ตลอดเวลาที่อยู่ในดงควัน การตามหามือเพลิงเป็นเรื่องยากที่สุด ผมทำได้ใกล้ที่สุดคือเฉียดไปถึงกองไฟที่เพิ่งจุดใหม่ๆ ไม่มีใครยอมปริปากหรือพาผมไปร่วมเผาด้วยสักคน การเผาในช่วงต้องห้ามถือเป็นความผิดร้ายแรงและเป็นคดีอาญา ประเด็นเปราะบางนี้กลายเป็นข้อพิพาทระหว่างทางการกับชาวบ้าน ณพปกร วัฒนสัตย์ หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่า “มือเผาไม่ใช่ใครหรอกครับ ชาวบ้านเขารู้กันดี แต่อย่างว่าคนพวกนี้เขารับบท ‘ฮีโร่จำเป็น’ ครับ” เขาหมายถึงใครเป็นคนเผาป่า มักได้รับการปกป้องจากชาวบ้าน
ในบรรดาทีมงาน “เสือไฟ” ผมพบกับจรัญ ปาเวียงมูล หนุ่มใหญ่วัย 50 ปี เจ้าของไร่กะทกรกพันธุ์ดีที่มารับจ้างดับไฟป่าเป็นปีแรก เขาทบทวนความจำถึงชีวิตวัยหนุ่มเมื่อครั้งยังอยู่กับป่าว่า เขาเองก็เคยเป็นมือเพลิงเหมือนชาวบ้านคนอื่น ๆ แต่ทุกวันนี้เลิกเด็ดขาด เขาบอกว่า เปลวเพลิงและควันจะไล่แมลงที่อยู่ในดงไม้ออกมาบรรดาสารพัดนกจะโฉบมากินแมลงเหล่านี้ และตกเป็นเป้ากระสุนให้พรานยิงได้ง่ายๆ “ผมถามหน่อยเถอะครับ เผาป่าไปได้ประโยชน์แค่เดือนสองเดือน แล้วป่ามันเป็นอย่างนี้ อีกสิบเดือนจะมีอะไรให้กิน” เขาพยักเพยิดไปยังกองขี้เถ้า “มันมีแต่คนที่หาของป่านั่นแหละครับ หมู่บ้านหนึ่งจะมีสักกี่คนเชียว” เขาบอก
ทางออกของข้าวโพดยังมืดมน ขณะที่พืชไร่ชนิดนี้คืบคลานไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ระบบเกษตรพันธสัญญา (contact farming) ยังเป็นโซ่ตรวนที่ล่ามเกษตรกรไทยอีกนับหมื่นราย พวกเขายังต้องจมจ่อมอยู่กับข้าวโพดและวงจรเผาต่อไป นักสิ่งแวดล้อมโจมตีบริษัทผลิตอาหาร ทว่านายทุนประกาศว่า พวกเขาไม่เคยสนับสนุนให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดในป่าและเผาไร่ ฝ่ายแรกโต้กลับว่า พวกเขาสร้างกลไกให้เกษตรกรเข้าตาจนแล้วจึงส่งเสริมให้ปลูกทางอ้อม วิวาทะนี้ยังไม่จบง่าย ๆ และคงต้องรบรากันไปอีกนาน
แน่นอนว่าคนที่ปวดหัวที่สุดคือฝ่ายปกครอง ในช่วงเทศกาลเผาทุกปี ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เรื่อยไปจนถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จะโดน “บีบ” จาก “หน่วยเหนือ” ทุกครั้ง พวกเขารู้ดีว่าการเซ็นเอกสารหรือเรียกประชุมแทบไม่ช่วยให้ปัญหาหมอกควันบรรเทาเบาบางลงเลย แต่คำสั่งย่อมเป็นคำสั่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีโปรเจ็กต์ที่น่าสนใจ เขาสนับสนุนให้ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล และรับซื้อเศษซากอินทรีย์ที่ชาวบ้านเก็บมาจากป่า “ไม่แน่นะครับ อีกหน่อยนอกจากเห็ดแล้ว ใบไม้ก็จะทำรายได้ให้ชาวแม่ฮ่องสอนอีกด้วย”
