Bee Home โปรเจ็กต์สร้างบ้านผึ้งของ IKEA ที่ชวนทุกคนแก้ปัญหาวิกฤตผึ้งใกล้สูญพันธุ์

Bee Home โปรเจ็กต์สร้างบ้านผึ้งของ IKEA ที่ชวนทุกคนแก้ปัญหาวิกฤตผึ้งใกล้สูญพันธุ์

Bee Home โปรเจ็กต์สร้างบ้านผึ้งแบบ Open Source เปิดโอกาสให้เราเลือกออกแบบบ้านผึ้งในราคาที่จับต้องได้ เข้าถึงทุกคนและเป็นมิตรต่อเหล่าผึ้ง

ในบรรดาพืช 100 ชนิดที่เป็นอาหารเลี้ยงประชากรโลก มี 70 ชนิด ที่ต้องการผึ้งเป็นตัวผสมเกสร เพื่อให้เจริญงอกงามเป็นพืชผลสำหรับเก็บเกี่ยว หากปราศจากผึ้ง การผสมเกสรจะไม่เกิด เท่ากับหายนะของพืชพันธุ์ และหายนะของมนุษยชาติ ผึ้งคือสิ่งมีชีวิตที่สำคัญที่สุดของโลก แต่ปัจจุบันพวกมันกำลังถูกคุกคามอย่างหนัก ถึงขั้นอาจสูญพันธุ์

SPACE10 กลุ่มนักทดลองออกแบบของบริษัทเฟอร์นิเจอร์ IKEA จึงสร้างโปรเจกต์ออกแบบที่ร่วมมือกับสตูดิโอออกแบบด้านเทคโนโลยี แบคเคน เบ็ค (Bakken & Bæck) และนักออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมชาวเยอรมัน ทานิตา ไคลน์ (Tanita Klein) โดยใช้ชื่อโปรเจกต์ว่า “Bee Home” ออกมา

ทานิตา กล่าวว่า เธอออกแบบ Bee Home จากแนวคิดที่อยากให้มนุษย์ออกแบบบ้านในฝันให้กับเหล่าผึ้ง เป็นสถานที่ที่สร้างสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์แบบเหมาะสำหรับการเลี้ยงดูผึ้งรุ่นลูกหลาน ในขณะเดียวกันก็สร้างให้ Bee Home ง่ายต่อการออกแบบ ง่ายในการประกอบชิ้นส่วน และนำไปจัดวางได้ง่าย สิ่งสำคัญคือเธอตั้งใจให้การออกแบบบ้านสำหรับผึ้งนี้สร้างความพึงพอใจด้านสุนทรียภาพ ให้ความรู้สึกเหมือนใส่ประติมากรรมชิ้นหนึ่งเข้าไปในสวนหรือระเบียงบ้านของเราเอง นอกจากนี้การออกแบบบ้านผึ้งยังเป็นมิตรต่อผึ้ง สิ่งแวดล้อม และมนุษย์

ภาพถ่ายจาก SPACE10 โดย Irina Boersma

ด้วยแนวคิดที่ต้องการสร้างสถานที่ที่เปรียบเสมือน “บ้านของมนุษย์ในขนาดจิ๋ว” ให้กับเหล่าผึ้ง Bee Home ใช้การออกแบบ Open Source ที่ทุกคนในทุกพื้นที่ สามารถออกแบบบ้านหลังสวยให้แก่ผึ้งได้ โดยสามารถเลือกปรับแต่ง Bee Home ของเราเองได้ 3 อย่าง ได้แก่ เลือกความสูงของฐานรองบ้านตั้งแต่ 30-200 มิลลิเมตร เลือกจำนวนชั้นตั้งแต่ 2-9 ชั้น และเลือกลักษณะการติดตั้ง ซึ่งมีให้เลือกถึง 3 แบบ คือ แบบมีขาตั้ง แบบตอกเสาลงไปในดิน และแบบติดกำแพง ขึ้นอยู่กับสถานที่ที่เราอยากนำ Bee Home ไปติดตั้ง ไม่ว่าจะเป็นบนหลังคา บนระเบียง หรือในสวน ก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น

