วันที่ 3: หมื่อฮะคี ดินแดนอาทิตย์ลับขอบฟ้า (เมื่อยามมาถึง)
ในเช้าวันที่ 3 ผมลืมตาด้วยความรู้สึกว่านอนอย่างไม่เต็มอิ่ม เนื่องจากคืนวันก่อน อุณหภูมิเลขตัวเดียวบนยอดดอยซึ่งรวมตัวกับน้ำค้างหนาที่เกาะเต็นท์ได้ผลิตมวลอากาศหนาวสุดขั้วเสียดทะลุเข้ามาตามร่างกาย ผมจึงรู้สึกตัวเป็นระยะๆตลอดทั้งคืน
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาที่แสงอาทิตย์แผ่กระจายไปทั่วท้องฟ้า ผมก็ต้องเริ่มออกเดินป่าในวันที่ 3 อีกครั้ง
เส้นทางที่ผมต้องเดินในวันนี้มีความยาว 19 กิโลเมตร ซึ่งยาวที่สุดในการเดินทาง เราเริ่มไต่ระดับลงจากดอยธงเพื่อไปยัง หมื่อฮะคี หรือหมู่บ้านแม่หาด หมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงบนดอยที่ตั้งอยู่บนระดับความสูง 930 เมตรจากระดับทะเล และตั้งอยู่ไกลที่สุดแห่งหนึ่งจากทางถนน ในอดีต คนนอกสามารถสัญจรมาทางถนนได้เฉพาะแค่ในหน้าแล้งเท่านั้น คำว่า หมื่อฮะคี ในภาษากะเหรี่ยงแปลว่า ดินแดนอาทิตย์อัสดง ซึ่งมีความหมายแฝงว่า ใครก็ตามที่มายังหมู่บ้านแห่งนี้ มักจะถึงในช่วงที่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว
ตั้งแต่ออกเดินทางผมก็ค้นพบว่า เส้นทางนี้มีครบทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นทางเดินราบเรียบปกคลุมไปด้วยร่มเงาจากต้นไม้สูงใหญ่ ทางลาดสูงชันที่ค่อนข้างอันตราย และทางเดินขึ้นเขาที่มาพร้อมกับอากาศเบาบาง เป็นต้น
หลังจากเดินมาตลอดทั้งวัน ผมเริ่มเดินตัดเข้าไปในพื้นที่ของหมู่บ้านเพื่อไปยังจุด Check Point ที่ 3 ซึ่งในพื้นที่หมู่บ้านนี้เอง นักเดินป่าทั้งชาวไทยและต่างประเทศจะได้เห็นบ้านเรือนและความเป็นอยู่ของชาวกะเหรี่ยงที่เรียบง่าย อยู่ร่วมใกล้ชิดกับธรรมชาติ ได้ยินคำทักทายและเห็นรอยยิ้มที่มอบให้กับผู้มาเยือน มีช่วงหนึ่งที่ผมเกือบหลงทาง ชาวบ้านก็ให้คำแนะนำเรื่องเส้นทางกับคนแปลกหน้าอย่างผมเป็นอย่างดี ผมจึงคาดเดากับตัวเองว่า แม้วิถีชีวิตสมัยใหม่จะคืบคลานเข้ามา แต่จิตวิญญาณของชาว “หมู่บ้านในนิทาน” ยังคงอยู่กับพวกเขา
หมื่อฮะคียังคงเป็นดังคำเล่าลือ เพราะกว่าผมจะเดินมาถึงจุดหมาย ก็เป็นช่วงแสงสุดท้ายของวันแล้ว
หลังจากกางเต็นท์ ผมนำเงินที่ติดตัวอย่างสงบนิ่งมาตลอด 3 วัน ใช้จ่ายไปกับร้านค้าชั่วคราวที่ชาวบ้านในพื้นที่มาตั้งโต๊ะขายให้กับนักเดินป่ากลุ่มใหญ่ เนื่องจากช่วงเวลาที่ผ่านมา ผมต้องพึ่งพาเสบียงที่ติดตัวมาเป็นหลัก ดังนั้นการได้ใช้จ่ายซื้ออาหารที่ปรุงสดใหม่กับชาวบ้านจึงเปรียบเหมือนดินแดนสวรรค์บนดินน้อยๆ และเมื่อคิดว่าการใช้จ่ายครั้งนี้จะเป็นรายได้เพิ่มเติมให้กับชาวบ้านที่มีส่วนเบื้องหลังในเส้นทางนี้ก็ทำให้รู้สึกอิ่มทั้งกายและใจ
วันที่ 4: สบโขง ชีวิตจริงของต้นน้ำและนาเชิงเขา