ตลกร้ายอีกเรื่องคือ ในช่วงสัปดาห์ที่ปัญหาหมอกควันเข้าขั้นวิกฤติ มิตรสหายชาวเชียงใหม่ในเฟซบุ๊กของผม หลายคนบ่นเป็นหมีกินผึ้ง ค่า PM10 ทะลุเกือบ 200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มีคนแต่งคำขวัญให้เมืองเชียงใหม่ว่า “ดอยสุเทพเปลี่ยนสี ประเพณีเผาป่า ไปทางไหนก็แสบตา บ่ไหวแล้วก่านครพิงค์” แต่หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นกลับพาดหัวข่าวว่า “เชียงใหม่หายใจโล่ง หมอกควันจางอากาศดี” ขณะที่คนทางไกลอย่างผมฟังรายการวิทยุสัมภาษณ์ข้าราชการผู้ใหญ่ท่านหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ก็ให้สัมภาษณ์ทำนองเดียวกันว่า อากาศไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด
ผมทึกทักเอาเองว่า ท่านคงต้องการรักษาภาพลักษณ์ให้เมืองท่องเที่ยว แต่อีกใจก็คิดถึงเพื่อนรักที่เชียงใหม่คนหนึ่ง เขาและภรรยาเพิ่งได้ลูกชายแรกเกิดอายุเพียงเดือนเดียว ผมโทร.ไปสอบถามด้วยความเป็นห่วง เขาตั้งคำถามว่าเชียงใหม่ควรคิดเรื่องการอพยพคนได้แล้ว น่าสนใจที่อีกสัปดาห์ต่อมา เกิดพายุฤดูร้อน ฝนชะล้างหมอกควันไป แล้วหมอกควันก็ถูกลืมไปชั่วคราว
เสนีย์ อังคะรุด เจ้าของธุรกิจในเมืองแม่ฮ่องสอน เสนอว่า ถ้าหมอกควันในบ้านเขามาจากการเผาป่า ก็ควรสร้างจิตสำนึกว่าป่าเป็นของทุกคน ทุกคนควรมีสิทธิได้ประโยชน์จากป่าเท่ากัน ไม่ใช่ของใครคนเดียว และคนอื่นไม่ควรมารับมลพิษจากนํ้ามือคนไม่กี่คนเช่นกัน “ต่างประเทศเขายังมีฤดูปิดป่าเลยครับ แล้วพอเปิดป่าก็ขายบัตร ใครไม่มีบัตร จับเลย มันต้องเด็ดขาดครับ”
แต่ความเด็ดขาดจะแก้ปัญหาหมอกควันได้จริงหรือเสนอ นายกอบต. คนเดิมแห่งบ้านนาก้า จังหวัดน่าน เล่าว่า “วิธีการซื้อใจชาวบ้านไม่ใช่ง่ายนะครับ ผมโดนเบื้องบนบีบลงมา วิธีการของผมคือไปเคาะประตูทีละบ้าน แล้วอธิบายให้ชาวบ้านฟังว่า ‘พวกเขาสั่งไม่ให้เผาเพราะเป็นห่วงสุขภาพของพวกเรานะ คิดดูสิ ขนาดเขาอยู่ไกลถึงกรุงเทพฯ เขายังเป็นห่วงพวกเราเลย’ แต่ก็หลายปีนะครับ กว่าจะเข้าถึงได้”
ณพปกร หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าแม่ออน สนทนากับผมอย่างออกรสในคํ่าคืนที่แนวเขาไกลลิบเป็นสีแดงเพลิงกลิ่นควันโชยบาง ๆ ตลอดทั้งคืนมีเหตุแจ้งเผากระจายทั่วไปหมด “ผมคงให้ลูกน้องขึ้นไปเสี่ยงไม่ได้หรอกครับอันตรายเกินไป ถ้าเขาสูงมากก็ต้องปล่อย” เขาชี้ไปยังยอดเขา แสงไฟแดงเหมือนทับทิม หลังไฟมอด ควันมหาศาลจะลอยขึ้นสูง
“ความยากของงานดับไฟป่าคืออะไรครับ” ผมถาม “ไฟป่าหรือ จะไปยากอะไร ทำแนวกันไฟก็จบแล้ว แต่ที่ยากที่สุดน่ะคือดับไฟในใจคน” เขาตบหน้าอก “มันร้อนยิ่งกว่าไฟป่าเป็นไหน ๆ ครับ”