ไม่ใช่แค่ สโตนเฮนจ์ การค้นพบใหม่ๆ เผยให้เห็นยุคสมัยที่การก่อสร้างอนุสรณ์สถานใหญ่โตน่าตื่นตาเป็นความคลั่งไคล้
สโตนเฮนจ์ – เรื่องใหญ่โตมโหฬารกำลังเกิดขึ้นทางใต้ของอังกฤษเมื่อราว 4,500 ปีก่อน ในช่วงปลายยุคหินใหม่ ไม่ว่าจะเป็นความกระตือรือร้นทางศาสนา ฝีมือการก่อสร้าง หรือการรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่ใกล้เข้ามา สิ่งนี้ได้ร่ายมนตร์ใส่ชาวเมือง และทำให้พวกเขาเร่งสร้างอนุสรณ์สถานกันอย่างบ้าคลั่ง
ในช่วงเวลาอันสั้นอย่างไม่น่าเชื่อ หรืออาจแค่หนึ่งร้อยปีเท่านั้น กลุ่มคนที่ไม่มีเครื่องมือโลหะ แรงม้า และล้อ ได้ตั้งวงหินขนาดใหญ่ ปักเสาไม้เป็นรั้วล้อมวงยักษ์ และสร้างทางดำเนินโอ่อ่าที่มีหินตั้งขนาบสองข้างมากมาย ในอังกฤษ โดยตัดต้นไม้ใหญ่ที่สุดในป่าและขนดินหลายล้านตันเพื่อทำการนั้น
“มันเหมือนความบ้าคลั่งที่ลามไปทั่วค่ะ เป็นความหมกมุ่นที่ผลักดันให้พวกเขาสร้างสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ มากขึ้นเรื่อยๆ สวยขึ้นเรื่อยๆ และซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ” ซูซาน กรีนีย์ นักโบราณคดีจากอิงลิชเฮอริเทจ (English Heritage) องค์กรอนุรักษ์มรดกทางประวัติศาสตร์ของอังกฤษ ซึ่งดำเนินงานโดยไม่แสวงกำไร บอก
สิ่งหลงเหลืออันโด่งดังที่สุดจากยุคการก่อสร้างรุ่งเรืองในครั้งนั้นคือสโตนเฮนจ์ กองหินตั้งซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวหลายล้านคนไปยังที่ราบซอลส์เบอรีในอังกฤษ หลายร้อยปีมาแล้วที่เมกะลิท (megalith) หรือหมู่หินยักษ์แห่งนี้ทำให้ ทุกคนที่พบเห็นรู้สึกทึ่งและพิศวง รวมถึงเฮนรีแห่งฮันทิงดัน นักประวัติศาสตร์ยุคกลางผู้เขียนถึงสโตนเฮนจ์ เป็นครั้งแรกเท่าที่เรารู้เมื่อราวปี 1130 โดยบอกว่า นี่คือหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของอังกฤษ และเสริมว่า ไม่มีใครรู้ว่า มันสร้างขึ้นได้อย่างไรหรือเพราะเหตุใด
ในช่วง 900 ปีนับจากนั้น มีข้อสันนิษฐานไปต่างๆนานาว่า วงหินที่เรียงตัวตามดวงอาทิตย์เป็นผลงานของ ชาวโรมัน ดรูอิด (ชนชั้นสูงในวัฒนธรรมเคลต์) ไวกิง แซ็กซอน และกระทั่งเมอร์ลิน พ่อมดประจำราชสำนักของกษัตริย์อาเทอร์ แต่ข้อเท็จจริงกลับยากรู้ได้ เพราะกลุ่มคนที่สร้างสาบสูญไปโดยไม่ทิ้งภาษาเขียน เรื่องเล่าขานหรือตำนานใดๆ มีเพียงกระดูกกระจัดกระจาย เศษหม้อชามรามไห เครื่องมือทำจากหินและเขากวาง และอนุสรณ์สถานที่ลี้ลับพอๆกันจำนวนหนึ่ง ซึ่งบางแห่งดูใหญ่โตและอลังการยิ่งกว่าสโตนเฮนจ์เสียอีก
