ล่องเรือดูวาฬ ในดินแดนแห่ง แสงเหนือ ที่ Skjervøy ประเทศนอร์เวย์

ล่องเรือดูวาฬ ในดินแดนแห่ง แสงเหนือ ที่ Skjervøy ประเทศนอร์เวย์

ประสบการณ์ ล่องเรือดูวาฬ ในสภาพอากาศสุดขั้วของแดนแสงเหนือ เป็นประสบการณ์ที่เราตราตรึงไม่รู้ลืม

ย้อนไปเมื่อ 2-3 ปีก่อน น้อยคนนักที่รู้จักหมู่บ้าน Skjervøy (แชร์วอย) หมู่บ้านเล็กๆ ที่ประกอบอุตสาหกรรมประมง ทางตอนเหนือของนอร์เวย์ ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานใดๆ สำหรับรองรับการท่องเที่ยวเลย แต่ทุกวันนี้ แชร์วอยเริ่มเป็นที่สนใจมากขึ้นในสายตานักท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นจุด ล่องเรือดูวาฬ ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในทะเลแถบอาร์กติก

เรื่อง สุวิมล สงวนสัตย์

ภาพ สุวิมล สงวนสัตย์/ ชุตยาเวศ สินธุพันธ์

ทุกปีในช่วงฤดูหนาว Humpback Whale (วาฬหลังค่อม) และ Orca (วาฬเพชฌฆาต) มักเข้ามาหากินในฟยอร์ดของเมือง Tromsø (ทรมเซอ) จึงทำให้เมืองนี้คลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวที่หวังมาชมวาฬและล่าแสงเหนือไปพร้อมกัน แต่เมื่อปลายปี 2017 ที่ผ่านมา พบว่า ไม่มีวาฬเข้ามาที่ทรมเซออีกเลย ทุกคนต่างตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น

ปกติฝูงวาฬมักล่าเหยื่อในแหล่งที่มีฝูงปลาเฮร์ริ่ง แต่เมื่อเฮร์ริ่งหายไปจากทรมเซอ นักวิจัยต่างก็ตั้งข้อสันนิษฐานไปต่างๆนานาว่า อาจเป็นเพราะอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น มลภาวะจากฟาร์มแซลมอน หรือหลายๆ ปัจจัยประกอบกัน แม้ยังไม่ได้คำตอบที่แน่ชัด

แต่ในฤดูหนาวของปีเดียวกันนั้นเอง ชาวประมงในแชร์วอยรายงานมาว่า วาฬเข้ามาที่อ่าวและเกาะแก่งแถบนั้นเพื่อมาหากิน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยปรากฏในแชร์วอยมาก่อน

ล่องเรือดูวาฬ
เรือประมงที่เป็นเหมือนบ้านของเรา และเราต้องอาศัยอยู่บนเรือทั้งอาทิตย์ พร้อมทั้งเตรียมตัวเตรียมใจลงน้ำครั้งแรก

ปรากฏการณ์น้ำทะเลอุ่นเป็นวงกว้าง ปริศนาที่อาจเป็นสาเหตุของปริมาณการออกลูกของวาฬหลังค่อมน้อยลง

การเดินทางสู่แชร์วอย

การเดินทางจากออสโลเมืองหลวงของนอร์เวย์ไปแชร์วอย สามารถเดินทางด้วยสายการบินในประเทศ ที่มีวันละหลายเที่ยวบินไปยังทรมเซอ โดยใช้เวลาเพียงชั่วโมงครึ่งเท่านั้น เมื่อถึงทรมเซอ เราเดินทางต่อด้วยรถยนต์ใช้เวลาประมาณสี่ชั่วโมงถึงแชร์วอย แต่เนื่องจากแชร์วอยยังไม่มีโรงแรมและสิ่งอำนวยความสะดวกมากนัก เราจึงต้องอาศัยอยู่บนเรือประมงตลอดทั้งสัปดาห์ที่ปักหลักอยู่ที่นั่น

