ตำนาน ซานตาคลอส อาจเกี่ยวข้องกับเห็ดประสาทหลอน จริงหรือไม่?
มีทฤษฎีหนึ่งที่เคยแพร่หลายระบุว่า เห็ดชื่อว่า ‘อะมานิตา มัสคาเรีย’ ที่สร้างอาการประสาทหลอนให้กับผู้ที่กินมันเข้าไป อาจเป็นต้นกำเนิดถึงสีแดงสดและสีขาวอันเป็นเอกลักษณ์ของ ซานตาคลอส แต่เรื่องนี้มีความจริงมากน้อยแค่ไหน?
เรื่องราวตามตำนาน
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีทฤษฎีหนึ่งที่อ้างว่า ซานต้า หรือซานตาคอลส แท้จริงแล้วนั้นเป็นหมอผีชาวซามี (Sámi) ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองของซัปมี (Sápmi หรือคนทั่วไปรู้จักกันในชื่อแลปแลนด์) ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของแถบสแกนดิเนเวียน
โดยตำนานระบุว่า : หมอผีชาวซามีได้เก็บเห็ด ‘อะมานิตา มัสคาเรีย’ (Amanita muscaria) ขึ้นมา จากนั้นทำมันให้แห้งแล้วมอบมันเป็นของขวัญให้กับชาวบ้านผ่านด้านบนเพดานของกระท่อมในวันเหมายัน โดยเห็ดชนิดนี้รู้จักกันไปทั่วว่าสามารถสร้างอาการประสาทหลอน ในขณะเดียวกันชาวซามีที่เป็นคนเลี้ยงกวางเรนเดียร์อยู่แล้วก็ได้กินเห็ดที่หมอผีนำมามอบให้
พวกเขาจึงจินตนาการไปได้ว่ากวางเรนเดียร์บินได้ หรือหมอผีเดินทางไปทำภารกิจโดยมีกวางเรนเดียร์เป็นผู้นำทาง ในอีกทางหนึ่ง บางทฤษฎีเชื่อว่าหมอผีใช้กวางเรนเดียร์เป็นผู้ล้างพิษของเห็ด โดยป้อนให้กวางเรนเดียร์แล้วกินปัสสาวะของพวกมัน บางคนเชื่อว่าหมอผีจะสวมชุดสีแดง และห่อของขวัญด้วยสีแดงขาวพร้อมกับวางมันไว้ใต้ต้นคริสต์มาส เพื่อเลียนแบบเห็ดที่เติบโตใต้ต้นไม้
แต่ซานต้าได้รับแรงบันดาลใจจากหมอผีชาวซามีจริง ๆ หรือ?
“เรื่องราวของซานต้าที่โผล่ออกมาจากประเพณีซามินิกของชาวซามีมีข้อบกพร้องหลายประการ” ทิม แฟรนดี (Tim Frandy) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านนอร์ดิกศึกษาจากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย และหนึ่งในสมาชิกชุมชนที่สืบเชื้อสายซามีในอเมริกาเหนือกล่าว “ทฤษฎีนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากชาวซามีว่าเป้นการอ่านวัฒนธรรมซามีที่เกิดขึ้นแบบเหมารวม”
เพื่อดูว่าเรื่องนี้มีความจริงมากน้อยแค่ไหน แฟรนดีจึงพิจารณาประวัติศาสตร์ของประเพณีกลางฤดูหนาวของชาวซามี ซึ่งเขาระบุว่าช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่ต้องซ่อนตัวจากสิ่งชั่วร้ายนามว่า ‘สตาลลู’ (stállu) ที่น่าสะพรึงกลัวของชนเผ่า มันจะคอยดูดวิญญาณแห่งชีวิตของชาวซามีด้วยท่อเหล็ก และสตาลลู มักจะออกล่าอย่างกระตือรือร้นมากที่สุดในช่วงคริสต์มาส
เพื่อความปลอดภัย ชาวซามีจึงต้องมีมาตรการป้องกัน เช่น ให้ทุกคน รวมถึงเด็ก ๆ อยู่อย่างเงียบ ๆ ในกองไม้อย่างเรียบร้อย และจัดเตรียมน้ำให้สตาลลูดื่มแทน “ธรรมเนียมเหล่านี้ไม่ได้น่ายินดีหรือสนุกสนาน” แฟรนดีตั้งข้อสังเกต “ชาวซามีและชาวนอร์ดิกทางตอนเหนือทั้งหมดต่างมีประเพณีที่แตกต่างจากซานต้ามาก นี่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่ามีบางอย่างผิดปกติกับทฤษฎีนี้ “
