ฟื้นวิถี “ลำพูน” สู่ความเป็นไปได้ใหม่กับ Lamphun City Lab

ฟื้นวิถี “ลำพูน” สู่ความเป็นไปได้ใหม่กับ Lamphun City Lab

ปลุก “ลำพูน” สู่ความสร้างสรรค์ ผ่านผลิตภัณฑ์ เทศกาล และเศรษฐกิจหมุนเวียน

เมื่อนวัตกรรมเข้ามาจับกับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นได้อย่างถูกที่ถูกทาง เมื่อนั้นโอกาสใหม่ๆ ก็จะเกิดขึ้น แม้แต่ในเมืองเก่าที่เคยเงียบเหงามานานอย่าง “ลำพูน” วันนี้ได้นำนวัตกรรมมาพัฒนาเมืองจนเกิดเป็นรูปลักษณ์ใหม่ที่ทันสมัย แต่ยังคงความมีเสน่ห์ของเมืองเก่าไว้ได้ครบทุกมิติ

ถ้าพูดถึงจังหวัดลำพูน คนส่วนใหญ่คงนึกถึงเมืองเล็ก ๆ ที่เงียบนิ่ง เป็นเมืองทางผ่านไปสู่จังหวัดเชียงใหม่ น้อยคนจะสนใจแวะเที่ยวในตัวเมืองลำพูน และดูเหมือนเป็นเมืองนอกสายตานักท่องเที่ยวมาโดยตลอด ทั้ง ๆ ที่ พื้นที่เมืองเก่าแห่งนี้มีมรดกทางวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่ด้อยไปกว่าเมืองท่องเที่ยวอื่นในไทย

ผ้ายกดอก ลำพูน ลิซ่า blackpink

ไม่ว่าจะเป็น “ผ้าทอมือ” ที่มีเอกลักษณ์งดงามที่สุดของภาคเหนือ ยืนยันได้จากชุดไทยที่ทำจาก “ผ้าไหมยกดอกลำพูน” ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI (ผลิตภัณฑ์ที่บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) ซึ่ง “ลิซ่า Blackpink” ใช้สวมใส่ในมิวสิกวิดิโอเพลง LALISA นอกจากนี้ยังมี “เก้าอี้แขนอ่อน” งานคราฟท์เฟอร์นิเจอร์ไม้สักสุดฮิตในหมู่นักแต่งบ้าน และ “ผ้าปักลายไทลื้อ” ซึ่งมีต้นกำเนิดจากชาวไทลื้อที่มาตั้งรกรากในจังหวัดลำพูนมาช้านาน ที่ผ่านมามรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้ไม่ได้รับการเหลียวมองเท่าที่ควร

เก้าอี้แขนอ่อน ลำพูน ผ้าปักลายไทลื้อ

แต่วันนี้เมืองลำพูนได้สลัดภาพจำเก่า ๆ และจะไม่ใช่เมืองที่เงียบงันอีกต่อไป เมื่อมีคนกลุ่มหนึ่งมองเห็นในคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมเหล่านั้น จึงรวมตัวกันก่อตั้ง “Lamphun City Lab” ขึ้นมาโดยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูเมืองลำพูน โดยการนำเอานวัตกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์เข้ามาผสมผสานกับวิถีชุมชนดั้งเดิม ซึ่งสร้างโอกาสการหารายได้ช่องทางใหม่ๆ ให้แก่คนในชุมชน เกิดเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ชุมชนอยู่รอดได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน

คุณอัญ – อัญมณี มาตยาบุญ สถาปนิกชาวลำพูน และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Lamphun City Lab เล่าว่า Lamphun City Lab คือหน่วยงานด้าน Social Enterprise ที่มีเป้าหมายหลักเพื่อฟื้นฟูเมืองลำพูนให้เป็นเมืองสร้างสรรค์และน่าอยู่ อีกทั้งส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่คนลำพูน โดยใช้นวัตกรรมทางสังคมต่างๆ เข้ามาใช้พัฒนาเมืองควบคู่ไปกับการอนุรักษ์วิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น

ก่อนหน้าที่จะมาเป็นองค์กร Lamphun City Lab อย่างเป็นทางการนั้น ทีมงานเคยทำโปรเจกต์เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างงานเทศกาลสายน้ำแห่งวัฒนธรรม “River Festival Lamphun” ในช่วงเทศกาลลอยกระทง และเทศกาล Lighting ริมแม่น้ำกวง ซึ่งถือว่าเป็นงานใหญ่ที่สร้างอิมแพคให้ผู้คนสนใจได้อย่างดี โดยไม่ได้จ้างออแกไนซ์ข้างนอกเลย จัดทำโดยคนลำพูนดึงทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดงานจนประสบความสำเร็จ

เทศกาล ริมแม่น้ำ ลำพูน

หลังจากนั้น ก็เกิดกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างอื่นตามมาเรื่อย ๆ และเริ่มมีความร่วมมือกับทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนในหลายหน่วยงาน จนในที่สุดกลายมาเป็น Lamphun City Lab อย่างเป็นทางการโดยเปิดสำนักงานกลางเมืองลำพูดเมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา

จากความสำเร็จดังกล่าว Lamphun City Lab จึงถูกชวนให้มาเผยแพร่องค์ความรู้เหล่านั้นในงาน SUSTAINABILITY EXPO 2022 มหกรรมด้านความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 26 ก.ย. – 2 ต.ค. 65 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยในงานนี้ Lamphun City Lab ได้เข้าร่วมทั้งในส่วนของ Exhibition และ Marketplace ภายในโซน Sustainable Living ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานเอ็กซ์โปดังกล่าว โดยได้นำเสนอโปรเจกต์ใหม่ล่าสุดอย่างการผลิต “โคมลอย” จากขวดพลาสติก PET เพื่อนำมาใช้ในเทศกาล “โคมแสนดวง” ซึ่งเป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวลำพูน

โปรเจกต์นี้เกิดจากแนวคิดที่อยากต่อยอดศิลปวัฒนธรรมของเมืองลำพูน ในแง่มุมของการถวายโคมลอยเป็นพุทธบูชาในช่วงเทศกาลลอยกระทง โดยเลือกใช้ขวด PET มาทดแทนวัสดุดั้งเดิม เพื่อเป็นการลดขยะในชุมชน นำมารีไซเคิลเพื่อหมุนเวียนใช้ต่อให้เกิดประโยชน์ อีกทั้ง “งดการลอยโคมขึ้นฟ้า” แล้วใช้การ “แขวนโคม” ที่วัดแทน เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ และไม่เป็นการรบกวนเขตการบินของสนามบินที่อยู่ใกล้เคียงอีกด้วย

พลาสติก รีไซเคิล เส้นใย ผ้า โคมไฟ

“หัวใจหลักของโปรเจกต์นี้คือ เทศบาลลำพูนต่อยอดเทศกาลที่มีอยู่แล้ว ให้ผู้คนในชุมชนเทศบาลเมืองลำพูนทำโคมด้วยตัวเอง แล้วนำมาขายให้เทศบาล จากนั้นเทศบาลก็ขายต่อให้นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวในงานเทศกาลโคมแสนดวงของลำพูน ซึ่งจะเพิ่มรายได้เข้าสู่ชุมชน เกิดเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนในท้องถิ่น โดยมีเจ้าภาพการจัดงานคือเทศบาล” ตัวแทนของ Lamphun City Lab กล่าว

สำหรับขวด PET ที่จะกลายร่างเป็นโคมลอยนั้น จะถูกนำไปผ่านกระบวนการย่อยให้เป็นเม็ดพลาสติกจิ๋วขนาด 5 มิลลิเมตรก่อน จากนั้นก็จะถูกยืดให้เป็นเส้นด้าย แล้วนำมาทอเป็นผืนผ้าพร้อมตัดเย็บและติดบนโครงไม้ไผ่ ตามด้วยการติดกระดาษเงินกระดาษทองลวดลายต่าง ๆ จนได้ออกมาเป็นโคมเหมือนของดั้งเดิมแต่เพิ่มเติมคือใช้วัสดุรีไซเคิลเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

โคมลอยศิลปะเมืองลำพูนจากขวด PET ดังกล่าวจะถูกนำมาจัดแสดงที่งานนิทรรศการ Sustainability Expo 2022 แสดงให้เห็นทิศทางการพัฒนาเมืองลำพูนสู่ความเป็นไปได้ใหม่ เริ่มจาก “Lamphun Circular Model” ตัวอย่าง การออกแบบกระบวนการที่เชื่อมโยงศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต และการมีส่วนร่วมจากชุมชน เพื่อรักษาอัตลักษณ์ของท้องถิ่นไปพร้อมกับกระจายรายได้กลับสู่ชุมชนไปพร้อมกัน

 


อ่านเพิ่มเติม

กรุงโซล กับเคล็ดลับการสร้างเมืองที่คนรัก ทั้งต่อผู้คนในพื้นที่ และผู้คนทั้งโลก

กรุงโซล เกาหลีใต้ คนขี่จักรยาน ทางเดิน

Recommend