ในโลกที่เชื่อมถึงกันมากกว่าที่เคย ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศพบว่า สินค้าส่งออกที่ทำกำไรงามที่สุดคือพลเมืองของตน ทว่า แรงงานข้ามชาติ และครอบครัวจำต้องยอมรับผลกระทบที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง นั่นคือการสูญเสียทางด้านจิตใจเพื่อแลกกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
เรื่อง ซินเทีย กอร์นีย์
ภาพถ่าย โจนัส เบนดิกเซน
เที่ยงวันในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คือเวลาสี่โมงเย็นในฟิลิปปินส์ ซึ่งหมายความว่า ลูกคนโตสองคนของเทเรซา ครูซ ควรจะกลับจากโรงเรียนมาถึงอพาร์ตเมนต์ของน้าสาวที่ช่วยดูแลพวกแกแทนพี่สาวซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในดูไบ นครที่มีประชากรมากที่สุดของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อยู่ห่างจากฟิลิปปินส์ 6,900 กิโลเมตร
เทเรซาเป็นพนักงานขายวัย 39 ปีอยู่ที่ร้านขายเสื้อผ้าในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งของดูไบ เธอยืนทำงานสัปดาห์ละหกวัน และหยุดทุกวันศุกร์ เที่ยงวันศุกร์จึงเป็นเวลานัดหมายประจำที่เทเรซาจะพบกับลูกสาวและลูกชายวัย 11 และ 8 ขวบของเธอ และเนื่องจากเธอเป็น แรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ใหญ่หลายล้านคนที่ต้องจากบ้านเกิดไปไกลหลายพันกิโลเมตรเพื่อทำงานและส่งเงินกลับไปให้ครอบครัว
เธอเจอกับลูกๆ ด้วยวิธีสมัยใหม่ซึ่งเป็นที่นิยมใน หมู่แรงงานข้ามชาติ นั่นคือการนั่งลงหน้าคอมพิวเตอร์ในห้องนอนที่เธออาศัยอยู่ร่วมกับคนอื่นๆอีกสี่ชีวิต ลงชื่อเข้าใช้เฟซบุ๊ก คลิกปุ่มวิดีโอแช็ต โน้มตัวเข้าไปใกล้ๆ แล้วอดใจรอ เทเรซาอาศัยอยู่ในห้องนอนร่วมกับสามีชื่อลูอิสซึ่งจากฟิลิปปินส์มาหลายปีแล้วเช่นกัน ลูกคนเล็กสองคนของทั้งคู่ คนหนึ่งยังแบเบาะ ส่วนอีกคนอายุ 3 ขวบ และใครก็ตามที่สองสามีภรรยาสามารถชวนให้มาเป็นพี่เลี้ยงได้ระหว่างที่ทั้งคู่ไปทำงาน (เราจำเป็นต้องเปลี่ยนชื่อของทุกคนเพื่อปกป้องครอบครัวนี้จากผลกระทบใดๆ ที่อาจเกิดขึ้น)
ในช่วงหลายสัปดาห์ที่เราทำความรู้จักคุ้นเคยกันในดูไบ ฉันเห็นเทเรซาควบคุมอารมณ์ไม่อยู่เพียงครั้งเดียว เป็นตอนที่เธอเล่าถึงคํ่าวันหนึ่งในฟิลิปปินส์เมื่อสิบกว่าปีก่อน ตอนนั้นเธอยืนอยู่หน้าบ้านของครอบครัวและมองไปเห็นบ้านทุกหลังบนถนนประดับประดาไปด้วยไฟคริสต์มาส ยกเว้นบ้านของเธอ “บ้านเราไม่มีไฟเลยสักดวง” เธอบอกและเริ่มร้องไห้ “ฉันได้ยินคนพูดถึงเรื่อง ‘เมืองนอก’ เขาพูดกันว่าคุณสามารถซื้อทุกสิ่งที่ต้องการได้ถ้าอยู่เมืองนอก” เทเรซาบอก เมืองนอกที่ว่านี้ก็เหมือนกับต้นกำเนิดของสิ่งดีๆ ตั้งแต่กำไลทองคำ ยาสีฟันคอลเกต ไปจนถึงเนื้อกระป๋อง
ในเขตเทศบาลที่เทเรซากับพี่น้องอีกสิบคนเติบโตขึ้นมา บ้านหินสวยๆล้วนสร้างด้วยเงินจากเมืองนอกทั้งนั้น “บ้านเราเป็นไม้และเก่ามาก” เธอเล่า ฤดูมรสุมปีหนึ่ง ผนังบ้านชุ่มนํ้าด้านหนึ่งพังครืนลงมา ”พอถึงช่วงคริสต์มาส ฉันยืนอยู่หน้าบ้านและสัญญากับตัวเองว่า ‘ได้เงินเดือนก้อนแรกเมื่อไร ฉันจะซื้อไฟคริสต์มาส’”
เงินเดือนก้อนแรกที่ว่าได้มาจากงานในท้องถิ่น เทเรซา ผู้เพิ่งจบมัธยมมาหมาดๆซื้อไฟหลากสีได้เส้นหนึ่ง เธอตอกตะปูและนำหลอดไฟขึ้นประดับฝาบ้านเป็นรูปต้นคริสต์มาส เธอบอกว่า “ฉันทำ เองกับมือเลยค่ะ แล้วพอออกไปดูหน้าบ้านก็เห็นว่า นี่ไงไฟคริสต์มาส แล้วฉันก็นึกในใจว่า ฉันทำได้”
นั่นเป็นคืนที่เทเรซาตัดสินใจว่า เธอกล้าแกร่งพอสำหรับเมืองนอกแล้ว
(อ่านต่อหน้า 2)