ต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 1950 ประเพณีของชาวนอร์ดิกอย่าง ‘ยูลทอลเท็น’ (Jultomten) ซึ่งเป็นเอลฟ์คริสต์มาสได้เข้ามาแทนที่สตาลลูในกลุ่มชาวซามีส่วนใหญ่ เรื่องราวการหลีกเลี่ยงสิ่งชั่วร้ายจึงค่อย ๆ เลือนหายไป นอกจากนี้แฟรนดียังได้หักล้างองค์ประกอบอื่น ๆ ของทฤษฎีซานต้าเกิดจากเห็ดประสาทเหลอนเพิ่มเติม
เช่นเห็ด อะมานิตา มัสคาเรีย ถูกใช้ส่วนใหญ่ในไซบีเรียเพื่อเป็นยาเปลี่ยนความคิด แต่ไม่มีหลักฐานว่าหมอผีชาวซามีใช้เห็ดชนิดนี้จริง ๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วหมอผีมักใช้ดนตรี เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือความเจ็บปวดในการกระตุ้นให้เกิดความมึนงง อีกทั้งยังมีหลักฐานจากแหล่งโบราณคดีน้อยมากที่บ่งบอกถึงความเกี่ยวข้องนี้
“ตอนที่ผมเติบโตขึ้นมาในฟินแลนด์ สวีเดน และซามี ผมไม่เคยได้ยินเรื่องความเกี่ยวข้องระหว่างเห็ดกับคริสต์มาสมาก่อนเลย” แฟรนดีบอก “จนกระทั่งอิเกียเริ่มขายของประดับตกแต่งต้นคริสต์มาสที่เป็นเห็ด โดยในซัปมี เห็ดเหล่านี้จะเกิดขึ้นในเดือนกันยายน และหายไปภายใต้หิมะในเดือนธันวาคม”
แล้วอะไรเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดเรื่องราวของซานตาครอสจริง ๆ ?
เพื่อเฉลิมฉลองวันเหมายัน ชาวโรมันโบราณได้จัดงานเลี้ยงเพื่อเป็นเกียรติแก่เด็ก ๆ ในขณะที่ชาวนอร์สเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสด้วยการแต่งกายชุดที่
แปลกตาและเดินทางไปพร้อมกับของขวัญจากบ้านหนึ่งไปอีกบ้านหนึ่ง
อิทธิพลซานต้าที่ชัดเจนที่สุดอาจจะเป็นของชาวดัตช์ในชื่อว่า ‘ซินเตอร์คลาส’ (Sinterklaas) ซึ่งเป็นชายชราในชุดคุลมสีขาวแดงที่คอยติดตามพฤติกรรมของเด็ก ๆ จากระยะไกลด้วยการขี่ม้าขาวไปบนหลังคาบ้าน พร้อมกับทิ้งของขวัญไว้ในรองเท้าของพวกเขา
อันที่จริงแล้วซินเตอร์คลาสนั้นมาจากบุคคลที่มีอยู่จริงนั่นคือ นักบุญนิโคลาส (St. Nicholas) หรือ ‘นิโคลอส แห่งไมรา (Nikolaos of Myra ; ปัจจุบันคือเมืองหนึ่งในตุรเคีย) โดยชายผู้นี้เป็นบิชอบชาวกรีกในคริสจตจักรยุคแรกที่มีชื่อเสียงด้านความมีน้ำใจ และชอบปกป้องเด็ก ๆ
ตามที่ มาเรีย เคนเนดี (Maria Kennedy) ผู้อำนวยการร่วมของเทศกาลพื้นบ้านนิวเจอร์ซี และผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านอเมริกันศึกษาที่มหาวิทยาลัยรัทเจอร์ กล่าวว่า “การเปลี่ยนให้นักบุญนิโคลาสที่นับถือศาสนาคริสต์เป็นเอลฟ์พื้นบ้านนั้นเป็นผลมาจากอิทธิพลซึ่งทับซ้อนกันของประเพณีชาวคริสต์และคนนอกรีต (ที่ไม่ได้นับถือคริสต์) จำนวนมากที่อยู่ในช่วงกลางฤดูหนาว จากจักรวรรดิโรมัน ไปยังประเทศนอร์ดิก จากนั้นก็ไปยังอเมริกาและที่อื่น ๆ”