ในวันสุดท้าย ผมออกเดินทางจากหมื่อฮะคี ลงจากยอดดอยเป็นระยะทางราว 14 กิโลเมตร ไปยังเส้นชัยที่ หมู่บ้านสบโขง หมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงริมฝั่งแม่น้ำเงา ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ยังคงใสสะอาด เนื่องจากอยู่ในป่าลึกและชาวบ้านช่วยกันรักษาต้นน้ำอย่างดี เส้นทางจากหมู่บ้านลงดอยต้องผ่านทางเดินที่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการจัดกิจกรรมเดินป่านี้เป็นครั้งแรก คือหนึ่งในพื้นที่ไร่นาหมุนเวียนของชาวบ้านที่ตั้งอยู่ตรงเชิงเขา แต่ทุกวันนี้ ที่ดินตรงนี้ซึ่งผมกำลังเดินผ่านอยู่ในช่วงกระบวนการฟื้นตัว มีต้นไม้พุ่มเตี้ยๆขึ้นปกคลุมเส้นทางเดิน แทบดูไม่ออกว่าเคยผ่านการทำไร่มาก่อน
ความเหนื่อยล้าที่เกิดขึ้นตลอด 3 วันเริ่มกลายเป็นความเคยชิน เมื่อเดินลงมาเรื่อยๆ ที่บริเวณป่าเชิงเขา ผมจึงสนุกกับการได้พบเจอธารน้ำเล็กๆ หลายสิบสายที่กลั่นมาจากต้นน้ำหลายจุดในป่า และในเส้นทางนี้เองที่ผมได้เห็นต้นน้ำเป็นครั้งแรกในชีวิต
ยิ่งเดินใกล้ถึงจุดหมายมากขึ้น จากที่เคยเห็นธารน้ำเล็กๆ ก็เริ่มเห็นเป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่ค่อนข้างไหลเชี่ยว ขณะเดียวกันผมก็เริ่มเห็นที่ดินเพาะปลูกพืชไร่ของชาวเขามากขึ้น พร้อมกับอุณหภูมิร้อนระอุที่เริ่มเข้าหาตัว
ในช่วงเวลาบ่ายคล้อย ผมเดินทางถึงเส้นชัยในหมู่บ้านที่เป็นจุดหมาย ผมพบเห็นชาวบ้านในหมู่บ้านกำลังจัดเตรียมพื้นที่เลี้ยงฉลองในตอนเย็นให้กับนักเดินป่าผู้พิชิตเส้นทางเดินอันหฤโหดนี้ พอมองทะลุไปเบื้องหลังฉากนั้นก็จะพบกับแม่น้ำเงา แม่น้ำสายใหญ่ที่เป็นปลายทางของต้นน้ำที่ผมได้เดินตามมาตลอด 4 วัน ดังนั้นเมื่อจัดการปลดสัมภาระและตั้งเต็นท์แล้ว ผมจึงพาร่างกายอันเหนื่อยล้าพุ่งลงไปยังแม่น้ำสายนั้นที่ทั้งใสสะอาดและให้ความสดชื่นแก่ผมอย่างเต็มกำลัง
“เหมือนได้เกิดใหม่เลยแฮะ” เพื่อนร่วมเส้นทางเดินป่าที่กำลังดำผุดดำว่ายในแม่น้ำกล่าวกับผมเช่นนั้น ผมเองก็รู้สึกไม่ต่างกัน
เหมือนกับว่าธรรมชาติแห่งนี้ได้ให้ชีวิตใหม่กับผมอีกครั้ง
บทสรุป: ชีวิตสัมพันธ์ของชาวบ้าน นักเดินป่า และการอนุรักษ์ธรรมชาติ
ในบรรยากาศงานเลี้ยงตอนค่ำ ช่วงที่ชาวบ้านสบโขงจำนวนหนึ่งมาจำหน่ายอาหารให้กับบรรดานักเดินป่าไปเลี้ยงฉลองความสำเร็จของตัวเอง ผมปลีกตัวมาพูดคุยกับชาวบ้านที่มาเป็นผู้นำทางในครั้งนี้ หนึ่งในนั้นคือ โม๊ะโล๊ะ วนาธรรมเจริญ ชาวบ้านหมู่บ้านสบโขงที่เป็นผู้นำทางมาตลอด 4 วัน ผมถามโม๊ะโล๊ะและชาวบ้านคนอื่นๆไปตรงๆว่า คนนอกอย่างนักเดินป่าที่มาในวันนี้ได้ทำประโยชน์อะไรให้กับพวกเขาจากการเดินป่าครั้งนี้บ้างไหม
โม๊ะโล๊ะเท้าความให้ฟังถึงวิธีการหารายได้ของเขาและชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ นั่นคือการเข้าไปรับจ้างทั่วไป ตัวเขาเองก็เลี้ยงสัตว์ ทำรายได้ราว 20,000 – 30,000 บาทต่อปี แต่ถ้าหักค่าใช้จ่ายแล้วจะเหลือประมาณ 15,000 – 20,000 บาท และเมื่อถึงฤดูทำพืชไร่ เช่น ปลูกถั่ว ซึ่งทำได้เพียงปีละหนึ่งครั้งในช่วงเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน ก็จะได้รายได้ราว 20,000 บาท โดยยังไม่หักต้นทุน เมื่อหารจำนวนรายได้เป็นต่อวันก็ไม่ได้มากมายนัก ชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตเช่นนี้ แต่การทำหน้าที่เป็นผู้นำทางในกิจกรรมเดินป่าครั้งนี้สร้างรายได้ให้เขาเพิ่มเติมอีกราว 500 บาทต่อวัน หากคำนวณเงินที่พวกเขาจะได้รับตลอดทั้งงานก็เป็นสัดส่วนรายได้ต่อวันที่มาก นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านที่ได้ประโยชน์จากการให้บริการรถกระบะและจำหน่ายอาหารระหว่างเส้นทางอีกมาก
แม้โครงการ Fjallraven Thailand Trail ที่จัดขึ้นเพียงราว 1 สัปดาห์ใน 1 ปี จะจบไป แต่พวกเขาไม่ได้หยุดบทบาทแต่เพียงเท่านี้ เพราะโครงการเดินป่าเล็กๆนี้ได้เป็นต้นแบบให้ชาวบ้านในเส้นทางเดินป่าได้ร่วมมือกันจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนในชื่อ เส้นทางเดินป่าระยะไกลชุมชนขุนน้ำเงา เพื่อจัดการนำเที่ยวเดินป่าในเส้นทางรูปแบบเดียวกันนี้แก่ผู้ที่สนใจในช่วงฤดูหนาว พร้อมกับกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติอื่นๆ เช่น แคนูแคมปิ้งและการตกปลาเชิงอนุรักษ์ที่ชาวบ้านเป็นผู้ดูแล การบริการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาตินี้เองที่เป็นตัวกระตุ้นให้ชาวบ้านต้องรักษาธรรมชาติตามวิถีดั้งเดิมของพวกเขา โดยผู้ที่ให้การฝึกอบรมการจัดการท่องเที่ยวคือมูลนิธิธรรมชาติไม่จำกัด ที่มีพี่งบ ผู้ริเริ่มโครงการเส้นทางเดินป่าในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง จนปัจจุบัน ชาวบ้านสามารถรับนักท่องเที่ยวผ่านการติดต่อโดยตรงทาง Facebook ได้แล้ว
ถึงแม้ว่าในอนาคต พื้นที่บางส่วนที่ผมได้เดินมาจะอยู่ในขั้นเตรียมการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติแม่เงา ซึ่งจะมีกระบวนการอนุรักษ์ให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติ จำเป็นต้องมีพื้นที่ป่าส่วนหนึ่งไว้สำหรับการทำกินของชาวบ้านเอง สำหรับผมแล้ว การจะอนุรักษ์พื้นที่นี้เอาไว้ให้ได้คงไม่ใช่การปล่อยให้เป็นหน้าที่ของชาวบ้านแต่เพียงลำพัง คนเมืองซึ่งเป็นผู้รับทรัพยากรปลายน้ำสามารถมีส่วนช่วยในการสร้างรายได้ให้กับพวกเขาโดยการเข้ามาท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้ธรรมชาติ ภายใต้หลักการที่รบกวนธรรมชาติและเจ้าบ้านให้น้อยที่สุด เพื่อให้เห็นถึงคุณค่าของสิ่งที่พวกเขาพยายามรักษาและมีผลต่อตัวเรา
จะคนบนดอยหรือคนเมืองก็ไม่ต่างกัน เพราะทุกคนล้วนกำเนิดมาจากธรรมชาติ
เรื่อง เกียรติศักดิ์ หมื่นเอ
ภาพ ณัฐวัฒน์ ส่องแสง
*รายละเอียดเพิ่มเติม: บทความนี้เขียนขึ้นจากประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้เข้าร่วมเดินป่าในงาน Fjallraven Thailand Trail 2020 เมื่อ 16-22 ม.ค. ที่ผ่านมา
สำหรับผู้อ่านที่สนใจไปตามรอยหลังจากนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่เพจ https://www.facebook.com/MaeNgowTrekking/ (เส้นทางเดินป่าระยะไกลชุมชนขุนน้ำเงา) โดยชาวบ้านจะจัดเดินป่าแบบนี้แค่ในช่วงหน้าหนาวเท่านั้น