สุนทรพจน์โลกร้อนอันน่ากังวลของเกรียตา กับท่าทีอันแตกต่างจากบรรดาผู้นำประเทศ

สุนทรพจน์โลกร้อนอันน่ากังวลของเกรียตา กับท่าทีอันแตกต่างจากบรรดาผู้นำประเทศ

พวกคุณกล้าดียังไง เป็นคำพูดส่วนหนึ่งในสุนทรพจน์สะเทือนโลกที่ เกรตา ทูนแบร์ก เยาวชนนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ที่ปลุกให้คนทั้งโลกกลับมาคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง แต่บรรดาผู้นำประเทศจะคิดเช่นนั้นด้วยหรือไม่

เกรตา ทูนแบร์ก เด็กสาวชาวสวีเดน วัย 16 ปี นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมชื่อดังระดับโลก ที่มีชื่อเสียงมาจากการหยุดเรียนทุกวันศุกร์เพื่อประท้วงให้รัฐบาลบ้านเกิดแก้ปัญหาเรื่องโลกร้อนอย่างจริงจัง และกระตุ้นให้คนหนุ่มสาวทั่วโลก (รวมทั้งประเทศไทย) เดินขบวนเรียกร้องในเรื่องเดียวกันนี้เมื่อวันศุกร์ที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา (อ่านเรื่องราวจุดเริ่มต้นการต่อสู้เรียกร้องของเธอได้ที่นี่) กล่าวสุนทรพจน์บนเวทีการประชุมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ UN Climate Action Summit 2019 ณ นครนิวยอร์ก ด้วยน้ำเสียงที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ และเนื้อหาที่พูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คนรุ่นเธอ ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่จะใช้ชีวิตอยู่บนโลก กำลังวิตกกังวลและรู้สึกอกสั่นขวัญแขวน และพุ่งเป้าไปที่บรรดาผู้นำโลกอย่างจริงจัง

ฉันไม่ควรไม่อยู่ที่นี่ ฉันควรกลับไปเรียนหนังสือในโรงเรียนที่อีกฝั่งของมหาสมุทร แต่พวกคุณยังให้ความหวังกับเยาวชนอยู่ พวกคุณกล้าดียังไง!

พวกคุณขโมยความฝันและช่วงเวลาวัยเด็กของฉันด้วยคำพูดกลวงๆ แต่อย่างน้อยฉันเป็นหนึ่งในคนที่โชคดี ยังมีคนอีกมากที่ต้องทรมาน พวกเขากำลังจะตาย ระบบนิเวศกำลังพังทลาย

พวกเรากำลังเริ่มการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ พวกคุณเอาแต่พูดเรื่องเงินทอง เล่าเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจอันเป็นนิรันดร์ คุณกล้าดียังไง!

เกรตา ทูนแบร์ก
ภาพบรรยากาศผู้เข้าร่วมฟังสุนทรพจน์ของเกรตา ทูนแบร์ก ในการประชุม UN climate Action Summit 2019 ขอบคุณภาพถ่ายจาก Youtube Channel: Greta Thunberg

นอกจากนี้ เกรตายังพูดถึงการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ตลอด 30 ปีที่ผ่านมาว่าได้พิสูจน์เห็นแจ้งเรื่องภาวะผลกระทบต่างๆ จากการกระทำของมนุษย์ที่มีต่อธรรมชาติแล้ว แต่บรรดานักการเมืองกลับมองไม่เห็นทางแก้ปัญหา จนเธอไม่อยากเชื่อว่าพวกเขาจะแก้ปัญหาได้จริง และมองว่า ผู้ใหญ่เหล่านี้ ล้มเหลวในการแก้ปัญหา

เกรตาชี้ให้เห็นในสุนทรพจน์ของเธออีกว่า ความคิดในการลดการเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งมีโอกาสเพียงร้อยละ 50 เท่านั้นที่จะทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มไม่ถึง 1.5 องศาเซลเซียส และช่วยป้องกันผลกระทบอันรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ นั่นหมายความว่าคนรุ่นเธอจะต้องสูดดมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนหลายร้อยพันตันหลังจากนี้

อีกนัยยะหนึ่ง เธอมองว่า แผนการลดโลกร้อนที่บรรดาผู้นำนานาชาติพยายามเสนอมากก่อนหน้าไม่สามารถแก้ปัญหาสิ่งที่คนรุ่นเธอต้องพบเจอต่อจากนี้ได้อย่างแท้จริง