ระหว่างทางไปทรมเซอ เราเผชิญการผจญภัยเล็กน้อย เนื่องจากสภาพอากาศย่ำแย่ เครื่องบินที่เราโดยสารมาจึงไม่สามารถลงจอดได้ หลังจากกัปตันบินวนอยู่หกรอบจนเราเวียนหัว (และน้ำมันจะหมด) กัปตันจึงตัดสินใจ โดยนำเครื่องไปลงที่สนามบิน Evenes (เอฟเนส) แทน ท่ามกลางความงงของผู้โดยสารว่าแล้วจะไปต่อยังไง แต่ทางสายการบินก็รับผิดชอบด้วยการจัดรถบัสให้ ซึ่งระยะทางที่ต้องไปต่อนั้นเกือบสามร้อยกิโลเมตร พวกเราได้รับเพียงน้ำดื่มคนละขวดกับมัฟฟินแช่แข็งจากทางสายการบินเพื่อประทังชีวิต จากกำหนดการเดิมที่จะถึงทรมเซอเที่ยงก็กลายเป็นหนึ่งทุ่ม พวกเรารู้สึกสะบักสะบอมจากการเดินทาง แต่เมื่อเดินทางถึงท่าเรือ แสงเหนือเริงระบำอยู่บนฟ้าราวกับว่ามารอต้อนรับพวกเรา ทุกคนตะลีตะลานคว้ากล้องจนลืมเหนื่อยไปเลย

แสงเหนือ, ออโรรา
แสงเหนือที่เริงระบำในยามราตรี หลังจากเรารอนแรมเดินทางมาอย่างเหน็ดเหนื่อย

ซ้อมก่อนเจอของจริง

การตัดสินใจมานอร์เวย์ครั้งนี้เรียกได้ว่าต้องทุ่มทุนอย่างมาก เพราะไม่ใช่เพียงการล่องเรือดูวาฬธรรมดา แต่เป็นการลงว่ายน้ำกับวาฬด้วย เราจึงต้องพิถีพิถันกับการเลือกผู้จัดที่มีประสบการณ์และน่าเชื่อถือ โดยเราเลือกมากับ ดาร์เรน ยิว (Darren Jew) ช่างภาพของ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ออสเตรเลีย และมีดีกรีเป็น Canon Master ในทีมของเขาประกอบด้วย ผู้ช่วยหนึ่งคน และไกด์ที่มีประสบการณ์โชกโชนกับการดูวาฬอีกสองคน แน่นอนว่าเรื่องราคาคงไม่ธรรมดา แต่หลังจากเราชมตัวอย่างในวิดีโอคลิปซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราก็บอกตัวเองว่า มันต้องเป็นประสบการณ์ที่แสนคุ้มค่าแน่นอน

เรือประมง, วาฬเพชฌฆาต, ล่องเรือดูวาฬ
ทั้งนกทั้งวาฬกินบุฟเฟต์กันเต็มที่

เมื่อเราอยู่ในประเทศแถบร้อนชื้น เราจึงไม่มีประสบการณ์กับการใส่ dry suit ลงน้ำ ทางผู้นำทัวร์ตระเตรียมอุปกรณ์ให้เราอย่างครบครัน ทั้ง dry suit ที่ต้องมีการวัดตัวและแจ้งขนาดล่วงหน้า ตีนกบ ถุงมือหนา 5 มิลลิเมตร ที่คาดศีรษะสีสะท้อนแสง (เพื่อให้เรือที่สัญจรไปมาเห็นเราที่ผิวน้ำ) และอื่นๆ สิ่งที่เราต้องเตรียมมาเองคือ หน้ากากดำน้ำ สนอร์เกิล และเสื้อฮู้ดหนาที่สุดที่จะหนาได้ (5-7 มิลลิเมตร) วันแรกจึงเป็นการซ้อมใหญ่ของทุกคนในการใส่อุปกรณ์ การลองว่ายน้ำในชุด dry suit และการขึ้นลงจากเรือยางไม่ใช่เรื่อง่าย สร้างความปวดร้าวไปทุกอณูของร่างกาย ยังไม่นับเรื่องอุณหภูมิน้ำ 6 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิบนบก 1-3 องศาเซลเซียส ที่ส่งความเย็นถึงกระดูก การเผชิญกับสภาพอากาศสุดขั้วเช่นนี้ การเตรียมร่างกายก่อนเดินทางมาจึงเป็นเรื่องจำเป็น

