีกเมื่อทั้งผู้นำของอิสราเอลและกลุ่มฮามาสต่างยืนยันว่าจะไม่ถอยและฝั่งตรงข้ามต้องชดใช้อย่างสาสม

ภาพถ่าย Badwanart0 / Pixabay

ไม่มีท่าทีว่าจะจบ

ความขัดแย้งที่มีมานับร้อยปีเพื่อแย่งชิงดินแดนอันศักดิ์สิทธิที่ต่างฝ่ายต่างอ้างตัวเป็นเจ้าของ โดยทำทุกวิธีทางเพื่อได้มาแม้แต่ความรุนแรงและการทำลายโดยไม่มีท่าทีว่าจะจบลงในอนาคตอันใกล้ แล้วชัยชนะคือะไรกันแน่เมื่อรางวัลที่ได้รับ คือบ้านเมืองที่เต็มไปด้วยการสูญเสีย และซากปรักหักพัง

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย

ข้อมูลอ้างอิง
https://www.history.com/topics/middle-east/palestine
https://www.npr.org/2021/05/16/997259390/the-history-behind-tensions-between-israel-palestine
https://www.bbc.com/news/newsbeat-44124396
https://www.britannica.com/event/Arab-Israeli-wars
https://www.nytimes.com/times-journeys/travel/israeli-palestinian-dialogue/


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เส้นพิพาทเหนือขุนเขา อินเดีย-ปากีสถาน บนสมรภูมิที่สูงที่สุดบนโลก

อินเดีย-ปากีสถาน

Recommend