คงไม่มีทางออกหรือแผนการใดๆ ที่จะจัดการปัญหาเหล่านี้ได้ภายในวันนี้ เพราะด้วยจำนวนตัวเลขที่ชวนให้น่าอึดอัด และพวกคุณก็ยังไม่เป็นผู้ใหญ่มากพอที่จะบอกความจริง

พวกคุณทำให้พวกเราผิดหวัง และเยาวชนคนรุ่นใหม่เริ่มเข้าใจความทรยศของพวกคุณแล้ว ทุกสายตาของคนรุ่นใหม่กำลังจับจ้องไปที่คุณ และถ้าหากคุณเลือกที่จะทำให้เราผิดหวังอีก ฉันอยากจะบอกว่า ‘พวกเราไม่มีทางให้อภัย’

(ชมวิดีโอการพูดสุนทรพจน์แบบเต็มจากสำนักข่าว The Guardian ได้ที่นี่)

พลันเมื่อเธอพูดจบ เสียงปรบมือและโห่ร้องชื่นชมจากผู้เข้าร่วมฟังสุนทรพจน์นี้ดังกึกก้อง เป็นการตอบแทนเกรตาที่ได้สร้างสรรค์คำพูดที่ทำให้คนทั้งโลกจับตา แค่คำถามที่สำคัญคือ ข้อเรียกร้องที่เธอพยายามกระตุ้น จะได้รับการตอบสนองมากมายแค่ไหน

ทุกสายตาล้วนจับจ้องไปที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่ปฏิเสธข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องโลกร้อน ซึ่งเป็นเป็นขั้วตรงข้ามกับเธอ โดยทรัมป์ไม่ได้เข้าร่วมในพิธีเปิดที่เธอกล่าวสุนทรพจน์ และมีผู้จับภาพที่เกรตาจ้องมองไปที่โดนัลด์ ทรัมป์ซึ่งเดินผ่านหน้าเธอไปด้วยสายตาตำหนิอย่างรุนแรง และภาพดังกล่าวนี้ก็ได้เป็นกระแสในอินเตอร์เน็ต

อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ได้ออกมาแสดงความเห็นถึงของเกรตาถึงในบัญชีทวิตเตอร์ของเขาหลังจากนั้นว่า “เธอ (เกรตา) ดูเป็นหญิงสาวที่มีความสุขมากซึ่งกำลังรอคอยอนาคตที่สดใสและแสนวิเศษ รู้สึกดีที่ได้พบเธอ” ซึ่งยากที่จะดูออกว่าทรัมป์พูดถึงเธอด้วยน้ำเสียงอันชื่นชมที่แท้จริงหรือเป็นเพียงการประชดประชัน

โลกใช้พลังงานฟอสซิลมากเกินกว่าจะลดโลกร้อนได้สำเร็จ

ขณะนี้ โลกของเรามีโรงงานไฟฟ้า โรงงาน ยานพาหนะ และอาคารที่อาศัย พลังงานฟอสซิล อยู่มากมาย ถ้าสถานที่เหล่านี้ยังคงใช้พลังงานฟอสซิลอย่างเช่นทุกวันนี้ไปเรื่อยๆ อุณหภูมิของโลกจะสูงเกินความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อไม่ให้โลกได้รับอันตรายอย่างใหญ่หลวงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เกล็น ปีเตอร์ (Glen Peter) ผู้อำนวยการวิจัย ศูนย์การวิจัยภูมิอากาศนานาชาติแห่งประเทศนอร์เวย์ กล่าวว่า “ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยที่ตอนนี้เราอยู่ในช่วงอันยากลำบากที่จะทำให้อุณหภูมิโลกต่ำกว่า 2 องศา และลืมเรื่องการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกที่ไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสไปได้เลย”

พลังงานฟอสซิล
โลกต้องปลดระวางโรงไฟฟ้าและโรงงานถ่านหินจำนวนมาก เพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยของอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ตามที่ตั้งเป้าไว้

