โลหะจากสวรรค์ – คนยุคแรกใช้เหล็กจาก อุกกาบาต ทำอาวุธ-เครื่องประดับอย่างไร

โลหะจากสวรรค์ – คนยุคแรกใช้เหล็กจาก อุกกาบาต ทำอาวุธ-เครื่องประดับอย่างไร

ก่อนผู้คนจะรู้จักวิธีถลุงเหล็ก วัฒนธรรมยุคแรกๆ เรียนรู้ที่จะใช้ เหล็กจาก อุกกาบาต มาประดิษฐ์เครื่องประดับและอาวุธ

อุกกาบาต – ภายในสุสานหลวงอายุ 4,400 ปีในอียิปต์ ผมศึกษาผนังเพื่อค้นหาภาพสัญลักษณ์เฉพาะภาพหนึ่ง รูปทรง ของระบบการเขียนเก่าแก่ที่สุดระบบหนึ่งในโลก เช่น นกแร้ง นกฮูก ตากับเท้า งูกับรูปครึ่งวงกลม ถูกสลักลง ในหินปูนเป็นแนวตั้งอย่างเป็นระเบียบ

สัญลักษณ์ที่ผมพยายามมองหาอยู่หน้าตาคล้ายชาม มีเส้นแนวนอนคาดชิดปากชามดูเหมือนมีน้ำบรรจุอยู่ แสงนีออนที่พื้นให้ความสว่างแก่คูหาชั้นนอกที่มืดสลัว สาดเงาทอดไปตามข้อความจารึก ขณะที่นักท่องเที่ยวและมัคคุเทศก์เดินกันขวักไขว่ บนเพดานโค้งมีดาวห้าแฉกสลักเรียงรายเต็มเป็นแถว
นักไอยคุปต์วิทยา บิกตอเรีย อัลมันซา-บียาโตโร ไล่ตรวจอักษรเฮียโรกลิฟิกด้วยสองนิ้ว ในฐานะนักวิชาการด้านจารึกยุคราชอาณาจักรเก่าจากภาคีนักวิจัยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด อัลมันซา-บียาโตโร ตกลงพาผมมาดูสุสานแห่งซักการาซึ่งอยู่ห่างจากกรุงไคโรไปทางใต้ราว 25 กิโลเมตร

สถานที่ฝังศพแห่งนี้เป็นของฟาโรห์อูนาส ผู้ปกครององค์สุดท้ายของราชวงศ์ที่ห้า ในศตวรรษที่ 24 ก่อนคริสตกาล ข้อความบนผนังที่นักไอยคุปต์วิทยาเรียกกันว่า คาถา มีวัตถุประสงค์เพื่อนำทางกษัตริย์ที่สิ้นพระชนม์องค์นี้ฝ่าภยันตรายต่างๆ ในโลกหลังความตาย ถือเป็นข้อเขียนในเชิงนี้เก่าแก่ที่สุด ซึ่งเรียกรวมๆว่า จารึกพีระมิด (Pyramid Texts)

นิ้วของอัลมันซา-บียาโตโรชะงักอยู่เหนือสัญลักษณ์แถวหนึ่งที่อยู่ติดกับโถงทางเดินไปสู่โลงศิลาของฟาโรห์ อูนาส “อยู่นี่คะ” เธอกระซิบบอกอย่างตื่นเต้น ขณะชี้ไปที่เครื่องหมายรูปตัวยู

อุกกาบาต
ใบมีดคู่กษัตริย์ ในจีนยุคโบราณ ช่างฝีมือสร้างอาวุธเฉพาะที่เรียกว่า เกอ ซึ่งมีลักษณะคล้ายมีดสั้นกับใบขวานติดอยู่ที่ปลายด้ามจับ บางชิ้นที่สร้างจากโลหะอุกกาบาต เชื่อกันว่าเป็นของสูงที่เชื้อพระวงศ์ใช้ประกอบพิธีกรรม เราไม่รู้แน่ชัดว่าชาวจีน ยุคนั้นเข้าใจหรือไม่ว่าเป็นโลหะที่ตกมาจากท้องฟ้า
อุกกาบาต, มีดโบราณ
เกอซึ่งประกอบด้วยใบมีดทำจากเหล็กอุกกาบาตประกบกับโลหะสัมฤทธิ์ พบในสุสานของผู้ปกครองคนหนึ่งในศตวรรษที่แปดหรือเก้าก่อนคริสตกาล อาวุธชิ้นนี้เป็นตัวแทนของนวัตกรรมงานเหล็ก ได้แก่ การหล่อโลหะสัมฤทธิ์รอบใบมีดเหล็กที่ทำเตรียมไว้แล้ว ภาพถ่าย: เจา อัง, พิพิธภัณฑ์รัฐกั๋ว, ซานเหมินเซี่ย, จีน ภาพพื้นหลัง: โอเวน ฟรีแมน

งานวิจัยของอัลมันซา-บียาโตโรชี้ว่า สัญลักษณ์ดังกล่าวใช้เพื่อระบุถึงเหล็ก ซึ่งการที่ชาวอียิปต์เขียนถึงใน สมัยนั้นนับเป็นเรื่องน่าทึ่ง เพราะต้องใช้เวลาอีกราวหนึ่งพันปีต่อมา มนุษย์จึงเรียนรู้ที่จะถลุงเหล็กได้อย่างเป็นเรื่อง เป็นราว แต่โลหะชนิดนี้ยังพบได้ในอีกแหล่งหนึ่งคือ อุกกาบาต

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การศึกษาศิลปวัตถุยืนยันว่า อารยธรรมจำนวนหนึ่งใช้เหล็กจากอุกกาบาตประดิษฐ์ข้าวของต่างๆ ก่อนจะมีเหล็กที่ได้จากการถลุงใช้กัน ในสุสานเจอร์เซห์บนฝั่งแม่น้ำไนล์ที่สร้างขึ้นเมื่อราว 5,200 ปีก่อน นักโบราณคดีค้นพบลูกปัดทำด้วยโลหะจากอุกกาบาตเก้าเม็ด กริชขัดเงาเล่มหนึ่งและวัตถุทำด้วยเหล็กจากอุกกาบาตชิ้นอื่นๆ ที่ประดิษฐ์ขึ้นอย่างประณีต ถูกพบรวมอยู่กับสมบัติที่ถูกปิดตายภายในสุสานของฟาโรห์ตุตันคามุนเมื่อราว 3,300 ปีก่อน

นอกจากนี้ ยังมีเครื่องประดับโบราณและอาวุธทำด้วยวัสดุหายากนี้ ปรากฏในที่อื่นๆ ของโลกด้วย เช่น ลูกปัดในอเมริกาเหนือ ขวานในจีน และกริชอีกเล่มหนึ่งในตุรกี

ในกรณีส่วนใหญ่ ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่า วัฒนธรรมเหล่านี้เข้าใจที่มาของอุกกาบาตหรือไม่ แต่ในสุสานของฟาโรห์อูนาส ข้อความจารึกประกอบพิธีศพกล่าวถึงโลหะในท้องฟ้า บ่งชี้ว่าชาวอียิปต์อาจไม่เพียงรับรู้ถึงปรากฏการณ์ เหล็กจากฟากฟ้า แต่ยังนำมาเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อทางจิตวิญญาณของตนด้วย
ข้อความบรรทัดนี้บรรยายการเดินทางของฟาโรห์อูนาสเข้าสู่ภพสรวงสวรรค์ ความหมายที่แน่นอน ยังคลุมเครือ แต่อัลมันซา-บียาโตโรชี้ว่า ข้อความนี้สะท้อนความเชื่อที่ว่า ท้องฟ้าคือแอ่งเหล็กขนาดใหญ่ที่มีน้ำบรรจุอยู่ ซึ่งบางครั้งจะมีฝนและโลหะตกลงมา เพื่อไปถึงแดนปรภพหรือโลกหลังความตาย จารึกพีระมิดบอกเราว่า ผู้เป็นกษัตริย์จะต้องล่องเรือข้ามอาณาจักรท้องฟ้านี้ไป

หินและโลหะตกกระหน่ำใส่โลกมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม ส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนดาวเคราะห์ที่เกิดจากการชนกระแทก ในแต่ละปีมีอุกกาบาตน้ำหนักมากกว่า 50 กรัมราว 17,600 ชิ้นตกถึงโลก ราวร้อยละสี่เป็นโลหะผสมหรืออัลลอยระหว่างเหล็กกับนิกเกิลที่แตกต่างจากเหล็กบนโลก

อุกกาบาต
พยานวัตถุคือหลักฐานชี้ขาด ในช่วงต้นศตวรรษที่สิบเก้า นักวิทยาศาสตร์ในยุโรปยังถกเถียงกันว่า อุกกาบาตมีอยู่จริงหรือไม่ จากนั้น ในปี 1803 อุกกาบาตลูกหนึ่งระเบิดเหนือท้องฟ้า และตกลงมาเป็นฝนหินราว 3,000 ก้อนในแคว้นนอร์มังดีของฝรั่งเศส ประกอบกับรายงานจากนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งที่สืบค้นเหตุการณ์นี้และประกาศว่า “นี่คือปรากฏการณ์อัศจรรย์ที่สุด ที่มนุษย์เคยสังเกตพบ”
คริสตัล, อุกกาบาต
เครื่องประดับจากคริสตัลอวกาศ ลูกปัดเหล็กสองเม็ดที่พบในเนินฝังศพในรัฐอิลลินอยส์ และปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งชาติของสมิทโซเนียน ในภาพนี้นำมาจัดวางหน้าภาคตัดขวางของอุกกาบาตที่ชนเผ่าวัฒนธรรมโฮปเวลล์นำมาประดิษฐ์ เป็นลูกปัด คริสตัลเหล็กกับนิกเกิลที่ผสานกันก่อให้เกิดลวดลายเฉพาะตัวที่เรียกว่า ลายวิดมันชเตทเทิน ภายในเนื้อโลหะอุกกาบาต ภาพถ่าย: มาร์ก ทีสเซน

บันทึกเก่าแก่สุดเกี่ยวกับการตกของอุกกาบาตปรากฏในข้อเขียนยุคโรมันและกรีกโบราณ อริสโตเติล, พลูทาร์ก, พลินีผู้อาวุโส และคนอื่นๆ เขียนถึงหินก้อนหนึ่งที่ตกลงมาเมื่อปี 467 หรือ 466 ก่อนคริสตกาล ในดินแดนที่ปัจจุบันคือประเทศตุรกี “ไม่เป็นที่กังขาเลยว่ามีหินตกลงมาอยู่บ่อยครั้ง” พลินีตั้งข้อสังเกต

เมื่อปี ค.ศ. 861 ใกล้ศาลเจ้าแห่งหนึ่งในเมืองโนงาตะ ประเทศญี่ปุ่น ตามหลักฐานมุขปาฐะที่มีการรวบรวมไว้ ในปี 1927 “เกิดเสียงระเบิดดังสนั่นหวั่นไหว” “แสงสว่างจ้าปรากฏขึ้น” แล้ว “หินสีดำก้อนหนึ่งก็ถูกพบอยู่ที่ก้นหลุม ที่เพิ่งเกิดขึ้นในพื้นดิน” ต่อมาในปี 1983 นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นศึกษาอุกกาบาตลูกนี้ ซึ่งถูกเก็บไว้ในกล่องไม้เก่าแก่สลักปีที่พบไว้ หลังหาอายุของกล่องบรรจุด้วยวิธีคาร์บอนกัมมันตรังสี พวกเขาสรุปว่า หินก้อนนี้น่าจะตกจากท้องฟ้าจริงตามที่บรรยายไว้

แต่ในยุโรป จวบกระทั่งต้นศตวรรษที่สิบเก้า นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ยังไม่ปักใจเชื่อว่า อุกกาบาต เป็นปรากฏการณ์จริง เดือนเมษายน ปี 1794 นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ แอร์นสท์ ชลัดนี ตีพิมพ์หนังสือรวบรวมรายงานว่าด้วยหินและเหล็กที่ตกจากท้องฟ้า ซึ่งเป็นความพยายามที่ทำให้เขาถูกเย้ยหยัน
แล้วจักรวาลก็เข้าแทรกแซง พอถึงเดือนมิถุนายน ปี 1794 มีพยานพบเห็นห่าฝนหินตกลงในพื้นที่นอกเมือง ซีเอนา ประเทศอิตาลี ปีต่อมา หินขนาด 25 กิโลกรัมลูกหนึ่งตกลงในฟาร์มเวิลด์คอตเทจ ประเทศอังกฤษ

เหตุการณ์ข้างต้นชักนำให้นักเคมีชาวอังกฤษชื่อ เอ็ดเวิร์ด ซี. เฮาเวิร์ด และนักแร่วิทยาชื่อ ฌาก-หลุยส์ เดอ บูร์นอง เร่งรุดไปเก็บตัวอย่างจาก “วัตถุตกจากท้องฟ้า” การวิเคราะห์ของพวกเขาที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในปี 1802 แสดงให้เห็นว่าอุกกาบาตหินสี่ก้อนมีองค์ประกอบและโครงสร้างไม่เหมือนหินบนโลก
แต่จนกระทั่งปี 1803 ประชาคมวิทยาศาสตร์ยุโรปจึงยอมรับอย่างเต็มที่ในสิ่งที่พลินีดูมั่นใจว่าใช่ ในปีนั้น มีฝนดาวตกราว 3,000 ลูกกระหน่ำใส่ชุมชนแลกเกลอในแคว้นนอร์มังดีของฝรั่งเศส

ไม่ว่าจะรู้หรือไม่ว่าสิ่งนี้ตกลงมาจากท้องฟ้า ผู้คนในยุคโบราณถือว่าเหล็กอุกกาบาตเป็นของล้ำค่า ทองแดง เงิน และทองคำปรากฏอยู่ในรูปโลหะ พร้อมให้ขุดใช้และขึ้นรูปได้เลย แต่บนโลก เหล็กแทบทั้งหมดจะปะปนอยู่กับธาตุอื่นๆ เช่น ออกซิเจน ภายในสินแร่

อุกกาบาต
วัตถุน่าหลงใหล เมื่อปี 1751 อุกกาบาตลูกหนึ่งตกที่ฮรัสชีนา ประเทศโครเอเชีย โดยมีพยานรายงานว่ามีเสียงระเบิดกับลูกไฟในท้องฟ้า ซึ่งเป็นคำกล่าวอ้างที่ต่อมาเชื่อกันว่าเป็นเทพนิยาย ชิ้นส่วนขนาดใหญ่ที่สุดที่มีน้ำหนักถึง 40 กิโลกรัมของอุกาบาตลูกนี้ จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาในกรุงเวียนนา
กริชจากสรวงสวรรค์ นักบวชสวมหน้ากากซึ่งเป็นตัวแทนของอนูบิส เทพแห่งการทำมัมมี่ วางกริชที่ทำจากเหล็กอุกกาบาตไว้คู่พระศพฟาโรห์ตุตันคามุน เพื่อให้ทรงใช้ระหว่างการเดินทางที่เต็มไปด้วยภยันตรายสู่ปรโลก ชาวอียิปต์โบราณอาจรู้ว่าอุกกาบาตตกลงมาจากท้องฟ้า และหล่อหลอมความรู้นี้เข้ากับความเชื่อทางศาสนาของพวกเขา

วัตถุเก่าแก่ที่สุดที่ทำด้วยโลหะจากอวกาศเท่าที่รู้จักกันได้แก่สิ่งประดิษฐ์จำพวกเครื่องประดับ เช่น ลูกปัด เจอเซห์ซึ่งบางส่วนร้อยคู่กับทองคำและอัญมณี รวมถึงลาพิสลาซูลี คาร์เนเลียน และโมรา

“ในตอนแรกมันถูกใช้ประดิษฐ์สิ่งของมีค่า เช่น ลูกปัด และวัตถุตัวแทนต่างๆ เพราะเป็นของหายากมาก” คัตยา โบรชัต นักปฏิสังขรณ์จากศูนย์ไลบ์นิทซ์เพื่อโบราณคดีที่เมืองไมนทซ์ ประเทศเยอรมนี กล่าวและเสริมว่า “ใช้เวลาอยู่พักใหญ่จนกระทั่งเทคนิคการผลิต… ดีพอจนสร้างอาวุธหรือเป็นวัสดุทำเครื่องมือได้”
ล่วงถึงตอนที่กริชของฟาโรห์ตุตันคามุนถูกสร้างขึ้นในยุคสัมฤทธิ์ตอนปลาย เหล่าช่างฝีมือก็รู้จักวิธีเจียและ ขัดโลหะจากอุกกาบาตให้เป็นใบมีดบางเฉียบกันแล้ว

กริชเล่มนี้มีด้ามเป็นทองคำฝังพลอยกับกระจก และผลึกควอตซ์รูปหยดน้ำค้าง ปลอกเป็นทองคำมีลวดลายวิจิตรพิสดาร กริชที่พบในผ้าห่อรอบพระอูรุหรือต้นขาข้างขวาของมัมมี่เล่มนี้เป็น “สิ่งที่พระองค์จะทรงใช้ในปรโลกเพื่อต่อสู้กับเหล่าปิศาจ หรือภยันตรายใดๆ เพราะปรโลกเป็นดินแดนอันตราย” อัลมันซา-บียาโตโรอธิบาย “และยังเป็นเครื่องหมายบอกสถานะด้วยค่ะ”

เรายังพบหลักฐานการใช้เหล็กอุกกาบาตในวัฒนธรรมโบราณอื่นๆ ทั้งในภูมิภาคและพื้นที่อื่นๆ ของโลก กริชซึ่งน่าจะทำจากเหล็กอุกกาบาตที่พบในสุสานหลวงเมืองอะลาจาฮยูกของตุรกี มีอายุเก่าแก่กว่ากริชของฟาโรห์ ตุตันคามุนถึงราวหนี่งพันปี

อุกกาบาต, กริช
คู่ควรกับองค์ราชัน กริชเหล็กของฟาโรห์ตุตันคามุนมีความโดดเด่นในแง่ฝีมือหัตถกรรมชั้นเลิศ พร้อมใบมีดที่นักโบราณคดี เฮาเวิร์ด คาร์เตอร์ ผู้นำการขุดค้นสุสานของยุวกษัตริย์พระองค์นี้ บรรยายไว้ว่า “คมกริบ” ด้ามกริชทำจากทองคำประดับพลอยและกระจก หัวด้ามจับสลักจากหินควอตซ์โปร่งแสง นักวิจัยที่ศึกษากริชเล่มนี้เชื่อว่า ด้ามอาจไม่ใช่ส่วนประกอบดั้งเดิม เพราะกั่นหรือส่วนปลายที่ฝังลงไปในด้ามไม่พอดีกัน กริชนี้เป็นหนึ่งในสองด้ามที่พบบนพระศพของฟาโรห์ตุตันคามุน (ภาพถ่าย: ซานโดร วันนีนี ภาพพื้นหลัง: โอเวน ฟรีแมน)
อุกกาบาต, อุกกาบาตโฮบา
เจ้าของสถิติ อุกกาบาตโฮบานอกเมืองกรูตฟอนไทน์ ประเทศนามิเบีย และตั้งชื่อตามไร่ที่มันถูกค้นพบ เป็นชิ้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ในโลกเท่าที่เคยค้นพบ ด้วยน้ำหนักมากกว่า 60 ตัน มันจึงยังคงตั้งอยู่ในจุดตกเมื่อน้อยกว่า 80,000 ปีก่อน ตามอายุ ที่ตรวจวัดได้จากธาตุกัมมันตรังสี