หนึ่งในสิ่งก่อสร้างที่น่าทึ่งที่สุด ซึ่งทุกวันนี้รู้จักในชื่อเมกะเฮนจ์แห่งเมานต์เพลเซนต์ (Mount Pleasant Mega-Henge) ตั้งอยู่บนเนินหญ้าสูงเหนือแม่น้ำโฟรมและแม่น้ำวินเทอร์บอร์น กองทัพคนงานใช้อีเต้อเขากวางและพลั่วกระดูกวัวขุดคูและทำคันดินรูปวงแหวนขนาดมหึมา หรือเฮนจ์ ซึ่งมีเส้นรอบวง 1.2 กิโลเมตร ใหญ่กว่าคูและคันดินของสโตนเฮนจ์กว่าสามเท่า ภายในคันดินใหญ่โตมโหฬารแห่งนั้น ผู้สร้างตั้งเสาไม้โอ๊กสูงใหญ่เกือบสองเมตรและหนักกว่า 15 ตันเป็นวงกลม
“เราคุ้นเคยกับสโตนเฮนจ์ค่ะ” กรีนีย์บอก “ถึงอย่างไรมันก็เป็นหินและอยู่รอดมาได้ แต่โครงสร้างไม้ขนาดใหญ่เหล่านี้คืออะไรกันล่ะคะ มันใหญ่โตมโหฬารอย่างที่สุดและน่าจะตั้งเด่นเป็นสง่าในภูมิทัศน์นั้นอยู่หลายร้อยปี”
นักโบราณคดีและนักโบราณวัตถุขุดสำรวจเนินดิน วงหิน และเฮนจ์โบราณของอังกฤษมาตั้งแต่ศตวรรษที่สิบเจ็ด แต่เพิ่งไม่กี่ปีมานี้เองที่มีคนตระหนักว่า อนุสรณ์สถานใหญ่ยักษ์จำนวนมากเหล่านี้สร้างขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกันและด้วยความเร่งร้อนอย่างบ้าคลั่ง “เราทึกทักกันมาตลอดค่ะว่า อนุสรณ์สถานขนาดใหญ่เหล่านี้เกิดขึ้นอย่างเอกเทศจากกันและใช้เวลาก่อสร้างหลายร้อยปี” กรีนีย์บอก
เทคโนโลยีล้ำสมัยในปัจจุบันช่วยเปิดหน้าต่างบานใหม่ๆสู่อดีต ทำให้นักโบราณคดีปะติดปะต่อข้อมูลของอนุสรณ์สถานขนาดใหญ่ในยุคหินที่อยู่ทางตอนใต้ของอังกฤษและกลุ่มคนผู้สร้างได้ชัดเจนอย่างที่ไม่เคยคิดฝันว่าจะทำได้เมื่อไม่กี่สิบปีก่อน
“นี่เกือบจะเหมือนการเริ่มนับหนึ่งใหม่เลยครับ” จิม เลียรี อาจารย์ด้านโบราณคดีภาคสนามจากมหาวิทยาลัยยอร์ก บอกและเสริมว่า “ตอนนี้เรารู้แล้วว่า หลายเรื่องที่สอนกันในระดับปริญญาตรีตอนทศวรรษ 1990 ก็แค่ไม่เป็นความจริง”
ข้อมูลใหม่ที่น่าตื่นตะลึงที่สุดเรื่องหนึ่ง คือการค้นพบจากหลักฐานดีเอ็นเอว่า มีการอพยพครั้งใหญ่จากภาคพื้นทวีปยุโรปเมื่อราว 4000 ปีก่อน ค.ศ. คลื่นของผู้มาใหม่ซึ่งบรรพบุรุษสืบย้อนกลับไปหลายพันปีถึงชาวอานาโตเลีย (ตุรกีปัจจุบัน) เข้าแทนที่คนเก็บของป่าล่าสัตว์พื้นเมืองของอังกฤษ โดยเป็นกลุ่มชนที่มีความแตกต่างทางพันธุกรรม ซึ่งรู้จักการปลูกธัญพืชและเลี้ยงปศุสัตว์
“ไม่มีใครเชื่อว่าเรื่องจะเป็นเช่นนั้นไปได้ครับ” เลียรีบอก “แนวคิดที่ว่าการปฏิวัติเกษตรกรรมในอังกฤษเกิดจากการอพยพครั้งใหญ่ของผู้คนดูเป็นคำอธิบายที่ง่ายเกินไป ทุกคนมองหาเรื่องเล่าที่มีนัยซับซ้อนกว่านั้น การแพร่กระจายของแนวคิดต่างๆ ไม่ใช่แค่กลุ่มคนจำนวนมากลงเรือมา แต่ปรากฏว่ามันเรียบง่ายแบบนั้นจริงๆ ครับ”
ผู้อพยพบางส่วนลงเรือข้ามช่วงที่แคบที่สุดของช่องแคบอังกฤษ ซึ่งปัจจุบันคือช่องแคบโดเวอร์ ขณะที่บางส่วนมาจากบริตตานีซึ่งอยู่ทางตะวันตกของฝรั่งเศส กลุ่มหลังนี้ข้ามน่านน้ำเปิดที่อันตรายกว่ามายังฝั่งตะวันตกของอังกฤษและไอร์แลนด์ ผู้บุกเบิกจากบริตตานียุคแรกเหล่านี้บางส่วนลงหลักปักฐานตามชายฝั่งขรุขระของเพมโบรกเชอร์ในเวลส์ เป็นไปได้ว่าลูกหลานของพวกเขา ในอีกราว 40 ชั่วคนต่อมา คือผู้สร้างสโตนเฮนจ์ยุคแรกสุด
นักโบราณคดีรู้ว่าต้องมองหาจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ที่เวลส์ โดยหลักๆเพราะนักธรณีวิทยาตาดีชื่อ เฮอร์เบิร์ต ทอมัส ถ้าพูดถึงสโตนเฮนจ์ ภาพไตรลิทอน [trilithon – หินซาร์เซนยักษ์สองก้อนตั้งตรงเป็นฐานกับหินอีกหนึ่งก้อนวางพาดด้านบน] จะผุดขึ้นมาแทบในทันที แต่ท่ามกลางไตรลิทอนที่เรียงเป็นรูปเกือกม้านั้นมีแท่งหินบลูสโตนขนาดเล็กกว่ามากแทรกตัวอยู่ ผิดกับหินซาร์เซนซึ่งเป็นหินอุดมซิลิกาที่พบในท้องถิ่น หินบลูสโตนกลับแปลกแยกอย่างสิ้นเชิงใน ภูมิประเทศแถบนี้ เราไม่พบหินแบบเดียวกันในละแวกสโตนเฮนจ์เลย
แท่งหินบลูสโตนซึ่งมีน้ำหนักเฉลี่ยก้อนละ 1.8 ตันเหล่านี้มาจากไหน และเรียงตัวเป็นวงแหวนอยู่กลางที่ราบซอลส์เบอรีได้อย่างไร นี่คือปริศนาอายุหลายร้อยปีแล้วตอนที่ทอมัสเห็นตัวอย่างหินเมื่อปี 1923 ในบรรดาชิ้นส่วนเหล่านั้นมีหินบลูสโตนประเภทหนึ่งชื่อหินโดเลอไรต์ลายจุด เขาจำได้ว่าเคยเห็นหินโผล่ประเภทเดียวกันเมื่อหลายปีก่อนขณะเดินป่าในพรีเซลีฮิลส์ ซึ่งเป็นทุ่งมัวร์ป่าในเพมโบรกเชอร์ ห่างจากสโตนเฮนจ์ราว 280 กิโลเมตร หลังตรวจสอบเพิ่มเติมแล้ว ทอมัสก็ระบุว่าหินบลูสโตนเหล่านี้มาจากกองหินโผล่ที่เรียกกันว่า คาร์นเมนี
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ริชาร์ด เบวินส์ นักธรณีวิทยาจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเวลส์ กับร็อบ อิกเซอร์ นักธรณีวิทยาจากสถาบันโบราณคดี มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ศึกษางานของทอมัสใหม่โดยใช้เทคโนโลยี แห่งศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดที่มีชื่อน่าประทับใจ เช่น การวิเคราะห์ด้วยวิธีเอกซเรย์ฟลูออเรสเซนซ์สเปกโทรเมตรี และการใช้เลเซอร์วิเคราะห์ธาตุไอซีพี-เอ็มเอส ทั้งคู่ระบุกองหินโผล่สี่แห่งในพรีเซลีฮิลส์ตรงกับแท่งหินบลูสโตนที่สโตนเฮนจ์ สำหรับนักโบราณคดีที่ตามหาเงื่อนงำของสโตนเฮนจ์ นี่คือจุดเริ่มต้นสดใหม่ที่น่าสนใจยิ่งขึ้นจากความก้าวล้ำ ด้านชีวเคมี
คริสทอฟ สเนิก นักวิจัยชาวเบลเยียม บุกเบิกเทคนิคตรวจวัดไอโซโทปจากซากไหม้ที่บ่งบอกได้ว่า เจ้าของร่างนั้นอาศัยอยู่ที่ใดในช่วงสิบปีสุดท้ายของชีวิต เขาวิเคราะห์กระดูกมนุษย์ 25 คนที่ถูกเผาและฝังที่สโตนเฮนจ์ยุคแรกๆ หรือช่วงเวลาที่หินบลูสโตนถูกนำไปตั้ง และพบว่าเกือบครึ่งของคนเหล่านี้เคยอาศัยอยู่ไกลจากสโตนเฮนจ์มาก เมื่อพิจารณาร่วมกับหลักฐานทางโบราณคดี พื้นที่ทางเหนือของเดวอนและทางตะวันตกเฉียงใต้ของเวลส์คือแนวโน้ม ที่เป็นไปได้
เขาถึงกับระบุองค์ประกอบเฉพาะทางเคมีของไอโซโทปคาร์บอนและออกซิเจนจากควันไฟเผาศพได้อย่างเหลือเชื่อ ข้อมูลเหล่านี้เปิดหน้าต่างอีกบานสู่อดีต โดยบ่งบอกว่า ไม้ที่ใช้เผาศพบางส่วนอาจมาจากต้นไม้ที่เติบโตอยู่ในป่ารกชัฏที่มีเรือนยอด ไม่ใช่ป่าไม้โปร่งที่พบรอบๆสโตนเฮนจ์
“เราฟันธงไม่ได้ครับว่า ผู้คนที่ถูกฝังอยู่ที่สโตนเฮนจ์มาจากทางตะวันตกเฉียงใต้ของเวลส์แน่ๆ” ริก ชัลทิง ศาสตราจารย์ด้านโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด บอกและเสริมว่า “แต่โบราณคดีก็เหมือนการรวบรวมหลักฐานเพื่อพิสูจน์คดีในศาล เรามองที่น้ำหนักของหลักฐาน ข้อเท็จจริงที่เรารู้แน่ชัดว่า หินบลูสโตนมาจากพรีเซลีฮิลส์ในเวลส์แสดงว่า ที่นั่นคือสถานที่ที่เหมาะจะเริ่มต้นการค้นหาครับ”
เรื่อง รอฟฟ์ สมิท
ภาพถ่าย รูเบน วู และ อลิซ ซู
ติดตามสารคดี ความลับจากสโตนเฮนจ์ ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนสิงหาคม 2565
สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/553207