“Bee Home แก้ปัญหาวิกฤตโลกในแนวทางที่สนุกและเข้าถึงง่าย ผ่านแพลตฟอร์มดิจิตอลที่ทุกคนสามารถออกแบบ ดัดแปลง และดาวน์โหลด Bee Home ในแบบของคุณเอง พวกเราหวังว่าสิ่งนี้จะนำเสนอวิสัยทัศน์การออกแบบบนวิถีประชาธิปไตย (Democratic Design) ที่ช่วยฟื้นฟูสมดุลความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และโลกได้”

ภาพถ่ายจาก SPACE10 โดย Niklas Adrian Vindelev

เหล่าผึ้งผู้ขับเคลื่อนทุกชีวิตบนโลก

ผึ้งเป็นสิ่งมีชีวิตที่สำคัญและจำเป็นต่อชีวิตบนโลก องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organisation of the United Nations – FAO) กล่าวว่า เกือบ 90% ของสายพันธุ์ไม้ดอกล้วนอาศัยเหล่าแมลงสายพันธุ์ที่ช่วยผสมเกสรดอกไม้ ซึ่งไม้ดอกเหล่านี้คิดเป็นปริมาณ 1 ใน 3 ของอาหารบนโลก แมลงที่ช่วยผสมเกสรดอกไม้เหล่านี้จึงถือเป็นผู้สร้างความหลากหลายทางระบบนิเวศ

นั่นหมายความว่าสัตว์เหล่านี้มีส่วนช่วยทำให้สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติดำเนินไปอย่างเป็นปกติมาเป็นเวลานานหลายล้านปีแล้ว และหากปราศจากเหล่าผึ้งที่ช่วยผสมเกสร ชีวิตของมนุษย์และโลกก็คงเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

แต่ในปัจจุบัน ผึ้งตกอยู่ในภาวะวิกฤตใกล้สูญพันธุ์ เนื่องมาจากฝีมือมนุษย์ที่เข้าไปทำลายบ้านและแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของพวกมันโดยไม่ได้ตั้งใจ ด้วยการสร้างบ้านของเราเอง สร้างเมือง รวมถึงการปรับแต่งสวน วงจรการใช้ยาฆ่าแมลง สารเคมี และการเข้ามาของการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ยังส่งผลให้ทุ่งดอกไม้ป่ามีจำนวนลดน้อยลงและเกิดการสูญหายพื้นที่ที่เรียกว่า “บ้าน” ของผึ้งท้องถิ่น

เพื่อที่จะสร้างความสมดุลระหว่างมนุษย์และโลกขึ้นมาใหม่ เราจึงจำเป็นต้องเริ่มจากการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราก่อน ด้วยการเริ่มจากการสร้างสถานที่ที่เรียกว่า “บ้าน” ให้กับผึ้ง

บ้านสำหรับผึ้งที่อยู่อย่างสันโดษ

Bee Home ออกแบบมาเพื่อรองรับผึ้งที่อยู่อย่างสันโดษ (Solitary Bees) ผึ้งสายพันธุ์นี้ถือเป็นผึ้งที่ถ่ายละอองเรณูได้มากที่สุด พวกมันถ่ายละอองเรณูได้มหาศาลจนเราอาจนึกไม่ถึง

โลกของเรามีผึ้งประมาณ 20,000 – 30,000 สายพันธุ์ สายพันธุ์ผึ้งน้ำหวานตะวันตกเป็นสายพันธุ์ที่เป็นที่จดจำและถูกพูดถึงมากที่สุด ประชากรส่วนใหญ่ของผึ้งสายพันธุ์นี้คือเหล่าผึ้งที่อยู่อย่างสันโดษ ผึ้งชนิดนี้ไม่เหมือนกับผึ้งน้ำหวาน พวกมันไม่ได้อาศัยอยู่ในรังหรือทำหน้าที่ผลิตน้ำหวาน แต่พวกมันมักจะแยกไปอาศัยอยู่เพียงลำพัง และใช้เวลาในแต่ละวันไปกับการเก็บละอองเรณูและหาอาหารให้กับผึ้งรุ่นลูกรุ่นถัดไป

ผึ้งที่อยู่อย่างสันโดษ ถือเป็นผู้ถ่ายละอองเรณูชั้นยอด ผึ้งสันโดษเพียง 1 ตัว สามารถถ่ายละอองเรณูได้มากเทียบเท่ากับผึ้งน้ำหวาน 120 ตัว ผึ้งชนิดนี้หากเป็นตัวเมียจะเป็นผึ้งราชินีทุกตัว และผึ้งราชินีสามารถแพร่พันธุ์ลูกหลานผึ้งออกมาได้ถึง 20-30 ตัว