ในอเมริกา เรื่องราวของซานต้าเกิดขึ้นในปี 1822 จากการตีพิมพ์บทกวีของ คลีเมนท์ คลาร์ก มอร์ (Clement Clarke Moore) ในเรื่อง ‘An Account of Visit from St. Nicholas’ โดยบรรยายสองบรรทัดแรกว่า ‘สองคืนก่อนคริสต์มาส’ ไม่เพียงเท่านั้น นักวาดภาพประกอบ โธมัส แนสต์ (Thomas Nast) ได้วาดภาพซานต้าซึ่งเพิ่มรายละเอียดเข้าไปว่าอยู่ที่ขั้วโลกเหนือ มีผู้ช่วยเป็นเอลฟ์ และชอบการทำของเล่น แนสต์ยังวาดซานต้าให้เป็นชายร่างใหญ่ร่าเริง แทนที่จะเป็นเอลฟ์ร่างเล็กอีกด้วย
การขาดหลักฐานสนับสนุนอย่างต่อเนื่องของทฤษฎีซานตาคลอสจากเห็ดเมา ทำให้เรื่องราวเหล่านี้ค่อย ๆ จางหายไปจากระแสหลัก “ผมไม่เคยได้ยินชาวซามีบอกว่าเรื่องนี้มีความน่าเชื่อถือเลย มันเป็นเรื่องราวที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยบุคคลภายนอก ที่รวบรวมองค์ประกอบของวัฒนธรรมซามี และเปลี่ยนมันให้เป็นสิ่งที่พวกเขาคิด” แฟรนดีอธิบาย
พร้อมกับเสริมว่า “ผมเคยเห็นสำนักข่าวใหญ่ ๆ หลายแห่งบอกเล่าเรื่องราวนี้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา” เขาตั้งข้อสังเกต “สิ่งที่น่าหนักใจที่สุดคือ ไม่มีใครปรึกษาชาวซามีอย่างเหมาะสมเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของเรื่องราวเหล่านี้”
แต่เรื่องราวแปลกประหลาดนี้ก็มักเป็นที่ชื่นชอบของใครหลายคน มันจึงยังถูกเล่าต่อมาเรื่อย ๆ “ในฐานะนักคติชนวิทยา ผมรู้ว่าผู้คนชอบเรื่องราวดี ๆ ชอบคำอธิบายทางประวัติศาสตร์ที่สะดวก และน่าดึงดูดใจว่าทำไมสิ่งต่าง ๆ จึงมีอยู่เหมือนทุกวันนี้ แต่ปัญหาก็คือเรื่องราวเหล่านั้นมักจะบดบังความจริงทางประวัติศาสตร์”
ชาวซามีได้ประท้วงการใช้มรดกทางวัฒนธรรมของตนเองให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอย่าง ‘หมู่บ้านซานต้า’ บนที่ดินของพวกเขา ซึ่งถูกผลักดันโดยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวฟินแลนด์ ดังนั้นการเชื่อมโยงอดีตของพวกเขาเข้ากับตำนานซานตาคลอสจึงเป็นการใช้ประโยชน์ที่พวกเขาไม่ต้องการ
“การจัดสรรประเภทนี้ชวนให้นึกถึงประวัติศาสตร์อันยาวนาน ของการใช้มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของชาวซามีในทางที่ผิดผ่านความเป็นเจ้าอาณานิคม โดยไม่มีการใช้เวลาทำความเข้าใจว่าเรื่องราวเหล่านี้ว่ามีความหมายอย่างไรในบริบทของชาวซามี” แฟรนดีกล่าว “มันเป็นรูปแบบหนึ่งของการล่าอาณานิคม”
ประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของซานต้าเกี่ยวข้องกับความแปลกประหลาดมากมาย แต่ทำไมจึงต้องขโมยและบิดเบือนวัฒนธรรมของผู้อื่นเพื่อพยายามทำให้มันมหัศจรรย์ยิ่งขึ้นกันเล่า?
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล