ไททานิก โศกนาฏกรรมโลกไม่ลืม

ไททานิก โศกนาฏกรรมโลกไม่ลืม

ไททานิก
ใบจักรของเรือ โอลิมปิก เรือที่เกือบจะเรียกได้ว่าเป็นคู่แฝดเหมือนของ ไททานิก ทำให้คนงานที่อู่ต่อเรือในเบลฟาสต์ ซึ่งเป็นสถานที่ต่อเรือเดินสมุทรทั้งสองลำ ดูตัวเล็กลงไปถนัดตา ภาพถ่ายของเรือ ไททานิก มีอยู่ไม่มากนัก เรือ โอลิมปิก จึงช่วยให้เราเห็นงานออกแบบอันยิ่งใหญ่ของเรือได้

ตอนที่พบกันในแอตแลนตา ซอเดอร์นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ และพยายามระบุประเภทเศษซากอับปางกองหนึ่งของ ไททานิก ซึ่งถ่ายไว้เมื่อปี 2010 จากบริเวณใกล้ ๆ ซากท้ายเรือ การสำรวจเรือลำนี้ส่วนใหญ่มักพุ่งเป้าไปยังส่วนหัวเรือ ซึ่ง ”ขึ้นกล้อง” กว่า และจมอยู่ห่างจากเศษซากส่วนใหญ่มากกว่าครึ่งกิโลเมตรทางทิศเหนือ แต่ซอเดอร์คิดว่าบริเวณรอบ ๆ ซากท้ายเรือควรเป็นจุดที่ได้รับความสนใจในอีกหลายปีต่อจากนี้ เขาบอกว่า ”หัวเรือก็ดูเย้ายวนอยู่หรอกครับ แต่เราไปมาแล้วเป็นร้อยรอบ ซากทั้งหมดทางทิศใต้นี่แหละที่ผมสนใจ”

ซอเดอร์กำลังมองหาชิ้นส่วนอะไรก็ได้ที่พอจะดูออกว่าเป็นอะไร เขาบอกว่า ”เราชอบนึกภาพซากเรือจมเป็นเหมือนมหาวิหารกรีกบนเนินเขา แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่เลย ซากเรือก็คือเขตอุตสาหกรรมล่มสลายดี ๆ นี่เอง มีแต่แผ่นเหล็ก หมุดเหล็ก และเศษเหล็กกองพะเนิน ใครจะตีความซากพวกนี้ได้  ต้องเป็นแฟนของปีกัสโซแน่ ๆ”

ซอเดอร์ขยายภาพตรงหน้าให้ใหญ่ขึ้น และภายในไม่กี่นาที เขาก็ไขปริศนาเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งได้ตรงบริเวณใกล้ซากท้ายเรือ บนกองซากในภาพมีกรอบประตูหมุนทองเหลืองบิดเบี้ยวอยู่บานหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นของห้องสังสรรค์สำหรับผู้โดยสารชั้นหนึ่ง นี่เป็นงานที่ต้องใช้ความวิริยอุตสาหะชนิดที่มีแต่คนที่รู้จักเรือลำนี้ทุกตารางนิ้วเท่านั้นถึงจะทำได้  เป็นงานแกะรอยและปะติดปะต่อเกมปริศนาชิ้นมหึมาซึ่งคงทำให้บิล ซอเดอร์ ง่วนไปอีกหลายปี

ปลายเดือนตุลาคม ผมเดินทางไปยังหาดแมนแฮตตัน รัฐแคลิฟอร์เนีย และเข้าไปในโรงถ่ายภาพยนตร์ขนาดเท่าโรงเก็บเครื่องบิน เจมส์ แคเมรอน ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง  ซึ่งอยู่ท่ามกลางแบบจำลองและของประกอบฉากชวนตื่นตะลึงจากภาพยนตร์เรื่อง ไททานิก (1997) เชิญผู้รอบรู้ด้านการเดินเรือระดับแนวหน้าของโลกกลุ่มหนึ่งมาประชุมกัน นอกจากแคเมรอน, บิล ซอเดอร์และปอล-อองรี นาชีโอเล นักสำรวจจากอาร์เอ็มเอสที แล้วยังมีดอน ลินช์ นักประวัติศาสตร์ เคน มาร์แชลล์ ศิลปินภาพวาด ไททานิก ผู้โด่งดัง วิศวกรเรือหนึ่งนายนักสมุทรศาสตร์จากสถาบันวูดส์โฮลหนึ่งราย และสถาปนิกสังกัดกองทัพเรือสหรัฐฯอีกสองคน