นอกจากนี้ ‘การพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา’ ที่แสดงถึงโลกร้อนก็ชวนให้เราหวั่นเกรง ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น 1.1 องศา นับตั้งแต่ช่วงหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม แผ่นน้ำแข็งขั้วโลกลดลงทุกปี และอัตราการละลายเพิ่มมากขึ้นสูงสุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขั้นในอัตราเร่ง และต้นทุนคาร์บอนของโลกที่กำลังจะหมดไปในอีก 11 ปีข้างหน้า เป็นต้น

ด้วยข้อเท็จจริงนี้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่เกรตาจะกล่าวในสุนทรพจน์ว่า บรรดาพวกผู้นำโลกทั้งหลาย (และผู้ใหญ่ที่เป็นคนธรรมดา) จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ดังที่เธอเรียกร้อง

“มันมีความไม่ลงรอยกันระหว่างบรรดาผู้นำทุกคนที่พูดว่า ‘เกรตา ฉันรับฟังเธอ’ กับบรรดาข้อตกลงที่พวกเขาเอามาขึ้นโต๊ะเจรจา” อิซาเบล คาเวลิเยร์ อดีตผู้แทนเจรจาด้านภูมิอากาศของโคลอมเบีย ซึ่งในขณะนี้เป็นที่ปรึกษาอาวุโสของกลุ่มคนด้านสภาพอากาศ Mission 2020 กล่าวและเสริมว่า “ประเทศจีนไม่ได้ทำอะไรใหม่ อินเดียก็กล่าวถึงข้อตกลงที่เคยทำไปแล้วในอดีต สหรัฐอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย ไม่ได้อยู่ในการประชุมนี้ เรากำลังเห็นบรรดารัฐบาลกลับไปอย่างมือเปล่า”

(เชิญชมช่วงเวลาที่เกรตามองทรัมป์ด้วยสายตาที่ตำหนิได้ที่นี่)

สุนทรพจน์ของเกรตานั้น “เปี่ยมไปด้วยอารมณ์และกึกก้องในความเงียบงัน” อัลเดน เมเยอร์ ผู้อำนวยการยุทธศาสตร์ของสหภาพนักวิทยาศาสตร์ผู้ตระหนักในปัญหา (at the Union of Concerned Scientists) กล่าวว่า “ถ้าผมเป็นผู้นำโลก ผมคงรู้สึกกระอักกระอ่วนไปแล้ว แต่เราไม่ได้เห็นอะไรเลยจากบรรดาผู้นำประเทศใหญ่ๆ เช่นผู้นำในกลุ่มประเทศ G20 ดังนั้นยากที่จะพูดว่าการประชุมสุดยอดในครั้งนี้จะเปลี่ยนแปลงการปล่อยคาร์บอนได้แม้เพียงเล็กน้อย”

และถึงแม้ว่าไม่มีใครคาดคิดว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ที่ไม่เคยเชื่อในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ แต่ทว่าก็มีผู้เห็นเขาในบรรดาผู้เข้าร่วมงานเป็นระยะเวลาสั้นๆ

ด้านแอนโตนิโอ กูเตร์เรช เลขาธิการสหประชาชาติ ผู้จัดการประชุมด้านสภาพภูมิอากาศซึ่งมีบรรดาผู้นำเข้าร่วมกว่า 60 ประเทศ กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า ประเทศที่สามารถมีส่วนร่วมเจรจาในการประชุมครั้งนี้คือประเทศที่มีแผนการลดการปล่อยคาร์บอนที่แน่ชัด

กูเตร์เรชกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ตอนนี้ภูมิอากาศโลกของเรากำลังมีรูรั่วที่ลึกมาก ดังนั้นจำเป็นต้องมีการมาตรการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน

“เวลากำลังจะหมดลง แต่ว่าก็ยังไม่สายเกินไป” เขากล่าว

แหล่งอ้างอิง

เกรียตา ทุนแบร์ย นักกิจกรรมหญิงวัย 16 ปี ตำหนิผู้นำโลกในที่ประชุมยูเอ็น ไม่ใส่ใจแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศโลก

Greta Thunberg condemns world leaders in emotional speech at UN

Greta Thunberg: ‘Leaders failed us on climate change’

Greta Thunberg stares down Trump as two cross paths at UN


อ่านเพิ่มเติม มนุษยชาติต้องร่วมฟื้นฟูพื้นที่ป่าระดับโลก เพื่อช่วยโลกจากภาวะโลกร้อนพื้นที่ป่า, รัสเซีย,

Recommend