Bee Home จึงตอบโจทย์ผึ้งที่อยู่อย่างสันโดษเหล่านี้ Bee Home เพียง 1 หลัง สามารถต่อชีวิตของผึ้งสันโดษได้หลายร้อยตัว การคงอยู่กับผึ้งชนิดนี้ยังเชื่อมโยงไปถึงการอยู่รอดของดอกไม้ ต้นไม้ สัตว์ และระบบนิเวศของมนุษย์ทั้งหมด

ยุคสมัยใหม่ของการออกแบบที่เป็นมิตรและยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม

Bee Home ออกแบบให้มีลักษณะเป็นสถานที่ที่ตรงตามสิ่งที่ผึ้งต้องการ ผึ้งที่อยู่อย่างสันโดษอาศัยอยู่ในโพรงตามต้นไม้หรือโพรงตามพื้นดิน Bee Home จึงออกแบบให้มีโพรงให้ผึ้งไว้ใช้สำหรับเก็บสะสมอาหารและเป็นที่หลบภัยให้ผึ้งมาวางไข่

โครงสร้างภายใน Bee Home ทุกอย่างปราศจากการใช้กาวและสารให้ความเหนียวที่เป็นอันตราย วัสดุของ Bee Home ทำมาจากไม้เนื้อแข็งในท้องถิ่นที่มีความยั่งยืน อย่างไม้โอ๊ค ไม้ลาร์ช ไม้ซีดาร์ หรือไม้มะฮอกกานี ทุกชิ้นส่วนของบ้านที่ประกอบรวมกันปราศจากการใช้ตะปูหรือวัสดุอื่นเพิ่มเติม จึงง่ายต่อการนำกลับมาใช้ใหม่ และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อแนวคิดการออกแบบหมุนเวียน (Circular Design)

Bee Home ใช้เทคนิคการเข้าไม้แบบญี่ปุ่นมาประกอบบ้านผึ้งเข้าด้วยกัน โดยใช้หลัก “The Spine Moment” ที่สร้างให้มีเสาหลักเป็นแกนกลางต้นหนึ่งและจัดวางให้เสาทะลุผ่านทุกชั้นของบ้าน มีลิ่มที่เชื่อมอย่างแน่นหนาเข้ากับเสาต้นนั้นอีกที ทำให้ง่ายต่อการประกอบรวมและแยกชิ้นส่วนโดยใช้แค่เพียงการตอกค้อนลงไป

ภาพถ่ายจาก SPACE10 โดย Niklas Adrian Vindelev
ภาพถ่ายจาก SPACE10 โดย Irina Boersma

สุดท้าย เมื่อเราพอใจกับการออกแบบ Bee Home ในแบบของตัวเองแล้ว เราสามารถดาวน์โหลดไฟล์การออกแบบนี้ได้ในทันทีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แล้วนำแบบแปลนนี้ไปที่ “Makerplace” สถานที่ที่ติดตั้งอุปกรณ์ในการสร้างที่อยู่ใกล้บ้านของเราเพื่อทำการสร้าง Bee Home ออกมา

เมื่อประกอบ Bee Home ของเราเสร็จเรียบร้อย ให้นำบ้านผึ้งไปติดตั้งในที่ที่แสงแดดยามเช้าส่องถึง ปลูกพืชในบริเวณใกล้เคียงเพื่อล่อผึ้งที่อยู่อย่างสันโดษมา ซึ่งพวกมันสามารถอยู่ร่วมกับเด็กและสัตว์เลี้ยงได้อย่างง่ายดาย ส่วนบ้านผึ้งก็ไม่จำเป็นต้องบำรุงรักษาอะไรมากแค่เพียงทำความสะอาดทุก ๆ 3 ปี เพียงแค่นี้ผึ้งก็จะมีพื้นที่ที่พวกมันต้องการ และจะกลายเป็น “บ้าน” ที่สมบูรณ์แบบของพวกมันต่อไปในอนาคต

สืบค้นและเรียบเรียง : ภัทราพร ชัยบุตร

(โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย)


ข้อมูลอ้างอิง


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : จะเป็นอย่างไร ถ้าผึ้งน้ำหวานหายไปหมด?

ผึ้งน้ำหวาน
ผึ้งน้ำหวาน หรือฮันนี่บีมีถิ่นกำเนิดในยุโรป

Recommend