 

แคเมรอนซึ่งเรียกตัวเองว่า ”สาวก ไททานิก นั่งนับหมุดเหล็ก” เป็นผู้นำการสำรวจเรือลำนี้มาแล้วสามครั้ง เขาเป็นผู้พัฒนาและควบคุมยานหรือหุ่นยนต์สำรวจตระกูลใหม่ที่ว่องไว ปราดเปรียว ซึ่งดำลงไปถ่ายภาพด้านในของเรือที่ไม่เคยมีใครเห็นมาก่อน ซึ่งรวมถึงห้องอาบน้ำตุรกีอันโอ่อ่าหรูหราและห้องพักส่วนตัวชั้นหนึ่งอีกจำนวนหนึ่ง ชมภาพและอ่านเรื่อง ”ถอดวิญญาณเดินชม ไททานิก”

นอกจาก ไททานิก แล้ว แคเมรอนยังถ่ายซากอับปางของ บิสมาร์ก เรือรบนาซีเยอรมันสมัยสงครามโลกครั้งที่สองด้วย และกำลังสร้างเรือดำน้ำที่จะพาเขาพร้อมกล้องถ่ายทำลงไปยังร่องลึกก้นสมุทรมารีแอนา กระนั้นไททานิก ก็ยังอยู่ในใจเขาเสมอ (ทั้ง ๆ ที่ประกาศวางมือจากเรื่องนี้มาแล้วหลายรอบ แต่สุดท้ายก็หวนกลับมาทุกที) เขาบอกผมว่า ”ใต้น้ำตรงนั้นเหมือนเป็นส่วนผสมอันแปลกประหลาดระหว่างชีววิทยากับสถาปัตยกรรม เป็นอะไรคล้าย ๆ กับชีวจักรกลครับ ผมว่ามันงดงามและเหมือนอยู่ในอีกโลกหนึ่ง คุณจะรู้สึกเลยว่า นี่คืออะไรบางอย่างที่หลุดเข้าไปในทาร์ทารัสหรือแดนยมโลกในเทพปกรณัมกรีก”

ตามคำขอของแคเมรอน การประชุมซึ่งมีกำหนดสองวันจะมุ่งเน้นไปที่ประเด็นทางนิติวิทยาศาสตร์ล้วน ๆ เป็นต้นว่าเพราะเหตุใด ไททานิก จึงหักสองท่อนอย่างที่เห็น ลำเรือฉีกขาดตรงไหนแน่ ส่วนประกอบมากมายมหาศาลของเรือตกกระแทกพื้นทะเลที่มุมกี่องศา จะว่าไปก็คงไม่ต่างจากการสอบสวนคดีเกือบ 100 ปีหลังเกิดเหตุ

”ที่คุณเห็นคือสถานที่เกิดเหตุครับ ถ้าเข้าใจแบบนั้นแล้วคุณจะอยากรู้ที่มาที่ไปของสิ่งต่าง ๆ เช่น ทำไมมีดถึงมาอยู่ตรงนี้ แล้วปืนไปอยู่ตรงนั้นได้อย่างไร” แคเมรอนบอก

แล้วก็เป็นไปตามคาด การประชุมเปิดฉากด้วยการถกเถียงเรื่องเทคนิคที่เข้าใจยากล้วน ๆ ทั้งเรื่องอัตราการแล่น แรงเฉือน และการวิเคราะห์ค่าความขุ่น กระนั้นแม้แต่ผู้ฟังที่ไม่ได้มีความรู้เชิงวิศวกรรมก็ยังจับข้อสรุปข้อหนึ่งได้ว่า นาทีสุดท้ายของ ไททานิก นั้นน่าสยดสยองอย่างยิ่ง เรื่องเล่าจากหลายกระแสให้ภาพว่า เรือ ”ค่อย ๆ
จมหายไปกับคลื่นมหาสมุทร” อย่างสงบ แต่เรื่องจริงที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม ผู้เชี่ยวชาญบรรยายฉากสุดท้ายของไททานิก ว่าเกิดขึ้นอย่างรุนแรง โดยอาศัยผลการวิเคราะห์ซากเรืออย่างละเอียดตลอดระยะเวลาหลายปี แบบจำลองการไหลเข้าท่วมของน้ำที่ใช้เทคโนโลยีล่าสุด ตลอดจนการสร้างภาพจำลองโดย ”วิธีวิเคราะห์โครงสร้างทุกมิติ” ที่ใช้กันในอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางเรือยุคใหม่

 

Recommend