การเผชิญหน้ากับวาฬที่แสนอ่อนโยน

เรามักได้รับคำถามว่า “กิจกรรมนี้ปลอดภัยแค่ไหน” จึงขออธิบายเล็กน้อยว่า วาฬเพชฌฆาตไม่นิยมโจมตีมนุษย์ ชื่อนี้ได้มาจากการเป็นผู้ล่าที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร (apex predator) และความจริงวาฬเพชฌฆาตเลือกเหยื่อมาก และไม่ล่าเหยื่อสะเปะสะปะเลย วาฬเพชฌฆาตอยู่กันเป็นฝูง มีหลายชั่วรุ่นอายุในฝูง บางฝูงมีตั้งแต่รุ่นยายถึงรุ่นหลาน และมีความผูกพันกันมาก เขาเป็นสัตว์สังคมที่ต้องอยู่กันเป็นครอบครัวเสมอ การจับตัวใดตัวหนึ่งไปเพื่อสร้างความบันเทิงให้แก่มนุษย์ตามสวนน้ำจึงเป็นการทำให้เขาเกิดสภาวะเครียด กดดัน พิการ (จากการไม่ได้ว่ายน้ำ/ดำน้ำลึก) ขาดอาหาร และอื่นๆ ข่าววาฬเพชฌฆาตทำร้ายคนนั้นจึงมักเกิดในบริบทเหล่านี้

เหตุผลที่วาฬออร์กาไม่เหมาะกับการเลี้ยงในสถานที่ปิด

ต่อจากนี้ขอเรียกวาฬเพชฌฆาตว่า ออร์กา เพราะไม่อยากให้มีนัยยะว่าพวกเขาดุร้าย อาหารหลักของออร์กาคือปลาเฮร์ริง เขาจึงไม่สนใจอะไรอย่างอื่นเลยเมื่อหากินอยู่แถบนี้ ออร์กาเป็นสัตว์ที่ฉลาดมาก บางทีก็ใช้วิธีขโมยปลาจากอวนของชาวประมง การตามหาออร์กาในหลายครั้งเราจะต้องดูว่าเรือประมงอยู่ที่ไหน มีนกบินวนในอากาศเป็นฝูงเพื่อโฉบกินปลาหรือไม่ และเริ่มต้นจากตรงนั้น ซึ่งกลุ่มของเราโชคดีมาก ในวันแรก เราออกจากท่าเรือแชร์วอยมาไม่ถึงสิบนาที เราก็เจอกับฝูงออร์กากำลังว่ายโต้คลื่นอย่างสนุกสนาน แล้วเมื่อเราตามฝูงนี้ไป ก็ไปเจอกับอีกหลายฝูงที่กำลังมะรุมมะตุ้มกับเรือประมงประหนึ่งมีบุฟเฟต์เฮร์ริงเลยทีเดียว โบนัสก็คือ มีวาฬหลังค่อมหลายตัวมาร่วมวงด้วย แต่เนื่องจากการจราจรทางน้ำหนาแน่น เราจึงไม่ได้รับอนุญาตให้ลงน้ำ ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของทุกคน

วาฬ, วาฬออร์กา
ระหว่างการเดินทางเราพบกับทีมถ่ายทำสารคดี และฉากหลังที่ไกลออกไปคือหมู่บ้านชาวประมง

อ่านต่อหน้า 2

Recommend