ในจีน มีดเล่มหนึ่งกับอาวุธด้ามยาวมีปลายคล้ายใบขวานกับมีดสั้นที่เรียกว่า เกอ ทั้งสองชิ้นมีใบมีดทำจากเหล็กอุกกาบาตและพบในสุสานของบุรุษสองคน ซึ่งน่าจะเป็นพี่น้องผู้ปกครองรัฐกั๋วในศตวรรษที่แปดหรือเก้า ก่อนคริสตกาล อาวุธเหล่านี้น่าจะใช้ในเชิงพิธีกรรมเหมือนกับพวกที่มีใบมีดเป็นหยกจากยุคสมัยเดียวกัน เฉินคุนหลง ศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีปักกิ่ง กล่าว

สถาบันสมิทโซเนียนได้วัตถุคล้ายคลึงกัน คือเกอกับขวานหน้ากว้าง มีใบมีดทำจากเหล็กอุกกาบาต มาครอบครองเมื่อปี 1934 ซึ่งมีรายงานว่ามาจากมณฑลเหอหนานซึ่งเป็นที่ตั้งของโบราณสถานยุคราชวงศ์โจว หลายแห่ง ชิ้นที่เป็นขวานหน้ากว้างน่าจะทำขึ้นในช่วงต้นราชวงศ์ซาง และอาจตกทอดมาในฐานะสมบัติอันเป็นที่ หวงแหน อาวุธประเภทนี้ใช้กันในราวยุคที่รัฐโจวโค่นล้มผู้ปกครองราชวงศ์ซาง แล้วสถาปนา “อาณัติแห่งสวรรค์” ขึ้นมา อันเป็นปรัชญาว่าด้วยการให้กษัตริย์ปกครองตามโองการสวรรค์

ผู้ปกครองเหล่านี้ทราบหรือไม่ว่า อาวุธเหล่านี้ทำด้วยโลหะจากฟากฟ้า เราไม่พบบันทึกร่วมสมัยที่พูดถึงอุกกาบาต แต่หลักฐานต้นฉบับภาษาจีนมีการกล่าวถึงคราสและดาวหาง “ดาราศาสตร์พัฒนาไปค่อนข้างมากแล้ว ณ จุดนั้น” คีท วิลสัน ภัณฑารักษ์ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียแห่งชาติของสมิทโซเนียน กล่าว “เราจึงรู้ค่อนข้างแน่ชัดว่า ยุคนั้นน่าจะมีสิ่งที่คล้ายกับนักดาราศาสตร์ประจำราชสำนักอยู่ด้วย และพวกเขาทำหน้าที่เฝ้าสังเกตท้องฟ้า”

เรื่อง เจย์ เบนเนตต์
ภาพประกอบ โอเวน ฟรีแมน
ภาพถ่าย เปาโล แวร์โซเน
แปล อัครมุนี วรรณประไพ

ติดตามสารคดี โลหะจากสวรรค์ ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมิถุนายน 2566

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/579020


อ่านเพิ่มเติม พบ แร่ธาตุต่างดาว ที่ ‘ไม่เคยเจอที่ไหนบนโลก’ จากอุกกาบาตนอกโลก

Recommend